13 ธันวาคม 2563

จระเข้ มีหัวใจสี่ห้อง

 จระเข้ สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่มาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ จนมาถึงยุคปัจจุบัน วันนี้เรามาพบความลับของจระเข้กัน

สัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดจะมีหัวใจสามห้อง ห้องบนขวารับเลือดดำ ห้องบนซ้ายรับเลือดแดง แต่จะมาเทรวมกันในห้องล่างรวม นั่นคือเลือดดำแดงจะปนกัน เลือดที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกายจะมีออกซิเจนต่ำลง เพราะผสมเลือดดำด้วย

ส่วนสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะมีสี่ห้องหัวใจ บนขวารับเลือดดำ ส่งไปล่างขวาแล้วส่งเลือดดำไปที่ปอด เลือดจากปอดคือเลือดแดง ไหลกลับห้องบนซ้าย ส่งไปล่างซ้ายแล้วส่งไปเลี้ยงร่างกาย

วิวัฒนาการอันหนึ่งของสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือการเป็นสัตว์เลือดอุ่น สามารถผลิตความร้อนและควบคุมเมตาบอลิซึมของตัวเองได้ ไม่ต้องอาศัยความร้อนจากภายนอกเหมือนอย่างสัตว์เลือดเย็น หนึ่งในปัจจัยที่จะทำอย่างนั้นได้คือระบบไหลเวียนต้องส่งออกซิเจนได้ดี

สัตว์เลือดอุ่นจึงมีระบบหัวใจแยกซ้ายขวา แยกเลือดดำที่ออกซิเจนต่ำออกจากเลือดแดงที่ออกซิเจนสูงเพื่อประสิทธิภาพการเมตาบอลิซึมที่สูงขึ้น มีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ต้องมีลำดับการบีบที่ถูกต้องเพื่อส่งเลือดอย่างมีประสิทธิภาพ กลไกสำคัญคือการเกิด AV node และ His-Purkinje fiber ของหัวใจ แล้ววันหลังจะมาเล่าให้ฟังครับว่าทำไมสัตว์เลือดเย็นไม่มีสองอวัยวะนี้

แต่จระเข้ มีหัวใจสี่ห้อง ต่างจากสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป แต่ก็ไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จุดสำคัญที่ห้องล่างขวา ที่ทางออกไม่ได้มีเพียง pulmonary artery ที่ไปปอดเท่านั้น แต่ยังมีทางแยกออกไปเป็น left aorta ส่งเลือดกลับไปร่างกายอีกรอบ

ในมนุษย์จะมี aorta คือหลอดเลือดแดงใหญ่สุดเพียงท่อเดียว ออกมาจากห้องล่างซ้าย ก็ไม่ได้เรียก left aorta แต่อย่างใด (ก็มันมีอันเดียว)สำหรับจระเข้ มี aorta สองอัน โดยหัวใจห้องล่างซ้ายส่งเลือดข้ามไป right aorta ส่วนห้องล่างขวาจะมีช่องทางบางส่วนไป left aorta

กลับมาที่รอยต่อตรงทางออกห้องล่างขวา จะมีเนื้อเยื่อบาง ๆ แยก pulmonary artery ออกจาก left aorta.โดยรอบวงของทางออก pulmonary artery จะมีกล้ามเนื้อหนานูนเป็นตุ่มวนรอบวง เรียกว่า cog tooth valve สำคัญคือมันสามารถบีบรัดตัวจนเลือดไม่ไหลทางนี้ ไหลออกไปทาง left aorta ได้มากขึ้น

นั่นคือ จระเข้มีหัวใจระบบไฮบริด เปลี่ยนเป็นแบบสามห้องหรือสี่ห้องก็ได้ตามความต้องการ ด้วยการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติของตัวเอง เวลานักวิจัยเขาศึกษา มีการทำการสวนหัวใจจระเข้ด้วยนะครับเพื่อวัดแรงดันและการตอบสนองต่อยาต่าง ๆ มีการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จระเข้ด้วย และดมยาสลบจระเข้ (อยากรู้วิธีมาก)

ถ้าบีบท่อ pulmonary artery มาก เลือดดำจะปนออกไปสู่ร่างกายมากขึ้น หัวใจจะแปรสภาพเป็นสามห้องเหมือนสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป

ถ้าคลายท่อ pulmonary artery เลือดจะไหลออกทางนี้เหมือนหัวใจสี่ห้องของสัตว์เลือดอุ่น (เมื่อท่อ pulmonary artery ขยายขนาด จะไปดันเนื้อเยื่อที่แยกให้ดันไปปิด left aorta ด้วย)

หากจระเข้ต้องการใช้พลังงานสูงจะสวิตช์ไปเป็นหัวใจสี่ห้อง แต่ถ้าไม่ต้องการพลังงานมากเช่น รอเหยื่อหรือดำน้ำ ก็จะปิดท่อ pulmonary artery ให้แคบลง เลือดไปปอดน้อยลง เลือดดำปนออกมาเลี้ยงร่างกายมากขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง อยู่ในน้ำได้นานมาก อ้าว.. ทำไมนานขึ้น

เพราะความจริงแล้วเลือดดำที่เราเรียกกันมันเป็นเพียง deoxygenated blood คือมีความเข้มข้นและความดันออกซิเจนในเลือดลดลง ไม่ได้หายไปหมด ออกซิเจนหายไปแค่ 50-60% ในภาวะที่จระเข้ดำน้ำ จระเข้จะปิดการไหลเวียนเลือดไปปอด เอาเลือดดำที่ยังมีออกซิเจนอยู่บ้าง เอามาเลี้ยงร่างกายต่อได้ จึงอยู่ในน้ำได้นานขึ้นนั่นเอง

นี่สินะ ทำไมคุณชาละวันจึงมีเมียหลายคนได้พร้อมกัน

เบา ๆ วันอาทิตย์ หลังจากหมดตัวจาก 12.12

ในภาพอาจจะมี 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม