หลังจากหยุดพักไปสามสัปดาห์ ผมไปฝึกอบรมและเรียนรู้ การทำสื่อ การสื่อสาร อัลกอริธึมของสื่อออนไลน์ และเรียนปรัชญาอีกเล็กน้อย
และเฝ้าดูช่องทางสื่อสารความเข้าใจทางสุขภาพ (Health Literacy) แบบต่าง ๆ ในหลายช่องทาง ก็ได้ข้อเสนอแนะ
มาแนะนำคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ด้านสุขภาพครับ (ผมว่าก็น่าจะเรียกตัวเองว่า 'มีประสบการณ์' ได้นะ)
1. อย่าทำคนเดียว ..คุณทำคนเดียว ถือว่ายาก เพราะการสื่อสารจะต้องมีมุมมองคนให้และคนรับที่หลากหลาย การมีทีมจะทำให้ความคิดและไอเดียกว้าง ไม่ซ้ำ ไม่ตัน ไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญทำให้สนุกขึ้น
2. เลือกความถนัดหลัก แต่ต้องมีความถนัดหลากหลาย ... ใครถนัดพูด ใครถนัดทำวิดีโอ ให้ใช้สื่อที่ตัวเองถนัดที่สุดเป็นหลัก เป็นจุดเด่นของคุณ แต่ในเวลาเดียวกันคุณต้อง 'พอเป็น' ใส่สื่อแบบอื่นด้วย เพราะเรื่องราวหรือการนำเสนอบางอย่างก็เหมาะกับสื่อไม่เหมือนกัน อ้อ..การมีทีมจะช่วยจุดนี้ด้วย
3. ต้องทันข่าวสารปัจจุบัน .. โลกยุคนี้ข้อมูลเร็วมาก ถ้าเราสามารถเลือกหัวข้อสุขภาพอันเป็นที่กล่าวขวัญจะทำให้คุณค่าของเนื้อหามากขึ้นจากตัวคูณความสนใจ หรือหยิบเอาเรื่องราวพาดหัวข่าวมาผสมกับเรื่องของเราได้ จะยิ่งเพิ่มความสนใจ สำหรับสื่อออนไลน์จะเพิ่มยอดผู้ชมมากขึ้น
4. ให้หารายได้หรือช่องทางสนับสนุนในสื่อตัวเอง เพื่อนำรายได้นั้นมาพัฒนาต่อยอดสื่อของคุณให้ก้าวหน้าขึ้น เช่น มีอุปกรณ์แสงเสียง มีทุนไปหาข้อมูล มีเงินไปจ้างอาร์ต มันจะทำให้การทำงานสื่อของคุณมีความหมาย ได้พัฒนาทักษะและตัวงาน ตัวคุณจะได้รู้สึกมีคุณค่าและสนุกกับงานด้วย และต้องระบุชัดเจนว่าเนื้อหาใดคือการโฆษณาร่วมด้วย
5.มีช่องทาง (platform) หลักของคุณ ให้ทุกคนรู้ว่าจะติดตามคุณได้ทางใด โดยแนะนำเป็นช่องทางเว็บ แล้วนำข่าวสารหรือคอนเท้นต์จากช่องทางหลัก ไปเผยแพร่ในช่องทางรองอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูล ให้คิดว่ายังมีคนอีกมากที่ต้องการข้อมูลของเรา แต่เขาอยู่คนละช่อง
6. มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ รูปแบบ เนื้อหา จะนำเสนอข่าวสาร จะวิเคราะห์เนื้อหา จะเขียนเล่าเรื่อง ก็เน้นแนวทางนั้น หรือใครจะลงลึกในสาระ ใครจะโปรยแนวทางให้ไปอ่านต่อ ก็ทำตามที่ตัวเองตั้งเป้า มีทีมมีช่องทางได้มาก แต่อย่าสับสนในเป้าหมาย
7. ต้องมีความรับผิดชอบ .. อันนี้สำคัญ เนื้อหาบางอย่างน่าตื่นเต้นน่าสนใจ แต่ว่ายังไม่มีความแน่นอน หรือไม่ปลอดภัย จะต้องสร้างงานอย่างระวัง มีคำเตือนที่ชัดเจน เนื่องจากหัวข้อสุขภาพจะส่งผลต่อชีวิต ต้องคิดถึงผลที่จะตามมา และยิ่งมีผู้ติดตามมากจะต้องยิ่งคิดว่าอาจมีคนเข้าใจเนื้อหาผิดและเอาไปใช้ผิดได้
8. การปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งที่บ่งชี้ตัวบุคคลชัด ๆ ไม่ควรปรากฏเลย ถึงแม้จะได้รับอนุญาตก็ตาม โดยเฉพาะภาพถ่าย หรือหลายสิ่งที่สามารถสืบค้น (footprints) ไปถึงแหล่งที่มาอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องปกปิด ก็ต้องระวังในการเผยแพร่ และพึงระลึกว่ามีความผิดในทางกฎหมายด้วย
9. ควรมีความถี่การเผยแพร่ผลงานที่สม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องลงเสนอผลงานบ่อยทุกวัน แต่ควรเป็นความถี่ใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ เพื่อผู้ติดตามจะได้ทราบกำหนดคร่าว ๆ รวมทั้งตัวคุณเองจะมีวินัยในการนำเสนอผลงานที่ดี
10. เรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง ความเห็นต่าง มีคนเห็นต่างในความคิดเสมอ ทุกคนมีโอกาสผิดและนั่นรวมตัวคุณด้วย เราอาจจะผิดพลาดได้ ให้รับฟังความเห็นต่างและชี้แจง ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายลุกลาม ผู้จัดการสื่อมีหน้าที่พึงควบคุมความขัดแย้งด้วย (เป็นจำเลยร่วมหรือโจทก์ร่วมด้วย) ดังนั้น รับฟัง แนะนำ ยอมรับแก้ไข ตักเตือน ควบคุม เป็นสิ่งที่ต้องทำ
11. แสดงความรับผิดชอบหากข้อผิดพลาดนั้นเกิดจากตัวคุณ ทั้งผิดพลาดทางตรง เช่น ให้ข้อมูลพลาด หรือ พาดพิงบุคคลที่สาม หรือผิดพลาดทางอ้อม เช่น เกิดความขัดแย้งลุกลาม .. การขอโทษ ยอมรับ ปรับปรุง และแก้ไขในทางแจ้ง ทำให้คุณพัฒนาตัวเอง และเป็นที่ยอมรับของผู้ติดตาม
12. ศึกษาข้อกฎหมาย กติกา ของการใช้สื่อสาธารณะ ลิขสิทธิ์ ความเป็นส่วนตัว ละเมิด หรือมีที่ปรึกษากฎหมายในกรณีไม่มั่นใจ การมีเจตนาดีในการเผยแพร่สื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี ถ้าสิ่งนี้ไม่ส่งผลเสียทางกฎหมายกับตัวคุณหรือผู้อื่น หากเกิดปัญหา มันจะรบกวนชีวิตจิตใจอย่างมาก
อีกหลายวิธีที่เรียนมาจะเป็นวิธีมุ่งเน้นการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และเป้าหมายทางธุรกิจ แต่มันไม่ใช่เป้าหมายของผมที่จะมาแนะนำคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ทางสุขภาพในแบบเฉพาะทางมุ่งเป้าแบบนั้น
ตัวอย่างที่ไม่ดี คือตัวผมเอง ไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพใด ๆ นึกจะทำอะไร จะเขียนอะไรก็ทำตามใจตัวเอง ใครอยากอ่านก็มา ใครไม่ชอบก็แยกกันเดิน (เอ๊ะ..คุ้น ๆ นะ)
เพราะไม่ได้อยากเป็นคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ อยากแค่เป็นเพื่อนกับพวกคุณ.. แค่นั้น