31 มกราคม 2567

เป็นผู้ป่วยวัณโรค จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

 คำถาม : เป็นผู้ป่วยวัณโรค จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

1.ควรแยกห้องนอน หรือถ้าแยกหมดไม่ได้ ก็ควรแยกจากผู้สูงวัยและเด็กอ่อน
2. ไม่ควรเข้าไปในสถานที่พื้นที่ปิด เช่น โรงภาพยนตร์ รถโดยสารปรับอากาศ
3.บ้วนเสมหะและน้ำลายลงกระดาษชำระและเก็บในภาชนะปิดฝา ใช้การเผาทำลาย หรือเก็บใส่ถุงขยะติดเชื้อส่งหน่วยงานรับกำจัดขยะ
4.หลายคำแนะนำให้บ้วนเสมหะลงชักโครกได้ (แต่ถ้าบ่อย ๆ ก็จะเปลืองน้ำมาก)
5.ผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนกว่าจะไม่แพร่กระจายเชื้อ
การควบคุมเชื้อนี้โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์หลังจากกินยาวัณโรคสูตรมาตรฐาน แต่ถ้าเป็นเชื้อดื้อยา หรือ สูตรยาพิเศษ อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น ตามแต่ทีมควบคุมการติดเชื้อกำหนด
หรือเมื่อตรวจเสมหะได้ผลเป็นลบ (AFB negative)
ภาพ วัณโรคปอดชนิดเสมหะพบเชื้อ ที่ปอดกลีบซ้าย ได้ยารักษาสูตรมาตรฐาน เมื่อครบสองเดือน ผลเสมหะเป็นลบ อาการดีขึ้น ภาพเอ็กซเรย์ปอด ดีขึ้นเกือบสนิท

29 มกราคม 2567

การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพ

 การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพ มันทรงพลังมากนะครับ

วันก่อนไปตัดผมที่ร้านแห่งหนึ่ง ช่างเป็นชายหนุ่มอายุประมาณ 30 ปี ท่าทางการตัดไม่ได้คล่องแคล่วมากนัก โดยเฉพาะมือขวา ช่างตัดผมเดินไม่ราบรื่นเท่าไร จากสายตาผม ทราบได้ว่านี่คือท่าเดินของคนที่มีปัญหาระบบประสาท น่าจะเป็นส่วนสมอง
ที่คอ มีรอยแผลเป็นการเจาะคอ
ช่างใช้เวลานานกว่าปกติ ไม่ได้เชื่องช้า แต่ทำอย่างปราณีต งานละเอียดเขาใช้กล้ามเนื้อหลายมัดช่วยทำ สุดท้ายออกมาดูดีทีเดียว
ช่างประสบอุบัติเหตุ นอนติดเตียงอยู่สองสามปี ต้องเจาะคอ อ่อนแรงซีกขวา แต่ทำกายภาพบำบัดจนกลับมาเดินได้ทำงานได้ ด้วยความอดทนของคนไข้ และความร่วมมือของญาติ
ช่างไปฝึกอาชีพเรียนตัดผม เพื่อจะได้ทำงานที่บ้านได้ จนจบวิชาตัดผม มาเปิดร้านตัดผมชาย คู่กับพี่สาวที่เปิดร้านเสริมสวยข้าง ๆ กัน สามารถทำมาหากินได้ แถมยังทำสวนผลไม้หลังบ้านด้วย
ฝึกกล้ามเนื้อ-มีรายได้-ไม่เป็นภาระ
ไปค้นดูการศึกษา ก็พบว่าการกายภาพบำบัดมีส่วนสำคัญมาก สำหรับผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง
ยิ่งทำเร็ว ยิ่งฟื้นฟูสภาพได้ดีและการพยากรณ์โรคดี ต้องเน้นนะครับ ผู้ป่วยระยะใด ก็กายภาพบำบัดได้ แต่จะกายภาพส่วนใดหรือวิธีอะไร ให้ปรึกษาคุณหมอและทีมกายภาพมาช่วยเรา เพื่อไม่ให้เสียโอกาส
การพยากรณ์โรคที่สำคัญอีกอย่างคือ อายุ ยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องทำ เพื่อฟื้นฟูได้ดีและอย่าลืมว่าเขาต้องมีชีวิตอีกยาวนาน การไม่เป็นภาวะพึ่งพาจึงสำคัญมาก
สุดท้ายคือความเสียหายต่อระบบประสาท หากเสียหายไม่มาก โอกาสฟื้นฟูสภาพยิ่งสูง จึงต้องรีบทำ อย่ารอ อย่าละเลยครับ
ภาพนี้ถ่ายจากโต๊ะรอลูกค้าหน้าร้าน เป็น open air ร่มรื่น ก็นั่งทำงานรอคิวครับ
อยากบอกว่าพลังของการกายภาพมันสูงมาก อย่าละเลย อย่าย่อท้อครับ จากชายหนุ่มอุบัติเหตุติดเตียงเจาะคอ มาเรียนช่างตัดผม มาประกอบอาชีพ สุดไหมล่ะครับ
ที่อยู่ร้าน

