เรื่องน่ารู้จาก แนวทางในการวินิจฉัยและรักษาโรคอ้วน พ.ศ. 2562 จากชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย โดย อ.ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์ วันที่ 29 ตุลาคม 2563
1. โรคอ้วน ความสำคัญคือปริมาณไขมันในตัวเพิ่มจนเกิดปัญหา ปริมาณไขมันนะครับ แต่ว่าวัดยาก ทางปฏิบัติจะใช้ค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 25 ถือว่าอ้วน และมีการวัดรอบเอว (waist circumference) ค่าที่มากกว่า 90 เซนติเมตรสำหรับชาย หรือมากกว่า 80 เซนติเมตรสำหรับหญิง โดยการวัดจะวัดที่กึ่งกลางของขอบล่างซี่โครงซี่สุดท้ายกับขอบบนของกระดูกสะโพก ยิ่งน้ำหนักตัวมาก จะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน ไตเสื่อม หัวใจ โรคข้อและกระดูก และเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งด้วย 🔴🔴 ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วนนะครับ🔴🔴
2. การลดน้ำหนัก 🔴🔴จะต้องทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ🔴🔴 ไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งวิธีเดียว ดังนั้นการปรับความคิด ปรับทัศนคติจึงสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง ให้พร้อมและตระหนักอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นก็ทำเพียงชั่วคราวแล้วเลิก น้ำหนักก็ขึ้นมาอีก เสียเวลาและเสียทรัพยากรที่ลงแรงไป
3. ต่อจากข้อสองนะ ด้วยความที่ต้องทำไปตลอด ดังนั้น แต่ละคนจะต้องหาจุดที่เหมาะสมกับตัวเองที่สามารถทำได้จริงในระยะยาว ตัวเองเข้าใจ ครอบครัวเข้าใจ ติดตามตั้งเป้ากับหมอที่รักษา คิดด้วยว่าวิธีที่เราใช้นั้นมันสามารถทำได้จริง เช่น อาหารลดน้ำหนักสูตรต่าง ๆ ที่เราฟังคนนั้นคนนี้มา แล้วเอามาใช้ แต่มันอาจจะแพง ทำอาหารยาก ไม่สะดวกกับการใช้ชีวิต แบบนี้จะทำได้ไม่นานและล้มเหลว 🔴🔴เลือกที่เหมาะกับตัวเอง🔴🔴
4. หลักสำคัญของการลดความอ้วนคือ "ลดพลังงานที่นำเข้า โดยสารอาหารและโภชนาการเพียงพอ" คิดพลังงานเป็นหลักเลยนะครับ คร่าว ๆ คือ เราต้องการพลังงานต่อวันเท่าไร (ใช้และเก็บ) แล้วลดจากนั้นไป 500 กิโลแคลอรี่ในแต่ละขั้น จะทำให้ไม่ลำบากจนล้มเหลว จะได้ไม่เด้ง ไม่โยโย่ เมื่อได้เป้าแต่ละขั้นจึงมาพิจารณาปรับเป้าหมายใหม่ต่อไป 🔴🔴ค่อย ๆ ไปทีละขั้น🔴🔴
5. อาหารสูตรใด แบบใด ไม่ว่าจะคาร์บต่ำ ไขมันต่ำ การทำ Intermittent fasting หรือจะใช้อาหารสูตรต่าง ๆ พบว่า สุดท้ายปลายทางที่ประมาณหนึ่งปี น้ำหนักที่ลดลงก็พอ ๆ กัน ไขมันสะสมก็ลดพอ ๆ กัน 🔴🔴ดังนั้นให้เลือกสูตรที่เราสามารถทำได้ในระยะยาว🔴🔴 เพราะหากโหมลดพลังงานมาก จะทำได้แค่ช่วงสั้น ๆ แล้วล้มเหลว
6. สูตรที่ทางชมรมแนะนำ เป็นสูตรที่เรียกว่า balanced low calorie diet คือกินอาหารให้ครบทุกหมู่ ไม่ได้เน้นว่าจะลดอะไรเด่นกว่าอะไร แต่ลดพลังงานโดยรวมลง อย่างที่เขียนในข้อสี่ อาหารสูตรนี้จะมีการลดลงของน้ำหนักไม่มาก แต่จะสามารถทำได้ในระยะยาว จะเห็นผลการลดน้ำหนักในระยะยาวตั้งแต่ 10-12 เดือนขึ้นไป 🔴🔴เน้นคือ ทำต่อเนื่อง อย่าดีแตก🔴🔴
7. การออกกำลังกายร่วมด้วยเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราเผาผลาญพลังงานได้ดี ช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อไม่ให้หายไป เวลาลดน้ำหนักจะลดพร้อมกันทั้งไขมันและกล้ามเนื้อ แต่เราไม่อยากลดกล้ามเนื้อ จึงต้องออกกำลังกายหรือ🔴🔴เพิ่มกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันให้มากขึ้น เดินไกลขึ้น ขึ้นบันได 🔴🔴
8. ยาลดน้ำหนัก จะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ โดยการควบคุมของแพทย์ มีการติดตามผลข้างเคียงอย่างสม่ำเสมอ ถ้าใช้แล้วน้ำหนักไม่ลดลงก็ให้เลิกใช้ และที่สำคัญจะต้องผ่านการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับทัศนคติมาระยะหนึ่งแล้ว จึงพิจารณาใช้ เพราะผลลดน้ำหนักของยามีเพียงชั่วคราว เลิกกินก็น้ำหนักเด้ง **หากไม่ทำการควบคุมอาหารและออกกำลังกายจนเต็มที่เสียก่อน**
9. ยาลดน้ำหนักที่มีใช้ในไทย
▪phentermine/diethypropion ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทรุนแรง ต้องใช้ภายใต้การควบคุม ใช้นานเกินไปอาจเกิดภาวะทางจิตประสาทได้
▪orlistat ลดการย่อยไขมันที่ลำไส้ ลดน้ำหนักได้น้อย ประมาณ 3 กิโลกรัมในสี่ปี ข้อเสียคือ อุจจาระมันมาก อาจมีไขมันไหลออกทางทวารหนัก และขาดวิตามินละลายในไขมันหากใช้นาน ๆ
▪liraglutide ยาเบาหวานที่มีผลน้ำหนักลดลง แต่ใช้มากกว่ารักษาเบาหวานสองเท่าคือ 3 มิลลิกรัมต่อวัน ราคาแพงแต่ลดน้ำหนักไม่มาก
10. การผ่าตัด ทำเมื่อน้ำหนักมากคือดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 และมีโรคร่วมที่หากอ้วนจะแย่ลง โดยต้องผ่านการควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาเต็มที่แล้ว การผ่าตัดคือการผ่าตัดบายพาสกระเพาะและลำไส้ หรือตัดพื้นที่กระเพาะออกไป (การใส่บอลลูนกระเพาะอาหารไม่ช่วยอะไรในระยะยาว) แต่ผลข้างเคียงการผ่าตัดมีมากพอควร และต้องดูแลโภชนาการไปตลอดชีวิตเพราะการย่อยและการดูดซึมเสียไป
ยังมีรายละเอียดที่จะค่อย ๆ มาสอดแทรกต่อไป โดยเฉพาะเรื่อง intermittent fasting ที่นิยมกันมาก อ่านมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนสักที ช่วงนั้นอกหักเลยหมดแรงเขียนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น