กับคำถามที่ว่า "คุณหมอ ให้อาหารทางหลอดเลือดได้ไหม" เราลองมาพิจารณาข้อเท็จจริงกันนะครับ จากการบรรยายเรื่อง แนวทางการให้อาหารทางหลอดเลือดในผู้ใหญ่ โดย อ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร เมื่อ 29 ตุลาคม 2563
1. เมื่อมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากสงสัยภาวะทุพโภชนาการจะมีการ คัดกรอง และ ตรวจยืนยันการวินิจฉัยก่อนให้การรักษาเสมอ เพราะจะต้องมีหลักฐานเพียงพอและสามารถติดตามความคืบหน้าได้ หากคัดกรองในตอนแรกยังดีอยู่ ก็คัดกรองซ้ำเมื่อนอนโรงพยาบาลนานขึ้น
2. หากคัดกรองแล้วว่าน่าจะทุพโภชนาการ จะเข้าสู่การยืนยัน และการประเมินว่า ขาดแบบใด รุนแรงมากหรือน้อย จะต้องให้การรักษาแบบใด เพื่อเข้าสู่การรักษาแบบโภชนบำบัด โดยทีมแพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ ที่จะทำงานร่วมกัน 🔴🔴จะเห็นว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกรายควรได้รับการคัดกรอง แต่จะมีบางรายเท่านั้นที่ต้องรับการบำบัด🔴🔴
3. หากทุพโภชนาการและต้องรักษา 🔴🔴ทางเลือกแรกคือ การกินอาหารตามปรกติ🔴🔴 ใช่ครับ เราใช้ช่องทางและการย่อยธรรมชาติก่อนเสมอ โดยปรับสัดส่วนอาหารตามที่ผู้ป่วยต้องการและภาวะโรค การกินอาหารปรกตินั้นส่งผลดีกว่าการให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และหากต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำก็ต้องพยายามตรวจดูว่าจะกินได้เมื่อไร และรีบให้กินอาหารปรกติเร็วที่สุด
4. การให้อาหารทางหลอดเลือดดำ มีข้อบ่งชี้ทั่วไปคือ ทางเดินอาหารใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะอุดตัน ย่อยไม่ได้ ดูดซึมไม่ได้ เคลื่อนที่ผิดปกติ เราจึงจะให้อาหารทางหลอดเลือดครับ หรืออีกประการคือ ให้กินอาหารทางปากแล้ว เต็มที่แล้ว แต่ยังไม่พอกับความต้องการที่คาดการณ์ไว้ (อย่าลืม กว่าจะมาถึงข้อสี่ คือผู้ป่วยต้องบำบัดนะครับ) คือได้แค่ประมาณไม่เกิน 60%
5. มีไม่กี่โรงพยาบาลที่มีเภสัชกรที่มีทรัพยากรมากพอที่จะผสมสารละลายโปรตีน น้ำตาล ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ ตามแบบที่ต้องการในแต่ละคนได้ ส่วนมากจะใช้อาหารทางหลอดเลือดแบบสำเร็จที่วางขาย ซึ่ง🔴🔴ไม่ได้มีความเหมาะสมแบบ 100%🔴🔴 ต้องกะประมาณเอา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
6. การให้อาหารทางหลอดเลือดดำจะต้องมีการคำนวณพลังงานที่ได้ และติดตามว่าได้น้อยหรือมากกว่าที่ต้องการ เกิดโทษหรือไม่ โอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากการให้โภชนบำบัดทางหลอดเลือดสูงกว่าการให้อาหารทางปากมากมาย ไม่ว่าเป็นเรื่องของสายให้อาหาร การติดเชื้อ และเมตาบอลิซึ่มที่เปลี่ยนแปลงไป จะไม่เหมือนการกิน เช่น การขาดฮอร์โมนควบคุมอินซูลินจากทางเดินอาหาร เซลล์ลำไส้ที่ผิดปกติ โอกาสเกิดไขมันในเลือดเกิน โอกาสเกิดเกลือแร่และอิเล็กโทรไลต์ในเลือดผิดปกติที่เรียกว่า refeeding syndrome ในคนที่ขาดอาหารมายาวนาน หากให้เต็มที่จะเกิด refeeding
7. การคิดสูตรต้องมีการคิดละเอียดมาก พลังงานเท่าไร มาจากโปรตีนกี่กรัม ไขมันกี่กรัม คาร์บเท่าไร ต้องใช้โซเดียม โปตัสเซียมต่อวันเท่าไร วิตามินเท่าไร วิตามินที่ละลายในไขมัน (ถ้าแยกชวดจากวิตามินละลายน้ำ) ก็ต้องให้ในสารละลายเฉพาะ จะเห็นว่าไม่ง่าย ต้องคิดคำนวณวันต่อวันและติดตามวันต่อวัน ยกตัวอย่างแค่นี้ก็ไม่ง่ายแล้ว
▪คำนวณพลังงาน 30-35 kCal/kg/day (หากป่วยวิกฤตให้ลดเหลือ 20 ก่อน เมื่อดีแล้วค่อยขยับขึ้น)
▪คิดโปรตีน 1-2 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน แล้วเอาพลังงานจากโปรตีนไปหักออกจากพลังงานรวม
▪ใส่ไขมัน ประมาณ 1กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน แล้วเอาพลังงานจากไขมันไปลบจากข้อที่แล้ว
▪เหลือพลังงานเท่าไร ให้ในรูปคาร์โบไฮเดรต คือน้ำตาลเด็กซโตรส
8. การดูแลรักษาสายให้อาหาร สำคัญมาก ส่วนมากจะต้องใส่สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง เพราะอาหารทางหลอดเลือดจะมีความเข้มข้นสูงกว่าที่หลอดเลือดส่วนปลายจะทานทนได้ หรือแม้แต่สูตรที่สามารถให้ทางหลอดเลือดส่วนปลายก็ปริ่มจะเกิดหลอดเลือดอักเสบ (หลอดเลือดส่วนปลายทนได้ 900 mOsm/ml) สายนี่แหละที่ชอบเกิดปัญหา ทั้งรั่ว แตก ซึม ติดเชื้อ และถ้าเผลอไปให้ยาอื่นร่วมกับอาหาร ก็อาจตกตะกอนเป็นอันตรายอีก
9. อาหารสูตรสำเร็จทางหลอดเลือดดำ .. อาจมีกรดไขมันจำเป็นไม่พอ .. ไม่มีเกลือแร่และวิตามินเพียงพอ ต้องเติมด้วยสารละลายเกลือแร่และวิตามิน เพิ่มจากอาหารอีก .. ไม่ควรใส่ยาใดเพิ่มเข้าไปในถุงอาหารถ้าไม่จำเป็น และที่สำคัญที่สุด ราคาไม่ถูกเลย แม้จะสามารถใส่โภชนบำบัดเพื่อการเบิกจ่ายเงินตามสิทธิต่าง ๆ ได้ (อาจไม่ได้เต็ม เพราะคิดตามสัดส่วนน้ำหนักรหัสโรค) แต่ก็ยังแพงมากอยู่ดี
10. จะเห็นว่าการให้อาหารทางหลอดเลือดดำ ไม่ได้สะดวก ง่าย อย่างที่เข้าใจ ยิ่งเป็นการให้ในระยะยาว หรือให้ที่บ้าน จะต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังใกล้ชิด สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการอ่านเพิ่มเติม ผมทำลิ้งค์มาให้ดาวน์โหลดด้านล่างครับ อ่านฟรี รวมทั้งแบบทดสอบคัดกรอง แบบทดสอบประเมินโภชนาการสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บของสมาคมผู้ให้อาหารทางปากและหลอดเลือดดำแห่งประเทศไทย www.spent.or.th
สามารถอ่านร่างแนวทางได้ฟรีตามลิงค์นี้ครับ
https://www.spent.or.th/index.p…/publication/category/…/2019
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น