28 มกราคม 2567

ร้านหนังสือ world at the corner

 เรื่องที่เขียนจากความทรงจำ : ร้านหนังสือ world at the corner

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบคือการได้ไปเยือนร้านหนังสืออิสระ นอกเหนือจากความชอบอ่านหนังสือและรักร้านหนังสือเป็นการส่วนตัว การได้ไปเยือนคนที่ทำร้านหนังสือ สร้างร้านด้วยความชอบ ขายหนังสือด้วยใจรัก ถือเป็นความสุขมาก ๆ เลย ไม่ว่าผมจะไปมุมไหนของประเทศหรือซอกหลืบใดในโลก สิ่งที่จะทำเสมอคือ ค้นหาร้านหนังสือท้องถิ่น ร้านหนังสืออิสระ และไปเยือนให้ได้
การเดินทางครั้งนี้ เริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เราเดินผ่านถนนดินสอเข้ามาทางศาลาว่าการกรุงเทพ ทางเท้าเดินได้นะครับ อยู่ใกล้ศาลากลางขนาดนี้ ถ้าทางเท้าเดินไม่ได้ก็เต็มที เดินโดยอาศัยร่มเงาของอาคารริมถนน คนเดินสวนไปมาตลอด และที่สำคัญอุดมไปด้วยร้านอาหาร ร้านขนม เอ่ยชื่อไปก็น่าจะคุ้นหูกันบ้างกับ มนต์นมสด มิตรโกหย่วน เดินตรงมาจนถึงแยกตัดถนนดินสอและถนนมหรรณพ
บริเวณนี้คึกคักมากครับ ด้วยความที่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว วัดสุทัศน์ เสาชิงช้า หรือเดินเที่ยวย่านเก่า เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ที่ปัจจุบันมีที่พักสวย ร้านอาหารอร่อย ร้านกาแฟมากมาย เป็นที่นิยมในหมู่นักเดินเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แดดร่มลมตก ลองมาเดินดูนะครับ รับรองอิ่มกลับบ้านแน่
เมื่อเลี้ยวเข้าถนนมหรรณพ คุณก็จะพบด่านร้านอาหารอร่อยมากมาย ผู้คนเข้าคิวรอ โต๊ะเรียงราย นั่งกันแน่นขนัด รับประกันความดังและความอร่อย ทั้งอาหารไทย จีน อีสาน ปักษ์ใต้ ผมเดินผ่านสถาบันกวดวิชาที่ชื่อดังมากในอดีต ปัจจุบันปิดตัวลงแต่อาคารที่ทำการยังตั้งเป็นอนุสรณ์ความยิ่งใหญ่คือ โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ อ.สงวน วงษ์สุชาติ ผมได้แต่ได้ยินเรื่องเล่าขาน ตัวเองไม่มีโอกาสมาเรียน เคยแต่ไปซื้อเอกสารการสอนมือสองมาอ่าน ดินแดนแถบนี้ แม้แต่อาคารก็ยังมีเรื่องเล่า
เราเดินทางฝั่งตึก อ.สงวน สักพักก็ถึงแยกเลี้ยวซ้ายแยกแรกของถนนมหรรณพ เสียงสุภาพสตรีที่คุ้นเคยก็กระซิบเบา ๆ ข้างหู "turn left and your destination is on the left" ผมรู้จักกับเธอมานาน เดินทางกับเธอทุกทริป มีบางครั้งที่เธองอแง ไม่อยากไปที่นั้นก็แกล้งบอกทางให้เลี้ยวผิดบ้าง แต่คราวนี้ดูเธอจะอยากมา
เมื่อเลี้ยวเข้ามาเดินมาอีก 50 เมตร คุณจะเห็นป้ายร้านหนังสือ world at the corner อยู่หน้าร้าน ที่ถ้าไม่สังเกตจะไม่พบเลย เพราะเป็นอาคารบ้านพัก มีบริเวณหน้าบ้านก่อนเดินเข้าไป ไม่ได้มีตู้กระจกโชว์หนังสือ ไม่มีคนพลุกพล่าน เพราะนี่คือ บ้านที่ทำเป็นร้านหนังสือ พอเลี้ยวเข้าบ้าน เราเห็นประตูสีสันสดใส มุมนั่งพัก เก้าอี้ไว้ถอดรองเท้ารวมทั้งตู้รองเท้าหน้าร้าน มีต้นไม้ปกคลุม บรรยากาศเหมือนระเบียงหน้าบ้าน
"หรือเรามาผิด" ผมคิดในใจ แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจในตัวสุภาพสตรีที่พามา จึงถอดรองเท้าและบิดลูกบิดประตู เปิดประตูเข้าไป เสียงกระดิ่งบอกเตือนผู้ที่อยู่ในร้านว่ามีแขกมาเยี่ยมเยือนแล้วนะ มองเข้าไปจะพบเคาน์เตอร์บริการ หรือเรียกให้ถูกคือตู้หนังสือใบใหญ่ที่มีช่องว่างใว้คุยกับลูกค้า มีคนรักหนังสืออยู่ในนั้นสามคน นั่งเอกเขนกคุยกัน ผมจึงถามว่า "ที่นี่ร้าน word at the corner" ใช่ไหมครับ ผมอยากจะขอเข้าไปเยี่ยมชมได้ไหมครับ"
"ได้สิครับ ที่นี่ร้านหนังสือและยินดีต้อนรับ" คุณสุภาพบุรุษหนึ่งในสามคนเอ่ยขึ้น พร้อมกับอาสาพาผมแนะนำพื้นที่ต่าง ๆ ที่แม้จะเล็ก แต่มันอบอุ่นจะจัดวางเหมือน ห้องหนังสือในบ้านของคุณ และยินดีให้คนเจ้ามาชมความงามและความมหัศจรรย์ที่ซ่อนเร้นในร้านของคุณ
ผมแอบมองกลุ่มผู้รักหนังสือนั้น และจำได้ว่าหนึ่งในนั้นคือสุภาพสตรีที่คุ้นตาจากการรีวิวร้านนี้ คุณสีวิกา ประกอบสันติสุข เจ้าของร้าน และสุภาพบุรุษที่มาต้อนรับก็คือ คุณณัฐ ประกอบสันติสุข เจ้าของร้านอีกคน ทั้งคู่มีแรงบันดาลใจจากการไปท่องเที่ยวมาทั่วโลก และหยิบหนังสือที่ระลึกมาอยู่ที่บ้าน สะสม และต่อมาก็ทำเป็นร้านหนังสือ …นั่นไง มันจึงเหมือนเข้ามาในบ้านของคนรักหนังสือ นั่นเอง
พื้นเรือนเป็นไม้ขัดมัน สะอาดมาก เรียกว่านั่งชมหนังสือกับพื้นได้เลย แอร์เย็นฉ่ำ มีรูปภาพสถานที่ต่าง ๆ ในโลกเป็นเครื่องประดับ มีตู้และชั้นเรียงหนังสือวางอยู่เต็ม แต่ไม่ขัดขวางทางเดิน เรียกว่าออกแบบมาให้เดินดูเดินชมไปเรื่อย ๆ แบบอยู่ในบ้าน ที่สำคัญคือกลิ่นเครื่องหอมบูชาตามแบบพราหมณ์ ทำให้บรรยากาศดูเป็นกันเอง เข้าประตูไป เราเลี้ยวซ้ายกันก่อน
เป็นห้องสี่เหลี่ยมที่ทุกด้านมีตู้หนังสือ ชั้นหนังสือ จรดเพดาน มุมนี้คือ หนังสือทางทุกมุมโลก จากละตินอเมริกา ยุโรป รวมยุโรปตะวันออกด้วยนะ แอฟริกา อเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย อาหรับ อินเดีย จัดเรียงแยกกันอย่างน่าอ่านมีทั้งฟิกชั่น นันฟิกชั่น แต่ละเล่มเก็บรักษาอย่างดี และผมรับรองเลยว่าไม่น่าจะหาได้จากร้านอื่นแน่นอน เรียกว่าเป็นจุดเด่นมาก ๆ ของร้านเลย
มีหนังสือทำอาหารจากที่ต่าง ๆ ในโลก หนังสือสมุดภาพสถานที่ต่าง ๆ มันน่าตื่นตามากเลยครับ หนังสือสมุดภาพจะเยอะ เพราะว่าคุณเจ้าของร้านเป็นช่างภาพนั่นเอง
"เดินชมตามสบายเลยนะครับ" คุณเจ้าของร้านทั้งสองกล่าวด้วยเสียงยิ้มแย้ม ผมจึงแนะนำตัวว่าผมคือนักอ่านและนักเดินทางแสวงหาร้านหนังสือ ชื่นชมคุณทั้งสองมากและเดินทางมาไกลเพื่อมาเยี่ยมเยือนคุณ เราโอภาปราศัยกันครู่หนึ่ง ผมก็ขอตัวเดินชมต่อ ถัดจากห้องสี่เหลี่ยมนั้น มีบานประตูต่อไปยังอีกห้องเล็ก ๆ ที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน ตกแต่งห้องด้วยตุ๊กตาสีสันสดใส หนังสือในห้องปรับโทนสดใสมากกว่าอีกห้องที่เป็นแนวจริงจัง สัจธรรมแห่งการเดินทางและชีวิต ผมนั่งอ่านบนเบาะพื้น ทำตัวเหมือนเด็กน้อยนั่งซุกที่มุมอ่านหนังสือครับ
ทั้งสองห้องรวมทั้งโถงกลางที่เป็นจุดจ่ายเงิน มีแต่ชั้นหนังสือและหนังสือที่จัดเรียงสวย งามตา มันไม่ใช่แค่ร้านหนังสือที่มีหนังสือเรียง ๆ กัน แต่ร้านนี้จัดวางอย่างลงตัว มีศิลปะ น่าดู ไม่รก รูปแบบชั้นไม้ พื้นไม้ ของตกแต่ง บรรยากาศ กลิ่นเครื่องหอม เสียงเพลงเบา ๆ บอกตามตรงเหมือนหลุดไปอีกโลกแยกจากความวุ่นวายภายนอกเลย
เอาล่ะ เรามาเดินต่อในปีกทางขวา เมื่อเข้าประตู อันนี้เป็นมุมสินค้าที่ระลึก ทั้งสินค้าจากที่ต่าง ๆ โปสการ์ด สมุดภาพ ของจุกจิกน่ารัก และงานคราฟต์ที่สวยงามซึ่งทางร้านนำมาจำหน่าย ของที่ระลึกจากทางร้าน แน่นอนว่า มันดูสวยงามอีกแล้ว เป็นการจัดแต่งร้านที่สวยมาก ๆ ผสมผสานความเก่า ความใหม่ ศิลปะ ร้านหนังสือ น่าชมมาก
ผมหยิบหนังสือติดมือมาหนึ่งเล่มและโปสการ์ดหนึ่งแผ่น เป็นที่ระลึกของการไปเยือนร้านหนังสือทุกร้านที่ไป (อยากหยิบมากกว่านี้ แต่ที่บ้านเริ่มไม่มีที่เก็บ) สูดกลิ่นซึมซับบรรยากาศสุดท้าย ชำระเงินและร่ำลา คุณรู้ไหม ผมมองเห็นแววตาของคุณก้อย เจ้าของร้าน ดูเขามีความสุขมากแค่เพียงเราเข้ามา 'เยี่ยมเยือน'และ 'ซึมซับ' สิ่งที่คุณพี่น้องทำในสิ่งที่รักของเขา และสร้างความสุขให้ผู้คนที่รักหนังสือเช่นกัน
ถ้าคุณรักหนังสือ ผมว่าคุณควรไปเยี่ยมเยือนสักครั้ง
ถ้าคุณยังไม่รักหนังสือ บรรยากาศแบบนี้แหละที่จะทำให้คุณหลงรักหนังสือ
ครั้งหน้า ลุงหมอชราหน้าหนุ่มทัวร์ จะพาคุณไปเยี่ยมเยือนที่ไหนอีก รอติดตามกันนะครับ

27 มกราคม 2567

ปอดขวากลีบกลาง (right middle lobe)

 สุภาพบุรุษอายุ 65 ปี มีไข้สูงสามวัน ไอ มีเสมหะสีขุ่น ๆ ปนน้ำตาล วันนี้เริ่มเหนื่อยขึ้นจึงมารับการตรวจรักษา พบอุณหภูมิ 38 อัตราการหายใจ 22 ครั้งต่อนาที เหนื่อยเล็กน้อย จมูกและคอปกติ ทรวงอกโป่งออกเหมือนคนเป็นถุงลมโป่งพอง เสียงหายใจปอดขวาล่างผิดปกติไป มีเสียงแทรกดังกรอบแกรบที่ภาษาแพทย์เรียก medium crepitation ตรวจร่างกายระบบอื่นปกติ

ถามคุณหมอทั่วประเทศก็คงไม่มีใครวินิจฉัยพลาด ปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชน เพราะไม่ได้อยู่รพ. ไม่สูดสำลัก
ส่งผู้ป่วยไปเอ็กซเรย์ปอด พบเงาฝ้าขาวบริเวณปอดขวาด้านล่าง ตรงกับตำแหน่งที่ตรวจพบความผิดปกติ และเข้าได้กับปอดอักเสบติดเชื้อจริง ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อมาตรฐาน อาการก็ไม่แย่ลง และเริ่มดีขึ้น เรื่องราวน่าจะจบลงด้วยดี
แต่คุณหมอคนที่ดูแลคนไข้ช่างสังเกตเสียเหลือเกิน คุณหมอคิดว่าภาพเอ็กซเรย์ปอดน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น จึงโทรมาปรึกษา …พี่ครับ ผมสงสัยว่าน่าจะเป็นปอดอักเสบที่ปอดกลีบกลางครับ
ใช่แล้ว ภาพเอ็กซเรย์ปอดที่เห็น เงาปอดอักเสบที่เห็นเป็นเงาที่มีระดับของเงาอยู่ในความลึกและระดับเดียวกับของหัวใจ เราจะไม่เห็นขอบหัวใจที่ชัดเจนเพราะมันปน ๆ กันอยู่ เราเรียกภาษาแพทย์ว่ามัน silhouette เป็นภาษาที่นักถ่ายภาพคุ้นเคย และมันหมายความว่าตำแหน่งการอักเสบนั้นที่กลีบกลาง ไม่ใช่กลีบบนหรือล่าง เพราะมันจะไม่ซิลฮูเอตกับหัวใจ มันคนละระนาบกัน และหากไปดูเส้นแบ่งกลีบปอดจะชัดว่ามันอยู่ที่กลีบกลาง
กลีบกลางแล้วไงล่ะ …
ปอดขวากลีบกลาง (right middle lobe) เป็นการพัฒนาการแต่เด็ก แยกจากปอดกลีบล่าง ถ้าเรามองตามตำแหน่งที่มันอยู่ ปอดกลีบกลางจะเริ่มจากหลอดลมใหญ่ทางขวาแยกออกมาทางด้านหน้าของลำตัว องศาชี้ขึ้นด้านบนเล็กน้อย พื้นที่ปอดกลีบกลางอยู่ชิดกับหัวใจระดับเดียวกับหัวใจ มันเลยซิลฮูเอตกันไงครับ ส่วนกลีบล่างจะเอียงไปด้านหลัง มันเลยไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ แต่มักจะอยู่ระดับระนาบเดียวกันกับกระบังลม
ปอดกลีบนี้จึงไม่ค่อยถูกอุดตัน สารคัดหลั่งและสิ่งสำลักก็ยากจะไหลย้อนขึ้น ปอดกลีบนี้ไม่ค่อยติดเชื้อแบคทีเรียมากนักหากเทียบกับกลีบอื่น แต่เป็นสถานที่ชื่นชอบของเชื้อไมโคแบคทีเรียที่ไม่ใช่วัณโรค (non tunpberculous mycobacteria) และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ต้องฉุกคิดว่า เดิมทีมันระบายเสมหะและสารคัดหลั่งได้ดี แต่ถ้ามันระบายไม่ดี อาจจะมีอะไรอุดตัน
เราจึงต้องคิดถึงการอุดตันของหลอดลมที่ไปยังปอดกลีบกลาง ไม่ว่าจะอุดตันในท่อหรือมีอะไรมากดจากนอกท่อ หากพบการติดเชื้อจุดนี้ ซึ่งคุณหมอคนนี้ช่างสังเกตและคิดต่อจนครบ ไม่เพียงแค่ วินิจฉัย ให้ยาแล้วจบ
น้องหมอส่งตัวคนไข้มาหาคุณหมอที่ปรึกษา ..คนนั้นแหละ คนที่อายุเยอะ ๆ แต่หน้าหนุ่ม ๆ เสียงเพราะ ๆ
ประวัติเพิ่มเติมคือ ผู้ป่วยสูบบุหรี่มาตลอด เพิ่งหยุดมา 5 เดือน ปริมาณการสูบ 60 packyears ประวัติไอเรื้อรังมีเสมหะ วัดสมรรถภาพปอดเข้าได้กับถุงลมโป่งพอง ส่วนปอดอักเสบกลีบกลาง ได้ทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบก้อนใหญ่ตรงจุดทางแยกหลอดลมไปปอดกลีบกลาง น่าจะเป็นจุดตีบตันจนเกิดการติดเชื้อ พบต่อมน้ำเหลืองโตกระจายในทรวงอก และพบเงาก้อนผิดปกติที่ตับ
คุณหมอที่ปรึกษาคนนั้น แจ้งผู้ป่วยถึงขั้นตอนการตรวจพิสูจน์โรคต่อไปโดยเฉพาะการส่องกล้องหลอดลมและตัดชิ้นเนื้อ เพื่อประเมินชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งไหม มะเร็งอะไร มีตัวรับยามุ่งเป้าหรือไม่
และส่งผู้ป่วยกลับไปหาน้องหมอที่แสนจะช่างสังเกตและไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเพียง 'routine' ในแต่ละวัน ที่ต้องรับผิดชอบคนไข้มากมาย

25 มกราคม 2567

การลดน้ำหนัก ตัวอย่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 การลดน้ำหนัก ตัวอย่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จั่วหัวมาแบบนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะเบนเข็มมาเขียนการเมืองนะครับ แต่ว่าเห็นตัวอย่างอันหนึ่งที่น่าจะเอามาเป็นตัวอย่างทางสุขภาพได้ เลยอยากมาเล่าให้ฟังครับ
ผมฟังบทสัมภาษณ์ สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากรายการ the standard now คุณผู้ดำเนินรายการได้สอบถามถึง สส.วิโรจน์ ถึงการดูแลสุขภาพหลังจากหยุดพักงานเพราะสุขภาพทรุดโทรม เริ่มจาก สส.วิโรจน์ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และปวดหลัง สส.วิโรจน์ได้รับคำแนะนะจากคุณหมอเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งจริง ๆ ได้รับคำแนะนำมานานแล้ว แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง สุขภาพจึงทรุดโทรมหนักมาก
หลังจากที่กลับไปฟื้นฟู สส.วิโรจน์ได้กลับมา และให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติตัวในช่วงที่ผ่านมาว่าทำอย่างไร ความดันจึงคุมได้ น้ำหนักตัวลดลงในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือนถึงเกือบหกกิโลกรัม เรามาถอดแบบเรียนจาก สส.วิโรจน์กันครับ
1.คุณวิโรจน์ได้รับคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนสุขภาพและติดตามการรักษามาสักพักแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำตาม จนโรคเริ่มรุนแรง จึงกลับมาจริงจัง … ประเด็นนี้สำคัญ หลายคนคิดว่าไปหาหมอก็แค่จ่ายยากินยา แต่อย่าลืมว่าการรักษามันมีมิติของการไม่ใช้ยา การปรับชีวิต การติดตามว่าทำแล้วเกิดปัญหาอะไรและควรแก้ไขอะไร รวมทั้งป้องกันผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพต้องทำอย่าง สม่ำเสมอ ครับ
2.คุณวิโรจน์ลดน้ำหนักโดยการปรับลดพลังงานที่กินในแต่ละวัน … อันนี้สำคัญครับ หลักการลดน้ำหนักคือ พลังงานที่กิน = พลังงานที่ใช้ + พลังงานที่เก็บ เมื่อใช้เท่าเดิม มันจะเก็บสะสมเพิ่มคืออ้วนขึ้น คุณวิโรจน์เลือกลดอาหารที่กิน จากหมูปิ้งหนึ่งไม้ข้าวเหนียวสามห่อ ก็ลดแป้งลง จากกินอาหารเยอะ ก็ลดอาหารลง ผมอยากบอกว่าการลดปริมาณอาหารเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ไม่ใช่อดอาหารนะครับ
3.เลือกสิ่งที่กิน คุณวิโรจน์เลือกลดแป้งและน้ำตาล เพิ่มปริมาณโปรตีนมากขึ้น อันนี้สำคัญรองลงมาครับ เมื่อเรากำหนดปริมาณแล้ว เราก็มากำหนดชนิดและสัดส่วน ลดแป้งลง เพิ่มสัดส่วนโปรตีนมาชดเชย รวมทั้งเลือกลดไขมัน โดยไม่กินอาหารทอด หันมากินอาหารต้มแทน (อย่าลืมว่าปริมาณและสัดส่วนต้องถูกกำหนดเคร่งครัดนะครับ) คุณวิโรจน์เลือกกินเกาเหลา ก็เป็นอาหารยอดนิยมของการลดน้ำหนักครับ
4.อย่าอดอาหาร คุณวิโรจน์เลือกกินอาหารช่วงสายและบ่าย และไม่กินอาหารก่อนนอน …ตรวนี้สำคัญ การลดน้ำหนักจะต้องไม่ให้ร่างกายเกิดสภาวะหิวเกิน เพราะร่างกายจะบังคับคุณให้กินเยอะชดเชยในมื้อต่อไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่รู้สึกว่าเราพลาดไป บวกลบคูณหารแล้วได้พลังงานเยอะขึ้นอีก ดังนั้นกระจายมื้ออาหารให้สัมพันธ์กับชีวิตเรา (อย่าลืม ปริมาณและสัดส่วนต้องเคร่งครัด)
5.คุณวิโรจน์เพิ่มการเดินออกกำลังกายวันละ 6 กิโลเมตร ทุกวัน …การออกกำลังกายแม้จะไม่ได้เผาแคลอรี่ได้จนถึงระดับผอม แต่เป็นการเพิ่มการใช้งาน เรียกว่าดีกว่านอนเฉย ๆ และเมื่อออกกกลังกายได้ขนาดที่พอเหมาะ ร่างกายจะปรับการเผาผลาญให้สมดุลขึ้น อาการหิวโหยลดลง การใช้และการสำรองพลังงานทำได้ดีขึ้น น้ำหนักไม่เด้งคืน ที่สำคัญ ดีต่อหัวใจ กล้ามเนื้อและสภาพจิตใจด้วย
6.อาหารด่วน ในตัวอย่างคุณวิโรจน์คือ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ก็จะกินลดลง … ไม่ได้หมายถึงข้าวเหนียวหมูปิ้งจะไม่ดีนะครับ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นอาหารแคลอรี่สูง และไม่มีสารอาหารครบถ้วน ถ้าจะกินก็ต้องรู้ทัน คือ กินให้เหมาะสมกับการใช้งาน และหากจะควบคุมก็อย่ากินเยอะ หรือเลือกอาหารแบบอื่น หลายคนคิดว่าชีวิตรีบเร่ง ไม่มีเวลา แต่ก็อยากบอกว่าถ้าคุณจะควบคุม คุณจะหาเวลาและวิธี รวมถึงคิดรูปแบบอาหารที่จะกินให้เหมาะกับเราได้ไม่ยากครับ
7.ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ …อย่าทำแบบโปรโมชั่น อย่าทำเพราะคนอื่นชวน การลดน้ำหนักคือการลงทุนระยะยาว ที่ต้องอดทน ผลประโยชน์สะสมเรื่อย ๆ และถ้ามองเทียบต้นทางกับปลายทาง จะพบว่าประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่แค่น้ำหนัก แต่สุขภาพโดยรวม สุขภาพจิตที่ดี การเงินที่ดีขึ้น (ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลากับการรักษาผลแทรกซ้อน) รวมถึงอายุที่ยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพด้วย
ถ้าคนที่งานยุ่ง เวลาน้อย อย่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังทำได้ พวกเราก็น่าจะปรับชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราได้เช่นกันครับ
ปล. บทความนี้ไม่ได้ขออนุญาตคุณวิโรจน์และทาง the standard now อย่างเป็นทางการ เพียงแต่หยิบประเด็นมาขยายความทางสุขภาพครับ

23 มกราคม 2567

เรื่องเล่าจากคลินิก : มาเลิกบุหรี่เพราะเหนื่อย แต่ว่าอาจไม่ได้เหนื่อยจากบุหรี่ secondary AIHA from malignant lymphoma

 เรื่องเล่าจากคลินิก : มาเลิกบุหรี่เพราะเหนื่อย แต่ว่าอาจไม่ได้เหนื่อยจากบุหรี่

ที่หน้าคลินิก มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งกดกระดิ่งต้อนรับ อันเป็นสัญลักษณ์บอกว่าคุณหมอ กรุณาเลิกจิบกาแฟแล้วมาทำงานด้วย คนไข้มาแล้ว และก็ได้ผลเสียด้วย คุณหมอเดินถือกาแฟร้อนเดินมาที่หน้าร้าน และกล่าวทักทาย "สวัสดีครับ วันนี้ให้ผมช่วยอะไรดีครับ"
สุภาพสตรี "มาปรึกษาเรื่องเลิกบุหรี่ค่ะ"
สุภาพสตรีอายุ 45 ปี รูปร่างผอม สวมชุดกระโปรงยาว มาตรวจเพียงคนเดียว เธอเล่าว่าเธอเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง รักษาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ได้รับคำแนะนำให้เลิกบุหรี่มาสักพักแล้ว แต่ไม่ได้เลิก จนสามเดือนที่ผ่านมานี้ มีอาการเหนื่อยมากขึ้น คิดว่าคงถึงเวลาเลิกและกลัวจะเป็นมะเร็งปอด จึงมาปรึกษา
หมอปุริม : คุณเหนื่อยมาสามเดือนกว่าแล้ว ตอนที่ไปติดตามการรักษาโรคประจำตัว ได้แจ้งคุณหมอและได้รับคำแนะนำอย่างไรบ้าง
คนไข้ : คุณหมอแจ้งว่า ผลเลือดการทำงานของไตยังดี ระดับไขมันยังควบคุมได้ดี ใช้ยาตามเดิม คุณหมอแนะนำให้เลิกบุหรี่เพราะเหนื่อยมากแล้ว แต่ฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีค่ะ
ได้ประวัติว่าผู้ป่วยสูบบุหรี่วันละไม่เกิน 10 มวนต่อวัน สูบมานาน 8 ปี พยายามเลิกเองมาสามครั้ง หลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ว่าไม่สำเร็จ เพราะทำงานเครียดและสูบเสมอเวลางานรัดตัว จนเมื่อสามเดือนนี้เหนื่อยมากขึ้น คุณหมอที่รักษาความดันโลหิตสูงก็บอกว่าถึงเวลาต้องเลิกแล้ว เหนื่อยแล้ว ตัวเองก็กลัวมากขึ้น
คุณหมอปุริมเริ่ม..เอ๊อะ..
เอาล่ะเรื่องราวน่าจะราบรื่น จัดการแนะนำการเลิกบุหรี่ แถมไม่น่าจะเลิกยากด้วยนะ เพราะคนไข้เขาสมัครใจเต็มใจมาเอง มีแรงจูงใจ แถมปริมาณการสูบก็ไม่มาก งานนี้น่าจะไม่ยาก แต่ว่ามันไม่ใช่แบบนั้น
ถ้าเราคิดว่าผู้ป่วยไม่ได้มีโรครุนแรง แม้มีโรคประจำตัวแต่ควบคุมดี ปริมาณการสูบคือ 4 packyears ไม่น่าจะเหนื่อยขนาดนั้น และไม่น่าจะเหนื่อยขึ้นมาสามเดือน นั่นคือเขาอาจจะป่วยเป็นโรคอื่น แต่ด้วย "การสูบบุหรี่" ทำให้ทุกคนโฟกัสไปที่บุหรี่ ให้เลิกบุหรี่ และอาจหลุดประเด็นอื่นได้
คุณหมอปุริม : คุณช่วยเล่าเหตุการณ์สามเดือนนี้หน่อยสิครับ
ประวัติคือ ผู้ป่วยเหนื่อยมากขึ้นเวลาออกแรงเท่าเดิม ไม่มีอาการไอ ไม่หอบ หายใจเสียงปกติ ไม่วี้ด แต่ว่าบางครั้งปัสสาวะเหลืองเข้มมากกว่าทุกวัน นอกจากยาความดันไขมันก็ไม่ได้ใช้ยาอื่น ตรวจร่างกายพบว่าผู้ป่วย ซีด !! …นั่นหมายความว่า ที่ผ่านมาอาจโฟกัสผิดจุด บุหรี่มันไม่ดีก็จริง ควรเลิกก็จริง แต่อาจไม่ใช่ผู้ร้ายในกรณีนี้
ตรวจร่างกายพบซีด ไม่เหลือง ไม่เหนื่อย ตรวจหัวใจและปอดปกติ ตรวจท้องพบตับม้ามโตเล็กน้อย เอาใหม่สิ มาไล่เรียงปัญหาทางคลินิกใหม่สิ เหนื่อยมากขึ้นมาสามเดือน ปัสสาวะเข้มเป็นบางครั้ง ซีด ตับม้ามโต คงต้องคิดถึงปัญหาซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก เพราะมีปัสสาวะเหลืองเข้มเป็นบางครั้งด้วย (hemolytic anemia, acute)
คนไข้ : แล้วฉันต้องทำอย่างไรต่อคะเนี่ย ตกลงว่าที่เหนื่อยไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่หรือคะ
หมอปุริม : ผมจะดูแลเรื่องเลิกบุหรี่ครับ แต่ว่าที่คลินิกตรวจเพิ่มเติมในสิ่งที่ผมวางแผนไม่ได้ ผมจะเขียนจดหมายไปให้คุณเอาไปยื่นในสถานพยาบาลที่มีสิทธิการรักษานะครับ
….
….
สรุปว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกจากภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune hemolytic anemia) ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ปัสสาวะสีเข้มจากสีบิลิรูบินเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก ส่วนตับม้ามที่โตเกิดทั้งจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกและโรคต้นกำเนิด ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พบ ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองในช่องอกและช่องท้องโตหลายต่อม ผลพิสูจน์พบว่า สาเหตุต้นกำเนิดคือจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปล่อยภูมิคุ้มกันผิดปกติออกมาจับทำลายเม็ดเลือดแดง เรียกภาวะเม็ดเลือดแดงแตกนี้ว่า secondary AIHA from malignant lymphoma
ปัจจุบันผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอยู่ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง วางแผนรับยาเคมีบำบัดและยามุ่งเป้า และผู้ป่วยสามารถหยุดบุหรี่ได้โดยไม่ต้องใช้ยาใด ใช้แค่การปรับความคิดและพฤติกรรมเท่านั้น
รับบทบาท primary care doctor เป็น general practice ก็สามารถช่วยคนได้ดีเหมือนกันนะ

21 มกราคม 2567

ไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่ไข้หวัดทั่วไปที่อาการรุนแรง

 ไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่ไข้หวัดทั่วไปที่อาการรุนแรง

ถือเป็นการใช้คำที่ผิดมานมนานมาก ทำให้เราเข้าใจผิดว่า ไข้ต่ำ ๆ ไอเล็กน้อย คือ หวัดธรรมดา เดี๋ยวก็หาย แต่ถ้าไข้สูง ปวดเมื่อยตัวมาก คือไข้หวัดใหญ่ ต้องได้ยาฉีดยา
ไข้หวัด (cold) กับไข้หวัดใหญ่ (influenza) เป็นไวรัสคนละตัว คนละแฟมิลี่กันเลย ไข้หวัดใหญ่คือ influenza virus ในแฟมิลี่ orthomyxoviridae
ส่วนไข้หวัด มีหลายไวรัสหลายตัวที่เกิดอาการแบบนี้ ตัวที่พบมากสุดคือ rhinovirus ในแฟมิลี่ picornaviridae ... คือถ้าอยากแยกกันจริง ต้องไปตรวจสารพันธุกรรม
อาการแยกกันไม่ได้ ส่วนมากไข้หวัดกับไข้หวัดใหญ่จะอาการไม่รุนแรง อาการที่พบก็เหมือนกัน ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อย ปวดเมื่อย ซึ่งอาการมากหรือน้อย ไม่ได้เป็นตัวแยกเชื้อได้
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดอาการรุนแรงกว่าและผลแทรกซ้อนมากกว่าได้ แต่ต้องบอกว่า สัดส่วนโรครุนแรงหรือผลแทรกซ้อนมีไม่มากนะครับ
ที่สำคัญ รักษาไม่ต่างกันเลย ลดไข้ ลดปวด ลดน้ำมูก ยกเว้นคนที่เสี่ยงเกิดโรครุนแรง หรือมีอาการรุนแรง เราพอมียารักษาไข้หวัดใหญ่ เป็นยาต้านไวรัส ทำหน้าที่ไปกวนเชื้อ ไม่ให้มันแบ่งตัวสะดวกและไม่ให้มันมาเกาะกับร่างกายเราง่ายเกินไป
ไข้หวัดใหญ่จะเกิดผลแทรกซ้อนมากกว่า cold เช่น ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย (ปัจจุบันเราเชื่อว่าปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ก็เกิดจากแบคทีเรียในปอด ทะลุเข้าตัว เมื่อติดหวัดใหญ่นี่แหละ
ดังนั้นสาระสำคัญของการแยกโรคก็คือ ไข้หวัดใหญ่มีผลแทรกซ้อนเยอะมาก ต้องติดตามหรือควรให้ยาเมื่อเสี่ยงเพิ่ม
ยารักษาหวัดใหญ่เช่น oseltamivir, baloxavir หรือยายอดฮิตในอดีตของเราก็เป็นยารักษาหวัดใหญ่ ... favipiravir นั่นเอง
และไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทุกปีครับ เพื่อลดโอกาสเกิดโรครุนแรงและลดการเกิดโรคปอดอักเสบกับหลอดเลือดหัวใจที่กระตุ้นจากไข้หวัดใหญ่นี้ด้วย

18 มกราคม 2567

เครื่องฟอกอากาศห้อยคอ

 วงสนทนา : ลุงหมอสังเกตมีเครื่องฟอกอากาศห้อย60% ไปถามก็ว่า กันฝุ่นพีเอ็มสองจุดห้า กันโควิด มันช่วยได้ "จริงหรือ"

ลุงหมอผู้แอบดู : คำตอบคือ อย่าไปคาดหวังอะไรมาก เขาทำการศึกษาทดลองจริงนะ แต่ว่าทำในพื้นที่และปริมาตรระบบปิด ปริมาตรโดยมากไม่เกิน 1 ลูกบาศคอกัน ก์เมตร
มันก็ลดได้ตามที่เขาทดลอง ไม่ว่าจะเฮปาฟิลเตอร์ จะแบบประจุไฟฟ้า แต่อย่าลืมว่าพอเอามาใช้จริง มันเป็นระบบเปิดแบบโล่งโถง ปริมาตรนับไม่ได้ มันย่อมอ้างอิงผลแบบนั้นไม่ได้
อีกอย่างคือ ถึงแม้เราจะย่อส่วนตัวเราให้ไปอยู่ในพื้นที่ทดลองขนาดหนึ่งลูกบาศก์เมตร มีฟิลเตอร์คล้องคออันเท่าเดิมนี่แหละ อากาศมีฝุ่นน้อยลงจริงดังว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมี "สุขภาพที่ดีและปลอดภัย" เพราะผลจากฝุ่น จากโควิด มันต่างกันในแต่ละบุคคลอีกด้วยครับ
จะใส่อุปกรณ์เหล่านี้ก็ได้ แต่ยังต้อง ล้างมือ ล้างเจลแอลกอฮอล์ ถ้าป่วยหรือสงสัยติดเชื้อก็สวมหน้ากากและหลีกผู้คน หลบพื้นที่ฝุ่นมาก และช่วยกันลดฝุ่นในบรรยากาศคนละเล็กคนละน้อย
อย่าคิดว่านี่คือ เครื่องกรองมหาอุตม์ ใส่แล้วเป็นอมตะ หรือ ฝุ่นกับโควิดจะทำร้ายเราไม่ได้นะครับ

17 มกราคม 2567

กินยาฆ่าเชื้อ ควรกินให้ครบ

 วงสนทนา : หายแล้ว ไข้ลดลงแล้ว ไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อต่อก็ได้

ลุงหมอผู้แอบฟัง : อืม วัตถุประสงค์ของการใช้ยาฆ่าเชื้อ คือ กำจัดเชื้อ ไม่ใช่เพื่อให้อาการดีขึ้น การกำจัดเชื้อจำเป็นต้องให้ระดับยาฆ่าเชื้อในเลือด (หรือในอวัยวะที่ติดเชื้อ) สูงมากพอและต่อเนื่องกัน
เพื่อเพียงพอจะฆ่าเชื้อปัจจุบันและเชื้อที่กำลังแบ่งตัว เรียกว่า ประหารหลายชั่วโคตร จนมั่นใจว่าจะไม่มาวุ่นวายอีก
ซึ่งก็จะมีขนาดยาและระยะเวลาการให้ยาตามการศึกษา ก็ควรกินให้ครบ ส่วนอาการที่ดีขึ้น อาจเกิดจากร่างกายปรับตัวได้ หรือจากยาที่ใส่เข้าไปช่วย เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาต้านอักเสบ ยาลดน้ำมูก
ขอให้แยกประเด็นกัน แยกเป้าหมายการใช้ยา และใช้ยาตามคำแนะนำครับ

16 มกราคม 2567

การกินยาลดความดันสม่ำเสมอ

 วงสนทนา : วันไหนวัดความดันไม่สูง ก็ไม่ต้องกินยาลดความดันก็ได้ ถ้าสูงค่อยกินเดี๋ยวจะต่ำไป

ลุงหมอผู้แอบฟัง : มันไม่ได้ครับ การรับประทานยาลดความดันโลหิต จำเป็นต้องให้ระดับยาในเลือดมากพอที่จะไปควบคุม "กลไก" ที่ต้องการให้ยาทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงจะลดความดันโลหิตได้ นอกจากตัวเลขความดันโลหิตที่เราต้องการแล้ว ตัวยายังไปควบคุมมันตรายอันเกิดจาก "กลไก" อันนั้นที่จะไปทำร้ายระบบหัวใจอีกด้วย การกินยาสม่ำเสมอจึงมีประโยชน์มากกว่าการควบคุมความดัน
และการกินยาตามใจผู้กิน อาจเกิดผลข้างเคียงโดยเฉพาะหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย และประโยชน์จากยาที่เรารู้จากตำราก็จะไม่ได้ตามนั้น
อีกอย่างนะครับ ความดันโลหิตเป็นค่าที่แปรปรวนมาก ๆ มีอะไรมากระทบได้ง่าย ถ้าเราตกใจไหวหวั่นกับทุกค่าความดันที่ผันแปร แลปรับยาทุกเมื่อหากเปลี่ยนผัน แต่ละวันคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี
แต่ถ้าหน้ามืดโดยเฉพาะเวลาลุกยืน หรือตัวเลขต่ำกว่า 90/60 อันนี้ก็ไปหาคุณหมอ "เพื่อหาสาเหตุ" และปรับยา พร้อมพกเครื่องไปเปรียบวัดค่าด้วยนะครับ

05 มกราคม 2567

เคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน ที่ใช้เลิกบุหรี่ จะไปติดหมากฝรั่งแทนไหม

 คำถาม : เคี้ยวหมากฝรั่งนิโคติน ที่ใช้เลิกบุหรี่ จะไปติดหมากฝรั่งแทนไหม

คำตอบ : ยากมาก มีรายงานไม่ถึง 5%
เพราะว่า หมากฝรั่ง สเปรย์ หรือ แผ่นแปะ มีปริมาณนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่ 1/3 - 1/2 เท่า จะไม่สามารถไปชดเชยนิโคตินจากบุหรี่ในระดับ "ติด" ได้ เพราะการติด จะใช้ปริมาณมากขึ้นและมากขึ้น
และการทำงานของสารทดแทนนิโคติน จะออกฤทธิ์ช้ากว่าบุหรี่มาก หมากฝรั่งจะใช้เวลา 15-30 นาที ส่วนการสูบบุหรี่จะส่งนิโคตินถึงสมองใน 6 วินาที (เร็วกว่าฉีดเข้าหลอดเลือดอีก) หมากฝรั่งจึงไมสามารถตอบสนองความต้องการได้เร็ว โอกาสติดจึงลดลง
สุดท้าย การเคี้ยวมันยากกว่าการจุดสูบ เมื่อยกว่า ต้องมีวิธีเคี้ยว จึงได้นิโคติน จึงไม่สะดวกต่อการติด
และการใช้สารทดแทนนิโคติน เราจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป และความอยากบุหรี่ (nicotine craving) ลดลง จึงไม่ติด ...
จะเห็นว่าทุกข้อตั้งบนพื้นฐาน ความตั้งใจเลิก ไม่สูบบุหรี่ และใช้หมากฝรั่งเมื่ออยากบุหรี่ ไม่ใช่เอาหมากฝรั่งมา "แทน" บุหรี่
โอกาสติดหมากฝรั่งนิโคติน จึงน้อยมาก ๆ ครับ

04 มกราคม 2567

การตรวจตาในผู้ป่วยเบาหวาน

 การตรวจตาในผู้ป่วยเบาหวาน

ถือเป็นความสำคัญมากเพราะโรคเบาหวานเป็นสาเหตุของตาบอดที่พบมากที่สุดในผู้ใหญ่ และเป็นสิ่งที่คัดกรองได้ง่ายป้องกันรักษาได้ดี
1.ไม่มีอาการ หากมีอาการคือมีโรคมากแล้ว มีเลือดออกในลูกตาแล้วหรือจอประสาทตาเสียหายแล้ว หรือตาบอดแล้ว ดังนั้นการคัดกรองและป้องกันจึงสำคัญ
2.เบาหวานชนิดที่สอง คือ เบาหวานส่วนใหญ่ที่เราเป็น แนะนำให้ตรวจตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยต่อไปก็ปีละครั้ง จนควบคุมได้ดีสามารถยืดเป็นสองปีครั้งก็ได้ (มีการศึกษาสามปีครั้ง แต่อย่าเลย) ส่วนเบาหวานชนิดที่หนึ่งก็ตรวจภายในห้าปีแรกหลังวินิจฉัย หลังจากนั้นก็ทุกปีและยืดเป็นสองปีได้หากคุมเบาหวานได้ดี
3.ตรวจคัดกรอง..แนะนำคัดกรองด้วยการถ่ายภาพจอประสาทตา มันทำได้ง่าย ทำได้ครั้งละหลายคน ไม่ต้องขยายม่านตา จะใช้ AI หรือใช้ตาคนตรวจจับความผิดปกติก็ได้ หากมีความผิดปกติแนะนำให้มาตรวจซ้ำโดยการขยายม่านตาตรวจอีกครั้ง
4.หากเจอความผิดปกติ การรักษาอันดับหนึ่งและสำคัญมากคือ …"ควบคุมเบาหวานให้ดี" หรือหากจะมองอีกมุมคือต้องควบคุมให้ดีก่อนที่จะเกิดเบาหวานขึ้นตา อันนี้จะมีประโยชน์หากเจอเบาหวานขึ้นตาระยะต้น แสดงว่าที่ผ่านมาคุมไม่ดี และมันถึงเส้นตายที่ต้องทำแล้ว
5.การรักษามาตรฐาน คือ ป้องกันการความเสียหายต่อจอประสาทตา ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง ไม่ให้หลอดเลือดที่ผิดปกติเกิดลุกลามฉีกขาด มีการรักษาสองอย่างคือ การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา และการฉีดสารต้านการเจริญหลอดเลือดเข้าไปในวุ้นลูกตา
6.ตามแนวทางการรักษา ADA ที่แสนขยัน ทำอัพเดตมาทุกปีใหม่ แนะนำใช้เลเซอร์ก่อน ทำได้หลายที่ ราคาไม่แพงมาก ป้องกันได้ดี ตัวเลขจากการศึกษาบอกว่าสามารถป้องกันความเสียหายลุกลามได้ อ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาในปี 1978 จาก 16% ลงมาที่ประมาณ 6%
7.สำหรับการฉีดสารชีวภาพต้านการเจริญของหลอดเลือด (endothelial growth factor receptor) โดยฉีดเข้าไปที่วุ้นในลูกตา (intravitreus) เช่น bevacizumab, aflibercept เป็นทางเลือกในการรักษาได้ แต่ระดับคำแนะนำเท่ากันนะครับ อาจต้องพิจารณาถึงการเข้าถึง ราคาและความชำนาญในการฉีดด้วย หรือหากคุณหมอจักษุเห็นว่าควรฉีดได้เลยเช่น macular edema
8.ผู้ป่วยเบาหวานที่จะตั้งครรภ์ ต้องมีการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลการศึกษาพบว่าการตั้งครรภ์เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มการเกิดจอประสาทตาบกพร่องจากเบาหวาน เพราะฉะนั้นหากคุณเป็นสุภาพสตรีที่เป็นเบาหวานแล้วต้องการมีบุตร คุณต้องเคร่งครัดในการรักษา คือนอกจากเบาหวานที่เกี่ยวเนื่องจากการตั้งครรภ์แล้วยังมีเรื่องของจอประสาทตาด้วย และหากเริ่มมีความผิดปกติ แนะนำรักษาก่อนตั้งครรภ์
9.นอกจากการคุมเบาหวานให้ดีและยิงเลเซอร์หรือฉีดยาในวุ้นลูกตา ยังมีสิ่งอื่นที่ต้องทำเพื่อลดโอกาสการเกิดจอประสาทตาจากเบาหวานด้วย คือ การควบคุมความดัน การเลิกบุหรี่ การควบคุมไขมันในเลือด
10.การควบคุมเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิดผลแทรกซ้อนต่อจอประสาทตา ไม่ได้ขึ้นกับชนิดของยาเบาหวาน (อันนี้ต่างจากการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด) แต่ขึ้นกับระดับน้ำตาลและการรักษาที่ได้เกณฑ์ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะใช้ยาอะไร ก็ป้องกันเบาหวานขึ้นตาได้ถ้าควบคุมได้เป้าหมายและส่งตรวจคัดกรองตามกำหนด

03 มกราคม 2567

Habsburg’s Jaw

 ฮับสบูร์ก … ล่ม

ฮับสบูร์ก คือ ชื่อตระกูลและราชวงศ์ที่ครองอำนาจในภาคพื้นยุโรปแต่ยุคศตวรรษที่ 15 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คาบเกี่ยวอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีอันยิ่งใหญ่ ซึ่งถ้าทุกคนจำได้ การขยายอาณาจักรของฮับสบูร์ก ไม่ได้ใช้แต่แสนยานุภาพทางทหารเท่านั้น ยังใช้เรื่องของการเงินการธนาคาร ใช้เรื่องของศาสนาและความเชื่อ ยึดครองดินแดนเกินครึ่งของยุโรปในยุคกษัตริย์และอาณาจักร
ไม่ว่าจะเยอรมัน ออสเตรีย โบฮีเมีย สเปน อังกฤษ ต่างเป็นเครือข่ายของฮับสบูร์กทั้งสิ้น จนถึงฮับสบูรก์ที่โด่งดังมากคือ มกุฏราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี อาร์คยุค ฟรานซ์ เฟอดินานด์ ที่ถูกสังหารเมื่อเสด็จเยือนซาราเยโว เมื่อ 28 มิถุนายน 2457 (1914) อันเป็นจุดเริ่มของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และก็เป็นจุดสิ้นสุดของฮับสบูร์กหลังสงครามอีกด้วย เพราะแพ้สงครามเรียบ
อีกหนึ่งกลยุทธของฮับสบูร์กที่ใช้ "กลืน" และ "ดอง" อาณาจักรต่าง ๆ เข้าด้วยกันคือ การแต่งงานกันเองระหว่างเจ้าผู้ครองนคร และเมื่อมีทายาทก็ให้ทายาทแต่งกันเอง โยงกันไปโยงกันมา จนเรียกว่าในยุควิคทอเรียนั้น เหล่าบรรดาเจ้านายผู้ปกครองยุโรปคือเครือญาติกันทั้งสิ้น และยังไม่พอ เจ้าครองนครเดียวกันก็นิยมให้ลูกหลานแต่งงานกันเอง เรียกว่ากระชับอำนาจและเงินตราไม่ให้ออกสู่คนอื่น
ข้อเสียสำคัญคือ รวบอำนาจ ซึ่งเป็นเหตุสำคัญของกระบวนการ uprising ของผู้ใต้ปกครอง และเปลี่ยนแปลงการปกครองมากมายในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ส่วนอีกหนึ่งข้อเสียสำคัญของการแต่งงานระหว่าเครือญาติ (consanguineous marriage) คือ การเกิดลักษณะทางพันธุกรรมซ้ำและโอกาสที่ลักษณะด้อยจะมาปรากฏขึ้น จะสูงขึ้น (high penetrance rate)
ปกติลักษณะทางพันธุกรรมเราจะหลากหลายเพราะมีการแต่งงานและมีบุตรจากหลากหลายสายพันธุ์ ลักษณะที่ดีจะอยู่รอดและสืบสายพันธุ์ได้ดีกว่าตามกฏแห่งดาร์วิน ส่วนลักษณะด้อยจะตายจากไปตามเวลา
แต่หากการสืบสายพันธุ์นั้นไม่ได้ทำให้หลากหลายตามธรรมชาติ แต่ถูกบังคับแต่ง บังคับสืบพันธุ์ แบบอย่างของฮับสบูร์ก นั่นจะทำให้ลักษณะด้อยที่ไม่พึงประสงค์เกิดบ่อยขึ้น หรือลักษณะนั้น ๆ จะปรากฏชัดเจนในกลุ่มคนที่แต่งงานกันเอง เพราะความถี่ของยีนที่จะแสดงออกนั้นมันเกิดถี่และซ้ำกันมากขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่เราเคยรู้กันคือ Royal Disease โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียที่เกิดในสายราชวงศ์โรมานอฟที่ดองกันไปมากับราชวงศ์ทิวเดอร์และฮานโนเวอร์แห่งอังกฤษ เกิดโรคนี้มากมายในสายเชื้อพระวงศ์ (แต่อังกฤษกับรัสเซียเป็นคนละขั้วกับฮับสบูร์ก)
คราวนี้เรามาดูสัญลักษณ์จากการแต่งงานกันเองในหมู่ฮับสบูร์กบ้าง นั่นคือ Habsburg’s Jaw ที่ผมขอเรียกเองว่า "กรามศักดิ์สิทธิ์แห่งฮับสบูร์ก"
ถ้าไปสังเกตรูปภาพของเจ้านายแห่งฮับสบูร์ก จะพบรูปวาดที่มีคางยื่น จมูกแบนเล็ก เรียกว่า mandibular prognatism กระดูกกรามล่างยื่นออกมา และมักจะพบร่วมกับกรามบนที่เจริญเติบโตลดลง maxillary retrognathism หรือ maxillary deficiency
เมื่อมองดูจะเห็นเหมือนส่วนกลางใบหน้ายุบลง สันจมูกแบนราบ ปีกจมูกกว้าง ปัญหาสำคัญคือปิดปากไม่สนิท สบฟันไม่เข้าที่ ตำแหน่งของริมฝีปากและลิ้นที่ผิดไปทำให้พูดไม่ชัด
มีเรื่องเล่าเขียนไว้ว่าครั้งหนึ่ง จักรพรรดิชาร์ลส์ที่ห้าแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ก็คือ ชาร์ลส์ที่หนึ่งแห่งสเปน) มายังประเทศสเปนใหม่ ๆ เลย มีชาวนาคนหนึ่งเห็นพระองค์แล้วบอกว่า ท่านควรจะขยับปากให้สนิท เพราะแมลงวันที่นี่จะกวนท่านอย่างมากเลย ซึ่งชาร์ลส์ที่หนึ่งแห่งสเปนนี้ก็เป็น ฮับสบูร์ก เช่นกัน
แต่ว่ารูปวาดของฮับสบูร์กหลายคนก็จะไม่เห็นกรามยื่นออกมา เนื่องด้วยว่าในยุคสมัยนั้น ศิลปินในยุโรป จะมีต้นสังกัดเป็นเจ้านายและวาดรูปหรือปั้นงานให้เจ้านายตัวเอง เป็นสัญญาจ้างงานเลยนะ เหมือนอย่างที่เลโอนาร์โด ดา วินซี ก็ทำงานให้กับตระกูลเมดิชี อภิมหาเศรษฐีแห่งฟลอเรนซ์ ที่จ่ายไม่อั้นให้ดาวินซี ดังนั้นศิลปินในสังกัดก็จะวาดรูปเจ้านายฮับสบูร์กของตัวเองสวย ๆ หล่อ ๆ แต่…จะวาดใบหน้าตรงซึ่งทำให้ไม่ค่อยยื่นสักเท่าไร
นอกเหนือจากปัญหากรามยื่น เคี้ยวลำบาก พูดไม่ชัด ลักษณะของกรามบนสั้นกรามล่างยาวนี้ ยังไม่สัมพันธ์กับสมาชิกของฮับสบูร์กที่ไม่ค่อยแข็งแรงอีกด้วย ซึ่งก็น่าจะเกิดจากลักษณะด้อยที่มาเจอกันย่อยกว่าธรรมชาติ ทำให้โรคภัยที่พบน้อยในธรรมชาติ ก็มาพบมาที่ฮับสบูร์ก พบว่าสมาชิกในตระกูลเป็นเกาต์ หืด ลมชัก มากมายเลย
ฮับสบูร์กเองก็สังเกตความผิดปกติแห่งตระกูลเช่นกัน แต่ฮับสบูร์กก็คือฮับสบูร์ก พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยประกาศออกไปว่า ลักษณะแบบนี้แหละที่เป็นลักษณะที่เป็นลักษณะเหนือมนุษย์ เป็นกรามศักดิ์สิทธิ์ที่เหมาะสมกับผู้ที่เอกสิทธิ์ปกครอง ประมาณว่าฟ้าประทานมา และประกาศให้ชาวยุโรปทราบด้วยว่า พวกออเจ้าเห็นไหม กรามศักดิ์สิทธิ์อันนี้ตกแก่ราชวงศ์ฮับสบูร์ก (ก็แหงล่ะ แต่งงานในเครือญาติที่หว่า) นั่นคือความชอบธรรมที่ฮับสบูร์กจะปกครองพวกท่าน
ซึ่งมันไม่จริง..ทายาทแห่งฮับสบูร์ก ด้อยลงด้อยลง ด้วยความผิดปกติอันธรรมชาติคัดเลือกให้หมดไปมารวมในฮับสบูร์ก เช่นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สองแห่งสเปน (100 กว่าปีหลังชาร์ลส์ที่หนึ่งแห่งฮับสบูร์กสเปน) มีปัญหาการเรียนรู้ อ่านไม่ได้ และไม่สามารถมีลูกได้ เป็นอันสิ้นสุดฮับสบูร์กสเปน
ต้องไปเชิญเชื้อสายฮับสบูร์กทางฝรั่งเศส หลานพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสมาเป็นกษัตริย์ชื่อว่า กษัตริย์ฟิลิปเป้ที่ห้า ต้นราชวงศ์บูร์บงแห่งสเปน ซึ่งบูร์บงก็ยิ่งใหญ่ในสายฝรั่งเศสไม่แพ้ฮับสบูร์กเลยทีเดียว
สรุปว่า การแต่งงานในหมู่เครือญาติซ้ำไปมา จะทำให้ลักษณะด้อยทางพันธุกรรมพบบ่อยและชัดขึ้น ส่งต่อไปลูกหลานได้ แต่มักจะสิ้นอายุขัยเร็ว สรุปแค่นี้แหละ ที่อ่านมายาว ๆ แค่น้ำจิ้มและเครื่องปรุง
แล้วคุณอยากอ่าน น้ำจิ้ม และเครื่องปรุง อีกไหมครับ ขอเสียงหน่อยสิ

02 มกราคม 2567

วรรณคดี ขี้สงสัย

 คำถามน่าสนใจ

ในวรรณคดีไทย มีเรื่องที่ 'เอ๊ะ' อยู่มากมาย อย่างเช่นเรื่องนี้
เราก็อาจได้ยินคนวิจารณ์ วิเคราะห์ ไปต่างกัน แล้วแต่จินตนาการอันแสนบรรเจิดของคนนั้น แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ทำแบบนั้น
"วรรณคดี ขี้สงสัย" ของปรามินทร์ เครือทอง ตอบคำถามต่าง ๆ ด้วยการขุดเอาหลักฐานจากวรรณคดีเรื่องเดียวกัน และเรื่องอื่น ๆ มาเป็นคำตอบ เช่น เรื่องที่พระอภัยทำกับนางเงือกอย่างไร
คุณปรามินทร์ วิเคราะห์จากบทข้างเคียงและบทอัศจรรย์อื่น ๆ ในเรื่องนี้ รวมไปถึงเรื่องอื่นเช่น รามเกียรติ์ ว่าในแต่ละเรื่องนั้น นางเงือก "นั่น" กันเองหรือ "นั่น" ข้ามสายพันธุ์อย่างไร บรรยายอย่างไร แล้วเอามาตอบคำถามว่าตกลง พระอภัยเธอใช้ท่าไหน
เรียกว่า ดุเด็ด สนุก ชวนหัว และดึงเอาเกร็ดวรรณคดีสารพัดเรื่องมาอ่านกัน อย่างเช่นเรื่องพระฤาษีกไลโกฏจากรามเกียรติ์ ในคอมเม้นต์
เรียกน้ำย่อยอีกตอนว่า พระเพื่อนพระแพง..อ่อย..พระลอแบบใด และเราเห็นบทแบบนี้อีกไหมในวรรณคดีอื่น
เป็นเกร็ดและการเล่าเรื่องวรรณคดีที่สนุกมากครับ
ใครเป็นคอวรรณคดีไทย ห้ามพลาดเลยครับ (ปกเล่มอยู่ในคอมเม้นต์)
ผมได้คำตอบแล้วว่าเขานั่นกันอย่างไร แล้วคุณล่ะ คุณคิดว่าเขา 'นั่นกัน' อย่างไร

01 มกราคม 2567

Neilson Hays Library

 วันนี้ จะมาเล่าทุกอย่างผ่านตัวอักษร อยากให้ทุกคนหลับตานึกภาพตามไป คุณไปชงกาแฟอุ่น ๆ ครัวซองต์ชีสเยิ้ม ๆ มาจมที่โซฟา แล้วอิ่มเอมกับกาแฟและเรื่องราว และหากใครสนใจ ผมแนะนำให้ ..ตามไปดู

ห้องสมุดเนลสัน เฮย์ คราวนี้มาจากคำบรรยายแบบทัวร์จากคุณบรรณารักษ์คริสติน่า ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวของห้องสมุดแห่งความรักแห่งนี้อย่างมหัศจรรย์ แม้ผมเคยมาเยือนห้องสมุดแห่งนี้แล้ว แต่คราวนี้มันช่างสุดวิเศษ
ผมผลักบานประตูเข้าไปแต่เช้า 09.30 น. สิ่งที่เห็นอย่างแรกคือสุภาพสตรีชาวต่างชาติกำลังจัดวางหนังสืออยู่ ผมถามเธอว่าวันนี้เปิดบริการไหม ผมเดินทางมาไกล อ่านเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้และอยากเข้ามาเยี่ยมชม คุณสุภาพสตรีที่ทราบชื่อและตำแหน่งว่า เธอคือบรรณารักษ์ (มืออาชีพ) และอยากจะพาทัวร์ที่แห่งนี้
คุณก็จะงงว่าทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมาพาทัวร์ จริง ๆ แล้วไม่ใช่บริการพื้นฐาน แต่ทุกคนสามารถให้เธอช่วยได้ และผมแนะนำตัวกับเธอว่า ผมเป็นมนุษย์สนใจประวัติศาสตร์ เป็นมนุษย์ห้องสมุด เคยช่วยงานบรรณารักษ์ตั้งแต่สมัยประถม ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่แห่งมนต์เสน่ห์ของผมตลอดมา …โอเค มันคลิ้กทันที เราเป็นคนสายพันธุ์เดียวกัน
จุดแรกที่เราไปดูกันคือทางเข้าและประตูดั้งเดิม ถ้าคุณหันหน้าเข้าประตูห้องสมุด ทางขวาคือถนนสุรวงศ์ เราแทรกตัวเข้าไปตรงทางเดินเล็ก ๆ ระหว่างรั้วกับอาคาร เราจะพบประตูที่ปิดไปแล้ว ในตำแหน่งนั้น หากคุณเงยหน้าขึ้นคุณจะพบอักษร "Neilson Hays Library" ใต้ประตูบานสูง และมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อมองเข้ามาจากถนนสุรวงศ์
ประตูนี้คือประตูดั้งเดิมของห้องสมุด แต่ตอนนี้ปิดไปเพราะต้องการให้ห้องโถงหลังประตูนั้น เป็นอนุสรณ์สถานความเป็นมาของห้องสมุด และรั้วตรงป้ายรถเมล์นั้นก็ยังมีร่องรอยของทางเข้าห้องสมุดเหลืออยู่ แต่ปัจจุบันเป็นรั้วต้นไม้สูงท่วมศีรษะแล้ว
เธอชี้ให้ดูว่า อาคารนี้สร้างเป็นแบบ Colo-Neo-Classic เป็นแบบผสม และแม้อาคารนี้จะผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2017 แต่การบูรณะครั้งนั้นใช้วิธีทางสถาปัตยกรรมที่จะคงสภาพเดิมของอาคารและรูปแบบของอาคารเดิมไว้มากที่สุด เพื่อต้องการให้เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย
คำอธิบายเรื่องรูปแบบของเสาและหัวเสาตามศิลปะนีโอคลาสสิกแบบต่าง ๆ และสังเกตว่าหัวเสาภายนอกและภายในอาคารก็จะต่างกัน ด้วยความตั้งใจออกแบบอาคารให้เป็นแบบผสมผสานเพื่อให้เป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของสถาปนิกผู้เรืองนามคนนี้
ก่อนจะเข้าไปด้านใน เธอให้ผมดูผนังอาคารด้านล่าง ที่เป็นอิฐมีลวดลายไม่ใช่ก้อนทึบ ลวดลายนั้นคล้ายเป็นช่องลมระบายอากาศ และเธอลองใหผมใช้นิ้วจิ้มไปในช่องนั้น มันมีลมพัดผ่าน ตำแหน่งของช่องจะอยู่ประมาณหัวเข่า ครั้งแรกผมคิดว่าเป็นเพียงลวดลายตกแต่งอาคาร แต่คุณบรรณารักษ์ยิ้ม และบอกว่าเราจะไปเจอความน่าสนใจของสิ่งนี้ภายใน
เมื่อเปิดประตูเข้าไป เป็นโถงใหญ่ ปูด้วยพื้นไม้ขัดเงา เรียงรายด้วยตู้หนังสือไม้และทุกตู้มีประตูไม้ประกอบกระจก ปิดสนิททุกตู้ ส่วนด้านขวาเมื่อเข้าประตูไป คือ จุดบริการเจ้าหน้าที่ ทั้งการยืมคืน ตอบคำถาม บริการข้อมูล และบริจาค
ห้องสมุดเนลสัน เฮย์ส เป็นห้องสมุดเอกชน มีค่าสมัครสมาชิก และหากไม่ได้สมาชิกจะขอบริจาคค่าเข้าชม คนละ 100 บาท ผมขอบอกว่าคุ้มค่ามากกับเรื่องราวและความลับของห้องสมุดแห่งนี้
คุณคริสติน่าชี้ให้ดูบานหน้าต่างรูปครึ่งวงกลม ที่เรียงรายกันตามตำแหน่งเสาอาคาร และถ้าสังเกตจะพบว่าหน้าต่างครึ่งวงกลมนั้นสามารถเปิดได้เช่นกัน ใต้บานกระจกโค้งนั้นเป็นหน้าต่างกระจกบานใหญ่สี่เหลี่ยมเปิดออกได้ ข้อสังเกตสำคัญคือ บรรดาหน้าต่างและหน้าต่างกระจกครึ่งวงกลมทั้งหลายนั้น อยู่ในตำแหน่งที่สูงเกินกว่าจะเอื้อมไปปิดได้ง่าย ๆ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความลับของอาคารแห่งนี้
วงกบหน้าต่างและขอบประตูในอาคารแห่งนี้ มีการตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปช่อมะกอกและลักษณะหัวเสาภายในที่แตกต่างจากภายนอกอาคาร อันเป็นลักษณะผสมผสานของ colo-neo-classic
คริสติน่าเฉลยความลับอันน่าทึ่งหรือยัง..ยังครับ เธอขอเล่าเรื่องความรักอันยิ่งใหญ่ของห้องสมุดแห่งนี้ก่อน
คุณคริสติน่าพาผมเข้าไปในห้องโถงรูปวงกลม เพดานสูง ตรงข้ามทางเข้าคือประตูที่ปิดสนิทบานหนึ่ง ถ้าคุณยังจำประตูทางเข้าที่ถูกปิดไปได้ หากคุณเดินเข้ามาก็คือห้องนี้ ห้องนี้ปรับเปลี่ยนเป็นห้องแสดงที่มาของห้องสมุดแห่งความรักแห่งนี้ ภาพถ่ายของ เจนนี่ เนลสัน เฮยส์ ภาพถ่ายคุณหมอเฮยส์ บันทึกข้อความและจดหมายระหว่างทั้งคู่ ตู้บัตรรายการเก่าแก่ ภาพถ่ายบัตรยืมคืนห้องสมุด เนียกว่าที่นี่ต้นกำเนิด ผมขอเล่าเรื่องคร่าว ๆ แล้วคุณจะได้เข้าใจว่า ที่แห่งนี้คือ อนุสรณ์สถานแห่งความรัก
เจนนี่ เนลสัน สุภาพสตรีชาวเดนมาร์ก เธอย้ายไปอยู่อเมริกาและต่อมาทำงานเป็นมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนา เข้ามาประเทศไทยในปี 1884 ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ประเทศเรากำลังพัฒนา เดิมทีนั้นคุณเจนนี่ เธอไปสอนหนังสือและสอนศาสนาที่หัวหิน แต่เธอมีปัญหาป่วยเกี่ยวกับอาการของโรคปอด คุณคริสติน่าเล่าว่าน่าจะเกิดจากเรื่องสภาพอากาศและความชื้นที่แตกต่างจากอเมริกา เธอจึงต้องเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพและทำงานที่กรุงเทพ
ที่นี่ เธอได้เข้ามาเป็นสมาชิกและคณะทำงานของ Bangkok Library Association สมาคมห้องสมุดที่ก่อตั้งโดยสุภาพสตรีอเมริกันในกรุงเทพจำนวน 13 คน ทำเป็นสมาคมให้ยืมหนังสือ แต่ว่าการดำเนินการยังไม่เป็นลักษณะแบบห้องสมุดทุกวันนี้ ลักษณะเป็นห้องสมุดที่บ้าน ไปยืมกันตามบ้าน บุคคลทั่วไปก็ยืมได้ ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติในกรุงเทพ ยุคสมัยรัชกาลที่ห้า มีคนไทยที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษอยู่น้อย กิจการจึงไม่ได้ใหญ่โตอะไร เจนนี่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมถึงสามครั้งเลยทีเดียว
แม้ว่าเธอจะมีความสุขกับงานสอนและงานสมาคมห้องสมุด แต่สุขภาพโรคปอดของเธอไม่ได้ดีขึ้น เธอเปลี่ยนหมอมาสองคน และมาจบท้ายที่คุณหมอเฮยส์ ที่นอกจากดูแลเธอจนอาการดีขึ้น ยังขยับมาเป็นหุ้นส่วนหัวใจของเธออีกด้วย แต่เนื่องจากคุณหมอเฮยส์เป็นหมอกลุ่มแรก ๆ ของสยามก็อยู่ไม่เป็นที่ การติดต่อสื่อสารจึงผ่านทางจดหมายที่เราได้เห็นในห้องจัดแสดงนี่เอง
เจนนี่อยากทำห้องสมุดที่เป็นการถาวร เธอจึงได้ซื้อที่ดินตรงถนนสุรวงศ์จุดนี้เพื่อทำเป็นห้องสมุด แต่ว่าเธอทำไม่สำเร็จ สุขภาพร่างกายที่อ่อนแอของเธอทำให้เธอกลับสู่สรวงสวรรค์ก่อนที่จะสร้างเสร็จ
คุณหมอเฮยส์จึงทำห้องสมุดต่อไป ตั้งใจอุทิศให้เจนนี่ ผู้ซึ่งรักงานห้องสมุดและเป็นยอดหัวใจของคุณหมอ ณ ที่ดินผืนนี้ และเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่คุณหมอมีให้เจนนี่ ฟินจิกหมอนไหมล่ะ ราวกับเรื่องราวของราชินี มุมตัช และทัชมาฮาล สุสานแห่งความรักที่จักรพรรดิชาห์ เจฮาน สร้างอุทิศให้ราชินียอดรักของพระองค์
กลับมาถึงเรื่องราวของความลับของห้องสมุดแห่งนี้กัน
หลังจากที่เจนนี่เสียชีวิต คุณหมอเฮยส์ได้ทำการจ้างสุดยอดสถาปนิกแห่งกรุงสยามในเวลานั้น Mario Tamagno มาออกแบบก่อสร้างห้องสมุดแห่งนี้ เอ๊ะ..มาริโอ ตามานโย คือใคร
มาริโอ ตามานโย คือ สถาปนิกที่มาออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบวังพญาไท ออกแบบสถานีรถไฟกรุงเทพ ออกแบบตึกไทยคู่ฟ้า เรียกว่าสุดยอดฝีมือแห่งยุค แต่ว่าการสร้างห้องสมุดก็เป็นงานยากไม่น้อยของตามานโย ด้วยความที่ประเทศสยามเป็นเขตร้อน ฝนชุก น้ำท่วม ชื้น แมลง ตามานโยจึงได้ออกแบบอาคารที่ตอบโจทย์แห่งยุคสมัยมาก
คริสติน่าพาผมไปที่บานประตูระหว่างชั้นหนังสือ เธอเปิดมันออก และให้ผมเข้าไปดูข้างใน เมื่อผ่านเข้าไปในประตูแคบ ๆ นั้น พบว่าเป็นทางเดินแคบ ๆ ขนาเท่าคนเดินผ่าน วนรอบตลอดแนวกำแพง สร้างเป็นทางเดินแบ่งกำแพงออกเป็นสองชั้น ชั้นที่ติดกับตู้หนังสือด้านในและชั้นที่ติดกำแพงตึกข้างนอก นี่คือกำแพงสองชั้นเพื่อป้องกันความชื้นและระบายอากาศ สร้างท่อหายใจและระบายอากาศให้กับบรรดาหนังสือเป็นพันเล่มที่นี่
ถ้าคุณยังจำได้ อิฐก้อนที่เป็นโพรงและมีลมผ่าน ก็จะต่อมาถึงทางเดินระบายลมนี้ พัดเป็นทางวนรอบอาคาร ช่องทางระบายอากาศนั้น ยังมีบันไดวนตามตำแหน่งเสาอาคาร ขึ้นไปถึงระดับบริเวณขอบบนของตู้หนังสือ และมีประตูเปิดออกมายังห้องเก็บหนังสือโถงใหญ่ เพื่อส่งอากาศเข้ามาอีกด้วย และคุณสามารถเดินบนทางเดินแคบ ๆ จากประตูตรงขอบบนตู้นั้น เพื่อเดินไปเปิดหน้าต่างรอบตัวอาคารได้เลย เป็นการสร้างระบบ air ventilation เพื่อจัดการสภาพอากาศร้อนชื้น เพื่อดูแลสภาพหนังสือ ในยุคที่ยังไม่มี air conditioner
ยังไม่พอ ผนังด้านใน ที่ด้านหนึ่งคือช่องลมทางเดินแคบ ๆ อีกด้านหนึ่งเจาะช่องเพื่อนำตู้ไม้มาบรรจุในช่องปูนนี้อย่างพอดิบพอดี คุณคริสติน่าบอกว่า นี่คือความแม่นยำของมาริโอ ตามานโย ที่ประกอบตู้จากภายนอกแล้วมาใส่ช่องปูนนี้ได้พอดี (perfectly fit) เพื่อช่วยป้องกันแมลง และตรงกึ่งกลางช่องปูน มีการเจาะรูวงกลมขนาดสองเท่าของเหรียญสิบบาท ที่ตรงกับรูตู้ไม้เก็บหนังสืออีกฝั่งมเพื่อเป็นรูระบายอากาศในตู้ที่มีบานกระจกปิด เพื่อมีตาข่าย ซึ่งลักษณะคล้ายมุ้งลวดทองเหลือง ไว้เพื่อป้องกันแมลงจากภายนอกด้วย
ใครเก็บหนังสือจะรู้ว่า ปลวกและมด คือ ศัตรูสำคัญของห้องสมุด คุณคริสตินาบอกว่า ก็สมัยนั้นไม่มีสเปรย์กำจัดแมลง วิธีนี้ก็ช่วยให้หนังสือถูกเก็บรักษาได้มาเกือบร้อยปี
และยังไม่พอ คุณคริสตินาชี้ให้ผมดูว่า ความสูงของตู้ไม้ไม่ได้ลงไปถึงพื้น แต่จะวางบนขอบปูน (ที่เจาะไว้พอดี) เพื่อลดโอกาสที่ความชื้นจากพื้นจะลุกลามมาที่หนังสืออีกด้วย เสมือนการยกพื้นขึ้นเพื่อหนีน้ำ
นอกจากมีความรักแล้ว ยังมีเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมแห่งยุคมาอยู่ที่ห้องสมุดนี้อีกด้วย
และหากมองขึ้นไปบนเพดาน คุณจะยังพบพัดลมเพดานโบราณ และโคมไฟระย้าที่สวยงาม ซึ่งคุณคริสตินาบอกว่า อาคารแห่งนี้เป็นอาคารยุคแรก ๆ ของสยามที่มี "ไฟฟ้า" ใช้ และมีการติดตั้งพัดลมกับโคมไฟไว้อำนวยความสะดวกการอ่านอีกด้วย และที่สำคัญก่อนการรีโนเวทครั้งใหญ่นี้ พัดลมและการเดินสายไฟนี้ยังใช้ได้อีกด้วย ปัจจุบันใช้แต่โคมไฟครับ เพราะมีการปรับอากาศและความชื้นในห้องสมุดเรียบร้อย
แต่ทว่า … เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งของต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ห้องสมุดนี้ก็เช่นกัน ถึงแม้โครงสร้างภายในจะเสมือนเหนือกาลเวลา แข็งแรงและคงทน มีการบุบสลายซ่อมแซมในขนาดเล็กน้อย ยังคงสภาพโครงสร้างเดิมได้ทั้งหมด ยกเว้นแต่พื้นที่ชื้นมากและมีปัญหามาตลอด จนต้องทำการรีโนเวทห้องสมุดในปี 2017
การรีโนเวทนี้ใช้เทคนิค ถ่ายภาพและแกะซ่อมประกอบใหม่ ให้เหมือนเดิมมากสุด ..ปราสาทหินหลายแห่งเช่น ปราสาทหินพิมายก็ทำการรีโนเวทเช่นนี้ ทำให้เราพบความลับของห้องสมุดนี้อีกสองอย่าง
อย่างแรกคือ มีห้องเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้อาคาร แต่ด้วยวันเวลาและผ่านน้ำท่วมหลายครั้ง ทำให้ห้องเก็บน้ำนี่เองเป็นแหล่งความชื้น จึงทำการปิดห้อง ยกพื้นห้องสมุดขึ้นสูงและทำช่องระบายอากาศใต้พื้น พร้อมติดตั้งพัดลมระบาย เพื่อการระบายอากาศและความชื้นที่สมบูรณ์ เหมือนกับที่มาริโอตั้งใจเมื่อร้อยสองปีก่อน
ใครเดินไปที่ห้องสมุดจะพบช่องตะแกรงที่พื้น บรรจุพัดลมระบายอากาศที่พื้น ก็คือพัดลมหลังซ่อมใหญ่นี่เอง และในส่วนลึกด้านในของห้องสมุด ตรงจุดที่มีตะแกรงระบายอากาศที่พื้นจุดหนึ่ง หากคุณมองขึ้นไป คุณจะพบว่าผนังกำแพงตรงช่องเสานี้หนึ่งช่วงเสา มีสีผนังที่ต่างไปจากสีตำแหน่งอื่น
และนี่คือความลับอย่างที่สองที่พบตอนรีโนเวทห้องสมุดนี้ คุณเดินเข้าประตูห้องสมุด เดินผ่านโซนเก้าอี้อ่านหนังสือ เข้าสู่โซนหลังห้องสมุด จุดที่มีหนังสือเด็กในบริการนั่นแหละครับ เข้าประตูผ่านโซนแล้ว สูดลมหายใจกลิ่นไม้ กลิ่นกระดาษ แล้วมองไปทางขวามือ จะพบเก้าอี้เก่าตั้งอยู่ พื้นตรงนั้นคือตะแกรงระบายอากาศ ให้คุณมองขึ้นไปบนผนังจรดเพดาน
ผนังเดิมที่เป็นสีฟ้าและเสาทาสีชมพู เฉดสีพาสเทลสวยมาก ที่เป็นสีเดิมของห้องสมุดนี้ แต่ถูกทาสีทับด้วยสีขาว เรามาเห็นสีดั้งเดิมตอนที่สีขาวเก่าหลุดลอกและจากการซ่อมแซม ทางห้องสมุดจึงทำการทาสีเหมือนสีเดิม ณ จุดที่พบเห็น เพื่อเป็นอนุสรณ์ของสีห้องสมุดดั้งเดิม ส่วนพื้นที่อื่นนั้นเป็นสีวานิลลา warm white เหมาะกับการอ่านหนังสือและไฟเพดาน warm white ทั้งหมด ถ่ายรูปออกมาเป็นโทนอุ่น ซีเปีย สวยมาก
แล้วคุณคริสตีน่า ก็พาผมไปชมบานหน้าต่าง ลวดลายหน้าต่าง ที่เป็นลวดลายเก่าดั้งเดิมตั้งแต่ยุค 100 ปีก่อน วนออกไปจนไปจบที่ทางเข้าอีกครั้ง และเมื่อมองจากภายในออกไป จะพบว่าที่พื้นภายนอกมีการยกสูงเพื่อกันน้ำท่วมเข้ามา ตอนที่รีโนเวทห้องสมุดนั้น
นอกจากยกพื้นหน้าห้องสมุดสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้ามาแล้ว ยังทำการวางระบบระบายน้ำเสียใหม่ (จำห้องเก็บน้ำใต้อาคารอันเป็นจุดบอดได้ไหม)
ทำให้ตอนนี้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่อยู่อันปลอดภัยกับบรรดาหนังสือ บรรดาสิ่งของแห่งความรักของเฮยส์และเจนนี่ และความทรงจำที่มีชีวิตของเหล่านักอ่าน
ที่ควรไปสัมผัสบรรยากาศของตำนานห้องสมุดที่ยังมีลมหายใจแห่งนี้ สักครั้ง…ในชีวิต
ขอบคุณห้องสมุด ขอบคุณบรรณารักษ์คริสติน่า ขอบคุณตัวเอง และขอบคุณทุกคนที่ตามอ่านมาจนจบครับ

บทความที่ได้รับความนิยม