29 กันยายน 2567

ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก

 ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก

อ่านจบมานานแล้ว แต่ไม่ได้เล่าเรื่องเสียที ตลาดหนังสือตอนนี้หนังสือแปลจีน แปลญี่ปุ่น แปลเกาหลี ออกมามากมายและหลายเล่มก็สนุกและให้ข้อคิดดีด้วย หนึ่งในนั้นคือหนังสือที่ได้รับการรีวิวมากมายเล่มนี้
หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของร้านสะดวกซื้อ คุณนาย ยอมยองซุก ที่เป็นหญิงวัยเกษียณ เปิดร้านสะดวกซื้อเพื่อแก้เหงาและพอเลี้ยงตัว ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากลูกชายของเธอ เธอเปิดร้านที่ลูกค้าไม่ได้มากมาย แต่ก็สม่ำเสมอ สามารถช่วยเหลือพนักงานให้มีรายได้
จนมาวันหนึ่งเธอถูกโจรกระชากกระเป๋าที่สถานีรถไฟ และมีชายไร้บ้าน ท่าทางสกปรก มาช่วยเธอนำกระเป๋าคืนมา เธอจึงชวนเขามาที่ร้านเพื่อเลี้ยงอาหารตอบแทน ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่คุยกันแต่คุณยอมยองซุก กลับพบว่าชายผู้นี้มีพลังดึงดูดและน่าจะเป็นคนดี เธอจึงชวนเขามาทำงานที่ร้าน
เรื่องราวของชายไร้บ้านหรือคุณทกโก ที่เข้ามาทำงาน ไปเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับพนักงานในร้านและลูกค้า หรือพูดให้ถูกคือปัญหาส่วนตัวของพนักงานในร้านและลูกค้า ที่เขาเหล่านั้นสบายใจที่จะเล่าให้ทกโกฟัง เพราะเขาคือ มิสเตอร์โนบอดี้ คงไม่มีใครใส่ใจและไม่มีผลต่อเจ้าของปัญหา แต่ด้วยสาเหตุนี้แหละ ทำให้การพูดคุยกันคือการแก้ปัญหา แบบที่เจ้าของปัญหาคาดไม่ถึง
การมองในมุมกว้างออกไป การคิดนอกกรอบ เป็นสิ่งที่คุณทกโกพูดคุยกับเจ้าของปัญหาเหล่านี้ และทำให้เขาผ่านพ้นมันไปด้วยดี เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบ simply the best ที่ทุกคนอึ้งว่า …คุณคิดได้ไง
ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาพาร์ทไทม์ห้องใกล้เคียง พนักงานที่มีโอกาสเลื่อนไปทำงานที่ดีกว่า คนที่มาซื้อของในวันลดราคาซื้อหนึ่งแถมหนึ่งเพื่อนำไปให้ลูกชาย และสุดท้ายก็มาถึงคิวของเจ้าของร้านที่มีปัญหากับลูกชายที่ต้องการขายตึกขายร้าน
เล่าเรื่องผ่านพัฒนาการของคุณทกโก ที่ไม่เคยทำงานร้านสะดวกซื้อ เขาเรียนรู้การจัดของ การใช้เครื่องคิดเงิน ด้วยความช่วยเหลือของทุกคน ที่อบอุ่นใจ คุณทกโกปกป้องร้านราวกับเขาเป็นเจ้าของ ค่อย ๆ ทลายกำแพงหัวใจจากคนแปลกหน้า มาเป็นผู้ร่วมงาน มาเป็นครอบครัว พร้อมกับวิธีที่เขาเลิกเหล้าแบบใช้ใจ เพราะสัญญากตัญญูกับคุณนายยอมยองซุก ผู้ให้ชีวิตใหม่กับเขา
และพอจบท้ายเรื่อง คุณก็จะได้พบตัวตนและที่มาของชายไร้บ้านผู้นี้ ที่เรียกว่า พล็อตทวิตส์ยังหัวทิ่มเลยล่ะ
หนังสือแต่งโดย คิม โย ฮอน แปลไทยโดย มินตรา อินทรารัตน์ สำนักพิมพ์ piccolo ราคาปกเล่มละ 295 บาท นิยายอบอุ่น อ่านแล้วใจฟู รวดเดียวจบครับ
ไปตำได้ที่ร้านหนังสือทั่วไปครับ

การทดสอบภูมิแพ้

 การทดสอบภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้มีหลากหลายมากมาย ผ่านกลไกหลายรูปแบบ มีการดำเนินโรคกว้างมาก การทดสอบโรคก็เช่นกันมีมากมาย เดิมทีการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ จะต้องเริ่มจากประวัติอาการ ประวัติความเสี่ยงการสัมผัสสารแพ้ การตรวจร่างกายที่เข้าได้ และการดำเนินโรคเมื่อสัมผัสสารแพ้ เมื่อหลีกเลี่ยงสารแพ้
ส่วนการทดสอบมีมากมาย แต่ว่าทั้งหมดจะต้องเริ่มต้นด้วยความน่าจะเป็นทางคลินิก คือ ประวัติและตรวจร่างกายบ่งชี้โรคใด แล้วใช้การทดสอบมายืนยันสิ่งที่คิดหรือคัดค้านสิ่งที่คิด
ในปัจจุบันมีบางที่บางคน เริ่มต้นด้วยการตรวจภูมิแพ้ แล้วคิดกลับว่าเราแพ้อะไร ต้องทำตัวอย่างไร ซึ่งจริง ๆ ไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์แบบนั้น เรามาดูการตรวจที่ 'พิมพ์นิยม' ในปัจจุบันกันครับ
1.การตรวจ skin prick test คือการนำเข็มสะกิดเอาแอนติเจนสารต้องสงสัยมาจิ้มที่แขน เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น โดยต้องมีตัวอย่างสารที่เกิดปฏิกิริยาแน่นอนคือ ฮิสตามีน และสารที่จะไม่เกิดปฏิกิริยาแน่นอนคือ น้ำเกลือ แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือบวมแดงรอบจุดที่สะกิด ที่อาจต้องรอเวลาไม่เท่ากัน ขนาดและความรุนแรงของการบวมแดง พอจะบอกระดับปฏิริยาได้
2.การตรวจเลือดหาระดับของ specific IgE ตรวจเลือดเพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อสารนั้น ๆ โดยที่ระดับของภูมิคุ้มกันมากหรือน้อย พอจะบอกความรุนแรงได้ แต่ต้องเข้าใจว่าระดับ IgE อาจไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันชั่วฟ้าดินสลาย ผ่านจากจุดเกิดโรคภูมิแพ้หรือไม่ได้สัมผัสสารนั้นมาสักระยะ อาจมีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำมาก
การทดสอบนี้เป็นการทดสอบปฏิริยาผ่านภูมิคุ้มกันชนิด specific IgE เช่น ผื่นลมพิษ ใบหน้าบวม หลอดลมและท่อคอบวม หรือภาวะช็อกจากสารแพ้ แนะนำทำเพื่อทดสอบสมมติฐานว่าแพ้สารใด หรือยืนยันว่าไม่แพ้สารใด หรือในกรณีภูมิแพ้รุนแรงวิกฤต แต่ไม่ทราบว่าแพ้อะไร ทำการตรวจเพื่อหาว่าในสารที่พบว่าแพ้บ่อย ๆ นั้น มีตัวใดที่เราแพ้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงได้บ้าง
ไม่สามารถทำเพื่อคัดกรองการแพ้ได้ เพราะเป็นการทดสอบที่ความไวไม่สูง แต่จำเพาะสูง และหากไม่มีตัวอย่างสารแพ้ที่นำมาตรวจ ก็จะตรวจไม่พบได้
3.การตรวจ skin patch test คือนำสารที่สงสัยมาเคลือบบนแผ่นตัวอย่างตรวจ รวมทั้งแผ่นควบคุมตัวอย่าง มาแปะที่ผิวหนัง แล้วดูปฏิกิริยา ดูเหมือนว่าไม่รุนแรง แต่การทดสอบนี้ไม่ได้ตรวจหา specific IgE เหมือนสองแบบแรก แต่เป็นการตรวจภูมิแพ้ตามปฏิกิริยาภูมิไวชนิดที่ 4 ที่เรียกว่า delayed type hypersensitivity เช่น การแพ้สัมผัสที่ผิวหนัง ไม่ว่าจะสารเคมี เครื่องสำอาง น้ำหอม
เช่นกัน ไม่สามารถใช้เพื่อคัดกรองสารแพ้ได้ เพราะแปลผลลำบากและไม่แม่นยำสำหรับการคัดกรอง แต่สามารถใช้เพื่อวินิจฉัยโรคได้ดี
และถ้าถามว่าการทดสอบใดที่แม่นยำมากสุดของการวินิจฉัยภูมิแพ้ คือ double-blind, placebo -controlled food challenge test คือสารนำสารที่สงสัย กับสารหลอกที่มีรูปรสกลิ่นเสียงเหมือนกัน มาสัมผัสโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ คุณหมอก็ไม่รู้ แล้วดูว่าเกิดปฏิกิริยาหรือไม่อย่างใด ที่ไม่ได้ทำง่ายเลย จึงใช้ประวัติตรวจร่างกายและวิธีทดสอบที่ง่ายกว่า นำมาใช้ช่วยวินิจฉัยได้เช่นกันครับ

28 กันยายน 2567

anatomical snuff box

 ลุงหมอทัวร์แอนด์ทราเวิลมาพาทัวร์อีกแล้วครับ ก่อนจะไปทัวร์กัน อย่าลืมชงชาร้อน ๆ และครัวซองต์อุ่น ๆ มานั่งจิบแล้วไปด้วยกันครับ

เราหมุนเวลากลับไปในยุคที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางไปพบทวีปอเมริกา ในปี 1493 ที่บริเวณหมู่เกาะแอนทีลีส พื้นที่ประเทศบาฮามาสในปัจจุบัน ยุคที่การเดินทางค้นหาดินแดนใหม่ ๆ และเส้นทางเดินเรือใหม่ โดยการเดินทางยุคนั้นจะได้รับการสนับสนุนและคุ้มครองทางทหารจากรัฐบาลเพราะสมประโยชน์กันระหว่างรัฐบาลและเอกชนผู้ได้สัมปทาน (คุ้น ๆ เนอะ) เช่นกันครับราชอาณาจักรสเปนได้ว่าจ้างโคลัมบัส ให้เดินทางค้นหาเส้นทางเช่นกัน หลังจากนั้นเหล่าบรรดานักสำรวจ รัฐบาล ผู้แสวงโอกาสจากสเปนก็หลั่งไหลไปที่ดินแดนแห่งนี้
ในการเดินทางไปเยือนอเมริกาครั้งที่สองของโคลัมบัส มีทีมจากสเปนติดตามไปและได้สังเกตบางอย่าง
ที่นั่นมีการสูบยาแบบที่โคลัมบัสไม่เคยเห็น คือ การใช้ใบยาตากแห้ง นำมาบดให้ละเอียดโดยใช้ภาชนะไม้โรสวูด ความหอมของใบยาผสมกับกลิ่นหอมจากไม้โรสวูด ทำให้ใบยาสูบบดของชาวพื้นเมืองที่นี่กลิ่นกรุ่นไม่เหมือนใคร
ชาวเมืองนำใบยาสูบกลิ่นหอมนี้ บรรจุเข้าไปในขวดเล็ก ๆ และวิธีการบริโภคยาสูบของชาวเกาะที่นี่ต่างจากที่อื่น ที่อื่นอาจจะเคี้ยวใบยา จุดสูบใบยา แต่ด้วยกลิ่นหอมชวนหลงไหลของใบยาสูบผสมไม้โรสวูดนี้ ชาวเกาะที่นี่บริโภคยาสูบโดยการสูดกลิ่นและบางส่วนของใบยาเข้าทางจมูก เรียกการสูดแบบนี้ว่า snuff
หนึ่งในทีมของโคลัมบัสมีคณะนักบวชที่มีอิทธิพลในสเปน ประเทศผู้ว่าจ้างโคลัมบัส ที่ยังรุ่งเรืองเป็นมหาอำนาจโลกในยุคนั้นเคียงคู่กับโปรตุเกส สองประเทศผู้มั่งคั่งในเวลานั้น แบ่งโลกออกเป็นสองส่วนเพื่อแบ่งกันครอบครองอีกด้วย ด้วยสนธิสัญญา ทอร์เดสอียาส
ใบยาสูบกลิ่นไม้โรสวูดหรือ snuff ได้ถูกนำกลับไปราชสำนักสเปนโดยทีมนักบวช และสร้างโอกาสทางธุรกิจมหาศาลให้กับราชอาณาจักรสเปนที่ผูกขาดการผลิตยาสูบ snuff นี้ รวมไปถึงอุตสาหกรรมในผลิตขวดบรรจุ snuff ที่ศิลปินในยุคเรอเนซองต์ได้สร้างสรรค์ผลงานขวดเล็ก ๆ บรรจุยาสูบ snuff ให้สามารถสูดได้ง่าย ที่เรียกว่า snuff box
แต่ทำไมยาสูบหอมกรุ่นจากหมู่เกาะแอนทีลีส จึงมาโด่งดังที่ยุโรปและมีราคาสูงได้ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ว่ามี 'เจ๊ดัน' และเจ้ดันที่ว่าคือ แคทเธอรีน เดอ เมดิซี แห่งตระกูลเมดิซีที่โด่งดังแห่งฟลอเรนซ์ อิตาลี ตระกูลที่กุมชะตาของยุโรปในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
แคทเธอรีน เดอ เมดิซี นางสิงห์เหล็ก ชายาของราชาอองรีที่สองแห่งฝรั่งเศสและเป็นแม่ของราชาฝรั่งเศสถึงสามพระองค์ คนในตระกูลเมดิซี เป็นนักธุรกิจใหญ่ นายทุนข้ามชาติ ส่งคนเข้าไปควบคุมกองทัพของหลายอาณาจักร หลายเมืองในยุโรป ส่งลูกหลานไปแต่งงานกับกษัตริย์หรือรัชทายาททั่วยุโรป เพื่อสร้างฐานอำนาจและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ควบคุมอำนาจทางศิลปะและวิชาการ ว่าจ้างและ "กวาดต้อน" นักวิชาการดัง ๆ ยุคนั้นให้มาอยู่ในสังกัดตัวเอง ผลิตผลงานและคิดค้นให้กับอาณาจักรแห่งตระกูลเมดิซี ตัวอย่างทุกคนน่าจะรู้จักกันดี คุณเลโอนาโด ดาวินชี
ศิลปินกับนักปราชญ์ยุคนั้น ไม่ใช่ศิลปินไส้แห้งนะครับ และไม่ได้ขายงานตามไอเดียตัวเองด้วย แต่ทุกคนมี 'ซุ้ม' มีสังกัดและส่วนมากจะทำงานศิลปะและงานวิชาการภายใต้คำสั่งของ 'นาย' เป็นหลัก อย่างดาวินชี ก็ทำงานโดยได้รับการดูแลจากตระกูลเมดิซี (ในช่วงแรกของชีวิต ช่วงเดบิวต์) โดยเฉพาะงานภาพวาดเกี่ยวกับศาสนา
ทำไมต้องวาดภาพศาสนา เพราะตอนนั้นเป็นยุคปลายและใกล้สิ้นสุดยุคกลาง ซึ่งในยุคกลางศาสนจักรมีอำนาจมาก พอสิ้นสุดยุคกลาง ศาสนจักรก็มีความร่วมมือกับอาณาจักร เพื่อสมประโยชน์ด้านอำนาจ การปกครอง เศรษฐกิจ เช่นเดียวกับตระกูลเมดิซี ที่มีพระสันตะปาปาถึงสี่พระองค์ที่มาจากตระกูลเมดิซี
แคทเธอรีน เดอ เมดิซี ก็เข้าสู่อำนาจแบบเดียวกัน และแคทเธอรีน เดอ เมดิซี ก็มีเงื่อนไขที่จะทำให้ snuff โด่งดัง เพราะพระนางแคทเธอรีนมีโรคเรื้อรังอันหนึ่งที่หมอในยุคนั้นรักษาไม่หาย แม้ว่าพระนางเมดีซีจะทรงอำนาจเพียงใด และตระกูลเมดิซีจะร่ำรวยและกว้างขวางทั่วแผ่นดินยุโรปเพียงใด คือ โรคปวดหัวเรื้อรัง
Jean Nicot de Villemain ราชฑูตฝรั่งเศสที่เดินทางไปหลายประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้ใบยาสูบ ซึ่งนับว่าเป็นสินค้าหายาก เป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูง คุณนิโค่นำใบยาสูบทั้งแบบปกติและแบบ snuff นำมาทำเป็นยา และคุณนิโค่ก็ได้นำ snuff มากระซิบบอกพระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิซี และพระนางก็หายขาดเสียด้วย
พระนางจึงเป็นพรีเซนเตอร์ของ snuff และตระกูลเมดิซีก็ลงทุนร่วมเพื่อสร้างธุรกิจยาสูบให้ผูกขาดในไม่กี่ตระกูล ไม่กี่บริษัท ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นการกินรวบผูกขาดธุรกิจยาสูบอีกด้วย ทำให้ธุรกิจยาสูบ snuff ได้รับความนิยมสูงและทำกำไรมหาศาลมาถึงปัจจุบัน และคำว่า nicotine ก็มาจากชื่อ ฌอง นิโค่ …นิโคติน
แต่การสูบ snuff ด้วยกล่องสุดหรู snuff box ก็ไม่ได้แพร่หลายกับทุกคน ในกลุ่มคนที่มีฐานะด้อยกว่า เขาก็มีโอกาสสูบ snuff เช่นกันแต่สูบอีกแบบหนึ่งที่น่าจะสะดวกกว่าและง่ายกว่าอีกด้วย เรียกว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ วิธีดังกล่าวเป็นแบบนี้ พวกคุณทุกคนลองทำตามนะครับ
คว่ำมือแล้วเหยียดเกร็งนิ้ว ตรงโคนนิ้วโป้ง คุณจะเห็นหลุมรูปสามเหลี่ยม ลองดูในภาพประกอบ ถ้าไม่เห็นแสดงว่าเนื้อคุณเยอะ ต้องไปปรับปรุงน้ำหนักแล้ว แล้วยกมือขึ้นมา เอาโคนนิ้วโป้งปิดรูจมูกฝั่งตรงข้าม ปลายนิ้วโป้งจะอยู่แถวหางตา รูจมูกข้างที่ไม่ปิดจะอยู่ตรงหลุมสามเหลี่ยมนั้นพอดี
ครับ ยุคสมัยนั้นเขาเอา snuff มาหยอดไว้ตรงหลุมนั้น ที่ปริมาณก็จะพอดีกับการสูด แล้ว…ซื้ดดด อ่าห์ snuff ก็จะเข้าสู่จมูก เป็นการสูบคล้ายกับการ snuff ผ่าน snuff box อันหรูหราของพระราชินีแคทเธอรีน
หลุมสามเหลี่ยมตรงนั้น ประกอบด้วยเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อสองมัด Abductor Policis Longus ทำหน้าที่กางนิ้งโป้งออกจากฝ่ามือ และ Extensor Policis Brevis ทำหน้าที่เหยียดนิ้วโป้งให้ตึงเปรี๊ยะ เป็นด้านหนึ่งของสามเหลี่ยม อีกด้านของสามเหลี่ยมคือเส้นเอ็นของ Extensor Policis Longus ทำหน้าที่เหยียดนิ้วโป้ง ส่วนฐานของสามเหลี่ยมคือส่วนปลายของกระดูกแขน radius
พื้นของหลุมเป็นกระดูกข้อมือ ชื่อกระดูก scaphoid และ trapezium เราเรียกหลุมนี้เป็นภาษาวิชาการว่า "anatomical snuff box" ความสำคัญของพื้นที่นี้คือ ออกข้อสอบบ่อยมาก ไม่ว่าจะสอบข้อเขียนหรือภาคปฏิบัติ ส่วนในทางคลินิก ก็ใช้ตรวจเวลาสงสัยการหักของกระดูกข้อมือ scaphoid และใช้การตรวจเส้นเอ็นนิ้วโป้งอักเสบ เวลาที่เราใช้โทรศัพท์มาก ๆ หรือพวกที่เล่นเกมโดยใช้จอยสติ๊ก
เวลาที่มีการโชว์ snuff หรือแข่ง snuff มีในประเทศกลุ่มยุโรปเหนือ เขาก็วางยาสูบ snuff ตรงพื้นที่ anatomical snuff box นี้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ก็เพราะอยากเล่าเรื่อง anatomical snuff box นี่แหละครับ แต่ไม่รู้จะเล่าตรง ๆ แบบไหน เลยต้องพาทุกคนอ้อมโลกแบบนี้แหละครับ ยังไงก็ขอบคุณทุกท่านที่เลือกบริการทัวร์ของเรา แล้วโอกาสหน้า ลุงหมอทัวร์แอนด์ทราเวิล จะพาท่านไปที่ไหน อย่าลืมติดตามนะครับ

26 กันยายน 2567

ยารักษาไมเกรน

 ว่ากันด้วยยารักษาไมเกรน

โรคไมเกรนถือว่าเจอบ่อยมาก และมักจะมีปัญหาระหองระแหงระหว่างผู้ป่วยกับแผนกบุคคล เพราะมันกระทบชีวิต ต้องหยุดงาน การรักษาไมเกรนเพื่อหยุดยั้งการปวดเฉียบพลันจึงสำคัญมาก เรามียาที่ใช้บ่อย ๆ ดังนี้
ตัวแรก อาจจะประสิทธิภาพไม่ชะงัดนัก แต่ก็มีผู้ป่วยหลายรายหายได้เลย เพราะยาออกฤทธิ์เร็ว ผลข้างเคียงน้อย ที่สำคัญคือมันหาง่าย เข้าถึงได้ง่าย ซื้อง่าย จึงทรงคุณค่าและมีประโยชน์มาก นั่นคือยาเม็ดพาราเซตามอล เริ่มกินเมื่อเริ่มมีอาการ 1-2 เม็ด กินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ใครรักชอบตอบสนองกับยี่ห้อใด ก็เลือกยี่ห้อนั้น
ยาตัวต่อมา เป็นยามาตรฐานนิยมใช้เป็นทางเลือกแรกเพื่อแก้ปวด คือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาที่แนะนำคือ naproxen, ibuprofen, diclofenac คำแนะนำคือให้เริ่มกินเมื่อเริ่มปวด หรือมีอาการก่อนจะปวด ยากลุ่มนี้หาง่ายอีกเช่นกัน แต่อาจจะควบคุมอาการปวดรุนแรงไม่ดีนัก และต้องระวังหากมีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเสื่อมเรื้อรัง และหากเคยมีแผลในกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะมาก่อน ควรกินยาลดกรดเพื่อป้องกันเหตุเกิดซ้ำ
ยา triptans (serotinin 1B/1D receptor agonist) อันนี้ก็ใช้เป็นตัวแรกได้เช่นกัน ปัจจุบันหาง่ายขึ้น ราคาถูกลง ให้กินยาทันทีเมื่อมีอาการ (คงต้องพกยาตลอด) ประสิทธิภาพขึ้นกับว่าทำงานเร็วหรือช้า โดยยาที่ทำงานเร็วคือ eletriptan ส่วน sumatriptan ก็ช้าลงมานิดนึง แต่ก็นับว่าสังหารไมเกรนได้ดี โดยยามีข้อห้ามใช้ในคนที่มีหลอดเลือดตีบ
** ทริกส่วนตัว ผมจะแนะนำคนไข้ใช้ three-on-one คือกินสามตัวพร้อมกัน เพราะมันทำงานต่างเวลากันและประสิทธิภาพไม่เท่ากัน **
ยา CGRP receptor antagonist หรือที่เรียกว่า gepant เป็นยาที่ทำงานเร็ว รักษาทั้งอาการปวดหัวและอาการอื่น ๆ ของไมเกรนได้ดี ยาที่มีคือ rimegepant, ubrogepant เป็นยากิน แต่ว่ายังหายาก ราคาไม่ถูกเลย ต้องใช้ในรพ. มีผลข้างเคียงบ้างคือ คลื่นไส้อาเจียน ผมรู้ว่าประเทศเรามี rimegepant แต่ ubrogepant อันนี้ไม่รู้
** ส่วนยาชีวภาพ monoclonal antibody ต่อ CGRP receptor เช่น erenumab จะเป็นยาป้องกันไมเกรน ** บ้านเรามีด้วย
5-HT 1F receptor agonist หรือยา ditans คือยา lasmiditan อันนี้จะทำงานคล้าย triptans แต่ไม่มีผลต่อหลอดเลือด จึงใช้ได้ในกลุ่มผู้ป่วยหลอดเลือดตีบ เป็นยากิน ใช้กินเวลามีอาการเช่นกัน แต่อาจมีผลง่วง ๆ ซึม ๆ รับรู้ผิดปกติ และผมไม่เจอข้อมูลว่ามีขายในบ้านเรา
ส่วนยาอื่นคือยาแก้ปวดจำพวกมอร์ฟีน อันนี้ควรมาให้คุณหมอประเมินก่อนใช้นะครับ

24 กันยายน 2567

งานวิจัยเปรียบเทียบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือยา varenicline ในการเลิกบุหรี่

 นี้มีน้อยมากครับ และใช้เวลานานกว่าจะทำได้

บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ใช่วิธีตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น นิโคติน 0% ก็ตาม
เพราะยังมีอันตรายอื่นจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้การใช้ยายังดีกว่า และเลิกได้ในระยะยาว รวมทั้งไม่เกิดการเปลี่ยนรูปแบบจากการสูบบุหรี่ธรรมดา กลายเป็นบุหรี่ไฟฟ้า
Tuisku A, Rahkola M, Nieminen P, Toljamo T. Electronic Cigarettes vs Varenicline for Smoking Cessation in Adults: A Randomized Clinical Trial [published correction appears in JAMA Intern Med. 2024 Aug 1;184(8):993. doi: 10.1001/jamainternmed.2024.3981]. JAMA Intern Med. 2024;184(8):915-921. doi:10.1001/jamainternmed.2024.1822


































