26 มกราคม 2561

เก็บตกเรื่องแนวทางความดัน 2018

เก็บตกนิดนึงกับเรื่องแนวทางการรักษาความดันโลหิตใหม่ ที่ปรับลดระดับวินิจฉัยมาที่ 130/80 ที่เน้นการปฏิบัติตัว ที่เน้นการวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง ปรับลดความสำคัญยาต้านเบต้าลงมา แนวทางของ AHA/ACC 2017

รูปที่ผมนำมาให้ดูมาจาก perspective ของวารสาร NEJM ที่บอกว่ามุมมองของการปรับระดับการวินิจฉัย จากกราฟจะเห็นได้ชัดเจนว่าระดับการวินิจฉัยใหม่จะเพิ่มปริมาณผู้ป่วยขึ้นจากแนวทางการรักษาเดิม 30% แต่ว่าจะมีสัดส่วนการใช้ยาเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น

ในสัปดาห์เดียวกันนี้วารสาร JAMA internal medicine ก็ได้ลงตีพิมพ์รายงานการศึกษาแบบรวบรวมงานวิจัยมารวบยอดที่เรียกว่า meta analysis ของผลการลดความดันที่ระดับความดันต่างๆ ว่ามีผลต่ออัตราตายและโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร รวบรวมมา 72 การศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 300,000 คน ก็พบว่า ประโยชน์ของการลดความดันที่ต่ำกว่า 140/90 ในแง่อัตราตายนั้นไม่ชัดเจนเท่าไร คือ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

หมายความว่า เราก็สามารถรักษาคนไข้ที่ความดันเกิน 130/80 แต่ไม่เกิน 140/90 โดยแทบไม่ต้องใช้ยาเลย เพราะการใช้ยาอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มประโยชน์เพื่อป้องกันโรคไปมากกว่าการปรับชีวิตในคนไข้กลุ่มนี้ ก็ตรงกับแนวทางใหม่ที่บอกว่าจะใช้ยานั้นต้องใช้ความเสี่ยงจาก ASCVD risk หากมากกว่า 10% ใน 10 ปี จึงพิจารณาให้ยาลดความดันนั่นเอง  (แต่ถ้ามีข้อบ่งชี้อื่นก็ต้องกินยาตาข้อบ่งชี้เดินนะครับ)

ข้อสังเกต...การรักษา ไม่เท่ากับ การให้ยา
ข้อสังเกต...เรารักษามากขึ้น เพื่อหวังผลควบคุมโรคและกันภาวะแทรกซ้อน ก่อนจะสายไป
ข้อสังเกต...การรักษาที่มากขึ้น ไม่ได้ใช้ยาเพิ่มขึ้นเหมือนที่กังวล
ข้อสังเกต...การรักษาความดัน วัตถุประสงค์เพื่อลดโรคแทรกซ้อนและความเสี่ยง ไม่ใช่แค่ตัวเลข

ข้อสังเกต... ความหนุ่มขึ้นกับ ขุมพลัง หนังหน้า และคารม ใช่ขึ้นกับเลขสะสม ผมสีเทา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม