19 พฤศจิกายน 2560

แรงจูงใจในการเลิกบุหรี่สูงสุด

คุณคิดว่าคนกลุ่มไหนมีแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่สูงสุด ก็น่าจะเป็นคนที่เกิดโรคจากบุหรี่แล้วนั่นเอง เรียกว่าหลังชนฝาแล้ว ถ้าไม่เลิกจะเกิดผลเสียที่แย่ลงแน่ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว ขยายมาแล้ว หรือถุงลมโป่งพองกำเริบ เพิ่งถอดท่อช่วยหายใจ
อันนี้คือกล่าวถึง ยังไม่มีแรงจูงใจแต่ต้นนะครับ เพราะกลุ่มที่มีแรงจูงใจแต่ต้นนั้น โอกาสเลิกจะสูงกว่ากลุ่มไม่มีแรงจูงใจอยู่แล้ว เช่น พ่อแม่พามาเลิก เมียบังคับ กลุ่มนี้ถือว่าแรงจูงใจจากตัวเองน้อย
นั่นคือ การจูงใจคนที่เกิดโรคแล้วที๋โรงพยาบาล ที่คลินิก ในขณะที่เพิ่งเกิดโรคน่าจะมีประโยชน์สูง ส่งทีมเข้าไปเลย เสริมการรักษา ... ประเด็นคือเสริมการรักษาโดยครอบครัวต้องพร้อมจะช่วย ถ้าเข้าไปแล้วครอบครัวซ้ำเติม เช่น พูดว่า บอกแล้วใช่ไม๊ เตือนแล้วใช่ไม๊ ...อย่างนี้ยากนะครับ
การประเมินการติด การประเมินความเสี่ยงโรค การประเมินการใช้ยาก็จะทำได้ต่อเนื่อง
***ดูดี น่าประสบความสำเร็จนะ**
แต่เราลองมาดูผลของการศึกษาบ้าง การศึกษานี้ทำเป็น network registry คือรวบรวมข้อมูลที่เกิดอย่างเป็นระบบ เก็บครบและวิเคราะห์ได้ โดยคณะผู้วิจัยจากอริโซนา สหรัฐอเมริกา ลงพิมพ์ใน reserch letter ของวารสาร JAMAcardiology กรกฎาคม 2017 ประเทศอเมริกาเป็นผู้บริโภคยาสูบอันดับหนึ่งและอัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่สูงมาก ประเทศเขาจึงจำเป็นต้องมีมาตรการมาเพื่อแก้ไขจุดนี้ ถ้าเราได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ น่าจะเป็นเรื่องดี
จากคนที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 183,783 รายที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2013 ในจำนวนนี้มี 15% ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ และนับเฉพาะคนที่ยังมีชีวิตอยู่และติดตามผลมาทำการคำนวน ตัดตัวแปรปรวนทางสถิติต่างๆ ได้ผลดังนี้
ในบรรดาคนที่สูบบุหรี่ในขณะเกิดโรคนั้น 97% ได้รับคำปรึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่ แต่มีคนที่ได้รับยาเลิกบุหรี่ตั้งแต่ต้นแค่ 7% และถ้าดูในหนึ่งปี มีคนที่ได้รับยาเลิกบุหรี่แค่ 9.7% นั่นหมายความว่าอัตราการใช้ยาเลิกบุหรี่ถือว่าน้อยมากทั้งๆที่อยู่ในโรงพยาบาล
เขากลัวอะไรหรือ ... จากข้อมูลนั้นยาที่ใช้น้อยลงมากคือ varenicline ยาที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการเลิกบุหรี่ ..อ้าว ทำไมล่ะ .. เพราะก่อนหน้านี้มีความกังวลเรื่องอัตราการเกิดโรคหัวใจและการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจากยา varenicline
แต่ก็มีการศึกษาออกมาแล้วว่ายา varenicline ไม่ได้ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายสูงขึ้นในคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าอยู่เดิม (EAGLES study) และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในคนไข้ที่เพิ่งหัวใจขาดเลือดมาใหม่ๆ (EVITA study) อ่านได้จากลิงก์ของผมเอง
งั้นก็แสดงว่า ที่อเมริกาเขากลัวการใช้ยา หรือสามารถเลิกบุหรี่ได้ดีโดยไม่ใช้ยาหรือ ... ผลการศึกษาออกมาว่า ในคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดและยังสูบบุหรี่อยู่ ที่ว่าได้รับคำแนะนำ 97% ได้ยา 9.7%นั้น เลิกได้แค่ 52.8% (ทั้งๆที่เป็นการรักษาที่ต้องทำ ได้ประโยชน์ไม่มีโทษ) มันควรจะเป็น 99-100% ไม่ใช่แค่ 52.8%
จะเห็นว่าไม่ง่ายเลยนะ ขนาดว่าป่วยปางตายจากบุหรี่มาแล้วยังเลิกได้แค่ครึ่งเดียว แถมอัตราการใช้ยาซึ่งเป็นที่แนะนำและปลอดภัย ก็ยังน้อยมากด้วย (แต่ตอนนั้นการศึกษา EAGLES และ EVITA ยังไม่เสร็จ) ยังไม่ต้องพูดถึงว่าถ้ามองในภาพรวมทั้งป่วยและไม่ป่วย อัตราการเลิกบุหรี่จึงไม่มากเลยทั่งๆที่โทษมันก็ชัดๆ
ตัวเลขที่เลิกได้เองแล้วไม่กลับไปสูบอีกที่ประมาณไม่เกิน 20% การเข้าคลินิกเลิกบุหรี่เพิ่มความสำเร็จเป็น 30-35% และถ้าใช้ยาร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น bupropion หรือ varenicline อัตราการเลิกเพิ่มเป็น 40-50% ..ทำแทบแย่เลิกได้..ตั้งครึ่งหนึ่ง ไม่อยากให้คิดว่าแค่ครึ่งเดียวเพราะอย่าลืมคนสูบบุหรี่มีมากมายมหาศาล ฆาตกรอันดับสาม ลดได้40% ก็มากโขทีเดียว
ดังนั้น เลิกเสียตั้งแต่ตอนนี้เถอะครับ คลินิกให้บริการเลิกบุหรี่มีรอบตัวท่าน ถ้าไม่ทราบกดไปที่ 1600 quitlines อย่าให้รอป่วยก่อนจึงจะเลิก เพื่อท่านและคนที่ท่านรัก และคนที่จะต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมการเลิกเสมอ คือ ครอบครัวและคนที่ท่านรักนั่นเอง
เลิกบุหรี่ การรักษาของท่าน โดยตัวท่าน และเพื่อ ตัวท่านและคนที่ท่านรัก
ว่าจะเขียนต่อเรื่อง การแนะนำอย่างเดียวพอไหม หรือต้องใช้กลยุทธ์ในการแนะนำด้วย
ก็เหมือนเดิม ไปปิดไฟที่ไม่ใช้คนละดวง ดึงปลั๊กที่ไม่ใช้ออกครับ แล้วเลื่อนนิ้วไปกดเลิฟสักครั้ง ให้รู้ว่ามีคนอยากอ่านอยู่ รักนะจ๊ะ พ่อจ๋าแม่จ๋า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม