มารู้จักกับผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลปี 2563 กันครับ
รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลให้กับผู้ที่ทำประโยชน์ทางการแพทย์ให้กับมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่เก่ง ไม่ใช่แค่มีชื่อเสียง ไม่ใช่แค่ดี แต่ต้องเกิดประโยชน์สาธารณะด้วย
ปีนี้รางวัลสองท่านนั้นคือ
Valentin Fuster
ท่านเป็นอดีตบรรณาธิการวารสารโรคหัวใจชื่อดัง JACC เป็นอดีตประธานสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา แม้ว่าในตอนเกิดท่านเกิดที่สเปน ในครอบครัวที่เป็นแพทย์กันเกือบหมด ท่านเรียนจบที่มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา และไปทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยแพทย์เอดินเบรอะห์ สก็อตแลนด์
ที่นี่ท่านได้ทุ่มเทเวลาศึกษาเรื่องกลไกการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และท่านได้พบว่ากลไกสำคัญในการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งเรื้อรังและเฉียบพลัน คือ การเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่ผนังหลอดเลือด เพราะผนังหลอดเลือดนั้นมีความขรุขระจากตะกรันไขมัน (atherosclerotic plaque) การลดการทำงานของเกล็ดเลือดนั้นสามารถลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดอุดตัน และลดอัตราตายในผู้ป่วยโรคหัวใจลงได้ จึงได้พัฒนาการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดแบบต่าง ๆ มาใช้ในการรักษา
นอกจากนี้ท่านยังได้คิดการป้องกันหลอดเลือดตีบซ้ำ ในผู้ป่วยที่ได้รับการแก้ไขหลอดเลือดไปแล้วแต่ยังเกิดการตีบอีก ด้วยการให้ยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ การคิดขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยาเพื่อลดการเกิดการอุดตันซ้ำ
การศึกษาคิดค้นอย่างต่อเนื่องนี้ได้เปลี่ยนแปลงการรักษาและช่วยขีวิตคนได้มากมาย ท่านได้รับเลือกเป็นประธานในองค์กรแพทย์โรคหัวใจระดับนานาชาติมากมาย และสุดท้ายได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลปีล่าสุด
Bernard Pécoul
คุณหมอด้านสาธารณสุขศาสตร์ ท่านเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่ชื่อ Drugs for Neglected Diseases Initiative หน่วยงานที่พัฒนาคิดค้นยาที่รักษาโรคที่ไม่มีบริษัทคิดค้นต่อเพราะไม่ได้กำไรและกำพร้า แต่ยังสำคัญต่อสาธารณสุขระดับโลก
ท่าเป็นชาวฝรั่งเศส เรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัย University of Clermont-Ferrand หลังจากนั้นไปจบสาขาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัย Tulane วิทยาลัยเกี่ยวกับการดูแลและจัดการสาธารณสุขวิทยาลัยแรก ๆ ในโลก และมีชื่อเสียงด้านการจัดการสาธารณสุขระดับภาพรวม
หลังจากเรียนจบท่านได้เข้าทำงานในหน่วยงานเพื่อพัฒนาสาธารณสุขและยาสำหรับผู้ป่วยในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเวียดนาม ลาว เมียนมาร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับไปศึกษาและพัฒนางานด้านสาธารณสุขระดับประเทศ และการจัดการยาสำหรับโรคทางสาธารณสุขที่ไม่มีบริษัทยาพัฒนาเพื่อกำไรทางการค้าเช่น
ยาต้านมาเลเรีย artesunate/amodiaquine เพื่อใช้รักษาโรคนี้ในประเทศด้อยพัฒนา ที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ
ยารักษาโรคพยาธิในเลือด sodium stibogluconate plus paromomycin รักษาโรคนี้ที่ยังเป็นปัญหามากในแอฟริกา
ท่านยังเดินหน้าทำการวิจัย ช่วยเหลือและออกแบบการจัดการดูแลสาธารณสุข การจัดสรรยา โรคที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศแอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มผู้อพยพลี้ภัย
ปัจจุบันยังมีการพัฒนายากำพร้ามาใช้ประโยชน์ และพัฒนายารักษาโรคระบาดที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด และหนึ่งในบทบาทของท่าน ได้เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจและตัวแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Battle on Seattle ภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องการตกลงทางการค้าที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นมากขึ้นและไร้การเหลียวแล
ต้องขอเอาใจช่วยผลงานของท่านที่ยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในโลกนี้ครับ
ขอยกย่องในความศรัทธาและผลงานของทั้งสองท่านต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น