23 พฤศจิกายน 2560

ยาลดความดัน กับ การตั้งครรภ์

ยาลดความดัน กับ การตั้งครรภ์ บทความนี้ตั้งใจเขียนให้ผู้ที่ยังมีโอกาสจะตั้งครรภ์ แม้ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยในเพจนี้แต่ก็ต้องใส่ใจ ส่วนชนกลุ่มใหญ่..ไปหาคนที่จะ "ทำ" ให้ตั้งครรภ์กันมาก่อนนะ
สุภาพสตรีที่ต้องใช้ยาลดความดันโลหิต กลุ่ม RAS blocker ที่ลงท้ายด้วย -อีปริ้ว เช่น captopril, enalapril, lisinopril ที่ลงท้ายด้วย -ซาตาน เช่น losartan candesartan valsartan หรือ ยา alikiren ไม่ว่าจะใช้ในวัตถุประสงค์ลดความดัน รักษาโรคไต รักษาหัวใจวาย ไม่ว่าวัตถุประสงค์ใดก็ตามที สิ่งที่คุณต้องทราบและคุณหมอก็ต้องทราบคือ ยากลุ่มนี้ต้องห้ามในคนที่ตั้งครรภ์
หรือคนที่ตั้งครรภ์แล้ว เมื่อจะใช้ยาลดความดันโลหิตก็ห้ามใช้กลุ่มนี้ ห้ามก่อนนะ ต่อมาดูสาระสำคัญของการห้าม
จากการศึกษาที่รวบรวม case report, cohort คือรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ไม่ได้เป็นการทดลอง ตั้งแต่ยุคปี 1980จนถึงปี 2000 อันนี้ทำลงวารสาร canada family physician ปี 2012 เขารวบรวมการศึกษาแล้วพบว่า เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีประวัติได้ยา อีปริ้ว มีโอกาสเกิดความผิดปกติแต่แรกเกิดมากกว่าที่ไม่ได้ยา 2.71 เท่าแบบมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่อีกหลายรายงานก็บอกว่าไม่พบ ไม่เกี่ยวกัน แต่เมื่อดูแบบรวมแล้วแนวโน้มไปทางว่าถ้าแม่ได้ยา ลูกมีโอกาสเกิดความผิดปกติแรกเกิดมีมากกว่าแม่ที่ไม่ได้รับอย่างชัดเจน
การศึกษาที่ใหม่กว่าลงใน วารสาร hypertension สิงหาคม 2012 รวบรวมหลายๆการศึกษามาวิเคราะห์ (systematic review) ก็ได้ผลไปในทางเดียวกันคือ แม่ที่เคยได้ยาหรือได้ยาอยู่แล้วมีความผิดปกติของเด็กมากกว่าแม่ที่ไม่ได้ยา แต่ทางฝั่งอเมริกาเขาพบความผิดปกติของ -ซาตานมากกว่า -อีปริ้ว
สรุปสิ่งที่พบ ถ้าได้ยามาในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้น โอกาสจะเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ไม่มากเท่าไร ไม่ชัดเจนเหมือนไตรมาสที่สองและสาม ทำให้ระดับคำแนะนำเป็นควรหลีกเลี่ยง สิ่งที่พบคือ ไตวาย, ไตผิดปกติ กระโหลกผิดปกติ
ถ้าได้ยาในไตรมาสที่สองและสาม โอกาสเกิดความผิดปกติต่อทารกนั้นชัดเจน มีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าไตวาย หายใจลำบาก ปอดและไตพิการ น้ำคร่ำออกน้อย ระดับคำแนะนำนี่ห้ามเลย
มองดูรวมๆแล้ว แม้จะมีตัวแปรตัวปวนจากการศึกษาด้วย เช่นอาจเกิกจากความพิการของเด็กเอง อาจเกิดจากโรคเช่น เบาหวาน อาจเกิดจากอื่นๆ แต่ผลการศึกษาทั้งหมดไปในทางเดียวกันเลยว่า ถ้าได้ยา เกิดอันตรายมากกว่าไม่ได้ยาชัดเจน
*** จึงออกมาเป็นคำแนะนำของ NKF/KDOQI และ ในแนวทางโรคความดันอันใหม่ 2017 ที่เพิ่งสรุปกันไป ว่า
- ถ้าได้ยาอยู่ และทราบว่าตั้งครรภ์เมื่อไร หยุดยาเปลี่ยนยา
- ถ้าไม่เคยได้ยาและตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ ควรใข้ยากลุ่มอื่น
- ในหญิงให้นมบุตรสามารถให้ยาได้ (การศึกษาบอกว่าออกทางนมนะ แต่ไม่มีผลอะไร)
- KDOQI บอกว่า ACEI อีปริ้ว มีหลักฐานแน่นหนากว่า ARB ซาตาน (แต่ผมว่าก็พอๆกันทั้งคู่)
- ความเสียหายจากการให้ยา เกิดในไตรมาส 2 และ 3 มากกว่าไตรมาสที่ 1
- แนะนำคุมกำเนิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ได้ยานี้
- คุมกำเนิดต่อเนื่องไปอีก 3 เดือนหลังจากหยุดยา
แถมนิดนึงคืออายุเฉลี่ยของหญิงตั้งครรภ์ ที่ได้รับยาตามการศึกษาของเขาคือ 30-35 ปี คุณๆทั้งหลายยังตีตั๋วขบวนสุดท้ายทันนะครับ รีบคว้าโปรโมชั่น
แม้แต่คำเตือนออกมาแบบนี้ ในการประชุมวิชาการ American Colleges of Cardiology ปี 2010 ยังมีรายงานว่าก็ยังมีการใช้ ARB ACEI และ DRI ในหญิงตั้งครรภ์และเกิดปัญหาอยู่เลย เพราะขาดความตระหนักรู้ในหมู่แพทย์ คือเดิมแนวทางการใช้ยาลดความดันในคนอายุน้อยเขาสนับสนุนการใช้ ACEI และ ARB เป็นยาตัวแรกครับ ก็ใช้กันมาตลอดลืมมองประเด็นว่าท้อง และคนไข้เองก็ไม่ได้คุมกำเนิดและไม่ทราบประเด็นนี้ ...หรือท้องแบบไม่รู้ตัว กระทันหัน
จึงอยากส่งคำเตือนนี้มาสู่คุณหมอ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลเรื่องความดัน หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงคนไข้ที่ได้ยา คนที่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ทั้งเจตนาและไม่เจตนาก็ตามแต่ ให้ระวังเรื่องนี้ด้วย
ขอบคุณแฟนเพจท่านหนึ่งที่เปิดประเด็นนี้ขึ้นมานะครับ ก็เลยเอามาอ่านศึกษาต่อ และเตือนกันต่อไปครับ
ที่มา
Can Fam Physician. 2012 Jan; 58(1): 49–51.
J Hypertens. 2011 Feb;29(2):396-9
K/DOQI Clinical Practice Guidelines on Hypertension and Antihypertensive Agents in Chronic Kidney Disease
Hypertension. 2012;60:444-450.
2017 ACC/AHA/AAPA/ABC/ACPM/AGS/APhA/ASH/ASPC/NMA/PCNA Guideline for
the Prevention, Detection, Evaluation, and Management of High Blood Pressure in Adults

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม