COPD 2020 : ทบทวนสิ่งที่ประชาชนควรรู้เกี่ยวกับถุงลมโป่งพอง จากการบรรยายของ อ.อภิชาต คณิตทรัพย์ (งานบรรยายได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Boehringer-Ingelheim)
1. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากของการเกิดโรคคือ แก๊สและอนุภาคระคายเคืองหลอดลม ที่พบประจำคือ บุหรี่ ควันบุหรี่มือสอง ฝุ่นและควันจากการจราจรและอุตสาหกรรม การเผาไหม้ในครัวเรือน ยังมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เสมอ ทั้งก่อนเกิดโรคและเป็นโรคแล้วก็ตาม
2. การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องอาศัยประวัติปัจจัยเสี่ยง ประวัติอาการและการตรวจร่างกายที่เข้าได้ **และยืนยันด้วยการตรวจวัดสมรรถภาพปอด ก่อนและหลังสูดยาขยายหลอดลม เสมอ** หากไม่ได้ตรวจวัดสมรรถภาพปอด จะอยู่ในข่ายอาจจะเป็นเท่านั้น แต่เนื่องจากการวัดสมรรถภาพปอดไม่สามารถทำได้แพร่หลายในไทย หลาย ๆ ที่จึงจำเป็นต้องใช้แค่ประวัติ การตรวจร่างกายและการติดตามการดำเนินโรค
3. เพราะการจำแนกความรุนแรงออกเป็นกลุ่ม และการให้การรักษาของแต่ละกลุ่มที่ต่างกัน จึงต้องวัดสมรรถภาพปอดด้วยเสมอ และการรักษาโรคนี้หวังผลสำคัญสองอย่างคือ ควบคุมอาการในปัจจุบัน และลดโอกาสที่โรคกำเริบรุนแรงในอนาคต (โรคนี้จะดำเนินไปข้างหน้าช้า ๆ ยกเว้นไม่รักษาก็จะเร็วจนคุณภาพชีวิตแย่ลง)
4. การรักษาโดยไม่ใช้ยา **ต้องทำเสมอและตลอดไป** คือการเลิกบุหรี่ หลีกควันฝุ่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนหรือผอมไป รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบตามกำหนด
5. การรักษาด้วยยาสูดขยายหลอดลมคือการรักษาหลักของโรคถุงลมโป่งพอง แตกต่างจากโรคหืดที่ใช้ยาสูดสเตียรอยด์เป็นยาหลัก และควรเป็นยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว สำหรับการใช้ยาสูดสเตียรอยด์จะเพิ่มโอกาสการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อในผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง เราจึงใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้อันจำเป็นและพยายามลดลงและเอาออกเมื่อหมดความจำเป็น
6. ยาสูดขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์ยาวมีสองชนิดคือ LAMA (long acting muscarinic antagonist และยา LABA (long acting beta2 agonist) โดยเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน หากควบคุมอาการได้ไม่ดีจึงใช้ยาสูดแบบสองชนิด (แนะนำสองชนิดในหลอดเดียวมากกว่าแยกหลอด)
7. ข้อบ่งใช้ยาสูดสเตียรอยด์ลดลง อาจจะใช้ในรายที่กำเริบบ่อย ควบคุมโรคไม่ดี หรือเจาะเลือดตรวจเม็ดเลือดอีโอสิโนฟิลในเลือดสูง เดี๋ยวจะงงว่าหมอตรวจเลือดเพื่อพิจารณาการให้ยาทำไม และไม่มีการใช้ยาสูดสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวในการรักษาถุงลมโป่งพอง
8. จากการศึกษาหลายชนิดพบว่า LAMA ลดการกำเริบ ควบคุมอาการ และคุณภาพชีวิต (CID) ดีกว่า LABA เล็กน้อย แนวทางใน GOLD แนะนำ LAMA เหนือ LABA แต่ว่าสามารถใช้อะไรก็ได้แล้วแต่ที่มีและใช้ได้ถูกต้อง ... เรื่องเทคนิควิธีการสูดก็สำคัญ ให้เลือกยาที่ผู้ป่วยสามารถสูดได้ถูกต้องด้วย เอาที่สะดวกที่สุด ยาดีแค่ไหนก็ไร้ค่า ถ้าเข้าไม่ถึงตัวคนไข้ (บริษัทผู้สนับสนุนการบรรยาย มียา LAMA จำหน่าย)
9. ปัจจุบันยาขยายหลอดลม LAMA เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว คือ tiotopium ชนิด handihaler แต่ว่าข้อมูลส่วนมากจากการรักษาเป็น tiotopium ชนิด soft mist inhaler ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนยาตัวอื่นและยาสูดผสม LABA/LAMA มีจำหน่ายในไทยเรียบร้อย แต่ไม่ได้บรรจุในบัญชียาหลักครับ
10. ต้องรักษา ติดตามโรค ประเมินโรค ปรับการรักษา อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะลดอัตราการเสียชีวิต อัตราความพิการ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้จริงครับ อย่าคิดว่ารักษาเมื่อมีอาการ หายแล้วหยุดได้ ถ้าคิดแบบนี้จะทำให้โรคลุกลามและแย่มากหากกำเริบครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น