06 มีนาคม 2565

ย้อนอดีต หอสมุดแห่งชาติ ตอนที่ 2

 ย้อนอดีต หอสมุดแห่งชาติ ตอนที่ 2

มาพร้อมกาแฟรอบบ่ายกับบัตเตอร์สโคน
ที่โถงอาคารหลัก เราจะเห็นห้องสมุดย่อยก่อนเลยสองห้อง เราเริ่มที่ห้องอ่านหนังสือทั่วไปก่อน เป็นห้องใหญ่ขนาดห้องประชุมขนาดใหญ่เลย หลังคาสูง ตรงกลางเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ โต๊ะเหลี่ยมตัวกว้างพร้อมเก้าอี้โต๊ะละสี่ตัว เรียงรายไปจดสุดอีกด้าน ชิดผนังห้องจะเป็นชั้นเรียงหนังสือ นี่แหละได้อารมณ์ห้องสมุดแห่งชาติเลย มันใหญ่โต หนังสือเยอะมาก เรียกว่าตะลึง ละลานตาเลยล่ะ และมองขึ้นไปจากชั้นหนังสือ ยังเป็นชั้นลอยอีกชั้นชิดขอบผนัง เพื่อวางตู้หนังสืออีก มีบันไดขึ้นขั้นลอยนี้ตรงสุดขอบห้องใหญ่ ถ้าคุณคิดภาพไม่ออก ลองกดกูเกิ้ลหาภาพห้องสมุดใหญ่ ๆ ในโลกนะครับ แบบเดียวกัน
ในนั้นแอร์เย็นฉ่ำ นี่เป็นอีกเรื่องที่ประหลาดใจ เพราะห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชนที่เคยผ่าน เคยเข้ามา ไม่มีแอร์ครับ มีแต่พื้นขัดมัน หน้าต่างทึม ๆ พัดลมดังแกร่ก ๆ เต็มไปหมด แต่นี่แอร์ฉ่ำมาก ฉ่ำแค่ไหน ฉ่ำจนครั้งต่อ ๆ ไปผมต้องพกเสื้อกันหนาวไปอ่านหนังสือก็แล้วกัน
ผู้คนอ่านหนังสือเต็มไปหมด เกือบเต็มทุกเก้าอี้ บางคนอ่านหนึ่งเล่ม บางคนอ่านมากกว่าสามเล่มกองกัน หลายคนมีสมุดจดมาบันทึกด้วย สมัยนั้นไม่มีกล้องมือถือ ส่วนการถ่ายเอกสารนั้นมีแล้ว เดี๋ยวเราจะเล่าถึงการถ่ายเอกสารจากหอสมุดให้ฟัง
เราแวะไปห้องใหญ่อีกห้องตรงโถง มันคือห้องวารสาร ห้องนี้คนจะคึกคักมาก มีวารสารนิตยสารออกใหม่ มาให้อ่านเยอะมาก รายเดือน รายสามเดือน รายปักษ์ ข้อกำหนดคือหยิบได้ครั้งละเล่ม และมีหนังสือเก่ารวบรวมกันเป็นรายปี เย็บเป็นเล่มให้ค้นหา ยกตัวอย่างเช่น มติชนรายสัปดาห์ สยามรัฐรายสัปดาห์ ก็จะเย็บเล่มหนาเช่นรวมสามเดือน รวมหกเดือน แต่ถ้าเล่มหนาเช่นขวัญเรือน สกุลไทย ก็จะเย็บแค่สองสามเล่ม เย็บแล้ววางเรียงบนชั้นและชั้นลอย นอกจากนี้ยังมี ..หนังสือพิมพ์
ใช่แล้วหนังสือพิมพ์จะเย็บเป็นรายเดือน รายสองเดือน รวบรวมไว้เผื่อใครอยากมาค้นข้อมูล โดยหนังสือพิมพ์ต้องเขียนคำขอค้น ว่าจะค้นหนังสือพิมพ์อะไร ฉบับวันที่เท่าไรถึงเท่าไร และให้เจ้าหน้าที่จัดการให้ ผมเข้าใจว่ามันเยอะและบอบบาง ต้องให้ผู้ชำนาญเขาทำให้ ผมไปอ่านใบคำร้อง ต้องเขียนละเอียด ต้องแนบบัตรประชาชน และมีบริการค้นด้วยไมโครฟิล์มอีกด้วย เด็ก ๆ ยุคใหม่ครับ ไมโครฟิล์มคือการเอาเอกสารหลักฐานมาถ่ายเก็บในรูปฟิล์มเนกาทีฟ ย่อส่วนให้เล็กจะได้ประหยัดพื้นที่ เก็บในหลอดแคปซูลเล็ก ๆ ต้องใช้กล้องไมโครฟิล์มอ่านครับ
ห้องนี้จึงมีคนเยอะ พลุกพล่านและเสียงดัง มีคนมาค้นหาข้อมูลตลอดเวลา ผมเคยส่งคำร้องค้นข้อมูลหนึ่งครั้ง คือเอกสารหนังสือพิมพ์ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลา สมุดเล่มที่บันทึกข้อความและสรุปเนื้อหา 14 ตุลา ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ (เขียนด้วยหมึกซึม มันก็จางไปตามเวลา) ผมเคยเจอคุณพิชัย วาศนาส่ง นักข่าว นักเขียน ที่นี่ด้วย
เอาล่ะ หอสมุดแห่งชาติทั้งที ก็คงไม่ได้มีแค่สองห้องนี้ อาคารหลักยังมีอีกหลายชั้น ถ้าผมจำไม่ผิดจะมีสี่ชั้น แต่ละชั้นจะมีห้องอ่านหนังสือใหญ่ ๆ แบบนี้สองถึงสามห้อง รูปแบบการจัดห้อง แต่ละชั้นเหมือนกัน เดาไม่ยากนัก โถงกลาง ปีกซ้ายปีกขวา เต็มไปด้วยหนังสือและชั้นวางหนังสือ แต่ละชั้นก็จะมีสองสามหมวด ชั้นที่จำได้คือชั้นสาม เพราะเป็นหมวดศิลปวรรณกรรม มาอ่านวรรณกรรมบ่อย ๆ และคุณพ่อมาศึกษาโน้ตและเพลงเก่า ๆ จากห้องสมุดดนตรี ที่เราสามารถไปค้นและเขียนคำร้องเพื่อฟังเพลงต่าง ๆ แบบห้องซาวนด์แล็บได้ มีทั้งเพลงไทยเดิม ไทยลูกทุ่ง รู้สึกจะชื่อห้องสมุดดนตรีอนุมานราชธน ตามชื่อพระยาอนุมานราชธนครับ
นอกเหนือจากอาคารหลัก ยังมีอาคารด้านหลังชื่ออาคารสาม อาคารนี้เหมือนอาคารเสริม เพราะมีหนังสือครบทั้งสิบหมวด ปริมาณหนังสือไม่มากเท่าอาคารหลัก อาคารนี้มีหนังสือเด็กและเยาวชน แรก ๆ ผมชอบมาที่ส่วนนี้เพราะชอบอ่านสารานุกรมรูปภาพที่มีมากมายเลยครับ มีพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ ใครมากับผู้ปกครองก็มาที่นี่ และส่งเริมให้เด็กรักการอ่านด้วย
คำถามที่ทุกท่านคงนึกในใจ หนังสือมากมาย มีหลายห้องหลายอาคาร แล้วจะหาหนังสือเจอได้อย่างไร สมัยนี้ไม่ยากเพราะมีคอมพิวเตอร์ สมัยก่อนเราใช้ 'บัตรรายการ' ครับ เอ๊ะบัตรรายการคืออะไร แล้วจะเอาข้อมูลออกจากห้องสมุดอย่างไร
เดี๋ยวมาต่อรอบเย็นอีกครับ
อาจเป็นรูปภาพของ อาหาร, สถานที่ในร่ม และ ข้อความพูดว่า "DAY EE A THE YAWAY AWAY THIN"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม