02 พฤศจิกายน 2560

sanitary napkins

sanitary napkins .. sanitary pads ไหนๆก็แดรกคูล่า ซอมบี้รีบอร์นแล้ว ก็ต้องว่าต่อด้วยเรื่อง..เลือด นี่ก็ตัวดูดเลือดเหมือนกัน มาฟังเรื่องน่ารู้ทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ (เอ..สำนวนคุ้นๆหูไหม)
เรื่องราวของผ้าอนามัยมีมายาวนาน ก็แน่นอนนะครับเพราะการมีเลือดประจำเดือนคือการเปลี่ยนแปลงของโพรงเยื่อบุมดลูกตามฮอร์โมนเพศหญิงที่วงรอบทุกๆ 28 วัน เมื่อครบ 28 วันเยื่อบุมดลูกที่ไม่ได้ใช้เป็นที่ฝังตัวอ่อนก็จะหลุดลอกออกมา บางคนก็วนไปๆ หลุดลอกๆ ตลอดชีวิต ไม่เคยได้ "ฝัง" ตัวอ่อนก็มี บางคนก็ได้เว้นไปสิบเดือนตอนมีตัวอ่อน บางคนก็ได้เว้นหลายครั้ง บางคนต้องตัดมดลูกอันนี้เว้นยาวเลย
ในอดีตมีการบันทึกใน papyrus eber คือบันทึกในกระดาษปาริรัสของอิยิปต์ว่าสาวๆอียิปต์เมื่อ 1500 ปีก่อนคริสตกาลก็ใช้ผ้าอนามัยนะ !! โห...สามพันห้าร้อยปีที่แล้วสาวๆใช้กระดาษปาปิรัส ใช่ครับ กระดาษปาปิรัสนี่แหละ ที่ใช้เขียนหนังสือนี่แหละครับ ดีใจใช่ไหมที่ไม่ไปเกิดยุคนั้น
หลังจากนั้นก็มีการใช้วัสดุซึมซับในท้องถิ่นแต่ละที่ต่างๆกัน เยื่อไม้บ้าง ขนแกะบ้าง หนังกระต่าย ฟองน้ำ ไหมพรม กาบมะพร้าว เรียกว่าถ้าเป็นยุคนี้คงเข้าข่ายโหดร้ายทารุณกรรมสัตว์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวัสดุชนิดใดสิ่งที่เหมือนกันคือ มันไม่ได้ซึมซับ แห้งสบายเหมือนยุคนี้ เปลี่ยนวันละมากกว่า 10 รอบ แต่ละที่ใช้ไม่เหมือนกัน
จนมาเมื่อประมาณ ปลายศตวรรษที่ 18 โลกพัฒนาขึ้น เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการผลิตเพื่อจำหน่าย เกิดการจ้างงาน เกิดฝีมือแรงงานทั้งชายหญิง แน่นอนว่าหากฝ่ายหญิงมัวแต่เปลี่ยนผ้าอนามัยวันละเป็นสิบๆรอบ คงไม่ทันกิน จึงเกิดนวัตกรรมของการสร้างผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง และมีวางขายแบบสำเร็จรูป พร้อมใช้
ใช่แล้ว..ในอดีตผ้าอนามัยเมื่อใช้แล้วนำกลับมาซักล้างใช้ใหม่นะครับ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมและวัสดุศาสตร์สมัยนั่นยังไม่ดี ในช่วงแรกๆก็มีการใช้ผ้าสำลีทำเป็นก้อนซึมซับ ใช้คำว่าก้อนดีกว่า เพราะรูปร่างเป็นเหมือนอิฐสี่เหลี่ยม หนาแผ่นละ 2-3 เซนติเมตร...คือไอโฟน 5s ประมาณสี่ถึงห้าเครื่องประกบกัน ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์พิเศษครับ คือ เข็มขัด (sanitary pad belt) หรือ กางเกงชั้นในพิเศษ (sanitary pad girdle) เพื่อมีช่องใส่เจ้าผ้าอนามัยแบบอิฐบล็อกนี้ได้ อาจใส่มากกว่า 1 ก้อนอีกต่างหากเพื่อความมั่นใจว่าไม่เลอะเทอะ
แม้ว่าจะหนาปานนั้น แต่การซึมซับมันไม่ดีนะครับ เรียกว่าเลือดสาดทีเดียว แต่ว่าก็สะดวกขึ้น จำนวนครั้งการเปลี่ยนลดลง อีกอย่างราคาก็แพงมาก มีแต่พวกไฮโซไฮซ้อ ถึงมีโอกาสได้ใช้ ชาวบ้านร้านตลาดก็กาบมะพร้าว ฟองน้ำกันต่อไป
จนเมื่อปี 1896 คุณโจเซฟ ลิสเตอร์ ...ชื่อคุ้นๆเนอะ คนที่ริเริ่มการใช้ยาฆ่าเชื้อ antiseptic ในการผ่าตัด มีชื่ออยู่ในตระกูลแบคทีเรีย Listeria และ น้ำยาบ้วนปากลิสเตอรีนนี่แหละครับ ได้คิดค้น ผ้าอนามัยแบบใช้วัสดุซึมซับที่ดีขึ้น ไม่ต้องหนาก็ซึมได้ดี โปร่ง สะอาดขึ้น มีพื้นที่หายใจมากขึ้น และวางจำหน่ายแบบพร้อมใช้ออกมาครั้งแรก ราคาถูกลง โดยบริษัทคิมเบอร์ลี่แอนด์คล๊ากเรียกว่า Lister's Towel แต่ก็ยังต้องใช้สายเข็มขัดอยู่ดี เป็นครั้งแรกที่ออกขายอย่างออกหน้าออกตา เพราะกฏหมายในอเมริกาและยุโรปยุคนั้นเขาห้ามโฆษณาวัตถุลามกอนาจารและสิ่งเกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิด (มันเกี่ยวกันตรงไหน)
ขนส่งก็ไม่ได้ จนคุณโจเซฟกับบริษัทคิมเบอร์ลี่ ใช้ใบแปะโฆษณาและคำโฆษณาว่า "faminine hygiene" มันเพื่อสุขภาพนะ จึงขายได้
....โอ...คำพูดว่าเพื่อสุขภาพแล้วดูดี มันถูกใช้มาเป็นพันปีเลยหรือนี่ บร๊ะเจ้า !!...
