26 สิงหาคม 2561

การรณรงค์การเลิกบุหรี่อย่างจริงจังครั้งแรกๆ

รู้หรือไม่ ..? การรณรงค์การเลิกบุหรี่อย่างจริงจังเกิดขึ้นครั้งแรกๆ ที่อาณาจักรไรซ์ที่สาม ในยุคสมัยของนาซีเยอรมัน
การรณรงค์เลิกบุหรี่และบทพิสูจน์ของโทษจากบุหรี่ที่ชัดเจนเริ่มต้นในปี 1950 หกสิบปีที่ผ่านมามีทั้งการเลิกบุหรี่ ยาเลิกบุหรี่ สารชดเชยนิโคติน และผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง การประชุม FCTC COP8 ขององค์การอนามัยโลกที่จะมากำหนดนโยบายการควบคุมยาสูบกำลังจะเกิดที่เจนีวาเร็ว ๆ นี้ แต่ว่ามีบันทึกและบทความเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่มาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
สมัยก่อนยาสูบเข้ามาในแผ่นดินปรัสเซียในสมัยสงครามกับดัตช์และอังกฤษ หลังจากสงครามนั้นทางเยอรมันได้กำหนดโทษการสูบบุหรี่ไว้รุนแรงก็จริง แต่ก็เป็นเพียงกฏบนกระดาษ ผ่านสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กฏนั้นก็ยังไม่ได้ถูกบังคับอย่างจริงจัง
ก่อนยุคอุตสาหกรรม การสูบยาสูบใช้ใบยาและสูบผ่านกล้องยาสูบ สูบซิการ์ พฤติกรรมการสูบและปริมาณการสูบเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่มีเครื่องมวนบุหรี่ การบรรจุภัณฑ์รวดเร็วตามกระบวนการอุตสาหกรรม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บุหรี่เป็นสิ่งที่แจกให้กับทหารในสงคราม
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาวะเงินเฟ้อระบาดไปทั้งโลก และปัญหาอันใหญ่หลวง สาธารณรัฐไวมาร์เริ่มมองว่าบุหรี่เป็นภัยคุกคามเพราะเชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นภัยต่อสุขภาพโดยเฉพาะเป็นภัยกับหญิงตั้งครรภ์ที่จะให้กำเนิดเผ่าพันธุ์เยอรมันอันบริสุทธิ์
สอดคล้องกับการรายงานเรื่องมะเร็งที่พบมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังอุตสาหกรรมบุหรี่ครองโลก สาธารณรัฐไวมาร์และพรรคนาซีเริ่มมองว่านี่น่าจะเป็นผลจากบุหรี่
และตัวท่านผู้นำเอง ท่านฟือห์เรอร์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยรุ่นเพราะเห็นว่าเปลืองเงินกับทำลายสุขภาพ
แต่ว่าการเลิกบุหรี่สมัยนั้น มันไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องสุขภาวะเท่านั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของพรรคนาซีด้วย
สำหรับข้อมูลสุขภาพนั้น Fritz Lickint นักวิทยาศาสตร์จากเดรสเดน ได้รวบรวมการศึกษาตีพิมพ์ในปี 1936 เป็นการรวบรวมผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร ว่ามีความเกี่ยวข้องกับบุหรี่ และยังพิสูจน์ถึงโรคหลอดเลือดแดง อัตราการเสียชีวิตของทารก ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่อีกด้วย
อันตรายต่อสุขภาพที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเผ่าพันธุ์เยอรมันบริสุทธิ์ อุปสรรคต่อการเกิดของเด็กเยอรมัน ทำให้ฮิตเลอร์และพรรคนาซี ออกนโยบายและกฏหมายควบคุมยาสูบ เริ่มในปี 1938 มีการตั้งสถาบันศึกษาเพื่อการเลิกบุหรี่ Jena's Institute for Tobacco Hazardous Research ผลที่เกิดขึ้นอย่างเช่น
ห้ามสูบบุหรี่ในค่ายทหาร ในที่ทำการไปรษณีย์ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้กับหญิงตั้งครรภ์ ต่อมาก็ขยายไปถึงห้ามจำหน่ายให้กับสุภาพสตรี ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี งดโฆษณาประชาสัมพันธ์บุหรี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารในขณะสวมเครื่องแบบห้ามสูบบุหรี่
กฏพวกนี้บังคับใช้และมีบทลงโทษรุนแรง โดยการควบคุมของหน่วย SS ภายใต้การควบคุมของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ หัวหน้าหน่วย SS โดยตรง
