31 ตุลาคม 2563

พลิกความเชื่อ ตับเรื้อรัง ตอนที่ 2 : ไวรัสตับอักเสบบี

 พลิกความเชื่อ ตับเรื้อรัง ตอนที่ 2 : ไวรัสตับอักเสบบี

จากการบรรยายเรื่อง management of commom liver diseases in disruptive era โดย อ.พิสิฐ ตั้งกิจวาณิชย์ 30 ตุลาคม 2563

1. ไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคเรื้อรังที่รักษายาก เพราะตัวเชื้อกำจัดยากมาก ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันในเด็กไทยทุกราย และมียารักษาที่ดี เพียงแต่การรักษานั้นเป็น suppressive therapy คือโอกาสหายขาดมีน้อย ประมาณไม่เกิน 10% แต่การกดเชื้อจนไม่อันตรายนั้น เราทำได้ดีมาก

2. ความรุนแรงและอันตรายขึ้นกับปริมาณเชื้อและความรุนแรงของการอักเสบของตับ เราจึงรักษาในคนที่มีเชื้อมากพอสมควรและการอักเสบตามเกณฑ์ เพราะการรักษามีโอกาสหายขาดต่ำมาก ต้องกินยานาน แต่หากกดปริมาณไวรัสได้ดี (ซึ่งเราทำได้ดี) และลดการอักเสบ (จากการลดไวรัสและคุมโรคร่วมของตับ) โอกาสเกิดตับแข็งและมะเร็งตับจะลดลงถึง 70-80%

3. เมื่อตรวจพบโปรตีนอันเป็นหลักฐานของเชื้อ (HBsAg) ,ควรเข้ารับการตรวจเพื่อบ่งบอกระยะของโรคว่าเชื้อมากน้อยเพียงใด ตรวจพบ HBeAg หรือไม่ การอักเสบของเนื้อตับเป็นอย่างไร ทั้งการตรวจสแกนตับ การตรวจเลือด หรือการเจาะตรวจเนื้อตับหากจำเป็นจริง ๆ และที่สำคัญคือ โรคร่วมที่ติดต่อทางเดียวกัน คือ ไวรัสเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซี

4. หากยังไม่ถึงเกณฑ์รักษา ต้องติดตามต่อเนื่องเพราะการดำเนินโรคไวรัสตับอักเสบบีจะมีลักษณะสงบเงียบและกำเริบสลับกันไปมาได้ และต้องหาโอกาสรักษาเพราะจะได้ลดโอกาสเกิดตับแข็งและมะเร็งตับลงมาก และหากถึงเกณฑ์รักษา ให้คุยกับคุณหมอให้กระจ่างเพราะต้องรักษานาน แต่เกือบทั้งหมดรักษาด้วยยากินที่ประสิทธิภาพสูง ไม่แพง และอยู่ในสิทธิการรักษาพื้นฐาน

5. ยารักษาที่ใช้ส่วนใหญ่คือยากินต้านไวรัสเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของของไวรัส สองชนิดที่มีโอกาสดื้อยาต่ำคือ tenofovir (ทั้ง tenofovir disoproxil fumarate หรือ tenofovir alafenamide) และยา entecavir ยาทั้งสองนี้มีใช้ในไทย ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะได้รับยาในระยะยาว จึงต้องคัดเลือกคนที่จะมากินยาให้ดีและระวังผลข้างเคียงกับปฏิกิริยาระหว่างยา

6. ส่วนยาอีกชนิดเป็นยาฉีด peglycated inferferon alpha ฉีดสัปดาห์ละครั้งประมาณ 48 สัปดาห์ ยาตัวนี้จะไปปรับแต่งภูมิคุ้มกันของเราให้ต่อสู้ไวรัสตับอักเสบบี มักจะใช้ในผู้ที่อายุไม่มาก การอักเสบรุนแรง ปริมาณไวรัสมาก อัตราการหายสูงกว่ายากิน "เล็กน้อย" แต่ผลข้างเคียงมากมาย

7. หากผู้ป่วยตับแข็งแล้ว ไม่แนะนำหยุดยา แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ป่วยตับแข็ง หากกินยาจนกดไวรัสได้ดี การอักเสบลดลง อาจพิจารณาหยุดยาได้ในเงื่อนไขแบบนี้ แต่ต้องย้ำว่าโอกาสกลับมาเป็นซ้ำจะสูง
ถ้าเริ่มต้นที่ HBeAg เป็นบวก เมื่อกินยาจน HBeAg เป็นลบแล้วให้กินยาต่อไปอีกหนึ่งปีค่อยหยุด

ถ้าเริ่มต้นที่ HBeAg เป็นลบ เมื่อกินยาจน HBsAg เป็นลบ จึงพิจารณาหยุดยา (โอกาสเกิดแบบนี้ยากมาก และแม้เกิดจริงก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงมาก)

8. ถ้าแม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีปริมาณไวรัสมากกว่า 200,000 iu/mL หรือ HBeAg เป็นบวก แนะนำกินยา TDF ในช่วงไตรมาสที่สามก่อนคลอด เพื่อลดการติดเชื้อสู่ลูก

9. ติดตามยาใหม่ ๆ ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบีต่อไปนะครับ ใกล้ความจริงแล้ว

ยังมีต่ออีกหนึ่งตอนนะครับ

ในภาพอาจจะมี เมฆ, ท้องฟ้า, ภูเขา และธรรมชาติ, ข้อความพูดว่า "RCPT 2020 จาก งานประชุม ราชวิทยาลัย อายุรแพทย์ สู่ประชาชน ปี 2563 สรุปสั้น ๆ ในเรื่องที่ประชาชนน่ารู้ จากการ บรรยายทางการแพทย์ ให้อ่านง่ายและ เข้าใจการรักษามากขึ้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม