11 พฤศจิกายน 2563

การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะต้องมีการแปลผลร่วมกับอาการทางคลินิกเสมอ

 เราพลาดอะไรไป !!

ผมมีเรื่องอยากจะเล่าให้ฟังครับ มันเป็นเรื่องจริงที่แสนเศร้า แต่ก็มีบทเรียนแทรกอยู่ในเรื่องนี้เช่นกัน

มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมาปรึกษาด้วยปัญหาน้ำหนักลดลงต่อเนื่องมา 7 เดือน ลดลงจากเดิมประมาณ 30% เล่าย้อนไปสักหน่อยคือเมื่อเธอสังเกตว่าตัวเองน้ำหนักลดลงโดยที่ยังกินอาหารปกติ เธอก็เริ่มสงสัยตัวเองและอ่านข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ต เธออ่านพบว่าสาเหตุของน้ำหนักลดที่พบบ่อยคือโรคเบาหวาน เธอจึงไปตรวจเลือดที่ห้องแล็บเอกชนที่หนึ่ง ผลปรากฏว่าระดับน้ำตาลไม่ถึงเกณฑ์เบาหวาน

เธอก็สบายใจระดับหนึ่ง แต่ว่าน้ำหนักตัวยังลดลงเรื่อย ๆ เพื่อน ๆ ที่ออกกำลังกายด้วยกันและเพื่อน ๆ ในโซเชียลมีเดียบอกว่าเธออาจเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ เธอจึงไปตรวจเลือดหาค่าระดับฮอร์โมนก็ปรกติดี เธอรู้สึกกังวลเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ เพราะเห็นว่าผลเลือดปรกติดี

จนเมื่อเธอมาปรึกษาพร้อมกับผลเลือดที่ไปตรวจมา เพราะสงสัยว่าเธอเป็นอะไร หลังจากที่ซักประวัติและตรวจร่างกาย สิ่งที่พบน่าจะเป็นโรคเนื้องอกในลำไส้ ที่น่าเศร้าคือมีประวัติที่สงสัยตั้งแต่ 6 เดือนแรกและเมื่อซักประวัติครอบครัวก็พบว่ามีมะเร็งลำไส้ในครอบครัวอีกด้วย จึงส่งตรวจเพื่อสืบค้นมะเร็งลำไส้ ก็พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามเฉพาะที่ ยังไม่ลุกลามแพร่กระจาย

สิ่งที่เราได้เรียนรู้
1. อาการหรืออาการแสดงที่ไม่จำเพาะเจาะจง หากใช้มาเป็นหลักในการสืบค้นโรค จะทำให้สืบค้นและพาไปสู่การวินิจฉัยได้ยาก ต้องจัดกลุ่มประวัติและใช้ข้อมูลที่เหมาะสมกว่านี้ (ในที่นี้คืออาการน้ำหนักลด)

2.การใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นตัวตั้งต้น จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ง่าย ข้อคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดที่สำคัญที่สุดคือ ผลที่ออกมาปรกติแล้วตีความว่าทุกอย่างปรกติ ซึ่งผลปรกตินั้นไม่ได้ตอบคำถามของอาการที่เกิดขึ้นเลย

3. นอกเหนือจากผลที่ปรกติจะ “หลอกตาหลอกใจ” ผลที่ผิดปรกติก็จะหลอกให้หลงได้ เพราะอาจคิดว่าอาการหรือโรคที่เกิดคือโรคที่ผลการตรวจผิดปรกติเท่านั้น จริง ๆ อาจเป็นโรคอื่นได้ อย่างกรณีนี้ หากผลระดับน้ำตาลสูง คงรักษาเบาหวานกันตลอดและอาจหมดความสงสัยเรื่องมะเร็งไปเลย

4. หรือการตรวจที่มากเกินไป ไม่จำเป็น การทำให้เกิดความสงสัย “ในสิ่งที่มีโอกาสเกิดน้อย ความน่าจะเป็นน้อย” อาจจะนำไปสู่การตรวจเพิ่มขึ้นมากมายโดยไม่จำเป็น ประโยชน์น้อยแต่อันตรายและลุกล้ำมากขึ้น

5. การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะต้องมีการแปลผลร่วมกับอาการทางคลินิกเสมอ และต้องคิดถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดหรือไม่เกิดโรคก่อนส่งตรวจ และต้องมีแผนว่าถ้าผลการตรวจออกมาเป็นบวกหรือลบ จะสนับสนุนหรือคัดค้านแนวคิดอย่างไร และจะทำอะไรต่อเมื่อได้ผลตรวจอันนั้น **ข้อนี้บูรพาจารย์ทางอายุรศาสตร์สอนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า**

6. ในอนาคตจะมีการตรวจที่แม่นยำ ไวและเฉพาะเจาะจงกับโรคต่าง ๆ มากขึ้น แต่สุดท้ายก็จะต้องใช้ความน่าจะเป็นก่อนตรวจเพื่อเลือกการตรวจเสมอ หากจะหว่านตรวจให้หมด ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ราคาแพงอาจไม่คุ้มค่าไม่คุ้มทุนได้

7. แม้จะเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า “ไปตรวจให้หมดเลย เคยมีคนเจอโรคเพราะตรวจมาก ๆ” หรือ “ถ้าไม่ตรวจไม่พบเลยนะเนี่ย” ขอบอกว่าเกิดจริง แต่โอกาสแบบนี้มันน้อยมากจนไม่สามารถมาใช้กับทุกคนโดยทั่วไปได้ครับ

สุขสันต์วันคนโสดนะครับ

ในภาพอาจจะมี สุนัข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม