06 ตุลาคม 2563

การใช้แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยเลิกบุหรี่

 การใช้แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยเลิกบุหรี่

เมื่อยุคสมัยและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป การรักษาและการเข้าถึงผู้ป่วยก็ง่ายขึ้นครับ จากปี 2012 มีแอปพลิเคชั่นที่ออกมาเพื่อช่วยเลิกบุหรี่กว่า 400 apps ข้อมูลจาก cochrane review ทำในปี 2019 ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้แอปในการช่วยมีอัตราการเลิกบุหรี่ที่ 6 เดือน ไม่ต่างจากไม่ใช้แอป มีการวิเคราะห์ว่า แอปที่พัฒนาที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่นำข้อมูลเดิม มาจัดทำให้อ่านง่าย ดูดี ไม่มีการจัดการเชิงรุก ไม่มีความจูงใจ จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้

ผู้วิจัยได้ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชั่นเลิกบุหรี่ที่ใช้ อารมณ์ร่วมและการชักจูง มีคำแนะนำ การเก็บคะแนนเพื่อจูงใจสู่ขั้นต่อไป เรียกว่า Acceptance and Cocomittent Therapy (ACT) ที่ชื่อ iCanQuit เปรียบเทียบกับ แอปพลิเคชั่นเดิมของ National Cancer Institute ที่ชื่อ QuitGuide ซึ่งใช้หลักการและเหตุผล รวมทั้งคำแนะนำมาตรฐานทางการแพทย์เป็นหลัก เพื่อเปรียบเทียบว่า เมื่อปรับแนวคิดเป็น patient (customer) centric ตามแบบการตลาดยุคปัจจุบัน จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ผู้วิจัยได้ประกาศหาอาสาสมัคร รวมทั้งการสมัครทางโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊ก เรียกว่าใช้ทางออนไลน์เป็นหลัก การเก็บข้อมูลก็เป็นการเก็บข้อมูลทางการสอบถามผ่านแอปเป็นหลัก มีการติดตามแบบเห็นหน้าไม่กี่ครั้ง และใช้โปรแกรม Google Analytics เพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงรูปธรรมสถิติด้วย

อาสาสมัครที่ได้เข้าร่วม อายุเฉลี่ย 38 ปี มีความต้องการเลิกบุหรี่ เกือบทั้งหมดสูบบุหรี่มานานกว่า 10 ปี และส่วนมากสูบเกินครึ่งซองต่อวัน มีคะแนนการติดนิโคตินระดับสูงเสียเกิน 60% ของอาสาสมัคร และที่สำคัญคือ 2503 คนที่เข้าสู่งานวิจัย มีการติดตามจนจบงานวิจัยสูงถึง 86% เรียกว่าปิดจุดอ่อนสำคัญของงานวิจัยเลิกบุหรี่ที่ส่วนมาก คนที่เข้าร่วมมักติดไม่มาก (คนที่ติดมากเขาไม่สนใจหรือช่องทางไม่สะดวกพอ) และ งานวิจัยที่ผ่านมาส่วนมากจะมีคนที่ติดตามจนจบงานวิจัยไม่ถึงครึ่ง

เมื่อติดตามผลที่หนึ่งปี พบว่ากลุ่มที่ใช้แอปใหม่มีการเลิกบุหรี่ที่สูงกว่าแอปเดิม (วัดว่า 30 วันที่ผ่านมาไม่สูบเลย) ถึง 1.49 เท่า และไม่ว่าวัดระยะเวลาที่หยุดบุหรี่ได้ ความพึงพอใจของผู้ใช้แอป ระยะเวลาที่ต้องใช้แอป พบว่าแอปใหม่ดีกว่าแอปเดิมอย่างมีนัยสำคัญ (แต่อย่าลืม bias และ confouder ในการศึกษา) โดยการศึกษามีข้อจำกัดสำคัญคือ ไม่มีการวัดเชิงชีวเคมี มีแต่การถามตอบผ่านแอปเท่านั้น

ผมคิดว่าการศึกษานี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่สนใจการเลิกบุหรี่ในคลินิก ใช้เวลาไม่นานแต่มีประสิทธิภาพตามไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ รวมทั้งไม่ได้ใช้แต่แนวทางในเวชปฏิบัติที่มีแต่หลักฐานและเหตุผล แต่กลับเป็น user-friendly แบบเป็นเพื่อนกับผู้ใช้ แบบไลฟ์โค้ช มากกว่าใส่ข้อมูลเชิงตรรกกะเท่านั้น

ถึงเวลา medical disruption แม้แต่การเลิกบุหรี่

ปล. ผมโหลดแอปมาไม่ได้ครับ ไม่รู้ว่าเครื่องผมมันโบราณหรือเปล่า จึงไปอ่านใน supplementary และ งานวิจัยอื่น ๆ เรื่องแอปนี้มาประกอบครับ ผู้วิจัยทำวิจัยเรื่องเลิกบุหรี่แบบใช้แอปไว้หลายเรื่องเลยครับ

iCanQuit

https://play.google.com/store/apps/details…

https://apps.apple.com/us/app/icanquit/id1205729312

QuitGuide

https://play.google.com/store/apps/details…

https://apps.apple.com/…/app/quitguide-quit-smo…/id411766556

ที่มา
Bricker JB, Watson NL, Mull KE, Sullivan BM, Heffner JL. Efficacy of Smartphone Applications for Smoking Cessation: A Randomized Clinical Trial. JAMA Intern Med. Published online September 21, 2020. doi:10.1001/jamainternmed.2020.4055

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และโทรศัพท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม