30 มีนาคม 2565

อ่านแบบโทได

 ป้ายยา "อ่านแบบโทได"

เรียกว่ายุคนี้เป็นยุคทองของหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตัวเองเลยครับ ไม่ว่าจะโดยนักเขียนไทยหรือจะหนังสือแปล โดยเฉพาะมาจากทางฝั่งเกาหลีและญี่ปุ่นเยอะมาก (หลังจากกระแสไลฟ์โค้ชของไทยเริ่มเบาลง) ลองไปร้านหนังสือสิครับ มีเป็นแผงเลย เยอะพอกับนิยาย

หนังสืออ่านแบบโทได เขียนโปรยปกไว้น่าสนใจมากว่า " คนทั่วไปอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ เด็กโทไดอ่านเพื่อเพิ่มความคิด" เด็กโทได หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียว น่าจะเป็นนักศึกษาอีกกลุ่มที่ต้องใช้ critical thinking มากที่สุดอีกแห่งของโลกครับ ชื่อเสียงของโทไดค่อนข้างดังทีเดียวในเอเชียของเรา

ตัวอิสเซเองเขาก็เป็นนักศึกษาโทได ในภาวะที่เวลาจำกัด หนังสือมีมหาศาลที่ต้องศึกษา และรายล้อมด้วยบรรดานักเรียนขั้นเทพแบบนั้น เขาอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มความคิดอย่างไร หนังสือเล่มนี้ได้สอนวิธีที่ไม่ใช่แค่ตำราเรียน แต่สามารถนำไปใช้ได้กับคนที่ชอบอ่านหรือต้องอ่านหนังสือในทุกสาขาว่าทำอย่างไรดี

 การเลือกหนังสือ การมองภาพรวมเรื่องราวผ่านปกและคำโปรย เอ๊ะจะรู้ได้อย่างไรว่าหนีงสือเล่มนี้น่าอ่าน เหมาะกับเรา ปกและคำโปรยจะบอกเราได้ เอ๊ะบอกอย่างไร ลองอ่านดูครับ อย่างคำโปรยปกเล่มนี้ก็ตกผมได้เต็ม ๆ


 อย่าอ่านไปเรื่อย ๆ อ่านแบบตั้งคำถามแบบนักข่าว อ่านแบบเราสัมภาษณ์หนังสือและหากไม่มีคำตอบ จะไปค้นหาได้อย่างไร วิธีนี้ดีนะครับ ทำให้อ่านแบบมีเป้าหมายและได้อะไร ๆ จากการอ่านได้จริงเลย

 อ่านแบบสรุปและคาดการณ์ เรียกว่าไปในระนาบเดียวกับผู้เขียนที่ต้องการสื่อสารกับเราเลย จะได้รู้เท่าทันสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ

 การอ่านแบบคู่ขนานด้วยหนังสือสองเล่มหรือมากกว่าสองเล่ม ทำไมต้องอ่านมากกว่าสองเล่มด้วย เล่มเดียวก็จะแย่อยู่แล้ว แต่วิธีของอิสเซจะสอนวิธีอ่านและเปรียบเทียบสองเล่มได้ดี ได้ประโยชน์คูณสองในเวลาเท่าเดิม อันนี้น่าสนใจ

ยังมีวิธีเลือกหนังสือและกลยุทธ เคล็ดลับมากมายครับ แต่ผมว่าโดยรวมเหมาะกับการอ่านเอาความ อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ มากกว่าอ่านทอดอารมณ์หรือเสพความสุนทรีย์ครับ ส่วนตัวก็อ่านหนังสือมากประมาณหนึ่ง มีกลยุทธมากมายในการอ่านและยังชอบศึกษาวิธีอ่านของคนอื่นด้วย ว่าเขาอ่านอย่างไร

ข้อสังเกตคือ เนื้อหาจะวกวนเล็กน้อยครับ การยกตัวอย่างยังไม่กระจ่างชัดเท่าไร และอาจจะเป็นพื้นฐานของญี่ปุ่นและไทยที่สิ่งแวดล้อมต่างกัน ทำให้อาจจะนำมาใช้ตรง ๆ ไม่ได้ แต่อ่านศึกษาเป็นแนวทางพอได้ครับ

หนังสือเขียนโดย นิชิโอกะ อิสเซ แปลไทยโดย ภัทรวรรณ สอนประพันธ์ สำนักพิมพ์ welearn เล่มขนาด เอหก หนา 286 หน้า ราคาปก 260 บาท หาซื้อได้ตามร้านทั่วไป ผมซื้อออนไลน์จากนายอินทร์ สมาชิกได้ลดราคาเยอะมากครับ

ปล. เป็นมนุษย์ชอบใส่ปก หรือใส่ซองหนังสือครับ เดี๋ยวรู้หมดว่าเราแอบอ่านอะไร อิอิ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

29 มีนาคม 2565

สปุตนิกวี วัคซีนโควิดของรัสเซีย หลังรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

 สปุตนิกวี วัคซีนโควิดของรัสเซีย

หนึ่งในสิ่งที่รัสเซียอ้างว่าเป็นอาวุธทางการแพทย์จากรัสเซียคือ สปุตนิกวี ในการจัดการโรคโควิด โดยรัฐบาลเป็นผู้ร่วมออกทุนและวิจัยกับหน่วยงานเอกชน ผมเคยนำเสนองานวิจัยของสปุตนิกวีเรียบร้อยไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว สรุปว่าเป็นวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ ฉีดสองเข็ม (เวกเตอร์สองเข็มเป็นคนละตัวกัน) สามารถลดการป่วยหนัก ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้มากกว่า 50% (ประสิทธิผล) เข้าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ตัวเลขประสิทธิภาพจริงอยู่ที่ประมาณ 75-80% และผลข้างเคียงไม่มาก ได้ยื่นเสนอให้องค์การอนามัยโลกรับรองในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

https://m.facebook.com/…/pb.145280506503…/2809093049406710/…

ก่อนรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน !!

หลังจากเกิดปฏิบัติการทางทหารอย่างที่เรารู้กัน เกิดมาตรการการคว่ำบาตร การตอบโต้เชิงข่าวสาร เชิงเศรษฐกิจ วงการบันเทิง วงการกีฬา และแม้แต่วงการแพทย์ โดยบริษัทยาหลายแห่งยังส่งยาเข้ารัสเซียด้วยเหตุผลทางการแพทย์และมนุษยธรรม แต่หลายบริษัทก็งดลงทุนวิจัยและพัฒนาไป แน่นอนว่าวัคซีนสปุตนิกวี อาวุธทางการแพทย์และการเมืองระหว่างประเทศของรัสเซียได้รับผลกระทบด้วย องค์การอนามัยโลกเลื่อนการพิจารณาอนุมัติวัคซีน สภายุโรปเลื่อนการอนุมัติวัคซีน แล้วคนที่รับวัคซีนเข็มแรกแล้วล่ะ

วัตถุดิบส่งเข้ายาก การส่งวัคซีนออกทำได้ยาก ยังไม่นับมาตรการคว่ำบาตรอีก ประเทศที่รับวัคซีนสปุตนิกวี ก่อนที่จะเกิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน จะทำอย่างไร ประเทศอาร์เจนตินามีคำตอบครับ

ก็ต้องบอกว่าวัคซีนสปุตนิกวีเริ่มขาดตลาด ส่งยาก หายาก มาตั้งแต่ก่อนเกิดปฏิบัติการทางทหารแล้ว รัฐบาลอาร์เจนตินาที่สั่งสปุตนิกวีจำนวนมากเริ่มหาทางแก้ไข ทางหน่วยงานรัฐบาลอาร์เจนตินาก็เริ่มทำการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนสูตรไขว้ ในแง่ระดับภูมิคุ้มกัน ในคนที่เคยรับวัคซีนเข็มแรกของสปุตนิกวีไปแล้ว ว่าเป็นอย่างไร โดยศึกษาในกลุ่มทดลอง 540 คน ลงตีพิมพ์ใน Lancet Regional Health : Americas เมื่อ 27 มกราคม 2022

*** วัคซีนสูตรไขว้ ในสูตรมาตรฐานสองเข็ม มีไว้สำหรับกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่นแพ้วัคซีน เกิดผลข้างเคียงรุนแรง หรือวัคซีนขาดตลาด ***

เมื่อทำการทดสอบกับวัคซีนตัวตายจากจีน วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ด้วยกัน (ChAdOX1) วัคซีนไวรัสเวกเตอร์เข็มแรกซ้ำ วัคซีน mRNA (mRNA1273) เทียบกับได้สปุตนิกวีมาตรฐาน ผลปรากฏว่ามีแค่การฉีดไขว้ด้วย mRNA ชนิด mRNA1273 หรือโมเดอน่า ที่สามารถแสดงผลในเชิงภูมิคุ้มกันวิทยาว่า ไม่ด้อยไปกว่าการรับสปุตนิกวีขนาดมาตรฐาน นอกจากนั้นไขว้ไม่ได้

จากผลการศึกษานี้ทำให้วารสาร Nature Medicine (impact factor ของ Nature สูงกว่า lancet เสียอีก) ลงความเห็นว่าถึงแม้การคว่ำบาตรรัสเซียและขาดแคลนวัคซีนสปุตนิกวี ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาการควบคุมเพราะสามารถใช้วัคซีน mRNA1273 มาไขว้แทนได้

ส่วนอนาคตของสปุตนิกวีจะเป็นอย่างไร เหล่าประเทศกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอเดิม และประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม ที่ใช้วัคซีนสปุตนิกวีและได้รับการสนับสนุนบางส่วน จะจัดการวัคซีนในประเทศอย่างไร ยังไม่ทราบและต้องติดตามต่อไปครับ

วารสารอ่านฟรี

Immunogenicity induced by the use of alternative vaccine platforms to deal with vaccine shortages in a low- to middle-income country: Results of two randomized clinical trials. Macchia, Alejandro et al. The Lancet Regional Health – Americas, Volume 9, 100196

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

28 มีนาคม 2565

ไม่เจอ ไม่เท่ากับ ไม่มีหรือไม่ใช่ : วัณโรคปอดชนิดย้อมเสมหะไม่พบเชื้อ

 ไม่เจอ ไม่เท่ากับ ไม่มีหรือไม่ใช่ : วัณโรคปอดชนิดย้อมเสมหะไม่พบเชื้อ

เคยเขียนเรื่องวัณโรคไปหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะเสมหะเจอเชื้อหรือไม่เจอเชื้อ จะแอบแฝงหรือแสดงตัวตนชัดเจน วันนี้นำภาพรังสีทรวงอกของผู้ป่วยรายหนึ่งมาให้ดู เป็นภาพเอ็กซเรย์ปอดก่อนและหลังรักษา ผู้ป่วยมีอาการไข้ต่ำ ๆ ไอมีเสมหะเล็กน้อยสองสัปดาห์ น้ำหนักลด ภาพรังสีเอ็กซเรย์ภาพแรกทางซ้าย มีฝ้าขาวที่ปอดกลีบขวาบน ส่วนภาพขวาเป็นภาพรังสีเอ็กซเรย์หลังจากรักษาครบ 6 เดือน
ผู้ป่วยรายนี้อาการเหมือนการติดเชื้อทางเดินหายใจ เสี่ยงการเกิดวัณโรคแน่เพราะอยู่ในพื้นที่ระบาด คือประเทศไทยนี่แหละพื้นที่ระบาด ยิ่งถ้าอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค หรือที่แออัดมากเช่นเรือนจำ จะยิ่งเพิ่มโอกาสอีก ตรวจเสมหะโดยเก็บถูกต้องเป็นเวลาถึงหกวัน (ปกติเก็บสามวัน) นำมาย้อมหาเชื้อวัณโรคด้วยสีย้อม Acid-Fast แล้วไม่พบเลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นวัณโรคนะครับ เพียงแค่ 'ตรวจหาเชื้อวัณโรคด้วยวิธีย้อมสีแบบนี้แล้วไม่พบ' เท่านั้น
ความน่าจะเป็นก่อนส่งตรวจย้อมเสมหะ..สูงมาก แล้วเราเลือกวิธีตรวจที่ไม่ไว หากผลออกมาเป็นลบ เราก็ยังต้องคิดถึงอยู่นะครับ แล้วเลือกใช้วิธีการตรวจที่ไวขึ้น
ทำไมไม่ไวล่ะ และถ้าไม่ไวทำไมยังใช้อยู่
ข้อมูลของ American Thoracic Society ระบุความไวของการตรวจเสมหะย้อม AFB อยู่ที่ 38% แต่มีความจำเพาะอยู่ถึง 96% เรียกว่าถ้าตรวจพบโอกาสเป็นโรคสูงมาก แต่ถ้าไม่พบก็ยังปฏิเสธวัณโรคไม่ได้ ต้องตรวจด้วยวิธีอื่นต่อไป
ในอดีต เราไม่มีวิธีตรวจที่แพร่หลายและทันสมัยเราใช้การย้อมเสมหะเป็นหลัก เนื่องจากประเทศเรามีความชุกของวัณโรคสูงมาก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ลบปลอม เป็นวัณโรคแต่ตรวจเสมหะเป็นลบมากมาย เราจึงใช้ลักษณะทางคลินิกที่เหมือนวัณโรคและภาพถ่ายเอ็กซเรย์ที่บ่งชี้วัณโรคเป็นตัววินิจฉัย 'วัณโรคปอดชนิดเสมหะไม่เจอเชื้อ' และให้การรักษาด้วยยามาตรฐานปกติและติดตามผล
ถามว่าต้องตรวจเสมหะไหม เวลาติดตามผลในเมื่อตอนแรกไม่เจอ คำตอบคือตรวจครับ เพราะหากเริ่มรักษาแบบไม่เจอเชื้อแล้วติดตามไปเจอเชื้อ อันนี้อาจต้องคิดถึงวัณโรคดื้อยา
แล้วทำไมมันไม่ไว เพราะการตรวจมันมีข้อจำกัดครับ โดยทั่วไปจะต้องมีเชื้อวัณโรคประมาณ 10,000 แท่งต่อเสมหะหนึ่งซีซี จึงจะมีโอกาสตรวจพบ ถ้าผู้ป่วยมีเชื้อน้อย หรือเสมหะครั้งที่มาส่งบังเอิญมีเชื้อน้อยก็ตรวจไม่พบครับ หรือบางทีดูจากอาการและฟิล์มแล้วน่าจะมีเชื้อเยอะเช่นเป็นโพรงเลย แต่เสมหะกลับไม่พบ อาจเกิดการอุดตันหลอดลมทำให้เสมหะที่มีเชื้อไม่ออกมาก็ได้นะครับ
นอกจากนี้ข้อจำกัดการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็มีข้อจำกัด ตามมาตรฐานจะต้องตรวจ 100 มุมมองกล้องด้วยกำลังขยาย 100 เท่าต่อแผ่นสไลด์ 1 slide จึงถือว่ารายงานการตรวจนั้นได้มาตรฐาน (สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ ก็ไม่ได้ดูถึง 100 มุมมองภาพ)
ยังไม่นับเทคนิคการย้อมไม่ดี การเก็บเสมหะไม่ถูก สีย้อมหมดอายุ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้จึงมีความไวไม่สูงครับ และไม่สามารถตัดการวินิจฉัยวัณโรคปอดได้เพียงเพราะตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ
ปัจจุบันเรามีวิธีที่ไวขึ้น ง่ายขึ้น ลดข้อผิดพลาดได้ดีขึ้น เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีต่าง ๆ การเพาะเชื้อในอาหารเพาะเชื้อเหลว หรือการส่องกล้องหลอดลมเข้าไปนำเชื้อมาตรวจ เป็นการเพิ่มความไวในการวินิจฉัยในกรณียังสงสัยโรคแต่ย้อมเสมหะไม่พบเชื้อ ซึ่งยังทำได้ไม่กี่ที่และราคายังสูง ดังนั้นการตรวจเสมหะและให้การวินิจฉัยพร้อมรักษาติดตาม 'วัณโรคชนิดเสมหะไม่พบเชื้อ' จึงยังมีความสำคัญมาก
ผู้ป่วยรายนี้ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ และได้รับการรักษาวัณโรคด้วยยาสูตรมาตรฐานครบถ้วน ตรวจเสมหะซ้ำไม่พบเชื้อ แต่ส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของวัณโรคพบเป็นบวกและไม่ดี้อยา เอ็กซเรย์ปอดซ้ำพบฝ้าขาวจางลงมาก ผู้ป่วยอาการปกติและใช้ชีวิตได้ตามปรกติครับ
อาจเป็นรูปภาพของ การตรวจเอกซ์เรย์

27 มีนาคม 2565

จริงหรือไม่ กับ คำถามยอดฮิต โควิดยุคปลาย

 จริงหรือไม่ กับ คำถามยอดฮิต (ที่เจอกับตัวเอง)

1.ผล ATK เป็นบวก : อายุ 33 ปีครับ วัคซีนครบสามเข็ม มีไข้ต่ำ ๆ ไอ เจ็บคอเล็กน้อยมาสามวัน เลยซื้อชุด ATK มาตรวจเอง ไม่สัมผัสใครใกล้ชิด แบบนี้ป่วยเป็นโควิดไหมครับ
ตอบ : อยากยืนยันจริงก็ต้องไปตรวจ RT-PCR แต่มีอาการเหมือน ในช่วงระบาด ตรวจ ATK เป็นบวก ก็น่าจะพอแล้วและเป็นจริงครับ แต่ทว่า…ก็อาจติดเชื้ออื่นได้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ แม้ว่าจะตรวจเจอโควิด แต่ก็อาจจะเป็นโรคอื่นร่วม หรือเป็นโรคอื่น ๆ แล้วมาเจอเชื้อโควิดเข้าโดยบังเอิญได้ อย่างไรก็ต้องสังเกตอาการ แยกโรคอื่น ๆ ต่อไป
2.ภูมิคุ้มกันป้องกันติดได้ไหม : อายุ 45 ค่ะเพิ่งหายจากโควิดเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้ตรวจ ATK เจออีกแล้ว ต้องโดนกักตัวอีกแล้ว แบบนี้แสดงว่าไม่มีภูมิหรือคะ
ตอบ : ภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญคือ กำจัดเชื้อหลังจากได้รับเชื้อ ไม่ให้เชื้อมากไป ไม่ให้ป่วยหนัก และกว่าภูมิคุ้มกันจะเริ่มงานของมันได้หลังตรวจเจอเชื้อก็ตั้งแต่ 2-10 วัน ดังนั้นการมีภูมิจากเคยติดเชื้อหรือรับวัคซีน ไม่ได้บอกว่าคุณจะไม่ติดเชื้อนั้นอีกครับ การติดเชื้อหรือไม่อยู่ที่สัมผัสเชื้อและป้องกันตัวเองมากน้อยเพียงใด
3.ติดง่ายขนาดไหน : เป็นพ่อครับ ลูกอายุ 8 ขวบ เมื่อวานลูกเดินผ่านห้องเรียนข้าง ๆ ที่มีเด็กติดโควิด แบบนี้ลูกจะติดไหม
ตอบ : โอกาสติดจาก 'เด็กคนนั้น' น้อยมาก ๆ เลยครับ เพราะไม่ได้ใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน ต่างฝ่ายก็สวมหน้ากาก ยิ่งถ้าล้างมือบ่อย ๆ ไม่จับหูตา ยิ่งแทบไม่ติดเลย ไม่ว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ใด ทางติดต่อหลักยังเป็น droplet คือสารคัดหลั่งจากการพูด ไอ จาม กระเด็นไปติดตามพื้นผิว ที่ไปไกล 1-3 เมตร แล้วเราสัมผัสพื้นผิวและนำเชื้อเข้าปากจมูกเราครับ
4.ATK เป็นลบ : จะจัดงาน เพื่อความมั่นใจ ให้เข้าเฉพาะคนที่ ATK เป็นลบ น่าจะปลอดภัย
ตอบ : ไม่จริงเสมอไปครับ เพราะการตรวจ ATK เป็นวิธีที่ไม่ไวเลย ถ้าผลเป็นลบหมายถึง เชื้อยังไม่มากพอที่จะเจอ วิธีการตรวจไม่ถูก หรือเป็นข้อจำกัดของตัว ATK นั้น ยิ่งคนเสี่ยงสูงเช่น สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันหรือมีอาการของโรคหลังสัมผัสเชื้อ ต่อให้ผลลบก็ยังต้องใช้มาตรการ หน้ากาก-ระยะห่าง-ล้างมือ อยู่ดีครับ
5.ระยะเวลากักกัน : ตรวจ ATK เจอค่ะ เลยกักตัวเอง ไม่มีอาการใด ๆ จนนี่ 10 วันแล้ว จะกลับบ้านไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านจะปลอดภัยไหม
ตอบ : ในสถานการณ์ที่เรารับวัคซีนกันมากจนเกือบจะมี Herd Immunity เราก็มีตัวเลขจำนวนวันที่ลดลงในการกักตัว เพราะปริมาณเชื้อจะลดลงมากจนไม่น่ากังวลว่าจะเกิดการระบาดต่อไป หากตรวจด้วยวิธี PCR อาจพบเชื้อในปริมาณน้อยมาก โดยที่โอกาสติดต่อแทบจะไม่มี ดังนั้นหากฉีดวัคซีนตามกำหนดแล้วทั้งคู่ และผู้ที่ติดเชื้อกักกันครบตามเวลากำหนดปัจจุบันแล้ว ก็สามารถไปทำกิจกรรมได้ตามปกติในมาตรการการป้องกันโรคทั่วไป โดยที่ไม่แนะนำตรวจซ้ำครับ
6.ยาต้านไวรัส : ตรวจ ATK บวกครับ PCR ก็บวก หมอไม่ให้ยาต้านไวรัสฟาวิฯ ได้ไหมครับ
ตอบ : ได้ครับ เพราะถ้าคุณแข็งแรงดี วัคซีนครบ ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก ก็หายเองได้ครับ ซึ่งการติดเชื้อแบบอาการไม่รุนแรงนี้พบมากถึง 80% ของโรคโควิดในช่วงก่อนวัคซีน ยิ่งหากฉีดวัคซีนแล้วโอกาสป่วยหนัก ที่จะต้องรับยาจะลดลงมาก ระดับ 5-10% เลยทีเดียว การใช้ยาต้านไวรัสจึงไม่เกิดประโยชน์เท่าไร และแน่นอนต้องระวังโทษของยา (บวกลบแล้ว ฝั่งโทษจะเด่นขึ้นมา)
7.ยาต้านตัวอื่น : ฟังข่าวมาว่ามียาต้านโควิดเข้ามาอีกที่ประสิทธิภาพดี แต่ทำไมถึงได้แต่ฟาวิฯ ล่ะคะ
ตอบ : จริงอยู่ที่ผลการวิจัยยาใหม่ ๆ จะเป็นการศึกษาวิจัยที่หนักแน่น ข้อมูลดี และออกมาทางบวกว่าจะมีอาการน้อยหรือมากก็ช่วยได้ แต่สิ่งที่ต้องคิดถึงก่อนคือ จำเป็นต้องได้ยาหรือไม่ก่อน ในกรณีที่ต้องได้ยา แม้ยาฟาวิฯ จะมีหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยกว่าและไม่หนักแน่นเท่า แต่ปัจจัยเรื่องราคายา การเข้าถึง และประสิทธิภาพการใช้ยาจริงในสถานการณ์จริงที่ไม่ใช่การทดลอง ก็ยังบอกได้ว่า ฟาวิฯ ยังพอใช้ได้ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน
8. Long COVID : หายจากโควิดมาหลายเดือนแล้ว ทำงานได้ แต่รู้สึกเหนื่อย ๆ เพลีย ๆ หายใจไม่อิ่ม แบบนี้เกิดจากโควิดหรือเปล่าครับ
ตอบ : แม้ภาวะ long covid จะเป็นภาวะที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีจริง แต่ยังวินิจฉัยยาก และต้องแยกโรคอื่นที่มีสาเหตุชัดเจนและรักษาได้เสียก่อน โดยทั่วไปมักจะคิดถึง long covid หากความเสียหายจากโควิดค่อนข้างมากครับ และไม่แนะนำไปตรวจหาผลแทรกซ้อนที่ 'มีรายงาน' ว่าเกิดได้หลังโควิด หากไม่มีอาการใดครับ
น่าจะพอเป็นแนวทางการคิด การวางแผนได้นะครับ
อาจเป็นการ์ตูนรูป ท้องฟ้า และ ข้อความ

26 มีนาคม 2565

หายโควิด กลับมาฟิตได้หรือยัง ??

 หายโควิด กลับมาฟิตได้หรือยัง ??

ไม่นานมานี้ วิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกา (American College of Cardiology) ได้ออกข้อเสนอแนะสำหรับนักกีฬาและประชาชนทั่วไป ในเรื่องการออกกำลังกายและการแข่งกีฬาหลังจากหายป่วยโควิด-19 สามารถเข้าไปดาวน์โหลดอ่านได้ฟรีครับ ผมขอสรุปมาให้สำหรับประชาชนได้เข้าใจกันสักเล็กน้อยครับ

โรคโควิด-19 ไม่ได้ทำอันตรายแค่ทางเดินหายใจนะครับ ยังสามารถก่อความเสียหายได้หลายอวัยวะ และถ้ามีอาการมาก ๆ หลายอวัยวะเราก็เรียกว่า MIS-A (multisystem inflammatory syndrome in Adult) ถ้าเกิดในเด็ก ๆ เราจะคุ้นว่า MIS-C นั่นเองครับ และหนึ่งในอวัยวะที่ได้รับความเสียหายได้คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเกิดจากโควิดได้บ่อยกว่าเกิดจากวัคซีน mRNA ของโควิดหลายเท่า เรียกว่า myocarditis จากวัคซีน mRNA เป็นโรคที่พบยากเลยทีเดียว

อาการระบบหัวใจ สามารถพบได้ตั้งแต่ติดเชื้อไปจนถึงอาการหลักหายแล้ว ที่พบบ่อยคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบได้ในการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดอีกด้วย ความสำคัญของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือ จำกัดการออกแรงของเรา หรือ ออกแรงออกกำลังกายแล้วอาจมีอันตรายหัวใจล้มเหลวได้

อาการที่พบบ่อยคือ เจ็บหน้าอกแน่น ๆ โดยเฉพาะเวลาออกแรง เหนื่อยง่าย มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือการตรวจคลื่นเสียงหัวใจผิดปกติ

แต่ถ้าเราไม่มีอาการของระบบหัวใจเลยในช่วงที่ป่วย เราก็อาจยังมีอาการแทรกซ้อนโควิดหลังป่วยในระบบหัวใจได้อีก (post acute sequelae of SARs-CoV2 infection - CardioVascular System : PASC-CVS)

โดยมักจะเกิดหลังจากหายแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ดังนั้นหากใครป่วยเป็นโควิดก็จะต้องตระหนักและคิดไว้เสมอว่าอาจมีอาการอื่นตามมาได้ แต่อย่างที่กล่าวไปตอนแรกผลข้างเคียงแทรกซ้อนไม่ได้มากนัก เราก็มีวิธีจัดการจัดกลุ่มและคำแนะนำในการตรวจดังนี้ ตามภาพ 1-2-3 ที่บรรยายใต้ภาพนะครับ

สำหรับคนที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือ PASC-CVS จะแนะนำการออกกำลังกายที่ร่างกายอยู่ในแนวราบหรือเฉียง เช่น ว่ายน้ำ จักรยาน ยังไม่แนะนำการออกกำลังกายที่ต้องมีการเปลี่ยนท่าแนวราบแนวดิ่งแบบเร็ว ๆ เมื่ออาการดีขึ้น ทนได้ ก็ค่อย ๆ ออกแรงในแนวดิ่งมากขึ้น และค่อย ๆ เพิ่มขนาดการออกกำลังกายจนเป็นปรกติ จริง ๆ คำแนะนำนี้ก็ใช้ได้กับคนที่เพิ่งหายป่วยจากโควิดได้ทุกคนนะครับ ไม่ใช่เฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น

ใครต้องการรายละเอียดเต็มให้ไปอ่านจากต้นฉบับฟรีครับ ส่วนเราๆ ท่าน ๆ ที่ป่วยเป็นโควิดอาการไม่รุนแรง หายแล้วก็ออกกำลังกายได้ครับ


ภาพที่หนึ่ง ใครบ้างที่อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเมื่อไรจะปรึกษาแพทย์โรคหัวใจ

1. คนที่ขณะป่วยเป็นโควิด แล้วมีอาการทางระบบหัวใจแล้ว อันนี้หลังป่วยควรปรึกษาแพทย์โรคหัวใจว่าจะออกแรงได้เมื่อไร

2. คนที่ตอนป่วยโควิด ไม่มีอาการทางหัวใจ แต่ว่ามีโรคหัวใจยู่เดิมเช่นหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์โรคหัวใจหลังป่วย ว่าจะออกแรงออกกำลังกายได้หรือยัง

3. คนที่ตอนป่วยเป็นโควิด ไม่มีอาการทางหัวใจและตัวเองก็ไม่มีโรคหัวใจอยู่เดิม ถ้าสงสัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังโควิด ให้ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอ็กซเรย์หรือตรวจคลื่นเสียงหัวใจ หากผิดปกติจึงส่งปรึกษาแพทย์โรคหัวใจครับ


ภาพที่สอง คนที่ไม่มีอาการทางหัวใจตอนเป็นโควิด หลังจากหายก็ไม่มีอาการที่สงสัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเลย จะออกแรงออกกำลังได้เมื่อไร

1. คนที่ติดเชื้อไม่มีอาการ แนะนำกลับมาออกกำลังกายได้หลังจากกักตัวครบแล้วไปอีกสามวัน

2. คนที่ติดเชิ้อมีอาการไม่รุนแรง แนะนำกลับมาออกกำลังกายได้หลังจากอาการหายดีแล้ว

3. คนที่ติดเชื้อและหายเป็นปรกติมานานกว่าสามเดือน ให้ออกกำลังกายได้เลย

4. ส่วนคนที่ติดเชื้อ อาการรุนแรง ให้กลับไปดูภาพที่หนึ่งข้อสามนะครับ


ภาพที่สาม สำหรับนักกีฬาที่ต้องลงแข่งขัน หรือนักกีฬาที่ต้องซ้อมหนักไม่ต้องลงแข่ง แต่ว่ามีความเสี่ยงการเกิด PASC-CVS สองกลุ่มนี้ควรรับการประเมินจากแพทย์โรคหัวใจก่อนแข่งขันหรือซ้อมตามปรกติ ส่วนมากกลุ่มนี้จะเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือนักกีฬาสมัครเล่นที่ต้องแข่งเกมใหญ่ ๆ

การตรวจประเมินอาการส่วนใหญ่คือ การตรวจเลือดหาเอนไซม์การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ Cardiac Troponin การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ electrocardiogram และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง transthoracic echocardiogram การตรวจอื่น ๆ ขึ้นกับดุลยพินิจของคุณหมอ




อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ
อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป และ ข้อความพูดว่า "ติดเชื้อไม่มีอาการ หลังกักตัวครบแล้วไปอีกสามวัน ติดเชื้ออาการไม่ รุนแรง หลังอาการทั้งหมดดีขึ้น ติดเชื้อและหาย เป็นปรกติ มากกว่า 3 เดือน 2 ไม่ต้องตรวจ ออกกำลังกายได้"
อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

25 มีนาคม 2565

สงคราม - ข้าวสาลี - บะหมี่ - หัวใจวาย

 สงคราม - ข้าวสาลี - บะหมี่ - หัวใจวาย

จักรวรรดิญี่ปุ่น ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองอย่างสิ้นเชิง หลังจากระเบิดปรมาณูสองลูกที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ผลจากการแพ้สงครามครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นประสบภัยที่ร้ายแรงที่สุดอันหนึ่งตามมาคือ ขาดอาหาร
กำลังคนการผลิต กำลังเครื่องจักร ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมทหาร เงินทุนและผลผลิตต่าง ๆ ถูกส่งไปให้กองทัพจนสิ้น ประชานในประเทศต้องทนกับภัยความอดอยาก และแน่นอนเมื่อแพ้สงครามภัยนั้นรุนแรงมาก ประชาชนในประเทศขาดแคลนอาหารพื้นฐาน ข้าว แป้ง ในการผลิตอาหาร แม้ปัญหานี้จะได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ด้วยการส่งข้าวสาลีในปริมาณมหาศาลมาที่ญี่ปุ่น (ที่ให้ก็มี ที่บังคับซื้อก็มี)
แต่ข้าวสาลีนั้นและมาเปลี่ยนปัญหาความอดอยากได้จริงหรือ
ขอย้อนกลับไปที่ไต้หวัน ปี 1895 ปีนั้นกองทัพญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ายึดครองไต้หวัน ใครไปเที่ยวไต้หวันแจะพบว่ามีกลิ่นอายวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากมาย เพราะถูกยึดครองกว่า 50 ปี ที่นั่นไม่ได้อยู่สบายมากนัก ครอบครัวชาวไต้หวันพบความลำบากและมีการลุกฮือ การปราบปราบอยู่บ่อย ๆ ชาวไต้หวันมากมายเสียชีวิตจากการกดขี่นี้รวมทั้งพ่อแม่ของ Go Pek Hok เด็กน้อยชาวไต้หวันที่เพิ่งเกิด ในปี 1910 อีกด้วย
Go Pek Hok เป็นเด็กกำพร้า เติบโตจากเลี้ยงดูของปู่ย่าที่ทำธุรกิจสิ่งทอในไต้หวัน เมื่อเติบโตขึ้นเขาจึงเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ญี่ปุ่น และเริ่มดำเนินธุรกิจสิ่งทอที่โอซาก้า แน่นอนตอนนั้นญี่ปุ่นยิ่งใหญ่และกำลังขยายขนาดจักรวรรดิตัวเองไปทั่วเอเชีย กิจการของ Go Pek Hok ก็ดูจะไปได้ดี แต่เมื่อสงครามมาถึงและแพ้สงคราม Go Pek Hok ถึงกับล้มละลายและต้องค้างจ่ายภาษี ติดคุก ในช่วงหลังสงคราม เมื่อออกจากคุก เขาก็เริ่มตั้งบริษัทครอบครัวทำอุตสาหกรรมอาหาร เพราะตอนนั้นอาหารขาดแคลนมาก อาหารที่เขาเลือกทำคือ เกลือ
วันหนึ่งเขาก็ไปส่งเกลือให้กับโรงงานผลิตขนมปัง ผลิตจากข้าวสาลีปริมาณมหาศาลที่ได้จากอเมริกา เขาก็ต้องคำถามในใจ … คนญี่ปุ่นไม่กินขนมปัง มีข้าวสาลีป้อนอุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รู้ว่าถูกบังคับหรือไม่) แต่ผลผลิตไม่ตอบโจทย์ตลาด ทำไมไม่ผลิตบะหมี่ล่ะ เป็นอาหารที่เรากินอยู่แล้วนี่
Go Pek Hok เริ่มคิดจะทำบะหมี่ พอเริ่มศึกษาก็ได้รู้ว่าการทำบะหมี่ในตอนนั้นยังไม่ได้ทำในเชิงอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำเป็นปริมาณมาก ๆ และเก็บไว้นานได้ เขาจึงพลิกความคิด มาทำอาหารของชาวญี่ปุ่นคือ ราเมน ที่ทำจากข้าวสาลีเป็นหลักซึ่งมีปริมาณมากในเวลานั้น มาผสมสูตรต่าง ๆ และใส่สิ่งสำคัญที่เชี่ยวชาญลงไปด้วยคือ เกลือ
…ข้อมูลที่ผมอ่านมาอย่างงูปลา ๆ ด้วยความรู้กระท่อนกระแท่นในวิชาเคมี เขาอธิบายว่าเกลือที่ใส่ลงไป เป็นส่วนประกอบที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคงรูป และสามารถกลายเป็นบะหมี่เส้นหอม ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพียงเติมน้ำร้อน ..สรุปว่าต้องใช้เกลือนี่แหละ…
Go Pek Hok ทดลองสูตรบะหมี่ราเมนสูตร 'ปรุงง่ายเก็บนาน' อยู่นานทีเดียว มาจบที่แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม เกลือ ผงชูรส จนได้บะหมี่สีเหลืองแข็งรูปสี่เหลี่ยมแบน ที่สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นราเมนที่คุ้นเคย เพียงแค่ใส่ชาม ใส่น้ำร้อน ทำผลิตภัณฑ์ให้หยิบง่าย ขนส่งง่าย และจดทะเบียนในชื่อ "Chikin Ramen" ภาษาบ้านเราก็บะหมี่-อบแห้ง-รสไก่ นั่นคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานห่อแรก ยี่ห้อแรกในโลก
Go Pek Hok จึงกลายเป็นสตาร์ตอัพระดับประเทศไปทันที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ธุรกิจรุ่ง ชีวิตก็รุ่งไปด้วย เขาได้แต่งงานกับสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นและได้ขอสัญชาติญี่ปุ่นได้เมื่อปี 1966 ใช้ชื่อ Momofuku Ando และบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเขาคือ Nissin Food Products บะหมี่นิสชินนั่นเอง
แต่บะหมี่นิสชิน มาดังสุดขั้ว ในปี 1971 เนื่องจากอันโด เดินทางไปสำรวจตลาดที่อเมริกา ในช่วงสงครามเย็น เขาพบจุดสังเกตว่า บะหมี่ของเขาต้องฉีกซอง ใส่ชาม เทน้ำร้อน … มันไม่พร้อมกินเท่าที่ควร .. อันโดจึงคิดรูปแบบบะหมี่แบบใหม่ที่คราวนี้ไม่ใช่ดังแค่ที่ญี่ปุ่น แต่เป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิครอนไปเลย นั่นคือการกำเนิด บะหมี่ถ้วยนิสชิน (Nissin Cup Noodle) ที่มีถ้วยให้เสร็จ มีส้อมให้ในถ้วย บะหมี่กลายเป็นแท่งกลมแบน ในถ้วยที่ก้นสอบแคบกว่าปาก เพื่อเก็บความร้อนบะหมี่ได้นาน และกินได้สะดวกมาก
อย่าบอกนะว่าตอนนี้ทุกคนกำลังเทน้ำร้อนใส่บะหมี่อยู่
คุณอันโด ดำเนินธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็มีพิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อรำลึกถึงงานของคุณอันโดถึงสองแห่งในญี่ปุ่น และเสียชีวิตในวัย 96 ปีด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในปี 2007 คุณอันโตได้ให้เคล็ดลับการมีชีวิตยืนยาวของเขาว่า
"...เล่นกอล์ฟทุกวัน และ กินบะหมี่ chikin ramen ทุกวัน.."
สุดยอดนักการตลาดอีกด้วยนะครับ แต่ลึก ๆ ผมแอบคิดว่าหรือปริมาณเกลือในบะหมี่ของคุณตาอันโดหรือเปล่านะ ที่ทำให้ Congestive Heart Failure ควบคุมไม่ได้ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน แม้ได้รับการปรับสูตร 'เพื่อสุขภาพ' มาแล้ว ไม่ว่าจะลดเกลือลง ลดผงชูรส เพิ่มไฟเบอร์ในบะหมี่ ใส่ผักอบแห้ง (กระจึ๋งนึง) ก็ต้องนับว่าในหนึ่งหน่วยบริโภคของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งซองหรือหนึ่งถ้วย มีปริมาณเกลือโซเดียมประมาณเท่ากับโซเดียมที่เราต้องการในแต่ละวันเรียบร้อยแล้วครับ
การไม่ควบคุมเกลือ เป็นเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้โรคหัวใจล้มเหลวควบคุมไม่ได้ และทำให้หัวใจล้มเหลวกำเริบเฉียบพลัน การควบคุมเกลือจึงมีความสำคัญมากในโรคหัวใจวาย หรือ น้ำท่วมปอด ที่เราคุ้นหูกัน
ใกล้สิ้นเดือนแล้ว .. ผมเป็นห่วง
อาจเป็นรูปภาพของ ผัดหมี่

คำแนะนำสำหรับใครที่อยากไปงานหนังสือแห่งชาติพรุ่งนี้

 คำแนะนำสำหรับใครที่อยากไปงานหนังสือแห่งชาติพรุ่งนี้

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ในปีนี้สามารถฝ่าด่านกฎการจัดอีเว้นท์มาได้อย่างฉิวเฉียด สถานที่จัดงานคือสถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่ 26 มีนาคมจนถึง 6 เมษายนนี้
การเดินทาง : แนะนำ MRT ใต้ดิน หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสครับ สะดวกมากไปถึงที่จัดงานเลย หรือใครจะนั่งรถชัตเทิ่ลจากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็มีเช่นกัน นำรถไปเองก็ได้แต่คำนวณเวลารถติดและปริมาณที่จอดรถด้วย สำหรับผมผู้ซึ่งไม่กล้าขับรถในกทม. ต้องอาศัยรถสาธารณะครับ
กระเป๋า : แนะนำพกกระเป๋าผ้าแคนวาส กระเป๋าสะพายหรือเป้ที่แข็งแรงครับ พื้นที่บรรจุเยอะ หูหิ้วไม่ขาด เพราะหนังสือที่รวมกันหนักมากครับ ใครอยากซื้อเยอะ แนะนำกระเป๋าเดินทางล้อลากใบเล็กไปด้วยครับ งดใช้พลาสติกและมาใช้ถุงซ้ำช่วยลดโลกร้อนนะครับ
แต่งตัว : ใส่ชุดที่เดินสบายที่สุด รองเท้ากีฬาเลยครับ เพราะเดินเยอะเมื่อยแน่ เสื้อเลือกตัวที่มีกระเป๋าเสื้อก็ดีนะครับ ควักจ่ายง่ายดี ผมเลือกแจ็คเก็ตเบามีกระเป๋าด้านในไว้เก็บของที่ต้องหยิบบ่อย ๆ และมีกระเป๋าคาด-อกหรือคาดเอวไว้เก็บของมีค่าไว้ด้านหน้า สาว ๆ ก็อย่าแต่งตัวน่ารักมากนัก มันไม่มีสมาธิเลือกหนังสือ
บริการขนส่ง : ใครขี้เกียจแบก เช่นผมเป็นต้น สามารถเลือกซื้อแล้วใช้บริการไปรษณีย์ไทย ส่วหนังสือไปถึงบ้านได้ ไม่แน่ใจว่าขนส่งเจ้าอื่นจะมาด้วยไหม แต่ผมว่ามาแน่ครับ สะดวกดีเหมือนกัน แต่ต้องระวังปกยับ ขอบยู่สักหน่อยนะครับ เล่มไหนอยากสะสมสภาพ ถือเอาดีกว่า หรือบรรจุขณะยังไม่แกะซีลพลาสติก อันนี้ก็ช่วยได้เยอะ
อาหาร น้ำดื่ม : แม้ในสถานีจะมีจุดบริการอาหารและน้ำดื่ม แต่คนแน่นคิวยาว ที่นั่งไม่มีแน่ ผมแนะนำพกขวดน้ำของเราไปเลยครับขนาดครึ่งลิตร และกินอาหารไปให้พร้อมก่อนไปงาน หรือมากสุดพกอาหารกินง่ายเช่น แฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิช เพาเวอร์บาร์ เอาไว้เผื่อหิวสักอันก็พอ เวลาเดินคุณจะเพลินครับ ไม่หิวหรอก
ห้องน้ำ : มีบริการ แต่ทำใจว่าคนแน่น เตรียมทิชชู่แห้ง เปียก ห่อเล็ก พกสบู่ขวดเล็กไว้ล้างมือและผ้าเช็ดมือด้วยครับ อย่ากินอาหารแสลงท้อง จะจุกจะแน่นหรือแขกตี้ อันนี้ไม่สนุกแน่
สตางค์ : เตรียมมือถือ แอปจ่ายเงิน บัตรเครดิต ให้พร้อมครับ รับรองกระเป๋าเบาแน่ หรือใครอยากจำกัดงบ ทำแบบผมก็ได้คือ เบิกเงินสดไปเท่าที่เราจะอนุญาตตัวเองซื้อ แนะนำแบงค์ย่อย จ่ายคล่องมาก ไม่เกินงบแน่นอน แต่เก็บดี ๆ ระวังหายครับ คนเยอะ มิจฉาชีพก็มีเยอะตามด้วย
อุปกรณ์ป้องกันตัว : หน้ากากอนามัย เตรียมสำรองไปสักอัน หน้ากากผ้าอีกสักอัน ต้องใส่ตลอดงาน เจลแอลกอฮอล์ สบู่ล้างมือขวดเล็ก เตรียมไปเลย ที่งานเขาก็จัดให้ แต่เราเตรียมไปเองดีกว่า เลือกยี่ห้อที่เราชอบ หอม ๆ ส่วนถุงมือยาง ผมว่าไม่จำเป็นนัก ใช้การล้างเจลบ่อย ๆ เอาแทนครับ
ระวังตัว : งานนี้คนเยอะแน่ โอกาสติดเชื้อโควิด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ถ่ายเหลว หัด มันก็เยอะตาม สำรวจตัวเองไม่มีไข้ แข็งแรงดี วัคซีนครบ ถึงจะไปได้นะครับ ไปที่งานก็เกลี่ย ๆ กันเดิน ร้านไหนคนแน่นก็รอไปก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาก็ได้ กลับมาแล้วก็สังเกตอาการตัวเองด้วย
ใครที่เสี่ยงหรือไม่อยากไป : ช่องทางออนไลน์มีเยอะเลย จะซื้อตรงกับสำนักพิมพ์ มีคนรับหิ้ว มีลาซาด้า ช้อบปี้ เจดี หรือที่เว็บไซต์ thaibookfair.com ก็ได้ครับ ส่งถึงบ้าน ไม่ได้อารมณ์ดมกระดาษและดูกองหนังสือ
ถ้าเจอผู้ชายหน้าตาดี หุ่นทรมานใจสาว แว่นสีทอง สวมเสื้อยืดสีขาวคอกลมมีลายสกรีนสีน้ำเงิน "อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว" สวมแจ็ตเก็ตดำ กางเกงยีนสีน้ำเงินเป้าตึงเปรี๊ยะ รองเท้ากีฬา เดินลากกระเป๋าเดินทางสีฟ้า พร้อมรอยยิ้มทรงเสน่ห์ ให้เข้าไปทักได้เลยครับ แจกเบอร์โทร เบอร์ห้องพร้อมเลี้ยงกาแฟแก้วนึง
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, หนังสือ และ สถานที่ในร่ม

บทความที่ได้รับความนิยม