21 พฤศจิกายน 2560

เหล้า กับ มะเร็ง ตอนที่ 2

จากบทความตอนแรก เราได้รู้แล้วว่าเหล้าทำให้เกิดมะเร็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งทางเดินอาหารและทางเดินหายใจส่วนบน และการดื่มมากดื่มนานก็จะมีผล ตอนที่สองนี้เราจะมาดูต่อว่า มากน้อย มีผลอย่างไร
เริ่มด้วยคำจำกัดความก่อน กลุ่มที่ดื่มเหล้าส่วนมากจะเป็นการดื่มแบบนี้ ที่เรียกว่า binge drinker หรือ excessive drinker นับว่าดื่มอย่างน้อย 4 ดื่มมาตรฐานต่อครั้งสำหรับผู้หญิงและ 5 ดื่มมาตรฐานสำหรับผู้ชาย นี่คือนับรายครั้ง เนื่องจากส่วนมากดื่มกันแบบนี้จึงพบอันตรายในแบบนี้มากมาย ก็แสดงว่าแม้นานๆดื่มทีแต่ดื่มหนัก...มันก็เสี่ยงนะครับ
คราวนี้มาดูดื่มจัด คนละอย่างกับติดเหล้านะครับ เพียงแต่ส่วนมากคนที่ดื่มจัดก็คือคนติดเหล้านั่นเอง ดื่มจัดคือหญิงอย่างน้อย 8 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ หรือชายอย่างน้อย 15 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ คุณลองคำนวนดูนะครับ สูตรง่ายๆคือ 0.789 x ปริมาณเป็นลิตร x เปอร์เซนต์แอลกอฮอล์ ได้ออกมาเป็นดื่มมาตรฐานโดยประมาณ
ส่วน light drinker หรือที่เราคุ้นๆว่าดื่มไม่เกินนี้เพื่อสุขภาพ (เดี๋ยวจะมาดูอีกครั้งว่าความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องนี้ก็มี) คือชายไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน และหญิงไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน และเน้นที่ไวน์แดงนะครับ นั่นคือได้ประมาณไวน์แดงวันละหนึ่งแก้วไวน์นั่นเอง มีผลออกมาว่าน่าจะดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งข้อตรงนี้ คนที่ไม่ยอมเลิกมักจะใช้เป็นข้ออ้างว่า มันยังมีประโยชน์นะ เรียกว่า abstainer bias
แต่ว่าการติดเหล้าจะต้องดื่มมากขึ้น หยุดแล้วลงแดง ต้องหาเหล้ามา "หล่อเลี้ยง" ร่างกายตลอดจะต่างจากดื่มจัดนะครับ
การศึกษาพบว่าสำหรับมะเร็งชนิด upper aerodigestive cancer นั้นการดื่มขนาดดื่มจัดและดื่มปานกลาง เพิ่มอัตราความเสี่ยงการเกิดมะเร็งอย่า่งชัดเจนและมีนัยสำคัญหากเทียบกับคนไม่ดื่มหรือดื่มเพื่อสุขภาพดังที่กล่าว (1.79 เท่าและ 3.63 เท่าตามลำดับ) ส่วนถ้านับมะเร็งโดยรวมการดื่มปานกลางก็มีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยง (คือเพิ่มแหละ แต่ในทางสถิติมันยังไม่ชัดแจ้ง) ส่วนการดื่มหนักเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งที่ชัดมากในทุกชนิดของมะเร็ง..ที่เรารู้ตอนนี้
แสดงว่าดื่มมากเสี่ยงมากจริง และการดื่มนอกจากเสี่ยงจะเกิดโรคแล้ว ยังทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลายเท่าทั้งจากตัวมะเร็งเองและโรคร่วมจากเหล้าอื่นๆ มีการคำนวนอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในหญิงวัยมีประจำเดือนอยู่ว่า เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งขึ้น 5% ทุกๆหนึ่งดื่มมาตรฐานที่เพิ่มขึ้น ...เอาแล้วสาวๆๆ
แล้วถามว่าดื่มน้อยๆมันไม่เสี่ยงหรือ คืออัตราความเสี่ยงมันเพิ่มกว่าไม่ดื่มเลยเพียงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเท่านั้น ...ในแง่โรคมะเร็งนะครับ
สำหรับการเกิดโรคมะเร็งแล้วถือว่า การไม่ดื่มเลย คือการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดและไม่ควรให้คนที่ไม่เคยดื่มเข้าสู่โลกแห่งการดื่มด้วย หลักการเหมือนบุหรี่ แบบเดียวกันนะครับ ผมจึงพูดเรื่องเหล้าและบุหรี่พร้อมๆกัน ปัญหาที่ว่าเคยมีคำบอกว่าดื่มไวน์แดงไม่เกินที่กำหนดจะมีผลดี มันก็ใช่นะครับ แต่ว่าผลดีนั้นเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้น อัตราการเสียชีวิตโดยรวมไม่ลดลงก็คงเพราะไปเพิ่มความเสี่ยงอันอื่นด้วย
และกำแพงที่สำคัญอันหนึ่งคือ การดื่มแบบ light drinker ก็เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่น้อยๆ คืออาจนำพาไปสู่การดื่มมากๆได้ครับ เป็นข้อที่เรากังวลมาก เพราะการศึกษาที่ใช้การดื่มน้อยๆนั้นเขาน้อยจริงๆนะ และทำในเวลาที่สนใจ แต่ในชีวิตจริงมันอีกเรื่อง อยากได้ประโยชน์ตามการศึกษาก็ต้องทำให้ได้เหมือนการศึกษาด้วยเช่นกัน
และตัวแปรอันหนึ่งที่ต้องสนใจในโลกแห่งความจริงด้วยคือการสูบบุหรี่ ในชีวิตจริงจะมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย ซึ่งการใช้ทั้งบุหรี่และเหล้านั้นเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าใช้อย่างใดอย่างหนึ่งและมีผลมากกับมะเร็ง aerodigetive อีกตามเคย
และตัวก่อโรคคือ แอลกอฮอล์หรือ เอธิลแอลกอฮอล์จริงหรือ จริงๆแล้วตัวก่อโรคไม่ใช่เอธานอลโดยตรง แต่เป็นสารที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงและเผาผลาญเอธานอล สารนั้นคือ acetaldehyde ที่หากร่างกายกำจัดไม่หมดจะมีแนวโน้มเกิดและก่อมะเร็ง การศึกษาปัจจุบันได้ลงลึกไปถึงว่า ทำไมคนกินเหล้าหนักเหมือนกันบางคนก็ไม่เกิดมะเร็ง ก็เริ่มค้นพบว่า แต่ละคนจะมีการจัดการเอธานอลและอะเซตัลดีไฮด์ที่แตกต่างกัน ความแตกต่างตรงนี้ลงลึกถึงระดับยีนซึ่งคนเกิดมะเร็งอาจมีพันธุกรรมที่แตกต่างที่เรียกว่า genetic polymorphisms เช่นการที่ยีน ALDH2 ไม่ทำงานจะเกิดการคั่งของสารอัลดีไฮด์ เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งจากแอลกอฮอล์
เชื้อชาติก็สำคัญ คนเอเชียเรามักจะเกิดพันธุกรรมแบบเสี่ยงบ่อยๆ แต่ว่าในคนผิวขาวจะเกิดมะเร็งมากกว่า
เรื่องความเสี่ยง เรื่องการชี้ชัด เรื่องพันธุกรรม คงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
อ้าว แล้วเราจะปล่อยให้ดื่มเหล้าหนัก เสี่ยงกันต่อไปอย่างนี้หรือ ต่อไปเรามาดูมาตรการลดความเสี่ยงที่องค์การอนามัยโลก และ NIAAA ได้แนะนำมากันนะครับ ..ตอนต่อไปตอนจบ
ลิงก์เดิมเรื่องเหล้าๆ
การวินิจฉัย ติดเหล้า
http://medicine4layman.blogspot.com/2017/07/blog-post_8.html
ดื่มเหล้ากับการตั้งครรภ์
http://medicine4layman.blogspot.com/2017/06/blog-post_7.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม