ไตเรามีส่วนประกอบย่อยหลายส่วน เช่น หน่วยการกรองที่เรียกว่าโกลเมอรูลัส หน่วยการดูดและขับสารต่าง ๆ ที่เรียกว่าทูบูล หน่วยของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดที่เรียกว่า อินเตอสติเชี่ยม แต่ละหน่วยไตจะมีอาการและอาการแสดง รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ต่างกัน และการรักษาที่แตกต่างกันด้วย
โรคไตชนิดที่เกิดจากโกลเมอรูลัสจะมีลักษณะที่พบบ่อยคือ ความดันโลหิตสูง เพราะส่วนนี้มีอวัยวะที่หลั่งสารควบคุมความดันโลหิต มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะเพราะผิวสัมผัสการกรองสารใหญ่ ๆ เช่นโปรตีนและประจุไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป มีอาการบวมได้มากเพราะการควบคุมสารน้ำที่บกพร่อง อาจตรวจพบเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ รูปร่างบิดเบี้ยวหลุดมาในปัสสาวะได้
โรคไตในส่วนโกลเมอรูลัสนี้ ตัวอย่างที่นักเรียนแพทย์จะได้เรียนกันมากคือ โรคไตโกลเมอรูลัสหลังจากการติดเชื้อสเตร็ปโตค็อคคัส (Post streptococcal glomerulonephritis)
ในส่วนโกลเมอรูลัส ส่วนของเซลล์ไต เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดฝอย จะอยู่ใกล้ชิดกันมาก มีการแลกเปลี่ยนสารผ่านรูเล็ก ๆ ผ่านความเข้มข้นของสารทางเคมี ผ่านประจุไฟฟ้าทางฟิสิกส์ ผ่านแรงดันความดันทางกลศาสตร์ ตำแหน่งเล็ก ๆ นี้จะมีโอกาสได้รับความเสียหายจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบได้มาก เหมือนกับโรคของหลอดเลือดขนาดเล็กทั้งหลายที่ส่วนใหญ่เกิดจากผลจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน แอนติเจนและแอนติบอดี
วันนี้เราจะมารู้จักแอนติบอดีตัวหนึ่งที่มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยโรคไตโกลเมอรูลัส คือ PLA2R antibody (ปลาทู-รีเซฟเตอร์แอนติบอดี.. เรียกแบบนี้จำง่ายดี)
เซลล์ไตและผนังเยื่อบุหลอดเลือดฝอย จะมีเยื่อบุบาง ๆ กั้นไว้เรียกว่า Basement membrane ความผิดปกติในส่วนนี้จะทำให้เกิดโรคไตโกลเมอรูลัสเช่นกัน ที่เรียกว่า membranous glomerulonephritis โรคนี้จะพบอาการบวมและมีโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะได้มาก หากร่างกายมีความผิดปกติในส่วน M-Type Phospholipase A2 receptor (PLA2R) ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีมาทำลาย ปฏิกิริยาแอนติเจนแอนติบอดีนี้แหละทำให้เยื่อบุเสียหาย
เราสามารถตรวจแอนติบอดีนี้ได้ในกระแสเลือด ซึ่งการตรวจพบแอนติบอดีชนิดปลาทูรีเซฟเตอร์นี้ จะมีความจำเพาะกับโรค Primary membranous glomerulonephritis ถึง 80% และเมื่อรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันแล้วทำให้แอนติบอดีนี้ลดลงอีกด้วย ซึ่งเราใช้ติดตามการตอบสนองต่อการรักษาได้ด้วย และโดยเฉพาะหากใช้ยา rituximab ก็จะทำให้ตรวจไม่พบแอนติบอดีนี้ได้มากขึ้นด้วยนะ
ท่านอาจพบการตรวจนี้ เวลาที่ต้องการวินิจฉัยและติดตามโรคไตโกลเมอรูลัส โดยเฉพาะในโรค Membranous glomerulonephritis ปัจจุบันประเทศไทยสามารถตรวจได้แพร่หลายแต่ราคายังสูงมากอยู่ และยังไม่สามารถทดแทนการเจาะตรวจชิ้นเนื้อที่ไตไปตรวจได้นะครับ
Kidney Int Rep. 2018 Mar; 3(2): 498-501
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น