อ่านแล้วสรุป โรคทางเดินอุดกั้นขณะหลับ สำหรับประชาชน
1. เกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนหลาย ๆ ครั้งขณะหลับในแต่ละคืน ทำให้ออกซิเจนลดลง คาร์บอนไดออกไซด์คั่ง แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของปอด หัวใจ และสมอง สุดท้ายจะต้องสูดลมหายใจหรือเฮือกให้เกิดแรงมากพอที่จะชนะการอุดกั้นนั้น การต้องออกแรงมาก ๆ และสรีรวิทยาที่เปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้คุณภาพการหลับไม่ดีและมีผลเสียมากมาย
2.ผลเสียคือ คุณภาพการนอนไม่ดี หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือหากมีโรคเดิมอยู่แล้วโรคเดิมนั้นจะแย่ลง เช่นโรคความดันโลหิตสูงที่รักษายาก พบว่ามี OSA ถึง 82% ที่สำคัญคือเมื่อแก้ไขภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นนี้แล้ว โรคต่าง ๆ ที่แย่ลงกลับดีขึ้น ข้อมูลที่น่าสนใจคือ การรักษาภาวะนี้ในตนที่มีปัญหา สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับการไม่รักษา
3.อาการที่พบบ่อยคือ นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นแล้วไม่สดใส แต่ว่ามันก็มีอีกหลายเหตุที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ สำหรับอาการที่น่าจะบ่งชี้โรคได้แม่นยำคือ อาการเฮือกบ่อย ๆ ขณะหลับ ที่ต้องอาศัยญาติใกล้ชิดเป็นผู้ให้ข้อมูล ส่วนอาการนอนกรนไม่ค่อยจำเพาะนัก การตรวจที่พบบ่อยคือ คางสั้น รูปร่างอ้วน
4.เนื่องจากอาการและอาการแสดงไม่มีความจำเพาะ จึงต้องเน้นที่การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค การตรวจอันเป็นมาตรฐานคือ polysomnogram ที่จะมีการติดอุปกรณ์วัดการหายใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง ความอิ่มตัวของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งวิดีโอวงจรปิดเพื่อติดตามขณะหลับ เพื่อวัด AHI (apnea-hypopnea index) โดยหากมีปรากฏการณ์หยุดหายใจมากกว่า 6 ครั้งต่อชั่วโมง ก็วินิจฉัยได้และหากหยุดหายใจบ่อยครั้ง ก็จะเพิ่มความรุนแรงของโรค
5.แต่การทดสอบในข้อ 4 ไม่ได้มีมากพอ จึงอาจจะคัดกรองคนที่น่าจะเข้าทำการทดสองโดยใช้ Berlin Questionaire ส่วน Epwort Sleepiness Scale มีความไวน้อยเกินไป และมีวิธีการทดสอบ polysomnogram แบบย่อม ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน ที่มีความไวและความจำเพาะประมาณร้อยละ 80 สามารถบอกว่าเป็นโรค ในกลุ่มที่สงสัยและผลการทดสอบเป็นบวก แต่หากผลการทดสอบที่บ้านออกมาเป็นลบ อาจจะเชื่อถือได้น้อย (สำหรับคนที่สงสัยนะครับ ไม่ใช่ทุกคน)
6.ถ้าทดสอบแล้วเป็นโรค การรักษาหลักมีสามประการคือ การปรับชีวิตและการลดน้ำหนัก การใช้อุปกรณ์เพิ่มแรงดันบวกขณะหลับ สุดท้ายคือการผ่าตัดแก้ไข การลดน้ำหนักจะต้องทำเสมอในผู้ป่วยอ้วนและมีประโยชน์มากหากเป็นเบาหวานด้วย แม้การออกกำลังกายจะไม่มีผลที่ชัดเจนสำหรับโรคนี้ แต่จะช่วยลดอันตรายอื่น ๆ ร่วมด้วยทำให้โรคนี้ดีขึ้น
7. การใช้เครื่องเพิ่มแรงดันบวก (positive airway pressure :PAP) คือการใช้แรงลมไปค้ำยันทางเดินหายใจเอาไว้ ไม่ให้ถูกกดถูกอุด
**หากผู้ป่วยใช้เครื่องได้อย่างถูกต้องและเพียงพอ จะสามารถลด AHI ได้กลับมาเป็นปรกติถึงร้อยละ 90**
ดังนั้นการเลือกอุปกรณ์ การเลือกหน้ากาก และการสอนใช้ เป็นสิ่งสำคัญมาก และต้องใช้อย่างต่อเนื่องด้วย ปัจจุบันเครื่องราคาไม่แพง ใช้ง่าย มีลูกเล่นมากเช่น สามารถปรับอัตโนมัติ หรือปรับแรงดันทั้งจังหวะหายใจเข้าและหายใจออก
8. ส่วนการผ่าตัดที่ทำมากสุดคือการ reconstruction ลิ้นไก่ เพดานอ่อนและคอหอย หรือการตัดแต่งแก้ไขกระดูกกรามบนและล่าง สามารถลด AHI ได้ประมาณ 50-80% ส่วนการใช้ยาต่าง ๆ ผลการศึกษายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดประโยชน์และยังไม่เป็นมาตรฐานการรักษาครับ และการใช้กัญชานั้นมีข้อมูลมาแล้วว่าไม่ช่วยนะครับ
9. ประเด็นที่สำคัญที่สุดของโรคคือ โรคมันซ่อนเร้นและรักษาไม่ง่าย หากหมอไม่ถามหรือไม่สังเกตเวลานอนและคุณภาพการนอนก็อาจจะไม่เกิดความตระหนัก การวินิจฉัยก็ไม่ง่ายและทำได้ไม่มาก และแม้วินิจฉัยได้ คนที่จะใช้อุปกรณ์ PAP อย่างถูกวิธีและต่อเนื่องก็มีไม่มากอีก โรคนี้จึงยังต้องระวังและติดไว้อยู่เสมอหากอาการโรคประจำตัวต่าง ๆ แย่ลง
10. ปัจจุบันสามารถศึกษาหาข้อมูลได้จาก สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ได้ทั้งจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ และหน้าเว็บไซต์ของสมาคมที่ www.sst.or.th ส่วน ที่มาของบทสรุปนี้คือ review ในวารสาร JAMA ไปหามาอ่านได้นะครับ สรุปได้ง่ายและไม่กี่หน้าเท่านั้น ที่สำคัญฟรีด้วย (ต้องสมัครสมาชิก) JAMA. 2020;323(14):1389-1400
"นอนไม่สบายแก้ได้ไม่ยาก
แต่ที่ลำบากคือคนที่มาแชร์หมอน
ใส่เครื่องpapหลับได้จบในตอน
แต่ว่าโรค “ลำพังนอน” คงอีกนาน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น