21 ตุลาคม 2563

สิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรรู้เกี่ยวกับ แนวทางทางเวชปฏิบัติภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันของประเทศไทย ปี 2563

 สิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรรู้เกี่ยวกับ แนวทางทางเวชปฏิบัติภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันของประเทศไทย ปี 2563

1. ความเร็วในการรักษาและการวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หมายถึงความเร็วในการประสานงานและทำทุกกระบวนการไปพร้อมกัน ดังนั้นแนะนำใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านเบอร์โทร 1669 หรือหากไปโรงพยาบาลเองได้เร็วก็ยังแนะนำติดต่อไปที่โรงพยาบาลนั้นก่อนเสมอ ว่าสามารถตรวจระดับใดได้บ้าง จะได้ติดต่อประสานงานไว้ล่วงหน้า

2. หากมีอาการเจ็บจุกแน่นหน้าอกเฉียบพลัน โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเสื่อม สูงวัย สูบบุหรี่ อย่าได้ลังเลที่จะไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจเลือด cardiac troponin โดยเร็ว หากสถานพยาบาลนั้นไม่สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้ เขาจะติดต่อประสานงานหรือปรึกษาในกรณีไม่ชัดเจน เพื่อทำการรักษาและส่งตัวโดยเร็ว ปัจจุบันสถานพยาบาลทุกระดับ มีแนวทางนี้พร้อมแล้ว

3. โรคที่จะได้รับการแยกได้เร็วคือ ST-Elevation Myocardial Infarction (STEMI) เพราะรูปคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เปลี่ยนแปลงมันชัดเจน ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงมาก ความสำคัญอยู่ที่เวลา หากสามารถสวนสายสวนหลอดเลือดได้ทันจะเลือกการสวนสายสวนก่อน อาจส่งไปทำที่พร้อม (หากส่งทันใน 120 นาที) หรือใช้ยาละลายลิ่มเลือดหากเวลาที่จะไปสวนหัวใจนานเกิน 120 นาที เพราะยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งลดความเสียหายต่อหัวใจได้เร็ว และหากเร็วภายในสามชั่วโมงหลังเกิดอาการและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบว่าผลการรักษาไม่ต่างกัน

4. ผู้ป่วยโรค STEMI จะได้รับการสวนหัวใจแทบทุกราย แม้จะได้ยาละลายลิ่มเลือดมาแล้วก็ตาม อย่างที่กล่าวในข้อ 3 หากได้ยาละลายไปก่อนแล้วก็จะมีเวลามากขึ้นเพราะได้ยาไปเปิดหลอดเลือดที่ตันไว้บางส่วนแล้ว การตรวจสวนหัวใจจะช่วยประเมินสภาพและแก้ไขส่วนที่ยังหลงเหลือ

5. ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรค Non ST-Elevation Myocardial Infarction (NSTEMI) จะได้รับการตรวจรักษาที่เร็วไม่แพ้ STEMI โดยมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจเลือด cardiac troponin อย่างต่อเนื่อง เพื่อวินิจฉัยและประเมินความเสียหาย รวมถึงความเร่งด่วนในการส่งไปสวนหลอดเลือดหัวใจ ใช่แล้ว เกือบทั้งหมดจะได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจ แต่ด้วยอัตราเร็วที่ต่างกัน

6. ผู้ป่วยในข้อที่ 5 จะมีการให้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิด ยาฉีดต้านการแข็งตัวของเลือด และหากมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากหัวใจขาดเลือดเช่น หัวใจวายหรือเต้นผิดจังหวะจะได้รับการรักษาทันที มาตรการการให้ยาและขนาดยาเป็นไปตามแนวทางนี้เหมือนกัน มียาใช้ในทุกโรงพยาบาล ดังนั้นหากเราไปโรงพยาบาลเร็ว โอกาสรอดชีวิตจะสูงขึ้น

7. เรามีเกณฑ์การใช้ยาใหม่ ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ผลข้างเคียงลดลงและได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ticagrelor หรือยาเดิม clopidogrel ก็ยังใช้ได้ดี ยาละลายลิ่มเลือดทั้ง streptokinase, alteplase ก็มีในบัญชีและพร้อมใช้ในทุกโรงพยาบาล ยาใหม่ที่ใช้ง่ายขึ้นคือ tenecteplase ก็มีบรรจุในบัญชียาหลักเช่นกัน ดังนั้นหากคุณเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ขอให้มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขของเรามีบริการและยาที่ดีพอครับ

8. ในกรณีที่มาพบแพทย์นานกว่า 12-48 ชั่วโมง จะยังสามารถรักษาได้ โดยพิจารณาจากอาการและผลแทรกซ้อน เพื่อพิจารณาการรักษาโดยการสวนหลอดเลือดหัวใจและการใส่ขดลวดค้ำยัน นั่นคืออย่างไรยังคงต้องตรวจสวนหัวใจเพื่อการตรวจวินิจฉัย แต่อาจมีบางกรณีที่ยังไม่ต้องทำหัตถการหลอดเลือด (total occlusion,asymtomatic)

9. หลังจากได้รับการรักษาเปิดหลอดเลือดไม่ว่าด้วยวิธีใด เราจะได้รับยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดต่อไปอีกประมาณ 12 เดือน โดยชั่งผลดีผลเสียกับผลการเกิดเลือดออก หรือหากต้องได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมด้วย ก็จะให้ยาสามตัวในช่วงแรกสั้น ๆ แล้วลดยาลงเป็นยาต้านเกล็ดเลือดหนึ่งตัวและยาต้านการแข็งตัวเลือด และในระยะยาวจะใช้เพียงยาต้านการแข็งตัวของเลือด และหากต้องให้ยาหลายตัวแบบนี้ เราจะใช้ยาที่โอกาสเลือดออกน้อยลง เช่น ยาต้านการแข็งตัวเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs)

10. ในกรณีที่ไม่สามารถใช้การรักษาผ่านสายสวนได้ และมีการเตรียมตัวเพื่อส่งไปผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ เพื่อบายพาสหลอดเลือดที่ตีบ โดยใช้หลอดเลือดอื่นมาบายพาสแทนของเดิม

11. แนวทางนี้ได้เขียนแนวทางเพื่อแก้ไขผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าภาวะช็อก หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อจะได้ครอบคลุมการรักษาภาวะที่จะเกิดขึ้น ขนาดยา และวิธีใช้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ปฏิบัติงาน และผู้ป่วยและญาติ

ผมคิดว่าแนวทางนี้ทำออกมาได้ครอบคลุมและมีความยืดหยุ่นที่จะใช้ได้กับทุกสถานพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยในทุกจุดของประเทศ และมีระบบการปรึกษาพร้อมการส่งตัวที่ดี แนวทางเขียนออกมากระชับและชัดเจน ไม่สับสน เพื่อพวกเราจะได้มั่นใจว่า หากเราเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เราจะได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยครับ

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และทุกโรงพยาบาลควรศึกษาแนวทางนี้อย่างละเอียด สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ลิ้งก์นี้ครับ
https://www.thaiheart.org/Thai-ACS-Guidelines-2020

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม