22 ตุลาคม 2563

สิ่งที่ประชาชนควรทราบเกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนประเทศไทยปี 2563

 สิ่งที่ประชาชนควรทราบเกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนประเทศไทยปี 2563

1. ความสำคัญของโรคคือ มีอาการของสิ่งที่ไหลย้อนกลับจากกระเพาะ (ส่วนมากคือกรด) อาการที่ค่อนข้างจำเพาะคือ อาการแสบแน่นยอดอกและเรอเปรี้ยว และอีกสิ่งที่สำคัญคือ อาการนี้ต้องรบกวนชีวิตประจำวันด้วย และหากซักประวัติและตรวจร่างกายแล้วไม่พบอาการเตือนพิเศษใด ๆ สามารถวินิจฉัยและรักษาจากอาการนี้ได้เลย

2. อาการเตือน คือ กลืนลำบาก มีเลือดออกทางเดินอาหาร โลหิตจาง อาเจียนมาก กลืนเจ็บ น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ อาการเหล่านี้อย่างไรก็ควรได้รับการพิจารณาส่องกล้องทางเดินอาหารก่อนจะวินิจฉัยโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน

3. หากอาการเข้าได้ ไม่มีอาการเตือนและไม่มีโรคอื่น ๆ สามารถให้การรักษาด้วยยาลดกรดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วยเลย รักษาประมาณสองสัปดาห์เพื่อดูการตอบสนองได้ **ไม่ได้ส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแล้วนะครับ**

4. ประเด็นที่สำคัญก่อนที่จะบอกว่าการรักษาไม่ได้ผลและต้องไปสืบค้นต่อคือ การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและการใช้ยาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้องสำหรับยาลดกรดชนิด PPI คือ จะต้องกินก่อนอาหารประมาณ 30 นาทีเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ขณะเซลล์หลั่งกรดทำงานตอนย่อยอาหารและคำนึงถึงปฏิกิริยาระหว่างยา (อันนี้ต้องให้คุณเภสัชกรช่วยดูแลให้)

5. จากข้อ 4 นอกจากการใช้ยาที่เหมาะสมถูกต้องแล้ว การปฏิบัติตัวเพื่อรักษายังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญและต้องทำเสมอ คือ การลดน้ำหนัก เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ งดการกินอาหารมื้อหนักอย่างน้อยสามชั่วโมงก่อนนอน และควรนอนยกศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย

**ขอนอกเรื่องนิดนึง คือ ทำบทความเรื่องความรู้ให้ทุกท่านมากว่า 5 ปี พบว่าคำแนะนำ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ คือคำแนะนำมาตรฐานอันดับหนึ่งในทุก ๆ โรคเลยครับ **

6. หลังจากปฏิบัติตัวและใช้ยาขนาดมาตรฐานแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ใช้ยาลดกรดในขนาดสูง คือเพิ่มจากกินวันละครั้งเป็นวันละสองครั้งเช้าเย็น หรือจะส่องกล้องตรวจก็ได้เพื่อแยกเหตุอื่น และ หากกินยาในขนาดสูงประมาณ 8-12 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้นควรส่องกล้องตรวจหรืออาจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหารหรือวัดการเคลื่อนที่หลอดอาหารร่วมด้วย แต่การวัดสรีรวิทยาของหลอดอาหารนี้ ทำได้เพียงบางที่เท่านั้นนะครับ ยังเป็นข้อจำกัดอีกมาก

7. การใช้ยาอื่นๆ ร่วมกับยาลดกรด PPI มีวัตถุประสงค์หลักคือ ลดอาการของโรค จึงใช้ยาอื่นในการร่วมรักษากับยาลดกรด PPI เท่านั้น เช่น mosapride, acitiamide, alginate, tricyclic antidepressant, rebamipide

8. อาการอื่น ๆ ของกรดไหลย้อนที่อยู่นอกระบบทางเดินอาหาร เช่น ไอ กล่องเสียงอักเสบ ฟันกร่อน หืด หากคิดว่ามีที่มาจากโรคกรดไหลย้อน ก็สามารถใช้ยาลดกรด PPI และมาตรการการรักษาข้างต้นได้เช่นกัน

9. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีข้อควรระวังการใช้ยา PPI แนะนำใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ได้แก่ ยาน้ำลดกรด หรือ ยากลุ่ม alginate จะปลอดภัยกว่ายาลดกรดทั้ง PPI และ ยาต้านฮีสตามีน ยาน้ำลดกรดก็เช่นยา alum milk ส่วนยากลุ่ม alginate คือโปรตีนที่สกัดจากสาหร่าย อันมีคุณสมบัติในการควบคุมภาวะกรดด่างในกระเพาะได้คล้าย ๆ ยาน้ำลดกรดที่เป็นเกลือแมกนีเซียมหรืออลูมิเนียม

10. สำหรับผู้ป่วยที่รักษาและควบคุมอาการพอได้และไม่มีโรคอย่างอื่น อาจเปลี่ยนมาเป็นการใช้ยาเมื่อมีอาการได้ และหากเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงต่อเนื่อง ก็แนะนำให้ใช้ยาลดกรดในระยะยาว โดยการใช้ยาในระยะยาวต้องติดตามผลข้างเคียงแทรกซ้อนของยาที่อาจจะเกิดด้วย คุณหมอและคุณเภสัชจะช่วยดูแลจุดนี้ให้ครับ

11. ยา PPI ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดคือ omeprazole, lansoprazole, esomeprazole, pantoprazole, rabeprazole, dexlansoprazole โดยยาที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ ยากิน omeprazole และยาฉีด pantoprazole ข้อสำคัญที่สุดของการใช้ยากลุ่มนี้คือ ปฏิกิริยาระหว่างยาครับ ทั้งปฏิกิริยาทางชีวเคมีและปฏิกิริยาจากสภาวะกรดที่เปลี่ยนแปลงไป

เอาสั้น ๆ ประเด็นที่น่ารู้และเพื่อเข้าใจการรักษา คนไข้กับคุณหมอได้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกันครับ

ท่านสามารถดาวนโหลดฉบับเต็มมาอ่านได้ฟรีที่นี่ครับ
http://www.gastrothai.net/th/guideline-detail.php…

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม