03 ธันวาคม 2563

กัญชา กับ การขับรถ

 มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชามาเล่าให้ฟัง

เมื่อวานนี้วารสาร JAMA ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาอันหนึ่งที่น่าสนใจดี เป็นการศึกษาเล็ก ๆ ของนักวิจัยในเนเธอร์แลนด์ด้วยคำถามที่ว่าสูดเอาไอระเหยกัญชาเข้าไป จะทำให้ "เมา" และขับรถแย่ลงไหม

เขาศึกษาคนเพียง 26 คน โดยแบ่งกลุ่มและให้สูดเอาไอระเหย ใช้คำว่า vaporization นะครับ ไม่ได้จุดสูบแบบเผาไหม้ ไม่ได้หยดน้ำมัน ไม่ได้เคี้ยวใบ เพราะต้องการศึกษาผลในระยะสั้นหลังเสพกัญชา ถ้าใช้วิธีอื่นต้องรอนานและอาจคาดเดาผลยาก

แบ่งเป็นสารสกัด THC ที่พบมากในการเสพแบบเริงรมย์ สารสกัด CBD อันนี้ส่วนมากมาใช้เป็นยา สารผสม THC/CBD ก็คือกัญชาทั่ว ๆ ไป และสูดยาหลอก หลังจากสูดแล้วให้ไปทดสอบขับรถ แล้ววัดผลว่าขับได้ดีไหม เป๋ออกข้างไหม โดยวัดผลที่ 40 นาทีแรกและ 240 นาทีแรก

ก็ปรากฎว่า คนที่สูดไอของ THC, THC ผสม CBD มีการขับรถที่แย่ลงในช่วงแรก แต่ว่ายังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วน CBD ไม่เป๋มากนัก แต่พอไปดูผลที่ 240 นาทีแล้วไม่ต่างกัน อาจเป็นเพราะกัญชาแบยไอระเหยออกฤทธิ์ไว หมดฤทธิ์ไว แม้จะไม่มีนัยสำคัญและกลุ่มตัวอย่างน้อย ขนาดกัญชาก็ไม่มากนัก แต่ก็พอบอกได้ล่ะว่า ถ้าเอากัญชาไปสกัดแล้วมาเสพแบบไอระเหยจะทำให้สมรรถนะการขับขี่ลดลง

แต่... กัญชาที่อนุญาตให้ใช้ในบ้านเราเป็นแบบน้ำมันกัญชาแบบหยดนะครับ จะเอาผลการศึกษานี้มาใช้ตรง ๆ ไม่ได้ ส่วนที่ใช้นอกข้อกำหนด จะสูบและสูดไอระเหย (ที่มักจะมีขนาดสูงกว่าการศึกษานี้) อาจเกิดความบกพร่องการขับขี่ได้จริง บ้านเราอาจอันตรายกว่านั้น เพราะเราใช้แบบหยด ยายังไม่ทันออกฤทธิ์เลย หยดซ้ำอีกแล้ว และพอเวลาไปขับรถ คราวนี้แหละ ยาออกฤทธิ์พอดี มึนงง ใจสั่น อาเจียนกันตาม ๆ กัน และอาจมีสมรรถนะการขับขี่ลดลงด้วย

ต่อไปดื่มไม่ขับอาจจะไม่พอ ต้องเพิ่ม "ดูดไม่ขับ" อีกด้วยกระมัง

อ่านฟรีนะจ๊ะที่รัก
Arkell TR, Vinckenbosch F, Kevin RC, Theunissen EL, McGregor IS, Ramaekers JG. Effect of Cannabidiol and Δ9-Tetrahydrocannabinol on Driving Performance: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2020;324(21):2177–2186. doi:10.1001/jama.2020.21218

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม