02 มกราคม 2561

การแก้ปวดเฉียบพลัน เกาต์

หลังปีใหม่แบบนี้ ต้องระวังเพื่อนเก่าของท่านมาตามหาท่าน ..เก๊าต์
ทำไมเก๊าต์จะต้องมาหลังปีใหม่ จริงอยู่ว่าโรคเก๊าต์มันกำเริบได้ตลอดทั้งปีโดยไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงใดๆ แต่หลังงานเฉลิมฉลองนั่นสิ่งที่พบบ่อยๆคือ อาหารมื้อหนักกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีสารพิวรีนสูงเช่น เนื้อสัตว์ เครื่องใน สัตว์ปีก ซีฟู้ด อาหารที่ใช้ในเทศกาลไม่ว่าจะเป็นปิ้ง ย่าง ดื่มกับเหล้าเบียร์ ที่เป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคเก๊าต์ชั้นดี สองแรงแข็งขันช่วยกันเกิดเก๊าต์
ก็อาจจะเกิดเป็นครั้งแรกได้ โดยเฉพาะที่ข้อหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือท่านที่เป็นอยู่แล้ว เคยเป็นแล้วสงบแล้วก็กำเริบได้ เกือบทั้งหมดตัวกระตุ้นก็อันเดิมแบบเดิมครับ
อาการของโรคกำเริบหรือเป็นใหม่นี่ก็ชัด ข้อบวม ปวด แดง ร้อน ขยับหรือกดแล้วปวดมาก เดินแทบไม่ได้ อาการเป็นเร็วในหนึ่งวัน พวกที่เคยเป็นแล้วส่วนมากก็มักจะเป็นข้อเดิมๆ เป็นแต่ละครั้งหนึ่งถึงสองข้อ อาจเป็นหลายข้อได้นะครับแต่โอกาสเกิดแบบนั้นไม่มากเท่าไร
สำหรับพวกที่เคยเป็นแล้วหรือเป็นอยู่แล้ว มักจะวินิจฉัยได้ไม่ยาก อาการเกิดขึ้นคล้ายๆเดิม ข้อเดิมๆ ไม่มีข้อสงสัยว่าเกิดจากภาวะอื่น และให้ยารักษาเก๊าต์แล้วตอบสนองเร็ว แต่สำหรับคนที่เป็นครั้งแรกนั้นก็ต้องแยกโรคอื่นๆด้วยที่สำคัญคือ การติดเชื้อเฉียบพลันในข้อ
คนที่เป็นครั้งแรก หรือคนที่เคยเป็นมาหลายครั้งแต่สงสัยและต้องแยกโรคจากโรคอื่น สิ่งที่เราใช้เป็นมาตรฐานคือการเจาะตรวจน้ำในข้อ (synovial fluid analysis) นะครับ ไม่ใช่การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับกรดยูริกแต่อย่างใด การเจาะเลือดดูกรดยูริกใช้เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของกรดยูริกและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่เพื่อวินิจฉัยเก๊าต์
***ขอย้ำอีกครั้ง การตรวจพบกรดยูริกในเลือดสูง ไม่ใช่โรคเก๊าต์***
การตรวจเอกซเรย์ ถ้าปวดครั้งแรกหรือเฉียบพลันอาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ถ้าเป็นระยะที่มีก้อนเก๊าต์ตามตัว (chronic tophaceous gout) อาจพบความผิดปกติได้ ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ทุกรายนะครับ
อาจมีการตรวจหาสาเหตุที่เก๊าต์ขึ้น หรือยูริกขึ้น เช่น ไตเสื่อมลง เบาหวานคุมไม่ดี ตรวจดูการทำงานของไตก่อนให้ยา (อันนี้ไม่รวมถึงพวกที่เราคิดไว้แล้วว่ายูริกจะสูง เช่น tumor lysis syndrome ภาวะที่เซลมะเร็งแตกตัวพร้อมๆกันหลังให้ยา)
แล้วก็ทำการรักษาและติดตามการตอบสนองเสมอ โดยเฉพาะหากไม่ได้เจาะข้อเพื่อแยกโรคติดเชื้อในข้อ (จริงๆการปวดข้อเฉียบพลันหนึ่งถึงสองข้อ เป็นข้อบ่งชี้การเจาะข้อนะครับ แต่เท่าที่ถามคุณหมอโรคข้อและที่เจอเอง ผู้ป่วยมักไม่ค่อยอยากเจาะ) การรักษาที่จะเน้นกันวันนี้คือการแก้ปวดเฉียบพลัน ส่วนการควบคุมกรดยูริก เคยเขียนไปหลายครั้งแล้ว และย้ำเรื่องการแพ้ยา allopurinol ที่พบมากในคนไทยด้วย
การรักษาก็ให้ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ NSAIDs ซึ่งต้องดูข้อห้ามใช้ดีๆ โดยเฉพาะเลือดออกทางเดินอาหาร ไตเสื่อม และ โรคหัวใจ ปรกติก็ให้ 3-5 วัน จะใช้ conventional COX diclofenac, naproxen, indomethacin หรือ COX2 inhibitors เช่น celecoxib, etoricoxib ก็ได้
ยาที่ใช้รักษาเก๊าต์เฉียบพลันอีกชนิดคือ colchicine ยาตัวนี้ใช้ในการวินิจฉัยแบบ therapeutic diagnosis ได้ถ้าอาการดีขึ้นก็น่าจะเป็นเก๊าต์ (โรคเก๊าต์เทียมก็ดีขึ้นนะ) ใช้กิน 2-4 เม็ดต่อวัน ใช้ได้ในกรณีมีข้อห้ามใช้ NSAIDs หรือทั่วไปก็ใช้เป็นยาตัวแรกได้ ข้อควรระวังคืออาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากให้ยาในขนาดสูงและถ้ามีอาการแบบนี้ให้คิดว่าอาจกินยาขนาดสูงแล้ว ต้องระมัดระวังผลเสีย
การฉีดยาสเตียรอยด์หรือกินยาสเตียรอยด์ใช้เมื่อมีข้อห้ามอย่างอื่นๆหมดแล้ว และต้องระวังผลจากสเตียรอยด์ด้วย
ขณะที่มีอาการปวดมักจะยังไม่ลดกรดยูริก เพราะการเปลี่ยนแปลงของกรดยูริกในเลือดขึ้นลง อาจส่งผลต่อการตกตะกอนในข้อได้ หลังจากนั้นคุณหมอจะสืบหาว่าเหตุใดจึงกำเริบ เกี่ยวพันกับกรดยูริกหรือไม่ จำเป็นต้องลดหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องลดก็จะลดหลังจากอาการปวดดีขึ้นและยังต้องกินยา colchicine ต่อไปก่อนระยะหนึ่งในขณะเริ่มยาลดกรดยูริกเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำในระยะแรกที่ลดกรดยูริก ในขนาดหนึ่งเม็ดต่อวัน
ปล่อยข้อที่ปวดให้ได้พัก ไม่ต้องประคบ นวด คลึงเคล้าเค้น ใดๆทั้งสิ้น ดื่มน้ำมากๆ หยุดเหล้าเป็นโอกาสดีที่จะเลิก ลดอาหารยูริกสูง ..หน่อไม้ ยอดผัก สัตว์ปีก เครื่องใน เหล้า ..ห้ามกิน เครื่องในไก่ผัดเหล้าใส่หน่อไม้เด็ดขาด
"อยากแซ่บให้กินเรา อยากเก๊าต์ให้กินเบียร์"
ที่มาจาก Harrison Principle of internal medicine และ การดูแลโรคเก๊าต์ โดย อ.อัจฉรา กุลวิสุทธิ์ ในหนังสือกลยุทธ์การบริบาลผู้ป่วยนอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม