เมื่อลุงหมอ .. คัน : สารสกัดจาก Prune mume กับโรคตับ
อ่านข่าวทางหน้าเฟซบุ๊กอยู่เพลิน ๆ ก็มีโฆษณาเด้งขึ้นมาว่า มีสารสกัดจากธรรมชาติชนิดหนึ่ง ช่วยในการรักษาโรคตับเรื้อรัง ไขมันเกาะตับ เป็นการรักษาที่ตรงจุดและได้ผลดี มีผลงานวิจัยยืนยัน ต่อมคันเราก็เริ่มทำงาน
โรคไขมันเกาะตับ น่าจะเป็นชื่อที่เรียกแล้วผิดความหมายเอามาก ๆ เลย ชื่อจริง ๆ คือ Non-Alcoholic Fatty Liver Disease คือปรกติตับมันมีไขมันอยู่แล้วนะครับ เพียงแต่คนที่มีการสันดาปและสังเคราะห์ไขมันที่ผิดปกติเท่านั้นจึงจะเกิดโรค และกลไกการเกิดโรคส่วนมากเกิดจากการดื้ออินซูลิน การรักษาหลักคือการลดน้ำหนัก ลดปริมาณไขมันบริโภค หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ตับอักเสบเพิ่ม รักษาเบาหวานให้ดี ยาที่พอมีข้อมูลบ้างได้แก่ ยาเบาหวาน pioglitasone ยาลดไขมัน statin ซึ่งก็เป็นหลักฐานที่ไม่หนักแน่น ประโยชน์ก็ยังก้ำกึ่ง
แล้วสารสกัดจาก Prune mume หรือผลบ๊วย (กลุ่มลูกพลัม) มันมีข้อมูลไหมนะ ... เมื่อคันก็ต้องเกา
จากข้อมูลสมุนไพรของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและอีกหลายบทความทบทวนทางการแพทย์ พบว่าสารสกัด MK615 มีสมบัติในการลดค่าเอนไซม์ของตับในโรคตับ NAFLD และไวรัสตับอักเสบซี
แต่..เอ..ลดแบบใดระดับใดนะ จึงไปค้นข้อมูลต่อ
พบว่าข้อมูลจาก pubmed เกือบทั้งหมดเป็นข้อมูลจากหลอดทดลองหรือจากสัตว์ทดลอง ว่าสามารถต้านอนุมูลอิสระ ค่าสารออกซิเดชั่นลดลงในหลอดทดลอง เจ้าสารออกซิเดชั่นนี้เป็นตัวกลางอันหนึ่งในกลไกการเกิดโรค ลักษณะการทดลองที่ยังไม่ใช่การทดลองในคน และไม่ได้วัดผลทางคลินิกคือ หาย ไม่หาย เป็นหรือตาย ตับแข็งหรือมะเร็ง อันนี้ก็จะชวนให้เชื่อถือได้ยาก
เราไปที่ข้อมูลที่เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหิดลได้ระบุไว้ในหนังสืออ้างอิง เป็นงานวิจัยสองงานวิจัยดังนี้ครับ ที่กล่าวถึงผลของสารสกัดต่อโรคตับ ผมจะสรุปคร่าว ๆ เกี่ยวกับสองงานวิจัยนี้นะครับ (ทิ้งเรื่องนี้ไว้นาน เพราะกว่าจะขอวารสารตัวเต็มจากห้องสมุดมาได้นานมาก)
ข้อมูลชุดแรก
Hokari A, Ishikawa T, Tajiri H, Matsuda T, Ishii O, Matsumoto N, et al. Efficacy of MK615 for the treatment of patients with liver disorders. World J Gastroenterol 2012;18(31):4118-26
การศึกษานี้เป็นการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี เพราะเป็นการทดสอบสรีรวิทยาคนปรกติ โดยไม่เอาผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับเลย จำนวนคนศึกษาแค่ 36 คน แบ่งกลุ่มเป็นแคปซูลสารสกัดในขนาดต่ำและขนาดสูงเทียบกับยาหลอก โดยวัดผลการเปลี่ยนแปลงของเอ็นไซม์ของตับหลังให้ยาครบสามเดือนและตามไปอีกสามเดือน พบว่ามีการลดลงของเอนไซม์ตับจริงในช่วงให้ยา และกลับมาเท่ากันหลังหยุดยา ข้อสำคัญตรงนี้ เอนไซม์ตับก่อนให้ยาในทุกกลุ่มมันไม่สูงเรียกว่าอยู่ในค่าปกติ และที่ลดลงก็แค่ 2 ถึง 5 หน่วยเท่านั้น ในทางคลินิกถือว่าไม่มีความสำคัญแต่อย่างไร
ข้อมูลชุดสอง
Beretta A, Accinni R, Dellanoce C, Tonini A, Cardot JM, Bussière A. Efficacy of a standardized extract of Prunus mume in liver protection and redox homeostasis: A randomized, double-Blind, placebo-controlled study. Phytother Res 2016;30(6):949-55.
การศึกษานี้ทำในสัตว์ทดลองคือ หนูที่มาทำให้ตับอักเสบโดยการให้สาร D-galactosamine hydrochloride และมีการเปรียบเทียบด้วยกลุ่มฉีดน้ำเกลือ ศึกษาคู่ไปกับการเก็บข้อมูลคนไข้ 58 คนที่มีโรคตับเรื้อรังและอักเสบคือ ไวรัสตับอักเสบซีหรือไขมันเกาะตับ และได้สารสกัด ของบริษัทที่สนับสนุนงานวิจัย เพื่อติดตามผลจากการใช้ยาในระยะเวลา 12 สัปดาห์ ผลในหนูออกมาว่าสารสกัดช่วนลดตัวเลขเอนไซม์ของตับได้จริง ส่วนในคนก็ลดตัวเลขเอนไซม์ได้จริงเช่นกัน ข้อสำคัญตรงนี้คือเริ่มกินก็อักเสบไม่มาก หลังกินเอนไซม์ลดลงไม่มาก และยังอยู่ในเกณฑ์อักเสบอยู่ดี
จะเห็นว่าการศึกษาที่ยกมานี้เป็นการวัดตัวชี้วัดผลกลาง intermediate outcome หรือภาษาทางสถิติการแพทย์เรียกว่า surrogate outcome จะแปลออกมาเป็นผลสัมฤทธิ์ทางคลินิกได้ยาก และยังมีปัจจัยในร่างกายอื่น ๆ ที่อาจจะมารบกวนผลการทดลองแบบในหลอดทดลอง วัดค่าเฉพาะอันใดอันหนึ่งแบบนี้ ให้แปรปรวนหรือไม่เหมือนการทดลอง หากมาใช้ในคนจริง
และอีกหลายการศึกษาเป็นการศึกษาแบบติดตามที่ไม่ได้แบ่งกลุ่มทดลองและไม่มีตัวเปรียบเทียบ ผลของการศึกษาแบบนี้จะนำมาใช้เพื่อการรักษาจริง ๆ นั้น ทำได้ยากมากครับ
เฮ้อ... หายคันเสียที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น