มีการคิดค้นวิธีการเลิกบุหรี่ มีการคิดค้นวิจัย ยาสูบที่ไม่มีนิโคติน เรียกว่าพัฒนาการด้านการเลิกบุหรี่ที่เราใช้ ๆ กันในยุคนี้ได้ใช้มาแล้วทั้งสิ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองโดยประเทศที่เหี้ยมเกรียมมาก นโยบายนี้แม้แต่ทางสหรัฐอเมริกาก็ยังชื่นชม (อเมริกาทำได้ยากกว่าและมีอุปสรรคมากกว่านี้มาก)
แต่ทว่ายุคนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกลับต้องมาเกี่ยวพันกับการเมืองและโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี การสูบบุหรี่ถูกปลูกฝังว่าเป็นอาชญากรรมและภัยคุกคามโลกเฉกเช่น โรคระบาด ยิปซี และยิว ถ้คิดว่ายิวเป็นภัยเขาก็จะปลูกฝังให้บุหรี่เป็นภันเช่นกัน ผอ. สถาบัน Jena's Institute for Tobacco Hazardous Research ก็เป็นหนึ่งในพรรคนาซี เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนนโยบายสายพันธุ์บริสุทธิ์ ใช้การโฆษณาชวนเชื่อและภาพยนตร์ในการชวนเชื่อโดยบิดเบือนความจริงหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องการสูบบุหรี่จะเป็นการบ่อนทำลายโลกและชาติเยอรมันอันยิ่งใหญ่
ฮิตเลอร์เองก็ใช้นโยบายนี้หาเสียงเช่นกัน
แล้วนโยบายกับกฎหมายนี้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ ??
เหมือนกับการควบคุมสิ่งเสพติดทั่วไป ย่อมมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยทั้งผู้เสพและผู้ผลิต ยิ่งเป็นการควบคุมอุตสาหกรรมที่กำลังไปได้สวยตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้ต่อต้านหลายรายก็เป็นผู้มีอำนาจ แม้กระทั่งจอมพลเฮอร์มันน์ เกอริ่ง ผู้ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจฮิตเลอร์เอง ยังสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและรูปปั้นเองก็ปั้นในท่าสูบบุหรี่ ฮิตเลอร์ก็ไม่ได้พอใจเท่าไรนัก
กองทัพและทหารเองก็ยังต้องการบุหรี่ในการออกราชการศึกสงคราม คนเยอรมัน พรรคนาซีและทหารหลายคนก็บอกว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่การไม่จงรักภักดี เพราะเขายังยอมตายเพื่ออาณาจักรและท่านผู้นำ ไม่เกี่ยวอะไรกันกับการสูบบุหรี่
การไม่จ้างงานแรงงานที่สูบบุหรี่ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการผลิตของเยอรมันที่กำลังต้องการผลิตผลมากมาย รวมถึงความไม่สบายใจของผู้ผลิตบุหรี่ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเงินกับพรรคนาซีด้วย
อัตราการสูบบุหรี่ในช่วงแรก ๆ จึงยังไม่ลดลงแต่ในช่วงหลังเริ่มลดลง ไม่รู้ว่านโยบายได้ผล หรือกำลังพลลดลง หรือกำลังการผลิต วัตถุดิบที่ลดลง
และเมื่อท่านผู้นำ เจอการต่อต้านโดยเฉพาะการต่อต้านจากภาคการผลิต ท่านผู้นำถึงกับต้องอ่อนข้อต่อนโยบายนี้ ชะลอการโฆษณาชวนเชื่อและนโยบายที่เข้มงวด ทางผู้ที่สนับสนุนบุหรี่ก็ตีโต้โดยการตั้งสถาบันวิจัยของตัวเองขึ้นมาต่อต้านนโยบายการเลิกบุหรี่ (Tobacologia medicinalis)
จนเมื่อพฤษภาคม 1945 นาซีได้ยอมแพ้สงคราม บรรดาพรรคนาซีทั้งหลายถูกตามล่าและติดตามมาดำเนินคดี นโยบายการเลิกบุหรี่และโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านบุหรี่ก็ถูกล้มเลิกไป Karl Astel ผอ. Jena's Institute for Tobacco Hazardous Research ก็ถูกดำเนินคดี นโยบายทั้งหมดถูกล้มเลิก ส่วนสถาบันที่กลุ่มต่อต้านการเลิกบุหรี่ก็ปิดตัวลงด้วย เพราะความจริงที่ว่าบุหรี่เป็นพิษภัยมีหลักฐานมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง
ประวัติศาสตร์การต่อสู้และรณรงค์เลิกบุหรี่ เกิดมาอย่างยาวนาน ประวัติศาสตร์วนซ้ำจุดเดิม ไม่รู้ว่าอนาคตเราจะสามารถลดภยันตรายจากการสูบบุหรี่ลงได้หรือไม่ หากเราไม่เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตและคิดสิ่งใหม่มาใช้ในยุคปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม