เรื่องของการตรวจการติดเชื้อโควิด19 นับว่าวารสารนี้น่าสนใจยิ่ง และได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาไว้ในที่เดียว ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมนโยบายการตรวจโควิดจึงออกมาเป็นแบบนี้
บทบรรณาธิการนี้ได้รวบรวมและวิเคราะห์การตรวจหาโควิดแบบตรวจทุกคนทุกรายว่ามันคุ้มค่าหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยมีงานวิจัยใหญ่จากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน การตรวจทุกรายในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในแคนาดา และการวิเคราะห์รวมผลการศึกษาการแพร่กระจายเชื้อในผู้ป่วยระยะต่าง ๆ
ธรรมชาติของโรคที่พบหลังจากที่ศึกษามาหนึ่งปีคือ ผู้ติดเชื้อประมาณ 80% ไม่มีอาการ ที่มีอาการตั้งแต่ไม่มากจนถึงมากมีประมาณ 19% ส่วนที่อาการวิกฤตมีแค่ 1% (ข้อมูลตรงนี้ยังมีข้อสังเกตจากหลายการศึกษา) และอย่างที่เรารู้กัน กลุ่มที่มีอาการรุนแรงจนถึงวิกฤตคือ ผู้สูงวัย ผู้ที่น้ำหนักเกินในขั้นโรคอ้วน คนที่มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อที่แตกต่างกัน
** นั่นหมายความว่า การที่จะระบุความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ ขึ้นกับว่ามีอาการ ไม่มีอาการ กำลังจะมีอาการ เป็นสำคัญ ไม่อย่างนั้นแยกไม่ได้และเกิดการศึกษาแบบนี้ไม่ได้เช่นกัน การซักประวัติอาการ การติดต่อกับผู้ติดเชื้อ การเดินทางเข้าแดนระบาดโรคจึงสำคัญมาก ***
สิ่งที่พบคือ อัตราการแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มคนที่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบเชื้อ ต่ำกว่ากลุ่มที่มีอาการอย่างชัดเจน ตัวเลขค่อนข้างกว้างว่าน้อยกว่า 3 เท่าจนถึง 25 เท่าตัว แต่ที่คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มใหญ่ที่แพร่กระจายเชื้อเพราะเขาไม่มีอาการและไม่ถูกกักตัว ดังนั้นมาตรการ ล้างมือ-เว้นระยะห่าง-หน้ากากอนามัย จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อลงได้มากหากทำทุกคน
การทดสอบทุกคนทุกราย ส่วนมากจะพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ซึ่งโอกาสติดต่อไปหาผู้อื่นไม่มาก และสามารถใช้วิธีการ ล้างมือ-เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากาก ในการป้องกันได้เหมือนกัน เรียกว่าถึงไม่ตรวจก็ต้องใข้วิธีนี้เช่นกัน และยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะบอกว่าการตรวจทุกคนทุกรายแบบปูพรมจะลดการแพร่กระจายเชื้อและระบาดได้มากขึ้น (ส่วนมากในการศึกษาบอกว่าทำตามมาตรการป้องกันแค่ 60%) และยิ่งในสถานการณ์ที่ทรัพยากรไม่มากพอ เราอาจต้องสงวนวิธีตรวจยืนยันเพื่อรายที่สงสัยเท่านั้น การศึกษาเรื่องนี้ที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่อู่ฮั่น ว่าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการแทบไม่แพร่เชื้อ แต่ที่นั่นเขาป้องกันโรคเคร่งครัดมาก โมเดลนี้เราน่าจะหยิบมาใช้มากสุด คือป้องกันเคร่งครัดทุกราย และคัดกรองสอบสวนโรคหาคนที่จำเป็นต้องตรวจมายืนยันและป้องกันการแพร่กระจายวงกว้างต่อไป
เรากำลังรอการศึกษาขนาดใหญ่เรื่องการระบาดและรูปแบบการแพร่กระจายไวรัสโควิด ที่จะมาตอบโจทย์ว่าควรปูพรมทุกรายไหม ด้วยการคัดกรองแบบใด ยืนยันแบบใด มีผลได้ผลเสียอย่างไร คุ้มค่าไหม เพื่อจะออกแบบการควบคุมโรคในเชิงนโยบายในชุมชน ให้อยู่ได้แม้จะมีการระบาดในวงกว้าง ในชื่อว่า "Operation Moonshot" คาดว่าจะแล้วเสร็จราวกลางปี 2021
อ่านฟรีและมีลิงค์ไปการศึกษาฉบับเต็มอีกหลายฉบับ (ส่วนมากฟรี)Pollock Allyson M, Lancaster James. Asymptomatic transmission of covid-19 BMJ 2020; 371 :m4851
https://www.bmj.com/content/371/bmj.m4851
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น