23 กันยายน 2567

การตรวจระดับแอลกอฮอล์เพื่อวัดความเมา

 การตรวจระดับแอลกอฮอล์เพื่อวัดความเมา ตามกฎกระทรวงใหม่

เมื่อวานนี้ 20 กย. กฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับการตรวจแอลกอฮอล์ตาม พรบ.การจราจรทางบก ผมมาเล่าให้ฟังแบบง่าย ๆ นะครับ
1.การตรวจแอลกอฮอล์ทำได้โดยวัดจากลมหายใจก่อนเป็นลำดับแรก
2.ในกรณีไม่ยินยอมให้ตรวจ เจ้าพนักงานสามารถสันนิษฐานไว้ก่อนได้ว่าเมา และเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดีได้ เมื่อแจ้งข้อหาว่าเมาแล้ว หากจะหักล้าง ต้องไปหักล้างกันในชั้นศาล
3.ในกรณีตรวจลมหายใจไม่ได้ (ด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม) กฎกระทรวงใหม่นี้ให้อำนาจพนักงานจราจร หรือพนักงานสอบสวน เก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อส่งตรวจได้ด้วย คือมีที่ให้เก็บตรงด่านตรวจได้เลยนะ
4.นอกจากจะให้เก็บปัสสาวะได้แล้ว กฎกระทรวงใหม่ ให้อำนาจพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน ส่งตัวผู้ขับขี่ไปที่ รพ.ใกล้ที่สุด เพื่อตรวจหาแอลกอฮอล์จากเลือดได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (คือภายในสามชั่วโมง) โดยแจ้งด้วยวาจาหรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนได้ หนังสือค่อยตามมาทีหลัง
5.การตรวจในข้อสามหรือสี่ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ ถ้าไม่ยินยอม กลับไปอ่านข้อสอง
6.ในข้อสามและสี่ ให้ปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือพูดง่าย ๆ คุณหมอต้องเซ็นรับทราบ และมีโอกาสไปเป็นพยานได้ครับ
7.ตัวเลขที่ถือว่าเมา คือ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มันมีค่าการคำนวณจากลมหายใจหรือปัสสาวะไปเป็นในเลือด แต่เครื่องยุคนี้เขาปรับและคำนวณออกมาให้แล้ว
8.ส่วนตัวเลขที่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะใช้เมื่อ ไม่มีใบขับขี่, มีใบขับขี่แต่ผิดประเภท, ถูกเพิกถอนชั่วคราว, มีใบขับขี่ประเภทชั่วคราว, อายุน้อยกว่า 20 ปี
ผมอยากบอกว่า คนเรา นน.มาตรฐาน 50 กิโลกรัม ดื่มเบียร์หนึ่งกระป๋อง มีโอกาสถึง 85% ที่จะเป่าแล้วเกิน 50mg% นะครับ ดังนั้น ดื่มไม่ขับนะครับ
เพราะก่อนจะถึงขีดเมา มันจะเลยขีดเริ่มมีความผิดปกติทางการตัดสินใจไปแล้วครับ และหากตรวจว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดร่วมกับเมา จะมาอ้างว่าเพราะเมาจึงเกิดอุบัติเหตุ ไม่เจตนาไม่ได้นะ แถมยังเป็นข้อที่จะไม่มีการลดโทษ ผิดเงื่อนไขประกันวินาศภัยอีกด้วยครับ

22 กันยายน 2567

สนพ. เม็ดทราย

 มีใครรู้จักหนังสือของ สนพ. เม็ดทราย บ้างครับ

หนังสือของ สนพ.นี้ เป็นหนังสือสำหรับเด็ก เล่มเล็กขนาดใส่กระเป๋าเสื้อได้ ไม่หนาเพราะออกแบบให้เด็ก ปกและภาพประกอบจะสะอาด คลีน สีสันสวย
มีหนังสือนิทานประกอบภาพ ที่เขียนใหม่ ให้กระชับ จบเร็วใน 8-10 หน้า ใช้ศัพท์ง่าย และเรื่องไม่ซับซ้อน นำเรื่องจากนิทานอีสป นิทานกริมม์ มาทำหนังสือ
เช่น หนูน้อยหมวกแดง หมูสามตัว
และวรรณกรรมคลาสสิค เช่น เกาะมหาสมบัติ โรบินฮู้ด เค้าน์มองเตคริสโต เอามาเรียบเรียง ให้เป็นภาษาเด็กโตอ่าน ไม่ยาก เดินเรื่องเร็ว มีภาพประกอบลายเส้นสวย ๆ
ที่สำคัญราคาไม่แพง เล่มละ 30-50 บาม ให้ซื้ออ่านกันได้ เด็ก ๆ เก็บค่าขนมซื้อได้ ทำให้รักการอ่านมากขึ้น
หลายห้องสมุดจะมีในหมวด 800 วรรณคดีและ มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป แต่สามเล่มนี้ผมได้จากออนไลน์มือสอง
เป็นสามเล่มที่ผมเคยซื้อสมัยก่อน ตอนนั้นซื้อที่แผงหนังสือคลองหลอด (เกิดทันกันไหมเนี่ย) และเคยไปซื้อที่บูรพาสาส์น กับห้างนิวเวิร์ลด์บางลำพู ชั้น 6
สามเล่มนี้เป็นตัวเปิดโลกการอ่านเลยนะ ยังจำได้เลย ตอนนั้นคุณพ่อของผมไปเล่นดนตรีไทยตามงานศพและงานไหว้ครู งานลิเกต่าง ๆ (จริง ๆ ท่านบอกว่า ไปเรียนรู้กับครูดนตรีมืออาชีพเก่ง ๆ ด้วยวิธีนี้)
ผมขอคุณพ่อซื้อสามเล่มนี้แหละ แล้วนั่งรอคุณพ่ออยู่ในศาลา จบเชอร์ล็อคโฮล์มส์หนึ่งเล่ม แล้วไปอ่านต่อที่บ้านจนจบโรบินฮู้ดอีกเล่มในคืนนั้นเลยครับ
เล่มเล็กเล่มน้อย วันละเล็กวันละน้อยนี่แหละครับ จะสร้างการอ่านที่ยิ่งใหญ่ได้

เกาะอีสเตอร์ และยา rapamycin

 วันอาทิตย์แบบนี้ ก็ถึงเวลาชงกาแฟร้อนเข้ม ๆ มากินคู่กับครัวซองต์เนยอุ่น นั่งบนโซฟาแสนนุ่ม แล้วไปเที่ยวกับลุงหมอทัวร์แอนด์ทราเวลครับ

ปี 1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางไปทางตะวันตกและไปเจอดินแดนอเมริกา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโลกใหม่ หลังจากการสิ้นสุดของยุคมืด
โคลัมบัสไปเจอคนท้องถิ่นที่คิดว่าเป็นคนเอเชีย แต่ความจริงแล้วเป็นคนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ตอนนั้นโคลัมบัสเจอหมู่เกาะแถบบาฮามาสและโดมินิกัน ซึ่งเวลานั้นทวีปอเมริกาเหนือและใต้มีอารยธรรมมาอย่างยาวนานแล้ว
ตามแนวเทือกเขาแอนดีส เป็นที่อยู่ของชาวอินคา เจ้าของอารยธรรมโบราณที่เรายังไม่เข้าใจมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการนับเวลา การทำปฏิทิน การสร้างพิรามิดบนเขาสูง พื้นที่ยาวจรดเหนือใต้กินอาณาบริเวณประเทศเปรูและชิลีในปัจจุบัน
ที่ดินแดนแห่งนี้ ชาวอินคาได้ค้นพบหลายอย่าง แต่ก็มีความลับอีกหลายอย่างที่รอการค้นพบ
การค้นพบตัวยาเพนิซิลินที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง เป็นการค้นพบที่เปลี่ยนโลกทางการแพทย์ ทำให้ ‘เทรนด์’ การคิดค้นยาปฏิชีวนะจากเชื้อราธรรมชาติ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีการออกเสาะแสวงหาตัวอย่างเชื้อราทั่วโลกเพื่อค้นหายาปฏิชีวนะชนิดใหม่
และดินแดนที่มีความนิยมอีกจุดคือ อเมริกาใต้นี่เอง ด้วยเหตุที่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ยังไม่มีการค้นพบ และเดินทางได้สะดวกกว่าแอฟริกา ที่นี่เราพบเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่มีผลการยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียด้วยกัน
การค้นหาเป็นไปแบบสุ่ม แต่หลายที่ก็ค้นตามข้อสังเกต หนึ่งในข้อสังเกตคือ มีชาวพื้นเมืองที่เกาะหนึ่ง มีโรคบาดทะยักน้อยกว่าเกาะอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ชาวเกาะที่นี่เดินเท้าเปล่า กลุ่มหมู่เกาะต่าง ๆ นี้จะมีโรคบาดทะยักอยู่มาก ยกเว้นที่นี่
ดินแดนภายใต้การดูแลของประเทศชิลี เกาะมหัศจรรย์ที่พวกเราทุกคนรู้จักดี แต่ว่ารู้จักเพราะสิ่งก่อสร้างลึกลับบนเกาะนี้ นี่คือเกาะอีสเตอร์ แห่งทะเลใต้
เกาะอีสเตอร์ มีรูปสลักมนุษย์หัวโตตัวเล็ก รูปปั้นขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตามทุ่งหญ้าของเกาะและตั้งตระหง่านท้าทายนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ รูปสลักโมอาย ที่เรารู้จักกันดี
เกาะอีสเตอร์ เป็นเกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ตามแนววงแหวนแห่งไฟของโลกที่พาดผ่านประเทศชิลี พื้นหินและก้อนหินทั่วเกาะเป็นหินภูเขาไฟสามารถสลักหินได้ง่ายกว่า ชาวโพลีชิเชียนที่เดินเรือข้ามทะเลมาที่นี่ ได้ค้นพบหินสลักง่ายนี้แล้วสลักเป็นรูปโมอาย ที่ว่ากันว่าเป็นผู้คุ้มครองเกาะ และพบมากสุดที่เกาะใหญ่ของหมู่เกาะคือเกาะอีสเตอร์ ที่ชื่ออีสเตอร์เพราะค้นพบในวันอีสเตอร์ โดยนักสำรวจชาวเนเธอร์แลนด์ Jacob Roggeveen แต่ชื่อตามที่ชาวเกาะท้องถิ่นเรียกคือ Rapa Nui หรือเกาะราปาใหญ่
ปี 1931 สองปีให้หลังการตีพิมพ์ผลงานพบยาเพนิซิลลิน นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก Hans Laurits Jensen ได้ออกไปเก็บตัวอย่างดินที่เกาะอีสเตอร์แห่งนี้ แต่ถามว่าเจนเซ่นทำตามสมัยนิยมการเก็บเชื้อจากดินหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่ เพราะคุณเจนเซ่นของเราเป็นลูกชาวนา ทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เรียนจบและทำวิจัยที่วิทยาลัย Denmark Agricultural College ทำวิจัยพืชมามากมาย สนใจเรื่องนี้อยู่แล้วและพอดีกับกระแสการค้นพบที่กำลังมาแรง
แจนเซ่นได้นำตัวอย่างกลับมาวิจัย และพบว่าแบคทีเรีย Streptomyces hygroscopicus มีสมบัติทางเคมีเรียกว่าวงแหวน macrolide lactone ที่เราเคยรู้จักกันในยาฆ่าเชื้อกลุ่มแมคโครไลด์ เช่น erythromycin, clarithromycin หรือยาตัวแรกที่สกัดออกมาได้คือ streptomycin ตามชื่อแบคทีเรีย streptomyces นี่เอง
แต่ว่าวงแหวน macrolide lactone ของแบคทีเรียที่แจนเซ่นค้นพบ กลับมีสมบัติสำคัญในการต้านเชื้อรา แต่ยังไม่ได้พัฒนาจนใช้งานได้ เมื่อทิ้งท้ายไว้เช่นนี้ ก็ต้องมีการค้นพบต่อไป
ข่าวคราวการค้นพบได้รับการเผยแพร่และตีพิมพ์ นั่นดึงดูดนักวิจัยและนายทุนมาทำการศึกษาที่ดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้และหมู่เกาะอีสเตอร์นี้
แม้ว่าเกาะนี้เป็นเกาะมหาสมบัติแห่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ว่าวิวที่สวยงามและบรรดารูปสลักโมอาย กลับเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยว และทางรัฐบาลชิลีวางแผนที่จะสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อถึงเวลานั้น แบคทีเรียในดินอันทรงคุณค่าอาจจะเปลี่ยนสภาพไปได้
ปี 1964 นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา Stanley Skoryna และ Georges Nogrady เดินทางมาที่นี่และเก็บรวบรวมตัวอย่างดินให้มากสุดก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยน เพื่อไปศึกษาที่ Ayerst Laboratory ที่มอนทรีออล
แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าจะมีแนวทางการพัฒนาอย่างไร แต่ทั้งสองคนคิดว่าคุณค่ามหาศาลนี้น่าจะมีประโยชน์ในอนาคต ที่นั่นเขาทั้งสองคนและ Surendra Neth Sehgal นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากวิจัยอยู่ที่แคนาดา
ทั้งสามคนได้คิดค้นเกี่ยวกับแบคทีเรีย streptomyces hygroscopicus และสาร macrolode lactone ได้พัฒนาไปเป็นยากลุ่ม polyenes หรือ amphotericin ยาฆ่าเชื้อราที่ทรงพลังอย่างยิ่งที่เรารู้จักกัน
และทีมนี้ยังได้พบความลับอันหนึ่งของสารสกัดนี้ คือสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ ที่เรียกว่า antiproliferative agents โดยเฉพาะกับเซลล์ภูมิคุ้มกัน T lymphocyte ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต
Shegal น่าจะวิจัยจนได้ผลสำเร็จ แต่อนิจจา Ayerst มีปัญหาทางการเงินและปิดตัวไป Shegal เสียใจมาก เดินทางกลับบ้านแต่ยังนำสิ่งที่ผูกผันและมีค่ามากกลับไปกับเขาด้วย คือ streptomyces hygroscopicus ตัวต้นแบบ แล้วโยนเข้าช่องแช่แข็งตู้เย็นบ้านเขาเอง นานมากจนลืม
จนปี1988 ปีที่สิ้นสุดสงครามยาวนานของอิรักอิหร่าน โซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โลกจัดกีฬาโอลิมปิก ดูว่าสันติภาพน่าจะเกิด ที่ว่าเวลาเดียวกันบริษัทสัญชาติอเมริกาคือ Wyeths ได้เข้าควบรวมกับ Ayerst และฟื้นฟูแนวคิดที่ค้างไว้ และน่าจะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรได้
แต่ทว่าในปี 1988 สารพัดยาได้เข้ามาครองโลกไปแล้ว โรคติดเชื้อเริ่มกลายเป็นอดีต แล้วจะทำเช่นไร ..ใช่แล้ว macrolide lactone จาก Streptomyces hygroscopicus ที่จะไปหวังผลเป็นยายับยั้งการเจริญของเซลล์ภูมิคุ้มกัน
Surendra Neth Sehgal ถูกเรียกตัวมาอีกครั้ง และแน่นอน สิ่งของที่เขาเก็บลืมไว้ในช่องแข็ง ได้ถูกขุดมาวิจัย Streptomyces hygroscopicus ตัวแรกตัวเริ่มจากเกาะอีสเตอร์ ได้ถูกนำกลับมาพัฒนาจนได้เป็นยากดภูมิคุ้มกัน ที่ชื่อว่า rapamycin หรือปัจจุบันเรียกว่า sirolimus และเรียกกลไกการยับยั้งนี้ว่า TOR (target of rapamycin) และเรียกยากลุ่มนี้ว่า mTOR inhibitor (m=mammalian)
….มียาอีกตัวที่อาจสับสนคือ tacrolimus แม้จะเป็น -limus แต่เป็นคนละกลไกกันนะครับ ตัวนี้เป็น calcineurin inhibitor..
ยากลุ่มนี้ให้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อป้องกันการต่อต้านของเซลล์ภูมิคุ้มกันเราเอง สามารถใช้ต้านปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันในกรณีใส่ขดลวดค้ำยันได้ (sirolimus-coated stent)
และมีแนวโน้มจะนำไปใช้ในโรคมะเร็งอีกหลายชนิดที่มีการทำงานผ่านกลไก mTOR และมีความพยายามจะมาทำเป็นสาร anti-aging อีกด้วย คนที่จะคิดทำก็ไม่ใช่ใครหรอก Sunrendra Neth Sehgal ตัวพ่อของ mTOR และ rapamycin นี่เอง
และชื่อ rapamycin ก็มาจากชื่อเกาะต้นกำเนิดแบคทีเรีย S.hygroscopicus นั่นคือเกาะ Rapa Nui นั่นเอง
นี่เรามาไกลกันมากเลยนะครับ ขอบคุณลูกทัวร์ทุกท่านที่อยู่กันจนจบ ไม่แอบหนีโดดไปเสียก่อน ไว้ครั้งหน้าจะพาไปเที่ยวกันอีกรอบนะครับ

บทความที่ได้รับความนิยม