โรค SLE ถือเป็นต้นแบบของโรคและการศึกษาโรคภูมิคุ้มกันตัวเองผิดปกติ ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง แต่ว่ามีโรคที่คล้าย SLE อีกโรคที่เกิดจากที่กระตุ้นภายนอกคือ ยาที่ทำให้เกิดอาการ lupus (DIL : drug-induced lupus)
ยาหลายชนิดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีมาทำร้ายเนื้อเยื่อตัวเอง ที่พบบ่อยคือ procainamide ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ, hydralazine ยารักษาโรคความดัน, isoniazid ยาวัณโรค และ anti-TNF ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยยาแต่ละตัวจะมีกลไกการกระตุ้นแอนติบอดีต่างกันและมีอาการ SLE ที่พบบ่อยต่างกันด้วย
อาการก็คล้าย SLE และตรวจพบ antinucler antibody ได้เหมือนกันเพียงแต่ใน DIL จะพบแบบ homogeneous มากกว่าแบบ speckle ที่พบมากใน SLE และตรวจพบ antihistone antibody ได้เกือบ 90% การวินิจฉัยก็ต้องมีเหตุสัมพันธ์กับยาที่ได้ และเมื่อเอายาออกอาการจะดีขึ้น
แต่ถ้าอาการรุนแรงก็อาจให้สเตียรอยด์ในช่วงสั้น ๆ เพื่อลดการอักเสบได้ครับ
ตัวอย่างจริงจากภาพเอ็กซเรย์นี้ ผู้ป่วยหญิงอายุ 50 ปี มีอาการเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวม หลอดเลือดที่คอโป่งออก ปัสสาวะมีฟองปนมาก ได้รับยา hydralazine รักษาความดันโลหิตสูง ตรวจพบอาการของหัวในล้มเหลวเฉียบพลัน และน้ำในช่องปอดสองข้าง เอ็กซเรย์พบเงาหัวใจโตแบบกลมทั้งใจ ตรวจคลื่นความถี่สูงและตรวจหาหัวใจขาดเลือดพบว่า มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจและยังไม่มีหลักฐานของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ปัสสาวะมีโปรตีนรั่ว มีเซลล์เม็ดเลือดมาก และผล ANA เป็นบวก
ผู้ป่วยได้รับการหยุด hydralazine รักษาอาการหัวใจล้มเหลว และให้สเตียรอยด์ในช่วงสั้น อาการทุกอย่างดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจตรวจไม่พบมะเร็งและการติดเชื้อใด ๆ และน้ำหายไปหลังรักษา
hydralazine และ procainamide นอกจากเป็นยาที่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้เกิด DIL และพบมากสองอันดับแรก ยาสองตัวนี้ยังสามารถทำให้เกิด DIL แบบอันตรายคือมีเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardial effusion) ได้มากทีเดียวครับ
ถ้าพบอาการคล้าย SLE ก็อย่าลืมตรวจสอบยาที่ใช้นะครับ และใช้ยาใดอยู่ก็อย่าลืมแจ้งให้หมอทราบทุกครั้งนะครับ ผู้ป่วยรายนี้จะวินิจฉัยไม่ได้เลยถ้าไม่เห็นยาที่ผู้ป่วยแจ้งให้ทราบ
"น้ำท่วมจมหัวใจเพราะยา แต่ฉันจมน้ำตาเพราะเธอ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น