การติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย
โรคบางโรค ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในการตรวจครั้งแรก หรือหากขาดความต่อเนื่องในการติดตามโรคก็ยากที่จะได้คำวินิจฉัยสุดท้าย
ขอยกตัวอย่างอิงจากของจริง
หญิงอายุ 45 ปี อาชีพค้าขาย ต้องยกลังบรรทุกสินค้าบ่อย ๆ มีอาการปวดหลังปวดเอวมาหนึ่งวัน ปวดมากขึ้นในหนึ่งวัน ไม่มีไข้ ไปพบแพทย์ 1 ได้รับการวินิจฉัยปวดกล้ามเนื้อ ได้รับยาฉีดหนึ่งเข็มและยาต้านการอักเสบมากิน
สองวันต่อมาเริ่มปวดหลังมากขึ้น ไม่สัมพันธ์กับท่าทาง ผู้ป่วยบอกว่าบางครั้งปวดร้าวมาที่ต้นขา ไปพบแพทย์ 2 ได้รับยาลดการอักเสบอีกชนิด และได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจเอ็กซเรย์
หนึ่งวันต่อมา ผู้ป่วยมีไข้เป็นพัก ๆ ปวดหลังมากขึ้น ลุกนั่งก็ปวดมากขึ้น ผู้ป่วยไปพบแพทย์เพราะไข้ ปวดหลัง ไปพบแพทย์ 3 ตรวจพบขาสองข้างอ่อนแรงเล็กน้อย ตรวจปัสสาวะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวเล็กน้อย ได้รับยาฆ่าเชื้อและยาลดไข้ ยาคลายกล้ามเนื้อ
วันต่อมา อาการไข้เป็นตลอด ปวดหลังมากขึ้น ร้าวลงขา ขาสองข้างอ่อนแรงมากขึ้น ขาสองข้างเริ่มไม่รู้สึก ไปพบแพทย์ 4 ได้รับการตรวจพบว่าปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ของขาไวมาก สงสัยโรคของไขสันหลัง ตรวจ MRI พบฝีในช่องไขสันหลัง ทำให้มีอาการไข้ ปวดหลัง และไปกดเบียดไขสันหลังทำให้มีอาการชา อ่อนแรง รีเฟล็กซ์ไว และอาการมากขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่วันเพราะนี่คือฝี
ผู้ป่วยได้รับยาฆ่าเชื้อตรงตามที่เพาะเชื้อขึ้น (S.aureus)และผ่าตัดระบายหนอง ตอนนี้อาการปรกติ
การวินิจฉัยแบบมองครั้งเดียวของหมอทั้งสามคนแรก ยากที่จะปะติดปะต่อเรื่องราว เพราะไม่ได้มองตามระยะเวลาที่เปลี่ยน
ผู้ที่ทำการรักษาคนท้าย ๆ จะมีข้อมูลมากกว่าคนแรกเสมอ มีโอกาสที่จะวินิจฉัยได้ถูกต้องมากกว่า และหากติดตามต่อเนื่องจะวินิจฉัยได้แม่นยำทีเดียว โดยใช้เพียงประวัติและตรวจร่างกายเท่านั้น
ฝาก
คนที่วินิจฉัยทีหลัง อาจไม่ได้เก่งกว่า แต่มีข้อมูลมากกว่า เห็นการดำเนินโรคชัดกว่า
ผู้ที่วินิจฉัยได้ในภายหลัง ไม่พึงตำหนิหรือดูหมิ่น แพทย์ผู้ที่วินิจฉัยไม่สิ้นสุดก่อนหน้า
การติดตามนัด การส่งต่อข้อมูล จะช่วยการวินิจฉัยได้มาก
หงส์จิกจิ้งจอกตายคาแอนฟิลด์ จำสกอร์ไว้นะ 4-1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น