แต่ก็นะ ยุคนั้นก็ยังแพงมากอีกนั่นแหละ จนเมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนของบริษัทเห็นการประยุกต์ใช้ผ้าซับเลือดโดยวัสดุ cellucotton ที่ซึมซับได้ดีมากและบาง ตอนนั้นมีหลักฐานว่านอกจากใช้ปฐมพยาบาลแล้ว คุณพยาบาลชาวฝรั่งเศสภาคสนามก็เอามาดัดแปลงทำเป็นผ้าอนามัยอีกด้วย มันก็เลยปิ๊งเนอะ เอาวัสดุนี่มาทำ ไม่ต้องหนามากแต่ซึมซับดี ลดทุนการผลิต ราคาถูกลง บริษัทก็ขายได้ทั้งโลกเลย แต่ก็ยังใช้เข็มขัดพิเศษหรือกางเกงชั้นในแบบพิเศษเพื่อใส่ผ้าอนามัยอยู่ดี
แต่คราวนี้ฮิตเลยครับ ทั้งแบบ regular, Extra, Thin มีออกมาหลายรุ่น คล้ายๆปัจจุบัน หลายๆบริษัทก็ใช้วัสดุแบบเดียวกันนี้ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งจึงแพร่หลายมาก มีการแข่งขันการออกแบบเพื่อให้ได้ทั้งอรรถประโยชน์และแฟชั่น ออกแบบให้เข้ากับสรีระของ...สตรีทั่วโลก
และยังใช้ในการซับเลือดหลังการผ่าตัดทางช่องคลอด การคลอดบุตรเพื่อรับน้ำคาวปลา (lochia) หรือตกขาว
จนกระทั่ง...ปี 1962 ยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ถือกำเนิดยุคใหม่แห่งผ้าอนามัยคือ ชนิดแบบแถบกาวนั่นเอง เพื่อยึดติดกับกางเกงชั้นใน โยนเข็มขัดและกางเกงชั้นในแบบพิเศษทิ้งไป เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมวงการไปเลย เรียกผ้าอนามัยรุ่นนี้ว่า Kotex (โดยคิมเบอร์ลี่แอนด์คล๊ากอีกเช่นเดิม) และยังออกรุ่นย่อยๆออกมาเพื่อให้เลือกใช้อีก ไม่ว่าจะเป็นแบบหนานุ่ม บางกรอบ หรือ ปีกกว้าง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน (แต่ไม่มีขอบชีสนะ)
แถม Kotex ยังริเริ่มการโฆษณา โดยใช้นางแบบสวยๆมาโฆษณาถึงประสิทธิภาพ ความบาง สะดวก เป็นแบบแรกๆ หลังจากนั้นก็เป็นรูปแบบการโฆษณาแบบนี้เรื่อยมา รู้ว่ายี่ห้อนี้รุ่นนี้ใครเป็นพรีเซนเตอร์...แล้วมันมีอรรถประโยชน์อะไร อันนี้บางทียังไม่รู้เลย
ปัจจุบันได้แตกไลน์และมีวิวัฒนาการของผ้าอนามัยออกมาอีกมาก ไม่ว่าแบบหนาสำหรับวันแรกๆ แบบกลางคืนที่ออกแบบมาซึมซับในท่านอน แบบบางเพื่อความสวยงามและโล่ง แบบปีกเพื่อโอบกระชับกันซึม แบบ panty liner หรือแผ่นอนามัยบางๆ ไว้รองรับตกขาว แบบสมุนไพรเพื่ออนามัยและลดกลิ่นอับ แบบประจุลบ...เพื่อลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและลดกลิ่นอับ
หรือแบบย้อนยุคเป็นแบบผ้า สำหรับกลุ่มที่แพ้ใยสังเคราะห์ ต้องการความบอบบางพิเศษ หรือกลุ่มรักธรรมชาติ ขอกลับมาใช้แบบผ้า ใช้ใหม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ต้องขอเชิญ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว มาช่วยให้ความรู้เรื่องอุปกรณ์ซึมซับด้วยครับ
ปล. ตอนที่ไปดูข้อมูลของจริงที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเมกะสโตร์ชื่อดัง รู้สึกเขินๆกับการไปอ่านฉลากรายรุ่นรายยี่ห้อ ..วันนั้นถึงกับใส่แว่นดำ.. เขินสุดๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม