31 ธันวาคม 2565

วิทยาศาสตร์ของการใช้ชีวิต

 วิทยาศาสตร์ของการใช้ชีวิต อีกเล่มส่งท้ายปี

ใครต้องการหาหนังสือวิทยาศาสตร์ pop-science สนุก ๆ บอกเล่าและอธิบายสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วยวิทยาศาสตร์ ก็เล่มนี้เลยครับ หนึ่งเล่มช่วงหยุดยาว เติมอาหารสมองกัน
หนังสือจะตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราเจอตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน แล้วอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนและผู้แปลนำมาใช้ภาษาง่าย ๆ อ่านสนุก แต่เป็นหลักฐานจริงจังทั้งหลักการและเชิงประจักษ์ เช่น
ช่วงเช้า : ทำไมการตื่นนอนจึงเป็นเรื่องยาก, ฉันควรกินวิตามินเสริมพร้อมกับมื้อเช้าหรือไม่
ช่วงบ่าย : ทำไมฉันจึงห้ามใจไม่ให้กินของหวานได้ยากนัก, จริงหรือที่เราใช้สมองแค่ 10%
ช่วงเย็น : การออกกำลังกายแบบไหนเผาผลาญแคลอรีได้ดีที่สุด, การกอดดีต่อเราใช่ไหม
กลางคืน : อุปกรณ์ดิจิตอลทำให้ฉันนอนไม่หลับจริงหรือ, การดื่มก่อนนอนช่วยให้หลับสบายขึ้นจริงหรือ
ยังมีอีกหลายเรื่องเลยครับ ที่เราคิดว่าง่าย ๆ แต่มันมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้หมด แถมนำเสนอออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ ภาพประกอบง่าย ๆ สีสวยสีพาสเทล แบ่งเนื้อหาในแต่ละหน้าเป็นส่วน ๆ อ่านง่ายไม่น่าเบื่อ
ปกแข็งสีเหลืองสด สวยมากครับ แต่งโดย stuart farrimond แปลไทยโดย พรเลิศ อัฐฐ์ สำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคาอาจจะหนักสักนิดคือ เล่มละ 750 บาท แต่ปกแข็ง กระดาษปอนด์สีพาสเทล ก็คุ้มค่านะ ยิ่งเนื้อหาสนุกมากยิ่งน่าซื้อครับ
เมื่อวานได้เล่มนี้มาจากนายอินทร์ เช้านี้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว สนุกมาก
อาจเป็นรูปภาพของ หนังสือ

29 ธันวาคม 2565

VV116 ยารักษาโควิดตัวใหม่

 มาเล่าให้ฟัง เรื่องการศึกษายา VV116 ยารักษาโควิดตัวใหม่จากจีน

วารสาร NEJM ตีพิมพ์งานวิจัยจากเซี่ยงไฮ้ถึงยาตัวใหม่ที่จีนคิดค้นมารักษาโควิด ชื่อยา VV116 ซึ่งมันก็คือยา remdesivir ที่เราใช้ฉีดรักษาโควิดกันนี่แหละ มาปรับโครงสร้างโมเลกุลให้ดูดซึมทางเดินอาหารได้ดี ใช้เป็นยากินได้ โดยผู้วิจัยให้เหตุผลว่ายากินโควิดในจีนขาดแคลน โดยเฉพาะยา paxlovid (nirmatrelvir/ritonavir) เราเลยต้องคิดค้นยามาใช้เอง อืมมม
เขาคิดค้นมาสักพักแล้ว ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ตัวยาสามารถลดปริมาณไวรัสได้ดี ก็เลยนำมาศึกษาในคนเป็นการศึกษาเฟสสาม ทำในเซี่ยงไฮ้ช่วงเดือนมีนาคม 2022 เป็นการระบาดของไวรัส SARs-CoV2 สายพันธุ์โอมิครอน ทำในคนจีนทั้งหมด ในคนกลุ่มนี้ 75% รับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็มและประมาณ 34% รับสามเข็ม
โดยคัดเลือกผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อยืนยันจากการตรวจ RT-PCR อาการน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงการเกิดโรครุนแรงอย่างน้อยหนึ่งอย่าง จะเห็นว่าเกณฑ์การคัดเลือกก็เป็นเกณฑ์เดียวกันกับยารักษาโควิดแบบยากินทุกตัว ก็เพราะ VV116 เป็นยากินเช่นกัน และหวังผลจะมาทดแทนยา paxlovid ที่ไม่มีในจีน จึงต้องเลือกกลุ่มการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน
โดยเมื่อได้กลุ่มตัวอย่างตามการคำนวนมาแล้ว จะทำการแบ่งผู้ป่วยโดยใช้การแบ่งจากกรรมการกลาง จะได้ไม่มีความโน้มเอียงในการเลือกรักษา กลุ่มทดลองใช้ยา VV116 600mg ทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และ 300mg ทุก 12 ชั่วโมงในอีกสี่วัน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้ paxlovid ตามขนาดปกติ … โดยที่ไม่มี placebo ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ ทางผู้ศึกษาให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำยาหลอกที่เหมือนกับ paxlovid ได้ ที่อาจเกิดจากบริษัท Vigonvita Life Sciences ที่เป็นผู้สนับสนุนทุกอย่างของงานวิจัย ไม่สามารถทำยาหลอกของ paxlovid ของ pfizer ได้
อ้อ การวิจัยนี้สนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตและจัดจำหน่าย VV116 นะครับ
พักมาดูประเด็นยาหลอกกันสักนิด การศึกษานี้เลือกตัวควบคุมเป็น paxlovid ไม่ใช่ยาหลอก น่าจะเพราะการรักษามาตรฐานของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือยาต้านโควิด จะไปใช้ยาหลอกก็ดูกระไรอยู่ และเป้าหมายของการศึกษาคือการเทียบกับ paxlovid นั่นเอง แต่ว่าเดี๋ยวเราจะมายกประเด็นนี้มาคุยอีกครั้งตอนฟังผล
*** เป้าหมายของการศึกษา เป้าหมายของยา VV116 นี้แตกต่างจากยากินโควิดทั่วไป เป้าหมายของเขาคือ "ระยะเวลา" จากเริ่มให้ยาไปจนถึงอาการโควิดดีขึ้นในระดับใกล้หาย และต้องดีขึ้นอย่างน้อยสองวันติดกัน ส่วนยาโควิดตัวอื่นเป้าหมายจะเป็นลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโรครุนแรง ซึ่งสำหรับงานวิจัยนี้วัดผลเป็นผลการศึกษารองเท่านั้น ***
มาถึงตรงนี้จะพบว่า ข้อมูลพื้นฐานงานวิจัยนี้ไม่ได้เหมือนกับงานวิจัยยาอื่น จะเอาไปเทียบกับยาอื่นตรง ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าช่วงการระบาดของสายพันธุ์เชื้อที่ต่างกัน จำนวนการรับวัคซีนและภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต่างกัน ตัวแปรควบคุมที่ไม่ใช่ยาหลอกแต่คือ paxlovid กลุ่มศึกษาที่เป็นคนจีนเท่านั้น และเป้าหมายหลักการวิจัยก็ต่างกัน
เรามาดูผลวิจัยกันดีกว่า ได้คนไข้มาเข้าร่วมวิจัย 771 ราย ผ่านเกณฑ์จำนวนตัวอย่าง และคนที่ออกจากการศึกษาก็ไม่ได้มากไปกว่าที่คาดไว้ อายุเฉลี่ยคนไข้คือ 53 ปี เกือบทั้งหมดอาการน้อยมาก และมีอาการมาประมาณ 4 วันก่อนวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา
ระยะเวลาที่อาการดีขึ้นจนเกือบหายและดีต่อเนื่องกันอย่างน้อยสองวัน ของ VV116 อยู่ที่ 4 วันส่วนของ paxlovid อยู่ที่ 5 วัน คนไข้เกือบทั้งหมดหายตามนี้ทั้งสองกลุ่ม และเมื่อคิดสถิติแบบ non inferiority คือไม่ด้อยกว่า พบว่า VV116 ไม่ด้อยกว่า paxlovid (สูงกว่า non inferiority margin)
เมื่อมาชำเลืองดูผลข้างเคียง ก็พบผลข้างเคียงเล็กน้อยจากยาทั้งคู่พอ ๆ กัน โดยผลข้างเคียงรุนแรงพบน้อยมากและพอ ๆ กันทั้งสองกลุ่ม จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผลข้างเคียงของ paxlovid ส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาของยาที่กินร่วม ทำปฏิกิริยากับ ritonavir ในการศึกษานี้มีใช้ยาร่วมไม่มาก ผลข้างเคียงของยาเลยน้อยลงตามไปด้วย
เราก็จะสรุปว่า การใช้ VV116 ช่วยบรรเทาอาการของโควิดได้ดีไม่ต่างไปจาก paxlovid (เราจะสรุปตามผลวิจัยหลัก) ส่วนเรื่องการเข้ารักษาในโรงพยาบาล การกำจัดเชื้อ ก็ไม่ต่างจาก paxlovid แต่ว่ามันไม่ใช่ผลวิจัยหลัก เอามาดูเล่นได้ เอามาใช้สรุปไม่ได้
แต่ประเด็นเวลา มีข้อกังขาสำหรับผม อย่างแรกคือ 'ระยะเวลา' จากมีอาการจนกว่าจะมาวินิจฉัยและรับยาก็สี่วันแล้ว ถ้าเราคิดตามการดำเนินโรคของกลุ่มไม่รุนแรง ก็ใกล้จะหายดีแล้วล่ะ ก็ไม่รู้ว่า VV116 จะช่วยลดอาการไหม หรือ paxlovid จะช่วยลดอาการไหม หรือถ้าใช้ยาหลอกก็อาจจะออกมาแบบนี้ก็ได้นะ การไม่มียาหลอกจึงเกิดประเด็นขึ้นมา
อย่างต่อมาคือ 'ระดับความรุนแรง' ของอาการที่น้อยมาก ระดับประมาณ 3 คะแนนจาก 0-33 คะแนน โดยนิยามว่าอาการดีขึ้นคือต้องเหลือ 1 หรือ 0 คะแนน ระดับคะแนนที่ต่างกันน้อยมากแบบนี้ อาจไม่มีความสำคัญทางคลินิก (และก็ไม่ด้อยกว่าทางสถิติตามงานวิจัย) เช่นกันกับที่กล่าวไปข้างต้น ถ้ามีการเปรียบเทียบด้วยยาหลอกก็อาจจะไม่ต่างกับยาหลอกด้วยนะ
ถ้าการศึกษานี้แบ่งออกเป็นสามกลุ่มโดยมีกลุ่มยาหลอกก็อาจจะบอกได้ชัดขึ้นว่า การให้ยาต้านไวรัสในช่วงแรกของการป่วย สำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงและมีปัจจัยเสี่ยง จะสามารถลด "อาการ" ของโรคได้ดีจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากการศึกษานี้เขาแค่ต้องการเทียบว่า จะใช้ VV116 ที่ทำได้เอง ราคาถูกกว่า หาง่ายกว่า ก็ลดอาการได้ไม่แพ้ paxlovid เช่นกัน และสามารถแสดงผลทางสถิติเช่นนั้นได้

27 ธันวาคม 2565

หัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy)

 หัวใจอ่อนแรง (cardiomyopathy)

เมื่อเปิดคลินิกส่วนตัว ปัญหาที่พบส่วนมากจะกลายเป็น อาการสำคัญ ของคนไข้ แตกต่างจากที่ผ่านมาที่จะได้รับปรึกษา ปัญหาของโรคหรือปรึกษาการรักษา
วันนี้เจอมีคนไข้มาปรึกษาผลการตรวจไขมัน เมื่อผมถามว่า มีโรคประจำตัวไหม คนไข้ตอบว่า 'หลายปีก่อน หมอบอกว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง'
ในหัวผมคิดทันทีว่าคือ cardiomyopathy กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดจาก
- กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (ischemic cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อหัวใจหนามากจนทำงานผิดปกติ (hypertrophic cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อหัวใจไม่ยืดหยุ่น (restrictive cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อไม่ทำงานจนหัวใจขยายขนาด ไม่ว่าจากเหตุใด (dilated cardiomyopathy)
อันเป็นการแบ่งคร่าว ๆ เพื่อซักประวัติหาเหตุและสืบค้นต่อ
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงก็จะมีอาการของหัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย เหนื่อยเวลาออกแรง นอนราบไม่ได้ ตื่นมาต้องนั่งหลับ เหนื่อยเวลานอนตะแคง ขาบวม เป็นลม หน้ามืด
พอผู้ป่วยให้ประวัติว่า มีอาการตกใจง่าย เวลามีเรื่องกลุ้มใจก็จะใจหวิว ๆ ไม่เคยมีอาการหัวใจล้มเหลวเลย
(เวลาใครมาทำให้ตกใจ ก็จะตกใจง่าย…เอ่อ..คือ มันมีตกใจยากด้วยหรือครับ)
มันก็เป็นเรื่องสิครับ เพื่อที่จะยืนยันว่าเป็นโรคหัวใจอ่อนแรงจริงไหม ทำให้ต้องตรวจเพิ่มเยอะเลย ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ยาลดไขมันเพื่อป้องกันโรค ถ้าเป็นโรคหัวใจแล้วก็คงต้องคิดป้องกันการเกิดซ้ำ วิธีการคิดให้ยา statin จะต่างออกไปจากการป้องกันก่อนเกิดโรค
สรุปว่า ไม่มีโรคหัวใจใด ๆ
อยากจะบอกว่าคำวินิจฉัยในทำนอง ใจอ่อน ตกใจง่าย หัวใจอ่อนแรง หัวใจอ่อนแอ หัวใจไม่ดี มันอาจสร้างความสับสนในอนาคตได้
สำหรับหมอ : ให้บอกเลยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ชนิดไหน อย่าบอกคนไข้ว่า ใจอ่อน ยิ่งรายนี้มีคำว่า กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (คนไข้อาจจะสับสนคำต่าง ๆ) ทำให้คนที่ดูแลต่อสับสนไปอีก ต้องตรวจอีกมากมาย
สำหรับคนไข้ : ถามหมอเลย เป็นโรคอะไร จำชื่อไทย จำไม่ได้อัดเสียง จดไว้ ส่วนชื่ออังกฤษ จำได้ก็ดี จำไม่ได้ก็ให้หมอเขียนให้ เก็บไว้ชายพก ไปหาหมอที่ไหนก็ควักออกมาโชว์ได้เลย

26 ธันวาคม 2565

ปรึกษาเลิกบุหรี่ไฟฟ้า

 มาเล่าให้ฟัง

เดือนนี้มีคนมาปรึกษาเลิกบุหรี่ 5 ราย ทุกคนมีแรงบันดาลใจต้องการเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง
นอกเหนือจากคำถามปกติ ผมมักจะถามเสมอว่า เคยเลิกไหม และใช้วิธีอะไร
ทั้ง 5 คนใช้บุหรี่ไฟฟ้าครับ สามคนใช้คู่บุหรี่ปกติ อีกสองคนเปลี่ยนจากบุหรี่ปกติมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า
ผมก็อธิบายวิธีการเลิกบุหรี่ตามมาตรฐาน ทุกคนไม่เคยทราบว่ามียาอดบุหรี่ และมีเพียงคนเดียวที่รู้จักสารทดแทนนิโคติน
แต่ทุกคนรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า และทราบด้วยว่ามีบุหรี่ไฟฟ้านิโคติน 0% และสั่งบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้แล้วด้วย (สถานะบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยตอนนี้คือ ผิดกฎหมาย)
แปลกใจถึงการเข้าถึงข้อมูลและการเลิกบุหรี่มาตรฐาน ที่ควรจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้จะเลิกบุหรี่ควรได้รับ แต่กลับเปลี่ยนไป
ตอนนี้ผมรับปรึกษาเลิกบุหรี่ไฟฟ้าในสัดส่วน 50-50 กับบุหรี่ปกติ แล้วนะครับ

High-flow nasal canula เราจะใช้กับอะไร

 ในช่วงโควิด เราใช้ High-flow nasal canula กันมากมาย พอโควิดน้อยลง เราจะใช้กับอะไรต่อไป

โควิดที่ต้องใช้ high flow nasal canula (hfnc) เกือบทั้งหมดเป็นปัญหาการหายใจล้มเหลวจากการขาดออกซิเจน (hypoxemic respiratory failure) เพราะการอักเสบและสารน้ำในถุงลม
ซึ่ง HFNC ใช้ได้ดีในภาวะขาดออกซิเจนนี้ เช่น ติดเชื้อรุนแรง ติดเชื้อที่ปอด น้ำท่วมปอด หลังถอดท่อช่วยหายใจ
แต่ว่าภาวะ hypercapnic respiratory failure นั้น HFNC อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก
hypercapnic respiratory failure เกิดจากการหายใจระดับถุงลมลดลง เช่น ลมค้างจากถุงลมโป่งพอง สมองไม่สั่งงานกล้ามเนื้อหายใจ ทางเดินหายใจอุดกั้นจากอ้วน ยาที่กดการหายใจหรือการมีคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น
ภาวะ hypercapnic นี้ จากกลไกของ HFNC อาจช่วยได้เล็กน้อย (จากการลด dead space) แต่ไม่ถึงขนาดจะดีขึ้นจนหายได้
และจากหลักฐานการทำ systematic review ทั้งจากการศึกษาทดลองและการเฝ้าสังเกต พบว่า การศึกษาที่นำมารวบรวม ยังไม่ใช่การศึกษาคุณภาพดี
แล้วที่มีอยู่ที่รวบรวมมา พบว่า ไม่ได้ดีไปกว่า การใช้แรงดันบวกอื่น ๆ ไม่ว่าจะ NIV หรือท่อช่วยหายใจ ข้อสังเกตคือ ผู้ป่วยที่นำมารวบรวม จะตัดผู้ป่วยที่ต้องใส่แรงดันบวกแน่ ๆ ออกไปแล้วนะครับ ดังนั้น จะไปแปลผลว่า ไม่ต่างกันคือเท่ากัน ไม่ได้
หรือแม้แต่การศึกษาในไทยของ อ.นัฐพล ฤทธิ์ทยมัย จากศิริราช ผลยังออกมาไม่ชี้ชัดว่านำมาใช้ได้ดี
ข้อสรุปตอนนี้คือ ถ้า hypercapnic respiratory failure การใส่แรงดันบวกยังมี่ที่ใช้เหนือกว่า HFNC ครับ

25 ธันวาคม 2565

ข้อมูลการกันหนาวของ CDC

 วิธีกันหนาว

ลมหนาวอันแสนทรมานมาเยือนอีกแล้ว สำหรับคนนิยมอากาศร้อนเช่นผมเอง จะลำบากเล็กน้อยเมื่อถึงฤดูหนาวแบบนี้ ตื่นมันทุกชั่วโมง นอนดิ้นไปโดนฝาผนังไม่ได้ มีสะดุ้ง อาบน้ำอย่างท้อใจที่สุด (โชคดีที่ออกกำลังกายตอนเช้า)
ส่วนตัวมีวิธีกันหนาวแหละ เคยคิดว่าเราทำถูกไหม เว่อร์ไหม ลองไปค้นหาข้อมูลดู มีข้อมูลการกันหนาวของ CDC น่าสนใจดีเลยมาเล่าให้ฟังครับ
สวมเสื้อหลายชั้น จะเป็นฉนวนได้ดีกว่าเสื้อหนาแค่ตัวเดียว และหากรู้สึกร้อนไปก็ถอดออก คืนไหนทรมานมาก ผมใส่เสื้อบอลแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อไหมพรมแล้วสวมแจ็กเก็ตทับอีกรอบ เอาอยู่ ในคำแนะนำบอกด้วยว่าอย่าให้ขยับตัวยาก เวลานอนจะอึดอัดไม่สบาย และอย่าสวมจนรัดแน่น การไหลเวียนโลหิตไม่ดี การถ่ายเทความร้อนไม่ดี จะยิ่งแย่ลง
สวมถุงมือถุงเท้า หลอดเลือดผิวหนัง เส้นประสาท ต่อมเหงื่อ จำนวนมากมายมหาศาลที่มือและเท้าหากเทียบกับพื้นที่ผิว จะเกิดการสูญเสียความร้อนมากมาย หากเราสวมถุงมือและถุงเท้าจะช่วยลดการสูญเสียนี้ได้มาก ร่างกายจะอบอุ่นขึ้น ผมก็สวมถุงเท้านอนนะ อุ่นมาก แต่ถุงมือไม่ค่อยสวมเพราะอ่านหนังสือแล้วพลิกหน้ายาก ยกเว้นหนาวจริง ๆ ก็สวมถุงมือฝ้ายธรรมดานี่แหละครับ
อย่าให้เสื้อผ้าชื้นหรือเปียก บางทีเราลุกไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำ ก็อาจชื้นเปียกได้ มันจะทำให้การกักกันความร้อนลดลงมาก แถมน้ำที่ชื้นเปียกก็ทำให้เราเสียความร้อนมากขึ้นอีก ดังนั้นถ้าเปียกให้เปลี่ยนเอาเสื้อผ้าแห้งมาสวมแทน ทางที่ดีอย่าเปียก
สวมหมวก ไม่ว่าจะหมวกอะไร ช่วยลดการสูญเสียความร้อนที้งนั้น ระบบไหลเวียนเลือดที่หนังศีรษะถี่มาก สังเกตเวลาหัวแตก แผลนิดเดียวเลือดทะลักเลยนะครับ ดังนั้นถ้าใช้ฉนวนคลุมหัวได้ จะอุ่นมาก ผมใช้หมวกไหมพรมครับ อุ่นมาก เคยใช้หมวกอาบน้ำด้วยนะ แต่มันหลุดง่าย
หาเครื่องดื่มอุ่น ๆ ใส่กระบอกเก็บความร้อนไว้จิบ อันนี่เพิ่ม core temperature กันเลยทีเดียว เวลาเราวัด core temperature เราก็ใส่ตัววัดที่หลอดอาหารนี่ก็ได้ง่ายดี อยู่ใกล้หลอดเลือดใหญ่ใกล้หัวใจ ส่งความร้อนถึงที่เลย ใส่ชาผลไม้หอม ๆ ก็เข้าทีนะครับ กลิ่นอาโรมา ทำให้สบาย ชอบชากุหลาบมาก
กระเป๋าน้ำร้อน อุปกรณ์แบบคลาสสิก ถ้าจะใช้ก็ระวังผิวไหม้ แนะนำให้ห่อด้วยผ้าขนหนูก่อนจะนำมาซุกที่ตัวเรา ถึงกระนั้นก็ยังต้องระวังผิวไหม้ด้วยนะ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วยอัมพาตที่ความรู้สึกรับรู้ลดลง หรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย สำหรับผม อันนี้ไม่เคยใช้เลยครับ น้ำร้อนที่บ้านมีไว้ชงชา กาแฟ ใส่บะหมี่
ห่มผ้า อันนี้สำคัญมากครับ ลดการสัมผัสระหว่างอากาศเย็นกับความอุ่นของตัวเรา ไม่ใช่แค่ตอนจะนอน เวลานั่งทำงานก็คลุมตัว คลุมตัก อันนี้ก็อุ่นได้มากครับ แต่ผ้าห่มเป็นอีกหนึ่งแหล่งเก็บฝุ่นและไรฝุ่นที่สำคัญ ต้องขยันสะบัด ซักตาก ผมชอบหมอนผ้าห่มมาก ขอยกมือให้รางวัลโนเบลกับคนคิดผลงานนี้ ทรงคุณค่ากับมวลมนุษย์จริง ๆ หนุนก็ได้ กอดก็ได้ ห่มก็ได้ เขวี้ยงหน้าคนที่ไม่ชอบก็ได้ ของผมเป็นหมอนรูปตัวการ์ตูนบาปาปาป้า (มีใครทันไหม)
ถ้ามีทุกอย่างเหล่านี้ครบ ไม่ต้องมีคนข้าง ๆ ไว้กอดก็ได้ครับ
เมอรี่คริสตมาส์นะครับ

23 ธันวาคม 2565

น้ำท่วมปอด

 คำถาม : หมอครับ อะไรคือ น้ำท่วมปอด ครับ

วันนี้มีคนถามแบบนี้สองคนเลย ผมขออธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ แบบนี้นะครับ
1. น้ำท่วมปอด (pulmonary edema) หมายถึงมีสารน้ำออกมาจากหลอดเลือด แล้วมาค้างอยู่ในเนื้อปอดและถุงลม เหมือนฟองน้ำชุ่มน้ำครับ
2. สับสนมากกับน้ำในเยื่อหุ้มปอด อันนั้นเนื้อปอดมักจะปกติ เหมือนยัดลูกโป่งใส่น้ำลงไปในกระเป๋าเสื้อผ้า พื้นที่จำกัด ถุงน้ำก็จะเบียดเสื้อผ้าปกติไปอัดรวมกันมุมนึง
3. น้ำท่วมปอด หรือฟองน้ำชุ่มน้ำ จะชุ่มด้วยสารน้ำ สารการอักเสบ น้ำเหลือง เลือด ก็ชุ่มเหมือนกัน พื้นที่ของลมจะลดลง หมายถึง ออกซิเจนและการแลกเปลี่ยนแก๊สมันก็ทำไม่ได้
4. อันตรายคือ แลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้ ร่างกายจะขาดออกซิเจน ช็อก ต้องออกแรงหายใจมาก เหนื่อย หายใจล้มเหลว หัวใจทำงานมากจนแย่ลง
5. แล้วมันชุ่มน้ำได้อย่างไร แบ่งออกง่าย ๆ สองอย่างคือ จากหัวใจ (เกือบทั้งหมดคือหัวใจล้มเหลว) และเหตุที่ไม่ได้เกิดจากหัวใจ
6. เหตุจากหัวใจก่อน เพราะพบมากสุด ก็หัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดก็ค้างที่ปอดมาก ขยายตัวไม่ดี เลือดจากปอดก็ลงหัวใจไม่ได้ แรงดันเลือดที่ปอดจึงสูงมาก จนดันสารน้ำออกมาอยู่ในถุงลม
7. เหตุนอกเหนือจากหัวใจเช่น ติดเชื้อโควิดรุนแรง มีการบาดเจ็บและอักเสบที่ถุงลมมาก มากจนเยื่อที่กั้นสารน้ำจากหลอดเลือดมันพัง สารน้ำและสารอักเสบก็ทะลักมาในถุงลม
8. หรือเหตุอื่น ๆ นอกปอด เช่นไตวายเฉียบพลัน ขับน้ำไม่ออก น้ำคั่งในหลอดเลือดมาก จนทะลักออกมา (แต่ต้องเป็นเยอะนะ เพราะหัวใจยังพอปั๊มได้ แต่เป็นนาน ๆ หัวใจก็พาลแย่ด้วย)
9. การวินิจฉัย ต้องใช้อาการเหนื่อย เหมือนจมน้ำ อาการตามโรคสาเหตุ ตรวจร่างกายพบอาการของน้ำท่วมปอดและโรคสาเหตุ ต้องตรวจเอ็กซเรย์ปอด บางทีต้องเอคโค่หัวใจ ต้องใส่สายสวนหลอดเลือดแดงปอด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ความรุนแรง สาเหตุและการพยากรณ์โรค
10. รักษาตามอาการ ส่วนมากต้องให้แรงดันบวกเพื่อเข้าไปทางการหายใจ เพื่อเพิ่มแก๊สไปแลกเปลี่ยน และดันน้ำไม่ให้ไหลออกมา คือบีบน้ำจากฟองน้ำแล้วเป่าลมเข้าไป จะใส่ท่อหรือหน้ากาก แล้วต่อเครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก แต่ถ้าหายใจยังไหว น้ำท่วมปอดไม่มาก จะยังไม่ต้องช่วยหายใจ รุนแรงมากก็ ECMO
11. รักษาสาเหตุ เช่น หัวใจวายก็รักษาใจ ไตวายก็รักษาไต ติดเชื้อก็ฆ่าเชื้อ ตับอ่อนอักเสบก็รักษา ถ้าไม่รักษาสาเหตุ จะไม่หายหรือกลับมาเป็นอีก เปิดน้ำใส่ฟองน้ำแล้วคอยบีบน้ำออก เท่าไรก็ไม่แห้ง
12. น้ำท่วมปอดถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางอายุรกรรม และหากน้ำท่วมปอดรุนแรง ถือเป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนในเวชบำบัดวิกฤต
น่าจะพอเห็นภาพนะครับ

21 ธันวาคม 2565

ไม่ควรกินเหล้าแก้หนาว

 ไม่ควรกินเหล้าแก้หนาว

อธิบายสั้น ๆ แล้วกัน
1.แอลกอฮอล์ปริมาณน้อยถึงปานกลาง จะมีสมบัติขยายหลอดเลือดส่วนปลายรวมทั้งหลอดเลือดใต้ผิวหนัง นั่นคือ จะเสียความร้อนจากร่างกายมากขึ้น
2. ผลของข้อหนึ่ง ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง (อันนี้มีการศึกษายืนยันมากมาย)
3. แอลกอฮอล์ยังไปลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ จากลดประสาทอัตโนมัติ ความดันยิ่งลดลง
4. แม้จะมีกระบวนการเพิ่มอัตราชีพจรเพื่อเพิ่มความดัน แต่ผลของข้อสองและสามมันแรงกว่า
5. แอลกอฮอล์ไปทำให้ระบบประสาทส่วนกลางถูกกด มึนเมา การรับรู้สติและการประมวลผลลดลง ทำให้ตัวเองไม่สามารถไปหาความอบอุ่น หรือแก้ไขให้ร่างกายดีขึ้นได้
6. ผลจากข้อห้า ทำให้ปกป้องความหนาวไม่ได้ สูญเสียความร้อนมากขึ้น หัวใจบีบน้อยลง ความดันต่ำลง จึงเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
7. แอลกอฮอล์ปริมาณมากอาจจะกลับมากระตุ้นการบีบตัวหลอดเลือดได้ แต่ร่างกายจะเสียหายไปก่อนหน้านี้แล้ว และสมองจะมึนงงมาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ดีเลย
8. คนที่จะเกิดเหตุแบบนี้ จะเป็นคนที่มีการเผาผลาญแอกอฮอล์ได้ผิดปกติ เชื่อว่าเกิดจาก ความผิดปกติของยีนที่ควบคุมเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase บกพร่อง
9. แต่เราไม่ได้ทราบสถานะของยีนตัวนี้นี่นา โดยรวมเลยจึงไม่แนะนำดื่มเหล้าแก้หนาว และไม่มีกลไกใดไปทำให้ร่างกายอุ่นขึ้นเลย
10.แต่ดื่มเราแก้หนาวแทนได้นะ ฮิ้ววว

นมเปรี้ยว

 ดื่มนมเปรี้ยวแล้วเป่าแอลกอฮอล์ไม่ขึ้น ทำดังนี้

1. อ่านฉลากนมเปรี้ยวก่อน ว่ามีน้ำตาลกี่เปอร์เซนต์ และพลังงานเท่าไร
2. ดื่มนมเปรี้ยวจนหมดขวด แนะนำขวดเล็ก จะไม่ได้พลังงานมากเกินไป
3. สังสรรค์ตามปกติ แต่อย่าเพิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4. พอจังหวะจะกลับบ้าน ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง เมื่อเข้าด่านเป่าแอลกอฮอล์ ให้เป่าเลย รับรองไม่ขึ้น
5. เมื่อกลับถึงบ้าน สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ ไม่เกินหนึ่งดื่มมาตรฐานในสตรี และสองดื่มมาตรฐานในบุรุษ
แค่นี้ก็เรียบร้อย
บทความนี้สอนให้รู้ว่า นมเปรี้ยวมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่านมสดหรือนมกล่อง และมีน้ำตาลสูงกว่าด้วย จะดื่มต้องคิดพลังงานดี ๆ และดื่มแต่น้อย
อีกอย่างคือ ถ้าจะขับ อย่าดื่ม ถึงไม่ขับ ก็ไม่ควรดื่ม และถ้าดื่ม ยังไงก็ตรวจเจอจ้ะ

20 ธันวาคม 2565

วัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกตัวไหนดี

 คำถาม : พี่คะ ฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกตัวไหนดีคะ (จะได้เตรียมเงินให้คุ้มค่าค่ะ)

น้องสุภาพสตรีท่านนี้ มีความคิดที่ดีมากนะครับ หนึ่งปัจจัยที่ต้องคิดเวลาเลือกป้องกันก่อนเกิดโรค คือ ความคุ้มค่า ทั้งประโยชน์ ผลข้างเคียงและราคา
วัคซีนเก้าสายพันธุ์ ครอบคลุมเชื้อได้มากกว่าแน่ล่ะ และครอบคลุมเชื้อก่อโรคหูดมากขึ้นด้วย แลกมาด้วยราคาที่สูงกว่า 2-3 เท่า ประเด็นคือเชื้อที่ครอบคลุมมากกว่า นอกเหนือจากสายพันธุ์ 16 และ 18 มีส่วนในการก่อมะเร็งปากมดลูกก็จริง แต่ยังนับว่าเป็นปัจจัยรอง ปัจจัยหลักใหญ่สำคัญคือ 16 กับ 18 ต้องครอบคลุม
การศึกษาของเก้าสายพันธุ์ พบว่า ระดับภูมิของสายพันธุ์ที่เพิ่มเข้ามา เพิ่มสูงกว่าจริงและมีการติดเชื้อ HPV ในสายพันธุ์นั้นน้อยกว่าจริง แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึง อัตราการเกิดมะเร็งลุกลาม หรือมะเร็งระยะต้นที่ลดลงได้ (ต้องรอเวลานานกว่านี้) ส่วนประสิทธิภาพของการป้องกันสายพันธุ์ 16 และ 18 ไม่ว่าจะชนิดสอง ชนิดสี่ ชนิดเก้าสายพันธุ์ ถือว่าไม่ต่างกันครับ
ส่วนสี่สายพันธุ์ จะเพิ่ม 6 กับ 11 เข้ามาด้วย สามารถลดโอกาสเกิดโรคหูดและมะเร็งทวารหนักได้เพิ่มขึ้นมา และสามารถใช้ในเด็กชายได้
▪ดังนั้น หากไม่ติดขัดเรื่องราคาก็เก้าสายพันธุ์
▪ถ้างบจำกัดแล้วหวังผลเรื่องมะเร็งปากมดลูก จะสองหรือจะสี่ก็ได้ครับ
▪แนะนำฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ อายุ 9-23 ปี ในเด็กสามารถฉีดสองเข็มได้ด้วย รัฐบาลให้ฟรีในเด็กหญิง ป.5 (สองสายพันธุ์)
▪ถ้าผู้ชาย แนะนำเก้าหรือสี่ (เก้าแพงสุด สี่สายพันธุ์รองลงมา)
แต่ถึงจะฉีดแบบไหน ก็ยังต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกและไวรัส HPV นะครับ

18 ธันวาคม 2565

Metformin ยังไปต่อได้ไหมใน ADA 2023

 Metformin ยังไปต่อได้ไหมใน ADA 2023

ท่ามกลางหลักฐานถาโถมราวพายุของ SGLT2i และ GLP1a ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการลดน้ำตาลที่สูงมากของ GLP1a การช่วยลดน้ำหนักตัวของ GLP1a การปกป้องไตและลดโรคหัวใจของ SGLT2i
เรามาดูแนวทางของ ADA สมาคมแพทย์โรคเบาหวานอเมริกาที่ขยันออกแนวทางทุกต้นปี นั่นคือทบทวนหลักฐานใหม่ ๆ ทุกปีที่ออกมาใหม่ตลอดนั่นเอง แนวทางได้ปรับตามแนวทางการรักษาและหลักฐานยุคปัจจุบัน ที่แตกต่างจากสมัยก่อนที่แนะนำ metformin ก่อนถ้าไม่มีข้อห้าม หลังจากนั้นเพิ่มยาตัวที่สองตามประโยชน์แห่งยานั้น
แต่ในแนวทางนี้ จริง ๆ ก็เริ่มเห็นตั้งแต่ปีที่แล้ว การเลือกยาเบาหวานจะเล็งไปที่ประโยชน์แห่งผู้ป่วยก่อน คือ หากมีประโยชน์อื่นจากยา หรือรักษาความเสี่ยงอื่นของเบาหวานได้ด้วย จะแนะนำยานั้นก่อน และก่อน metformin อีกด้วย เช่นหากมีหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ยาที่ใช้จะเป็น SGLT2i ก่อนยาตัวอื่น
หากไม่มีประโยชน์อื่น (compelling indication) ก็จะเลือกที่ประสิทธิภาพการลดน้ำตาล ความสะดวกการใช้ยา ราคายา (แต่ในประเทศเราอาจคำนึงเรื่องนี้ก่อน)
เอาล่ะแล้ว metformin ล่ะจะยังใช้ได้ไหม ด้วยประสิทธิภาพการลดน้ำตาลที่สูง ไม่เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ราคาถูกมาก ไม่ส่งผลกับน้ำหนักตัว และลดโรคหลอดเลือดได้พอสมควร ผลข้างเคียงนับว่าน้อยมาก (พบบ่อยคือ คลื่นไส้อาเจียน) metformin จึงยังเป็นตัวเลือกลำดับต้นเสมอ
▪ถ้าไม่มีโรคร่วมอื่นหรือเริ่มรักษา การเริ่มด้วย metformin เป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว หรือจะเป็น metformin ร่วมกับยาอื่นก็ยังได้
▪ถ้าไม่มีข้อห้ามใด สามารถใช้ Metformin คู่กับยาตัวที่สอง หรือใส่กับยาตัวที่สามได้
▪ถ้ามีโรคร่วม การให้ metformin ร่วมกับยาตัวแรก ไม่ว่าจะเริ่มให้ตั้งแต่ต้นหากระดับน้ำตาลสูงมาก ฟรือให้เพิ่มถ้าใช้ยาหลักไปแล้วระดับ HbA1c ไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าไม่มีข้อห้าม ให้ใช้ metformin ร่วมกับยาหลักได้ ไม่ว่าจะเป็น SGLT2i ไม่ว่าจะร่วมกับ insulin หรือ GLP1a
ถ้าเรามาพิจารณา แนวทางการใช้ metformin ของ ADA จะเห็นว่าไม่ได้ลดระดับการใช้ metformin แต่อย่างใด เพียงแต่ SGLT2i และ GLP1a แสดงหลักฐานออกมาได้ทรงพลังเทียบเท่า metformin หรือมากกว่าด้วยซ้ำในบางแง่มุม จึงกล่าวไม่ได้ว่า จะไม่ใช้ metformin เป็นยาตัวแรก
สำหรับผมแล้ว ซึ่งอาจไม่ตรงหลักฐานเสียทีเดียว ผมยังยกให้ metformin เป็นยาตัวแรกนอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว การศึกษาวิจัยยาเบาหวานรุ่นใหม่ ๆ ที่บอกว่ามีประโยชน์มากมายนั้น เกือบทั้งหมดเป็นการ "add on" บนพื้นฐานการให้ metformin ทั้งสิ้น (เพราะมาทำยุคที่มี metformin เป็นการรักษามาตรฐานไปแล้ว) นั่นคือเรายังมีข้อมูลเต็มที่ว่าการให้ metformin ในผู้ป่วยเบาหวาน (T2DM) ยังมีหลักการ มีหลักฐาน และเป็นศิลปะการใช้ยาเบาหวานที่ยัง "update" ในปัจจุบัน

17 ธันวาคม 2565

Post Exposure Prophylaxis (PEP)

 Post Exposure Prophylaxis (PEP)

คำว่า PEP มีหลายโรคนะครับ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี แต่ที่จะมาบอกคือป้องกันไวรัสเอชไอวี การศึกษาส่วนมากทำในอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำนะครับ ส่วนการสัมผัสนอกสายอาชีพ เช่น ถูกละเมิดทางเพศ ถุงยางรั่ว มีหลักฐานน้อยกว่า แต่ก็พอใช้ได้
ส่วนคนที่จะเจตนามาป้องกันหลังสัมผัส อย่าเลยครับ ป้องกันด้วยวิธีที่ดีกว่านี้จะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสวมถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง หรือการใช้ PrEP ร่วมด้วย
ตามคำแนะนำของ IAS USA 2023 แนะนำให้ใช้ยาสามตัวครับ พื้นฐานคือ integrase inhibitor + NRTI backbone ยาในบ้านเราที่หาง่าย ราคาไม่แพง (ราคาถูกลงมาก ๆ เมื่อเทียบกับก่อนโควิด) และบรรจุในแนวทางการรักษาปัจจุบันของเรียบร้อย
TAF/FTC/DTG = ชื่อการค้า KOCITAF
TDF/3TC/DTG = ชื่อการค้า ACRIPTEGA
TAF/FTC/BIC = ชื่อการค้า Biktarvy
ยาสูตรเดิมก็ใช้ได้นะถ้าไม่มีสูตรนี้เช่น raltegravir + TDF/FTC หรือ Ripivirine + TDF/FTC แล้วแต่ทรัพยากรของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง
พยายามเริ่มยาใน 72 ชั่วโมงและกินยาต่อเนื่องอย่างน้อยหนึ่งเดือน โดยยังไม่ต้องรอทราบผลการตรวจก่อน และอย่าลืมติดตามผลกับตรวจหาการติดเชื้ออื่นโดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบด้วย

สำหรับชาว LQBTQ เรื่องการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนสัมผัสโรค

 สำหรับชาว LQBTQ เรื่องการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนสัมผัสโรค

ต้องตั้งใจอ่านดี ๆ นะครับ ผมเองก็อ่านหลายทีและพยายามคิดวิธีจะนำเสนอหลายแบบไม่ให้สับสน สุดท้ายก็บรรยายนี้แหละง่ายสุด ก่อนจะไปที่แนวทาง (IAS 2023) เรามานิยามเพศที่จะใช้กันก่อนนะ
cisgender คือ เพศสภาพ ณ ตอนนี้ ตรงกับเพศสภาพแรกเกิด ความสัมพันธ์ทางเพศก็จะเหมือนเดิมคือ ผู้ชาย เป็นฝ่ายสอดใส่และเป็นฝ่ายตั้งรับทางทวารหนัก ส่วนผู้หญิงจะเป็นเพียงฝ่ายตั้งรับเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอดหรือทวารหนัก
transgender รวมคนที่ยังไม่แปลงเพศและรวมคนที่แปลงเพศแล้ว (sex re-assignment therapy) การแปลงเพศในความหมายนี้นับหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฮอร์โมนอย่างเดียว หรือทำการผ่าตัดสร้างช่องคลอดใหม่หรือองคชาติใหม่ ส่วนทวารหนักไม่จำเป็นต้องทำใหม่เพราะสามารถใช้ได้อยู่แล้ว เมื่อแปลงเพศแล้วจะใช้ชื่อว่า trans-sexual ก็ได้เช่นกัน
▪Transgender men คือ เพศสภาพตอนเกิดเป็นหญิงแต่ตอนนี้เป็นชาย
▪Transgender women คือ เพศสภาพตอนเกิดเป็นชาย แต่ตอนนี้เป็นหญิง
การกินยาป้องกัน จะใช้สูตรยา TDF/FTC ที่มีมานานและการศึกษามากมาย หรือจะใช้สูตรยา TAF/FTC ยา TAF จะลดผลข้างเคียงระยะยาวเรื่องการบาดเจ็บที่ไตและกระดูกพรุน หรือยาฉีด cabotegravir ชนิดออกฤทธิ์ยาวเดือนละครั้ง
☆☆ cisgender
○ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับหรือรุก สามารถใช้ TDF/FTC วันละครั้ง หรือ cabotegravir ได้ทั้งคู่
○ สำหรับฝ่ายรุก จะเลือกใช้ TAF/FTC วันละครั้ง หรือจะใช้สูตร TDF/FTC แบบ on-demand 2-1-1 ได้เช่นกัน
☆☆ Transgender men (หญิงเปลี่ยนเป็นชาย)
○ ใช้สูตร TDF/FTC วันละครั้งได้ในทุกภาวะ ไม่ว่าจะรับทางช่องคลอดหรือทวารหนัก หรือจะใช้ยาฉีด cabotegravir ได้เช่นกัน
○ เฉพาะฝ่ายรับทางทวารหนักมีตัวเลือก ใช้สูตร TDF/FTC แบบ 2-1-1 หรือจะใช้สูตร TAF/FTC วันละครั้ง
☆☆ Transgender women (ชายเปลี่ยนเป็นหญิง) กรณีนี้จะหลากหลายแบบสักหน่อยครับ
○ สูตร TDF/FTC วันละครั้ง ยังใช้ได้ทุกภาวะ ไม่ว่าฝ่ายรุก ตั้วรับทางทวารหนัก หรือตั้งรับทางช่องคลอดใหม่
○ ยาฉีด cabotegravir ก็ใช้ได้กับเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ (หลักฐานหนักแน่นนน้อยกว่า TDF/FTC)
○ ยาสูตร TDF/FTC แบบ 2-1-1 หรือ TAF/FTC กินทุกวัน สามารถใช้ได้กับฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับทางทวารหนักเท่านั้น
▪การกินยาสูตรวันละครั้ง จะกินยาสองเม็ดในวันแรก (อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์)หลังจากนั้นกินวันละเม็ดต่อเนื่อง จนกว่าจะหมดช่วงมีเพศสัมพันธ์ และกินต่อไปอีกอย่างน้อยสองวัน
▪การกินสูตร on-demand จะกินสองเม็ดก่อนมีเพศสัมพันธ์ภายในหนึ่งวัน ต่อจากนั้นหลังมีเพศสัมพันธ์อีกสองวัน วันละหนึ่งเม็ด แบบนี้เหมาะกับการมีเพศสัมพันธ์แบบครั้งคราวและระบุเวลาได้ชัดเจน
▪การฉีดยา cabotegravir จะฉีดเข้ากล้ามหนึ่งเดือนก่อนคาดหวังจะมีเพศสัมพันธ์ และต่อเนื่องไปทุกเดือน เดือนละเข็ม จะเห็นว่าต้องวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ที่แน่นอนพอควร
▪ถึงแม้ใช้ยา Prep ก็ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง โดยเลือกถุงยางใช้ทางช่องคลอดและถุงยสงใช้ทางทวารหนักให้เหมาะสม
▪การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือใช้อวัยวะอื่นนอกจากอวัยวะสืบพันธุ์ ตามทฤษฎีแล้วถ้าส่วนของร่างกายนั้นไม่มีแผล โอกาสติดน้อยมาก แต่ไม่ใช่ศูนย์เปอร์เซนต์ อาจประยุกต์ใช้ prep ได้เช่นกัน
ถ้าไม่มั่นใจหรือสงสัยแนะนำคุยกับคุณหมอใกล้บ้านนะครับ



292
จำนวนการมีส่วนร่วม

12 ธันวาคม 2565

น้ำเงินแท้ นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกอีกเรื่อง

 น้ำเงินแท้ นิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกอีกเรื่อง

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อน นิยายอิงประวัติศาสตร์ย่อมเกิดจากมุมมองและหลักฐานของผู้เขียน ดังนั้นการอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์เราก็จะไม่เพ่งพิจารณาถึงเนื้อหาความถูกต้องแม่นยำในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่ามันจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตามที
น้ำเงินแท้ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของวินทร์ เลียววารินทร์ ตามมาจากเรื่องราวการเมืองไทยหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 ในเรื่องประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เรื่องราวสองเสรีไทยและสงครามโลกครั้งที่สองในเรื่องปีกแดง จนมาเรื่องราวของนักโทษการเมืองในช่วงกบฏบวรเดชในเรื่องน้ำเงินแท้
ทั้งสามเรื่องมีความคาบเกี่ยวกัน มีฉากทางประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกัน และมีบุคคลและเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่เหมือนกัน แค่เขียนบอกเล่าในมุมมองที่ต่างกัน
เรื่องราวของนักหนังสือพิมพ์หนุ่มต้นแสง ที่มีแนวคิดก้าวหน้าแต่ยังลังเลไม่เข้าร่วมกับคณะราษฎร เมื่อคณะราษฎรทำการสำเร็จและขึ้นสู่อำนาจ ทำให้ต้นแสงถูกอำนาจทางการเมืองและเรื่อง "ส่วนตัว" กับผู้มีอำนาจทางการเมืองขณะนั้น สร้างหลักฐานจนทำให้เขาต้องเข้าคุกในฐานะนักโทษการเมือง
เรื่องราวบอกถึงความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในคุกในสมัยนั้น การดำรงชีวิตในคุกที่ต่างจากนักโทษคดีทั่วไป ที่แม้สบายกว่าแต่ถูกเกลียดชังถึงกระดูกดำ ความเกลียดชังและอคติทั้งหลายทำให้คนเรามองคนเป็นศัตรูและมุ่งจะทำลายเพียงเพราะความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน แม้แต่ในคุกที่นักโทษทุกคนไม่มีอิสรภาพเหมือนกัน
ชีวิตในคุกได้พบพานเพื่อนใหม่ ได้รับรู้ความจริงที่จะไม่ได้รับรู้หากอยู่ด้านนอก คุณวินทร์ได้ใช้วิธีเขียนแบบการคุยกันด้วยความเห็นต่าง ในสถานการณ์ที่ต้องยอมรับชะตากรรม ว่าสุดท้ายเราเป็นคนเหมือนกันเพียงแต่คิดต่างกัน
หรือแม้กระทั่งความเห็นใจกันเมื่อถึงวันที่อีกฝ่ายต้องเดินสู่แดนประหาร ด้วยความเห็นต่างทางการเมืองที่เล่นกันถึงตาย (ในยุคนั้น)
โลกของความคิดทางการเมืองอีกด้านหนึ่ง ได้เห็นคนที่มีอำนาจเข้ามาอยู่ในคุกเมื่อลมทางการเมืองพัดเปลี่ยนทิศทาง เมื่อคนที่เห็นต่างกันต้องมาประสบชะตากรรมเดียวกันในที่เดียวกัน เช่น คุกนักโทษการเมืองตะรุเตา ที่ต้องการส่งผู้เห็นต่างไปสุดหล้าฟ้าเขียว เมื่อทุกคนต้องดิ้นรนดำรงชีวิตอยู่เหมือนกัน เมื่อนั้นความเชื่อทางการเมืองจะยังมีอิทธิพลกับพวกเขาอยู่หรือไม่
ความทุกข์แสนสาหัสของผู้ที่ต้องประสบชะตากรรมจากความคิดต่างทางการเมือง ทำให้ต้องติดคุกคลอดชีวิต ประหารชีวิต จนครอบครัวต้องล่มสลาย คนรักแยกจากกัน พ่อแม่ที่ตรอมใจตาย ลูกที่ไม่มีโอกาสไปดูใจพ่อแม่ เพื่อนฝูงที่ไม่อยากติดร่างแหไปด้วยหากเพียงพูดคุยทักทายตามประสาเพื่อน
เรื่องราวของการทำปทานุกรมของสอ เศรษฐบุตร เรื่องจริงที่คุณวินทร์ได้แทรกเรื่องทางการเมืองเข้าไปเป็นรสชาติของนิยายได้อย่างลงตัว เรื่องการเขียนตำรับตำราทางการเกษตรของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร เรื่องจริงที่ผสานนิยายอย่างลงตัว เรื่องราวการต้องโทษของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่บอกว่าสุดท้ายทุกคนก็อาจประสบชะตากรรมได้เช่นเดียวกัน
หลายคนบอกว่าเป็นนิยายทางการเมือง มาแนะนำแบบนี้จะมีทั้งคนชอบและคนเกลียด แต่ผมอยากให้ทุกคนลองมองข้ามเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะมันมีหน้าที่เพียงฉากดำเนินเรื่องเท่านั้น
อยากให้ลองเสพเรื่องราวของความทุกข์ใจ ชีวิตไร้ความหวังในคุก แสงสว่างในการดำรงชีวิตเมื่อเราไร้สิ้นซึ่งวิญญาณ เป็นนิยายที่คนสิ้นหวัง หมดแรงใจ น่าจะได้อ่าน คุณจะได้รู้ว่า แม้มุมมืดที่สุดในชีวิต ก็ยังมีแสงสว่างให้เดินและหวังต่อไป
วิธีการเขียนและเล่าเรื่องของคุณวินทร์ที่กลมกล่อม ผูกเรื่องราวได้น่าติดตาม การเว้นวรรคการเล่าเรื่องที่ลงตัว การนำฉากประวัติศาสตร์มาประกอบเรื่องเล่าที่เด็ดจริง ๆ
ใครหานิยายอ่านปีใหม่ ก็อย่าพลาดครับ



11 ธันวาคม 2565

Antioxidant กับ ความเสี่ยงโรคหัวใจ

 Antioxidant กับ ความเสี่ยงโรคหัวใจ

วารสาร Journal of the American College of Cardiology ลงการศึกษาเรื่องที่น่าสนใจอันหนึ่งที่มีความหมายระหว่างบรรทัดมากมาย เรามาดูภาพแบบประชาชนทั่วไปนะครับ (วารสารฉบับเต็มซื้อได้ที่เว็บไซต์ และบทวิจารณ์ต่าง ๆ ในหลาย ๆ ที่)
เราเห็นภาพนี้แสดงให้เห็นว่าแอนตี้ออกซิแดนท์ ในสารอาหาร micronutrient หมายถึงสารอาหารที่ไม่ได้ให้พลังงานหลัก เราต้องการในปริมาณไม่มาก แต่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่นวิตามิน เกลือแร่ โปรตีนช่วยการทำงานต่าง ๆ
สารนี้บางส่วนมีสมบัติแอนติออกซิแดนท์ ตามสมบัติทางชีวเคมี ที่เราเชื่อว่าลดอาการและโรคหลายชนิด ตารางนี้มาจากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยแบบ RCT คือการทดลองในคน ว่าแต่ละสารมีสมบัติอย่างไร ลูกศรขึ้นคือ เพิ่มความเสี่ยง ลูกศรลงคือลดความเสี่ยง วงกลมคือ เท่า ๆ เดิม
ส่วนสีในช่องคือระดับความหนักแน่นของหลักฐาน สีฟ้ามาจากงานวิจัยคุณภาพดี สีเขียวก็รองลงมา สีดำคือคุณภาพไม่ดีนัก ส่วนสีม่วงคือหนักแน่นน้อยมาก การที่ต้องมีหลายระดับเพื่อแสดงว่าการรวบรวมนี้ไม่มีอคติ คัดมาหมดไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ไม่โน้มเอียงคัดมาแต่ที่ดี ๆ หรือผลบวกแล้วมาเหมาสรุปอย่างที่ผู้ทำวิจัยต้องการ
เรามาดูภาพรวม ส่วนมากเป็นวงกลมสีเขียว คือ ไม่ได้มีผลดีและเสีย ด้วยหลักฐานความน่าเชื่อปานกลางเท่านั้น บอกเราว่าก็อย่าไปคาดหวังว่ากินแอนติออกซิแดนท์แล้วจะดีจะช่วยอย่างมาก
ในสารอาหารที่ลดความเสี่ยง (ที่มีไม่มาก) มาจากหลักฐานที่คุณภาพหลักฐานไม่ดีนัก อาหารที่เพิ่มความเสี่ยงก็มาจากหลักฐานที่ไม่ดีนักเช่นกัน ตรงนี้ต้องเข้าใจว่างานวิจัยเรื่องอาหารต่อสุขภาพ มันจะมีตัวแปรปรวนมากมาย โดยเฉพาะการตอบสนองแต่ละบุคคลที่อาจจะมีปัจจัยพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง ,โรคร่วมของแต่ละคน ,การรักษาอื่น ๆ
การศึกษานี้บอกเราว่าสารอาหารพวกนี้มันก็มีประโยชน์นะ (ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วแหละ) และเราก็จะเพิ่มประโยชน์ของสารอาหารพวกนี้ไปอีกข้อ เติมจากที่เราเรียนมา คือ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจด้วย ..ย้ำ..ลดความเสี่ยง ไม่ใช่ลดโรคหัวใจ
เอาล่ะ ... สิ่งที่เราได้ในฐานะประชาชนคือ การกินอาหารหลากหลายโดยรวมที่มีสารอาหาร micronutrient ครบถ้วน มีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ไม่ได้มีสารอาหารตัวใดเพิ่มหรือลดปัจจัยเสี่ยงอย่างชัดเจนสุดทาง
การเสริมสารอาหารเพียงชนิดเดียว แม้จะเลือกเอาที่ลดความเสี่ยงชัด ๆ ยกตัวอย่างเช่น โฟลิก มีหลักฐานชั้นดีว่าลด LDL แต่ผลอันอื่นก็ไม่ได้หนักแน่นนัก และผลของการลด LDL เราจะแปลผลไปถึงลดอัตราตายหรือลดโรคหัวใจไม่ได้ แปลได้แค่ว่า ลด LDL ที่เราเรียกผลแบบนี้ว่า surrogate สำหรับงานวิจัย
Surrogate คือ ผลตรงกลางที่ยังไม่ใช่ผลปลายทาง เช่นการลด LDL ของโฟลิก ยังไม่ได้แปลว่าโรคหัวใจจะลดลงจากโฟลิก เพราะงานวิจัยเขาไม่ได้วัดผล "โรคหัวใจที่ลดลง" วัดแค่ "LDL" ที่ลดลง ซึ่งโรคหัวใจอาจจะไม่ลดลงก็ได้ เพราะไม่ได้ไปคุมปัจจัยอื่นด้วยนี่นา
เราอาจลองเทียบกับยาลดไขมัน ที่ไม่ได้วัดผลแค่ลดไขมัน แต่ยังมีวิธีการวัดผลลดอัตราตายจากโรคหัวใจโดยตรงในงานวิจัยนั้น ๆ อย่างชัดเจน ไม่ได้เกิดจากการตีความเหาะเหินเกินลงกา
จากบทวิจารณ์หลาย ๆ ผู้เชี่ยวชาญ (ต้องฟังพวกเขาสักหน่อยนะครับ) ก็สรุปว่า การศึกษานี้สอดคล้องและอธิบานแนวทางอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจ "ที่เคยมีเดิมอยู่แล้ว" เช่นอาหารเมดิเตอเรเนียน เช่นอาหารที่มีผักผลไม้สูง อาหารที่ลดไขมันอิ่มตัว ที่เราแนะนำมาสักพักแล้ว
และสนับสนุนการใช้อาหารที่สารอาหารครบถ้วนตามแนวทางโรคหัวใจในปัจจุบันครับ
An P, Wan S, Luo Y, et al. Micronutrient Supplementation to Reduce Cardiovascular Risk. J Am Coll Cardiol. 2022 Dec, 80 (24) 2269–2285.

บทความที่ได้รับความนิยม