20 พฤศจิกายน 2560

เหล้ากับ...มะเร็ง ตอนที่ 1

เหล้า..เครื่องดื่มต้องห้ามในศีลข้อที่ห้า ทำให้ขาดสติเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปีมากมาย แต่เหล้ายังมีอันตรายมากกว่านั้น
สมาคมมะเร็งวิทยาคลินิกของอเมริกา (ASCO) ได้ประกาศถึงอันตรายของเหล้าเกี่ยวกับมะเร็งที่สำคัญในวารสาร Journal of Clinical Oncology เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 ที่ผ่านมาถึงการสรุปผลการศึกษาเรื่องเหล้ากับ...มะเร็ง
ตัวเลขผู้บริโภคแอลกอฮอล์ทั้งในอเมริกาและทั้งโลกเพิ่มขึ้น โรคอันเกิดจากการดื่มเหล้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในฐานะชาวบ้านร้านตลาดเราก็น่าจะรู้จักตับแข็งจากเหล้า สมองเสื่อมจากเหล้าและอาการถอนเหล้า (จังซี่มันต้องถอน) แต่ว่าเหล้าก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดมะเร็ง
มะเร็งที่มีข้อมูลชัดเจนว่าสัมพันธ์กับการดื่มเหล้า มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านมในสตรีและมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งชนิดอื่นก็มีข้อมูลว่าการดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีความสัมพันธ์แต่ไม่ชัดเจนเท่า 7 ชนิดนี้
โดยหน่วยงาน IARC เป็นหน่วยงานย่อยขององค์การอนามัยโลกที่เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาว่าสารก่อมะเร็งนั้นมีอะไรบ้าง ระดับความรุนแรงของการก่อมะเร็งเป็นระดับใด ได้ประกาศชัดเจนว่าแอลกอฮอล์ในเหล้านั้นเป็นสารก่อมะเร็ง Grade 1 คือมีหลักฐานชัดเจนว่าก่อมะเร็งในคน และ ความชัดเจนที่สุดจะเกิดขึ้นกับมะเร็งบริเวณทางเดินหายใจและทางเดินอาหารส่วนบน เรียกว่า upper aerodigestive cancer
เจ้ามะเร็งชนิดนี้น่ากลัวและทรมานมากครับ ส่วนมากต้องรักษาด้วยการผ่าตัด การจัดโครงสร้างปากและใบหน้าใหม่ที่เรียกว่า reconstruction โยกเนื้อตรงนั้นมา เอากระดูกตรงนี้มา ... ต้องมีการฉายแสง มีปัญหากับการกิน การใช้ชีวิต การหายใจ ใส่สายยางให้อาหาร เรียกว่าแม้ไม่ใช่มะเร็งที่จัดว่าเป็นเพชรฆาตอันดับต้น แต่ทำให้ทรมานและคุณภาพชีวิตแทบไม่เหลือ
การดื่มเหล้าปริมาณมากและยาวนาน สัมพันธ์ชัดเจนที่สุดกับมะเร็งชนิดนี้ และการศึกษาที่ศึกษาคนที่เลิกเหล้าในระยะยาวก็พบว่าความเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ลดลง
ส่วนมะเร็งชนิดอื่นๆ มีข้อมูลชัดเจนว่าการดื่มเหล้าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม ปริมาณมากเสี่ยงมาก ดื่มนานๆเสี่ยงมาก แต่ตัวเลขมันยังหาข้อสรุปยากเพราะปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป มันแปรปรวนมาก การคิดคำนวนก็ไม่เท่ากัน กฎหมายกำกับแอลกอฮอล์แต่ละชาติก็ไม่เหมือนกัน ชัดเจนที่สุดและแน่นอนคือ upper aerodigestive cancer ที่ว่ามาข้างบนครับ
และการลดเหล้านั้น ก็ยังไม่พบความสัมพันธ์ว่าความเสี่ยงจะลดลงอย่างชัดเจน ไม่เหมือนอย่างกรณี Upper aerodigestive cancer ที่ชัดเจน และที่ชัดเจนอีกอย่างคือ พวกที่เป็นมะเร็ง 7 อย่างที่ว่าแล้ว รักษาแล้ว ดีขึ้นแล้ว แต่...แต่ ยังไม่หยุดเหล้า (เยอะนะครับกลุ่มนี้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเกิดจากเหล้า หมอเองบางทีก็ไม่รู้) พบว่าอัตราการเกิดซ้ำเพิ่มสูงกว่าคนที่เลิกเหล้า สองเท่าครึ่งถึงสามเท่า !!
ผมขอแปลประโยคที่ผ่านมาก่อน ก็จะแปลว่าเมื่อคุณเริ่มดื่มเหล้า ความเสี่ยงมะเร็งจะเริ่มต้นและแม้หยุดดื่มแล้วความเสี่ยงนั้นก็ไม่ได้หายไป ดังนั้นคนที่ไม่เคยดื่มเหล้า กรุณาอย่าดื่ม เพราะยิ่งคุณเริ่มเร็ว ดื่มนาน ความเสี่ยงยิ่งสะสมยิ่งสูง
ไม่ได้หมายความว่า คนที่ดื่มอยู่แล้วจะได้ใจ ..โหหห ลดไปก็เสี่ยงเท่าเดิม ดื่มต่อดีกว่า ..โน้ว โนว ไม่ได้ คิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะนี่คือความเสี่ยงมะเร็งเท่านั้น ถ้าคุณดื่มต่อความเสี่ยงอื่นๆก็จะยังต่อไป ไม่ว่าตับแข็ง สมองเสื่อม เบาหวาน อุบัติเหตุ ฐานะการเงิน ทุกอย่างแย่หมด
และถ้าสังเกตดีๆ คำพูดในบทนี้ว่า ดื่มมาก ดื่มนาน มันสัมพันธ์กับการเกิดโรคที่ไม่เท่ากัน ใครจะเกิด ใครเกิดมากกว่า อย่างไรเรียกมาก อย่างไรเรียกนาน
ต้องเข้าใจหน่วยวัดแอลกอฮอล์มาตรฐานก่อน เรียกว่า ดื่มมาตรฐาน (standard drink) เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหลากหลายมาก หนึ่งดื่มมาตรฐาน คือ ปริมาณแอลกอฮอล์ 14 กรัม (ตามคำนิยามของ NIAAA หน่วยงานแอลกอฮอล์ที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐาน)
ประมาณ วิสกี้ เหล้าสี เหล้าขาว 40 ดีกรี ... 45 ซีซี ..สามช้อนโต๊ะ
ประมาณ ไวน์แดง ไวน์ขาว 12 ดีกรี ... 150 ซีซี ..ประมาณครึ่งกระป๋องน้ำอัดลม
ประมาณ เบียร์ 5 ดีกรี ...360 ซีซี...ประมาณหนึ่งกระป๋องน้ำอัดลม
วันนี้แอบไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตหาข้อมูลมาให้ท่าน หลายๆยี่ห้อเริ่มติดป้ายแจ้งว่าเครื่องดื่มตัวเอง คิดเป็นกี่ดื่มมาตรฐาน ด้วยปริมาณเท่าไร ก็ดีนะครับ
มีทั้งหมดสามตอน เขียนตอนเดียว รวบเกินไปจะไม่เข้าใจครับ
ปล. ถ้าอยากอ่านต่อ พ่อจ๋าแม่จ๋า โปรดเมตตา ยิ้มหวานๆมาพร้อมหัวใจสักครั้ง เพิ่มพลังนักเขียนอาภัพ ตกอับแทงหวย ด้วยนะจ๊ะพ่อจ๋าแม่จ๋า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม