suvorexant อีกหนึ่งยานอนหลับสำหรับผู้ที่ทำงานเป็นช่วงเวลา
ปัญหาสำคัญของผู้ที่ทำงานเป็นคาบเวลา และไม่ใช่คาบเวลาที่สม่ำเสมอ เช่นสลับเวรทำงาน ขับรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์พยาบาล คือเวลานอนที่สลับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้ร่างกายเกิด "สับสน" หลายครั้งที่ไม่สามารถบังคับตัวเองให้หลับได้เมื่อลงเวร แม้จะเพลียมากก็ตาม หรือบางครั้งตื่นมาก็ยังง่วงมากอยู่
ปัญหานี้ส่งผลมากนะครับ ไม่ว่าจะหลับในเกิดอุบัติเหตุมานักต่อนัก ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง คุณภาพชีวิตแย่ลง และมีงานวิจัยเล็ก ๆ บอกด้วยว่า กิจกรรมทางเพศและความสุขบนเตียงจะลดลง !!
หลังจากการค้นพบ circadian rhythm คือการควบคุมวงรอบวันและการทำงานแบบเป็นช่วงเวลาของร่างกายมนุษย์ (ได้รับรางวัลโนเบลเลยนะ) ค้นพบถึงการทำงานของ biological clock ที่ควบคุมประสาท ฮอร์โมน การทำงานเป็นรอบต่าง ๆ ว่าควบคุมอย่างไร ก็มีการศึกษาและค้นพบสิ่งต่าง ๆ มากมาย ขอบอกก่อนเลยว่าไม่ได้ควบคุมโดยใช้นาฬิกาแบบ 24 ชั่วโมงที่เป็นเวลาสมมุติ
Hypocretin (อีกชื่อคือ orexin) เป็นโปรตีนสารสื่อประสาทที่พบบริเวณส่วนไฮโปทาลามัสของสมอง พบว่าเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดการตื่นตัว โดยเฉพาะในวงรอบการหลับตื่น มีส่วนสำคัญทำให้เกิดวงรอบการนอนหลับ โรคเหงาหลับ (narcolepsy ก็ผิดปรกติตรงวงรอบนี้) เมื่อการทำงานแบบเป็นกะ จะมีวงรอบนี้บกพร่อง ความคิดในการใช้ hypocretin receptor antagonist เพื่อไปหยุดยั้งการทำงานให้สมองตื่นตัว วงรอบการหลับที่เหลือแต่วงรอบการตื่นจะได้กลับมาหลับได้ และนี่คือแนวคิดของ suvorexant นั่นเอง
ยา suvorexant เป็นยาตัวแรกของกลุ่มนี้ที่ได้รับการอนุมัติใช้สำหรับอาการนอนไม่หลับและโรคเหงาหลับ (narcolepsy) แต่ต้องระวังเรื่องง่วงซึมต่อเนื่องด้วย
การศึกษาเพื่อช่วยในผู้ทำงานเป็นกะและมีปัญหาการนอน ทำที่สแตนเฟิร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ลงพิมพ์ใน JAMA Network Open. 2020;3(6):e206614 นำคนที่ทำงานเป็นกะมาไม่น้อยกว่าสามเดือน ทำงานกะ 6 ชั่วโมงทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีการทำงานกลางคืนไม่น้อยกว่า 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ได้ใช้ยานอนหลับใด ๆ มาทำการทดสอบ ใช้ยา suvorexant กับยาหลอก โดยมีการปรับขนาดยาได้ มีแบบสอบถามเรื่องการนอน เวลาการนอน คุณภาพการนอน การตรวจวัดการนอนด้วยอุปกรณ์ติดข้อมือ มีการเข้ารับการทดสอบการนอนหลับ (polysomnography)
หลังจากติดตามและปรับยา พบว่าผู้ที่ได้ยามีคุณภาพการนอนดีกว่า งีบหลับกลางวันน้อยกว่า ระยะเวลาการหลับดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาการหลับทำได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่งานวิจัยนี้ยังมีขนาดเล็กมาก (38 คน) และยังมีตัวแปรมากมายเพราะทำการทดลองที่บ้าน แต่ก็ตรงกับสถานการณ์จริง สำหรับผมคิดว่าเป็นการพิสูจน์แนวคิดเท่านั้นเพราะ internal validity ของการศึกษายังต่ำอยู่
ก็เรียกว่าเมื่อเรามีความรู้มากขึ้น เข้าใจวงจรการหลับตื่นมากขึ้น เราสามารถแก้ไขและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่ต้องประสบปัญหาได้มากขึ้น โดยมีพื้นฐานความรู้ นำมาประยุกต์ใช้และยืนยันด้วยงานวิจัยครับ
ส่วนที่นอนไม่หลับเพราะดื่มกาแฟบาริสต้าคนใหม่ พวกนี้เกินเยียวยาครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น