กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ สิ่งที่ประชาชนน่ารู้ : จากการบรรยายของ อ.สหภูมิ ศรีสุมะ, อ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์, อ.เมธา อภิวัฒนากุล เมื่อครั้งที่แล้วได้สรุปเรื่องนี้จากการบรรยายของ อ.สหภูมิ เมื่อเวลาผ่านไป ยาได้รับการพัฒนาและประกาศใช้แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
1. ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้คือ กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์จะเป็นสารจากกัญชาสกัดเท่านั้น ไม่ใช่ใบหรือต้นกัญชาปลูก แล้วนำมาใช้ตรง ๆ เพราะจากการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อการค้าในปัจจุบัน สายพันธุ์กัญชาจึงมีสาร THC สูงกว่าในอดีต เพราะการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมีมากกว่าทางการแพทย์
2. ข้อบ่งใช้ทั่วโลกสำหรับสารสกัดจากกัญชา นั่นคือต้องมีสัดส่วนและสารเคมีของ THC และ CBD ในสัดส่วนเฉพาะเท่านั้น ข้อบ่งชี้นั่นคือ การรักษาลมชักที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปรกติ การรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด การรักษาอาการปวดจากโรคมะเร็ง การรักษาอาการกล้ามเนื้อเกร็งในโรคระบบประสาทบางชนิด **ข้อสำคัญคือ การสกัดกัญชาจะช่วยรักษาอาการเท่านั้น และไม่สามารถใช้เป็นยาหลักในการรักษาได้**
3. ในประเทศไทยมีการรับรองสารสกัดกัญชามาใช้เพียงในรูปน้ำมันกัญชา ที่มีสัดส่วน THC/CBD ที่คงที่หรือ THC เดี่ยวและ CBD เดี่ยว ในกี่ข้อบ่งชี้และไม่กี่คลินิกกัญชาและผู้สั่งใช้ ที่จะต้องได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์ การสกัดเองหรือใช้ในรูปแบบอื่น ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้โดยทั่วไปครับ
4. ขนาดของสารสกัดกัญชาที่ใช้ทุกประเภท จะใช้ในหน่วยเป็น หยด เท่านั้นนะครับ หยดจากหลอดหยดที่ให้มากับตัวยาเท่านั้นด้วย และจะต้องรอเวลาในการออกฤทธิ์และปรับยาพอสมควร เพราะกัญชาในรูปสารละลายน้ำมันและบริหารทางการกิน จะออกฤทธิ์ช้า หากใช้ซ้ำก่อนกำหนดเวลา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ยาเกินขนาด และนี่คือสาเหตุของพิษจากยาที่พบมากสุด
5. ผลของกัญชาจากการรักษาไม่ว่าจากโรคใด ประสิทธิภาพไม่ได้สูงไปกว่าการรักษามาตรฐานมากนัก ส่งผลข้างเคียงจะพบน้อยหากใช้ในขนาดรักษา แต่จะพบมากหากใช้เกิน ประเด็นสำคัญคือ ผู้ป่วยไม่บอก หรือคิดว่าสิ่งที่เกิดนี้ไม่ได้เกิดจากกัญชา ทำให้คุณหมอก็ไม่ทราบ เพราะอาการพิษจากกัญชาไม่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น ใจสั่น พฤติกรรมเปลี่ยน ซึม จำเป็นต้องอาศัยประวัติการใช้สารสกัดกัญชาที่ชัดเจน
6. ข้อห้ามสำคัญคือ แพ้ยา มีประวัติโรคทางจิตเวช หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ดังนั้นหญิงในวัยเจริญพันธุ์ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ควรใช้ และแน่นอนว่านอกจากสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แล้ว กัญชาที่ใช้เพื่อสันทนาการก็จะเกิดอันตรายที่รุนแรงได้เช่นกัน
7. ในโรคลมชักนั้นจะใช้เมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน และใช้เพื่อควบคุมอาการเท่านั้น ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงสภาพโรคเดิมได้ ข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนมีในโรคลมชักที่พบน้อย คือ Dravet syndrome และ Lennox-Gestaut syndrome และมีการใช้เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อเกร็งและอาการปวดเส้นประสาทในโรค multiple sclerosis (ข้อมูลจากการศึกษาเป็นโรคในช่วงลุกลาม แต่โรคที่พบส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เป็น ๆ หาย ๆ)
8. สำหรับเรื่องลดการปวดจากมะเร็งและอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด ข้อมูลของสารสกัดกัญชา ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงมากนัก จึงมีคำแนะนำให้ใช้เป็นเพียงยาเสริมการรักษามาตรฐานเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดผลข้างเคียงจะแยกยากมากว่าเกิดจากยาหรือเกิดจากโรค
สรุปว่า ใช้ทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด และไม่แนะนำให้ใช้นอกเหนือข้อบ่งชี้นะครับ โดยเฉพาะการนำน้ำมันสกัดไปใช้รูปแบบอื่น เคยมีปัญหาปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรงจากการใส่สารสกัดกัญชาในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้วนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น