พลิกความเชื่อ ตับเรื้อรัง ตอนที่ 3 : มะเร็งตับชนิด hepatocellular carcimona
จากการบรรยายเรื่อง management of commom liver diseases in disruptive era โดย อ.เฉลิมรัฐ บัญชรเทวกุล 30 ตุลาคม 2563
1. มะเร็งตับยังคงเป็นมะเร็งที่พบมาก และเป็นมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตอันดับแรก ๆ เหตุเพราะ ยังไม่สามารถดูแลปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ดี และในคนที่เสี่ยงก็ขาดการเฝ้าระวังที่ดีพอ ทำให้กว่าจะพบก็อาจรักษาจนหายขาดไม่ได้หรือรักษาไม่ได้ ดังนั้นหากรู้ว่ามีความเสี่ยงคือ ตับแข็งจากโรคตับเรื้อรัง ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี ดื่มเหล้า ก็ควรควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยง และหากเป็นโรคตับเรื้อรังให้เข้ากระบวนการติดตามเฝ้าระวังมะเร็งตับ
2. การเฝ้าระวังมะเร็งตับ จะทำในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังที่เป็นพังผืดมากหรือเสี่ยงสูง โดยการทำอัลตร้าซาวนด์เนื้อตับ ร่วมกับการตรวจเลือดหาค่า alpha-fetoprotein ทุก 6-12 เดือน โดยทั่วไปคือทุกปี ด้วยวิธีนี้ถถือว่าไวพอที่จะตรวจหามะเร็งในระยะต้น เพื่อรักษาให้หายขาดได้ **ไม่แนะนำทำการเฝ้าระวังมะเร็งตับในคนที่ปรกติดีและไม่มีข้อบ่งชี้**
3. แต่การยืนยันต้องมีการตรวจทางรังสีวิทยาด้วย CT-scan หรือ MRI ที่ต้องฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูการกระจายของสารทึบรังสีในก้อน ที่จะมีลักษณะเฉพาะ มีการเปลี่ยนแปลงในระยะต่าง ๆ ของการฉีดสีที่มีความจำเพาะต่อมะเร็งตับสูงมาก ส่วนการเจาะตรวจชิ้นเนื้อทำน้อยลง เพราะทำยากและโอกาสได้ชิ้นเนื้อไม่มากนัก
4. การรักษาในระยะต้น หวังผลหายขาด ซึ่งระยะต้นนี้จะพบจากการเฝ้าระวังเกือบทั้งหมด (เห็นไหมว่าการเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงมีความสำคัญมาก) โดยการรักษาหลักคือการผ่าตัด หรือการรักษาผ่านสายสวน โดยการใช้คลื่นวิทยุหรือไมโครเวฟ ไปแปลงสภาพเป็นความร้อน ทำลายก้อนมะเร็ง ประเทศไทยเราทำได้ในหลายที่
5. การรักษาในมะเร็งระยะต่อมา อาจตัดออกถ้าตัดได้ หรือทำการปลูกถ่ายตับ หรือมีการรักษาผ่านสายสวน ทั้งการใช้คลื่นวิทยุ การฉีดสารไปอุดหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงมะเร็ง การฉีดยาต้านมะเร็งเข้าไปที่ก้อน ซึ่งอาจต้องทำหลายรอบในก้อนเดียว หรืออาจทำหลายครั้งเพราะมีหลายก้อน (แม้มีหลายก้อนเราก็รักษาได้) ประเทศเราก็มียาและการรักษาแบบนี้แพร่หลาย
6. การรักษาตามข้อ 4,5 มีประเด็นสำคัญที่ต้องคิดคือ สุขภาพตับต้องดีพอที่จะรักษา ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งตับจะไม่ได้รักษาแต่ก้อนมะเร็ง โรคตับที่เกิดร่วมอยู่แล้วก็จะต้องดูแลให้ดี และเราก็ควรลดปัจจัยเสี่ยงโรคตับเรื้อรังอยู่ตลอด หากต้องรักษาจะได้รักษาได้ครับ สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ตอนนี้ประเทศไทยเราทำมากขึ้นครับ แต่ว่ายังไม่พอกับจำนวนผู้ป่วยโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ดังนั้น ดูแลตับตัวเองก่อนนะครับ
7. สำหรับยาเคมีบำบัดหรือยารักษามุ่งเป้า ที่จะใช้เสริมการรักษาตามข้อ 4,5 หรือใช้เป็นการรักษาหลักหากโรคแพร่กระจายมากนั้น ปัจจุบันมีสูตรยาที่ใช้พอได้ รวมถึงมียามุ่งเป้าที่ใช้ในการรักษามะเร็งตับในรายที่เหมาะสมเช่น sorafenib, lenvatinib,atezolizumab/bevacizumab ยาต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดได้ไม่มากนัก เพราะส่วนมากผู้ป่วยที่จะต้องใช้การรักษาแบบนี้ จะมีสภาพโรคตับที่เรื้อรังรุนแรง หรือมีโรคร่วมอื่นมากอยู่แล้ว **ก็วนกลับไปเรื่องลดความเสี่ยงโรคตับเรื้อรังอีกแหละครับ** ยาเหล่านี้บ้านเราก็มีใช้นะครับ
จะเห็นว่าถึงแม้เป็นมะเร็งตับ เราก็ยังมีวิธีการจัดการดูแลมากมาย และที่สำคัญคือ การลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ครับ
สามารถดาวน์โหลดไกด์ไลน์แนวทางการดูแลรักษามะเร็งตับ 2562 ตัวเต็มได้ฟรีที่นี่
https://thasl.org/thasl-guideline/
จบซีรี่ส์ พลิกความเชื่อ ตับเรื้อรัง แต่เพียงเท่านี้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น