21 พฤศจิกายน 2560

เหล้า กับ มะเร็ง ตอนที่ 3

ตอนสุดท้ายเรื่องของแอลกอฮอล์กับมะเร็ง สองตอนแรกเราเรียนไปว่าแอลกอฮอล์นั้นทำให้เกิดมะเร็งแน่นอน โดยเฉพาะ aerodigestive การดื่มมาก ดื่มนานยิ่งส่งผล ตอนนี้เรามาดูว่าจะทำอย่างไร
แน่นอนครับว่าดีที่สุดคือ การเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยอย่างถาวรและไม่หวนกลับมาดื่มอีก แต่คำพูดมันทำง่าย ข้อผิดพลาดบ่อยๆของหมอหรือคนที่อยากให้คนที่เรารักเลิก คือ เราไม่เคยไปนั่งอยู่ในฐานะคนที่ติด ว่ามันเลิกยากแค่ไหน การจะเลิกหรือให้การรักษาการเลิกนั้นต้องฟังเสียงคนที่ติดด้วยเสมอ เพราะถ้าเรามองจากมุมมองของคนที่ไม่ใช้สารเสพติด เราจะไม่เคยรู้เลยว่ามันยากมากๆ (ถ้าเลิกง่ายคงไม่เป็นปัญหามาเป็นร้อยๆปี)
เทียบเหล้ากับบุหรี่นั้น คนติดเหล้าตามคำนิยาม น้อยกว่าติดบุหรี่มากมายครับ แต่ทั้งคู่เลิกยากพอๆกันทั้งเสพติดทางกาย เสพติดทางจิตและพฤติกรรม รวมทั้งสภาพแวดล้อม
การต่อรอง ในภาษาที่เรียกว่า abstainer bias ว่าไม่หยุดได้ไหมขอดื่มน้อยลง อย่างที่เรียนให้ทราบก็ต้องไวน์แดงในปริมาณที่กำหนดเป๊ะๆ ซึ่งไม่ง่ายนะ ตรงนี้ทาง ASCO เห็นแย้งจากสมาคมโรคหัวใจว่า ถ้าจะเลิกต้องตัดขาด ไม่ดื่มอีกเลย ให้เหตุผลว่าดีต่อหัวใจแต่อาจจะแย่ลงจากอย่างอื่น เรียกว่า มันยังไม่ปลอดความเสี่ยง 100% นั่นเอง
นั่นคือยังคงต้องรอการศึกษายืนยันอีก โดยเฉพาะกับความรู้ทางพันธุกรรมใหม่ๆที่ต้องนำมาคิดด้วย และดูผลโดยรวมถึงประโยชน์ โทษ ที่ได้รับ ทั้งทางการแพทย์และเศรษฐกิจ
วิธีการโดยส่วนบุคคล คือ ต้องมีการถามเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะช่วย (ต้องแจ้งด้วย) หลายครั้งเราไม่ได้ข้อมูลตรงนี้ และเมื่อถามแล้วก็ต้องมีกระบวนการต่อว่าจะให้คำแนะนำอย่างไร หรือมีบริการเพื่อเลิกเหล้าและคัดกรองอันตรายจากเหล้าอย่างไร
ใครที่มีโรคจากเหล้าแล้วต้องดำเนินการเลิกให้จริงจัง โรงพยาบาลต้องมีหน่วยงานตรงนี้ การจัดการคลินิกเลิกเหล้าทำยาก ผมเคยทำมาแล้วและล้มเหลวไม่เป็นท่า สำเร็จแค่ไม่กี่ราย การดำเนินการต้องชัดเจนต่อเนื่อง
คนไข้และครอบครัวต้องเดินไปด้วยกัน สำคัญมากๆ แรงเสริมทางบวกจากครอบครัวจะช่วยให้เลิกได้ทั้งเหล้าและบุหรี่ อ้อ..ถ้าติดทั้งคู่ เลิกเหล้าก่อนนะครับ แต่ถ้าติดกิ๊กด้วยให้ปรึกษาพ่อบ้านใจกล้า
ส่วนใหญ่หน่วยงานเลิกเหล้าของประเทศเราจะอยู่กับแผนกจิตเวช ทำให้คนไข้บางคนไม่กล้าพอที่จะเดินเข้าไป
ส่วนนโยบายสาธารณะเพื่อการเลิก ละ ลด การดื่มแอลกอฮอล์ ดูๆแล้วประเทศไทยก็ทำนะครับ แต่ทำไมไม่สำเร็จสักที เรื่องนี้จะละไว้เพราะเป็นเรื่องทางปกครองและการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เกี่ยวกับอายุรศาสตร์ แต่จะว่ากันว่ามีวิธีการใด
ควบคุมเวลาขาย ..บ้านเราก็ทำ แต่ต้องควบคุมปริมาณการขายด้วยนะ ตามคำแนะนำ
ควบคุมพื้นที่จำหน่าย เรียกว่า Zoning ก็..ทำ..นะ เนอะ
ควบคุมอายุผู้ดื่มและบริเวณที่ดื่ม ห้ามเมาเรี่ยราด
สามมาตรการนี้คือ outlet control เพื่อลดการเข้าถึง ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีการขอความร่วมมือจากผู้จำหน่าย
การขึ้นภาษี ขึ้นราคาก็เป็นมาตรการที่ทั่วโลกใช้แต่ได้ผลไม่ดีนัก เพราะอิทธิพลของสารเสพติดมันมากพอจะทำให้หาซื้อได้ด้วยวิธีการต่างๆนานา การลดโฆษณา ควบคุมเวลาโฆษณาไม่ให้เด็กและเยาวชนเห็น ตามสื่อต่างๆ บ้านเราก็ทำนะครับ แต่ว่าสื่อต่างๆมันมากเหลือเกินและดูเข้าถึงได้มากกว่าการควบคุมครับ
ให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ว่าแอลกอฮอล์มันมีผลเสียมากกว่าแค่ตับแข็งกับอุบัติเหตุ ต้องมีการจัดรณรงค์เแคมเปญที่มากกว่า เมาแล้วขับ จนเครียดกินเหล้า ต้องไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆด้วย
ต้องจัดเรื่องเลิกเหล้ากับหน่วยงานมะเร็งทุกที่ ...เหมือนเลิกบุหรี่เข้าไปทุกที
*** ผมคิดว่าคำแนะนำ ของ ASCO,WHO,NIAAA ขาดไปสิ่งหนึ่ง สิ่งที่แข็งแรงที่สุดในสังคม คือ สถาบันครอบครัวครับ ครอบครัวต้องมาช่วยกันดูแลผู้ติดเหล้า พูดคุยด้วยใจที่จะช่วย ไม่ท้อในการช่วย ส่งเสริมสนับสนุนเชิงบวก ไม่ละทิ้งคนไข้ ***
"ครอบครัวที่มั่นคง ทรงพลังกว่าอื่นใด"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม