28 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวสั้น ข้อมูลโภชนาการในเมนูอาหาร

ข่าวสั้น ทันสมัย ง่ายนิดเดียว

ถ้าเราเห็นข้อมูลทางโภชนาการในเมนูอาหารตามร้าน จะทำให้เราสั่งอาหารได้ดีขึ้น ลดน้ำหนักได้มากขึ้นไหม

นักวิจัยจากอังกฤษได้ทำการรวบรวมการศึกษาทั้งแบบทดลอง ทั้งแบบในห้องแล็บ ลงตีพิมพ์ใน cochrane review คือ แหล่งที่รวบรวมงานวิจัยแบบนี้ ว่าถ้าหากมีข้อมูลทางโภชนาการเขียนลงไปในเมนูจะทำให้คนสั่งอาหารสั่งอาหารเปลี่ยนไปไหม คล้ายๆกับฉลากโภชนาการ

เขาได้รวบรวมการศึกษา 28 การศึกษา พบว่า คนจะสั่งอาหารได้แคลอรี่ลดลงประมาณ 50 กิโลแคลอรี่ และคำนวณสัดส่วนการกินอาหารได้ถูกต้องมากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนพลังงานที่ลดลง จะลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และการศึกษาที่รวบรวมมาจะยังมีคุณภาพงานวิจัยไม่ดีนัก แต่ก็เป็นต้นคิดว่าหากทำได้จริงและมีการศึกษาที่ดีกว่านี้ เราน่าจะควบคุมแคลอรีจากการกินได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมนูร้านอาหารที่มักจะทำให้เรากินเกินที่คิดประจำ

หรือ...เราจะกินข้าวไม่อร่อยเพราะคิดมากไป ??

อ่านตัวเต็มได้ที่นี่  http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/14651858.CD009315.pub2/abstract;jsessionid=76C06AF43D610D99EE3B7DDB7282428D.f04t02

ความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน ตอนที่สอง

เรามากล่าวถึงตอนที่สองของปัจจัยการเกิดโรค คือ "ความสัมพันธ์" ซึ่งเป็นการคำนวณทางสถิติ ไม่ได้เป็นความจริงตรงไปตรงมา เราเริ่มต้นด้วยคำกล่าวนี้ก่อนแล้วกัน "ไรฝุ่นบ้านเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคภูมิแพ้" มันแปลความว่าอย่างไร และมีที่มาอย่างไร ก่อนจะไปตอบคำถามว่า บุหรี่ยาเส้น ทำไมจึงเป็นความเสี่ยงและทำไมบางคนจึงไมเกิดโรค ในแง่ความสัมพันธ์

   "ไรฝุ่นบ้านเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคภูมิแพ้" หมายถึง คนที่สัมผัสไรฝุ่นบ้าน มีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้มากกว่า คนที่ไม่ได้สัมผัส อย่างชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด เห็นไหมครับว่า มันคือโอกาส มันคือความน่าจะเป็น ไม่ได้เป็นความจริงและสาเหตุตรงไปตรงมา ในทางกลับกัน คนเป็นโรคภูมิแพ้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดจากไรฝุ่น หรือ สัมผัสไรฝุ่นทุกคนไป
  เหมือนกับคำกล่าว ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็ง คือ คนที่สูบยานั้นเสี่ยงโรคมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบ และไม่ใช่ทุกคนที่สูบยาจะต้องเป็นมะเร็ง และคนที่เป็นมะเร็งก็ไม่ได้มาจากการสูบยาทุกคน

  พื้นฐานความจริงนี้ส่วนมากมาจากการศึกษาที่เราเฝ้ามองดู คนที่รับความเสี่ยงกับไม่รับความเสี่ยง เช่น เราตั้งใจศึกษาคนที่สูบบุหรี่ กับ คนที่ไม่สูบบุหรี่ แล้วติดตามไปสิบปี ดูว่าอัตราการเกิดมะเร็งของแต่ละกลุ่มเป็นเท่าไร ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เราศึกษากลุ่มละ 100 คน ติดตามไป 10 ปี พบว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอด 30 คนส่วนคนที่ไม่สูบเป็นมะเร็งปอด 5 คน เราก็จะกล่าวได้ว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่สูบ 6 เท่า

   แต่ดูตรงนี้ก่อน....คนที่สูบบุหรี่ เป็นมะเร็งปอด 30 คนจาก 100 คน นั่นคือมีคนที่สูบบุหรี่แล้วไม่เป็นมะเร็งถึง 70 คน
   และตรงนี้เช่นกัน ..คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็ยังเป็นมะเร็งปอด 5 คนจาก100 คน
หมายความว่าการศึกษาแบบนี้เราบอกได้แต่ความสัมพันธ์ ว่าเกี่ยวข้องกันเท่านั้น เราจะบอกสาเหตุได้ชัดๆ หาก 100 คนที่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งทั้งสิ้น และ 100คนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีใครเป็นมะเร็งเลย แต่สิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้ครับ  เราจึงยอมรับว่าถ้าค่าความสัมพันธ์อันนี้ มันมีมาก ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า 5 เท่าขึ้นไป ยิ่งมากยิ่งสนับสนุนว่า "น่าจะเป็นสาเหตุ" อันหนึ่งได้

  การจะบอกสาเหตุได้จึงจะต้องมีความสัมพันธ์ที่มากพอ และทำการศึกษาซ้ำๆกันหลายครั้งก็ยังออกมาเป็นรูปแบบเดียวกัน อย่างเช่นคำกล่าวนี้แหละ ยาสูบเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งปอด ไม่ได้เกิด 100% ไงครับ เราจึงยังพบคนสูบบุหรี่จัดไม่เกิดมะเร็ง และคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เป็นมะเร็ง แต่ว่าถ้าคุณสูบ โอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น หกเท่า (จากการยกตัวอย่างเมื่อกี้นะ ตัวเลขจริงสูงกว่านี้) คุณจะสูบต่อไหมล่ะ หรือคุณจะเลิก หรือจะเริ่มไหมล่ะ
   ก็เป็นที่มา ของคำแนะนำในการเลิกบุหรี่นั่นเองครับ เพื่อลดความเสี่ยงในภาพรวม

  อันนี้เราพูดถึงแต่ตัวแปรแค่ตัวเดียว คือ บุหรี่ กับผลแค่อย่างเดียว คือ มะเร็งปอด ซึ่งมันง่าย แต่ในความเป็นจริงคนร้อยคนที่มาเข้าการศึกษาก็มีสิ่งที่ต่างกันออกไป ไม่ว่า อายุ เพศ โรคเดิมที่เป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมมีควันหรือไม่ ดื่มเหล้าด้วยหรือเปล่า ปัจจัยแปรปรวนเหล่านี้ เราใช้กระบวนการทางวิชาสถิติ เพื่อลดความแปรปรวนต่างๆเหล่านี้นั่นเอง
  ผมจึงกล่าวว่า ความเสี่ยงหรือความสัมพันธ์ที่ได้จากกระบวนการเก็บข้อมูลทางสถิตินั้น มันไม่ได้บอกว่าเป็นสาเหตุ 100% มันมีความแปรปรวน
   แต่เมื่อเราใช้การศึกษาหลายๆอัน ทำซ้ำในหลายๆกลุ่มคน มีการเกลี่ยความแปรปรวนด้วยวิธีการทางสถิติต่างๆ เป็นร้อยๆการศึกษา เอามารวบรวมและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้ความแปรปรวนคลาดเคลื่อนนั้น..ลดลง

  เวลาเขียนในตำรา คำแนะนำต่างๆ เราจะใช้การศึกษาเป็นสิบๆ กลุ่มตัวอย่างเป็นหมื่นเป็นแสนมารวมกันครับ ทำให้ความแม่นยำสูงมาก (แต่อย่างไรก็ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ จึงจะยังมีกรณียกเว้นให้เห็นอยู่เนืองๆนั่นเอง)
  หวังว่าในสองตอนนี้คงตอบคำถามและให้ความชัดเจนเรื่องความเสี่ยงต่างๆที่ไม่เท่ากันในแต่ละคนได้นะครับ

  เรื่องของการลดความเสี่ยง ความเสี่ยงบางอย่างถ้ามีแล้วโรคมากขึ้น แต่ถ้าเราลดลงโรคก็ไม่ได้ลดลง มันก็มีนะครับ หรือความเสี่ยงบางอย่างแปลผลทางห้องทดลองได้ดี แต่ว่าในการนำมาใช้จริงกลับใช้ผลอันนั้นได้ไม่มากนัก มันก็จะยากขึ้น ผมพยายามที่จะทำให้ง่ายและยกตัวอย่างที่ชัดๆ ให้เข้าใจกัน  แต่ไม่รู้มีคนอยากฟังอีกหรือไม่ เพราะดูจะยากขึ้นๆ มันจะกลายเป็น "อายุรศาสตร์ ยากมากมาย"

  นับยอดแล้วกัน ใครเดินไปถอดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้แล้วมากดไลค์ เกิน 100 ไลค์ ผมจะเหมาเอาเองว่ามีคนอยากฟังอีก ก็จะทยอยลงให้นะครับ

ความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน

คำกล่าวคลาสสิกมาก "ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่ สูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ไม่เห็นเป็นอะไรเลย" หรือ "คนนั้นน่ะ เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ เป็นมะเร็งตายเฉยเลย" การอธิบายและเข้าใจเรื่องนี้จะยาวและยาก ที่สำคัญที่สุดต้องอ่านด้วยความรู้สึกเป็นกลาง ไม่มีบวกลบใดๆก่อน

  ประเด็นแรกก่อน การไม่เห็นไม่ใช่การไม่เป็น เพราะว่าเทคโนโลยีการตรวจจับโรคสมัยนี้มันดีกว่าสมัยก่อนมาก การไม่เป็นหรือการไม่พบโรคในสมัยก่อน ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้โรคนั้นมันไม่มีหรือมันไม่เกิด บางทีมันมีอยู่แต่เราไม่รู้  ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆเลยคือ มะเร็งปอด มันเป็นโรคที่ไม่มีอาการใดๆเลยในระยะแรก ต่อให้เป็นมากก็ไม่มีอาการ ในยุคที่เราไม่มีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แพร่หลาย การที่จะบอกว่าเป็นมะเร็งปอดนั้นยากมาก ต้องผ่าดูหรือตรวจศพ
   ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ง่ายและแม่นยำมาก โอกาสพบมากขึ้น ต่อให้สภาพแวดล้อมเท่าเดิม อัตราการเกิดโรคเท่าเดิมกับอดีต แต่ปัจจุบันเราจะตรวจพบมากขึ้น
  นั่นคือคนสมัยก่อนก็อาจจะเป็นแต่ตรวจไม่พบนั่นเอง ..

  ประเด็นที่สอง เรื่องปัจจัยแวดล้อม สิ่งแวดล้อมต่างๆ อาหารการกิน สภาพสารพิษในสังคม สารพิษในอาหาร สิ่งต่างๆเหล่านี้หากพิจารณาเพียงตัวเดี่ยวๆ อาจจะไม่ส่งผลใดๆ หรือแทบไม่ส่งผลกับโรคหนึ่งโรค แต่หากเราคิดรวมสิ่งที่เปลี่ยนเป็นปัจจัยรวม มันจะส่งผลมากทีเดียว
   ยกตัวอย่าง โรคภูมิแพ้...คนในอดีตอาจไม่ได้ดูแลตัวเองนัก กินเหล้าสูบยา แต่ก็ไม่เห็นเป็นมากเท่าปัจจุบัน แต่อย่าลืมโลกที่ร้อนขึ้น มลภาวะ น้ำเสีย อากาศเสีย มันก็ทำให้สิ่งที่คนยุคนั้น กับคนยุคนี้สัมผัสไม่เหมือนกัน แม้จะกินเหล้าสูบยาเหมือนกัน แต่สิ่งแวดล้อมอื่นๆมันต่างกันตามเวลา

  ประเด็นที่สาม เรื่องปัจจัยของตัวเอง อันนี้สมัยก่อนเราเชื่อว่าเป็นบุญกรรมที่ติดมาจากชาติที่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางพันธุกรรมเราเริ่มทราบแล้วว่า การกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมมีผลต่อโอกาสการเกิดโรคมากมาย บุญกรรมก็มีนะแต่ว่ายังพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ไม่ชัดเท่า บางคนเกิดมามีพันธุกรรมที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าคนอื่นๆ ต่อให้ทำตัวดีแค่ไหนก็โอกาสสูงอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่นมียีน BRCA 1 และ BRCA 2 ในตัวทั้งคู่ อันนี้อยู่เฉยๆก็มีโอกาสมะเร็งเต้านมสูงมากๆ คุณแองเจลลินา โจลี่ จึงตัดสินใจตัดนมทิ้งเลย
   ในขณะที่บางคน ไม่มีพันธุกรรมที่เสี่ยงโรคนัก ทำให้เขาทนต่อสิ่งกระตุ้นโดยไม่เป็นโรคมากกว่าคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าจะทนทานเป็นอมตะต่อสิ่งกระตุ้นนั้นนะ เพียงแต่มันไม่ไวต่อสิ่งนั้น  เข้าใจยากมายกตัวอย่าง ก็นี่แหละอธิบายได้ดี ทำไมปู่ย่าสูบยาเส้นมาตลอดจึงไม่เป็นอะไร

  นอกเหนือจาก การตรวจที่อาจไม่พบ ยาเส้นกับบุหรี่ที่เสี่ยงไม่เท่ากัน สิ่งแวดล้อม อาหารยุคปัจจุบันที่เสี่ยงกว่า ประเด็นสำคัญคือ คุณปู่คุณย่าอาจมีพันธุกรรมที่ไม่ไวต่อบุหรี่ ที่จะไปเกิดมะเร็งปอดได้ คือสูบจัดมากๆก็ยังไม่เป็นว่างั้นเถอะ  ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยเฉพาะตัวนะครับ เอามาเทียบกันไม่ได้เลย
   ปัจจุบันแต่ละคนจะมี "destination" ตามความเสี่ยงของยีนตัวเอง เราพบหลายโรคหลายภาวะแล้วนะครับ เช่น ยีนที่ไวต่อการติดนิโคติน ใครมียีนนี้ก็ติดง่าย เลิกยาก ยีนที่ไวและเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ ใครมียีนนี้ไปกินอาหารไหม้ๆก็อาจเกิดมะเร็งได้ง่าย และปัจจุบันก็ตรวจได้แล้วด้วย เรียกวิชานี้ว่า Precision Medicine ไม่ใช่แค่ตรวจเจอ ยังออกแบบการรักษาที่ตรงเป้าไปที่ระดับยีนได้เลย

   ประเด็นทั้งสามนี้ถือว่าเป็น Fact คือข้อมูลจริงที่ได้จากการเก็บข้อมูลดิบ ไม่ใช่เกิดจากการคำนวณและตัดตัวแปรทางสถิติแต่อย่างใด ปัจจุบันเราถือว่าประเด็นที่สามคือ precision medicine เป็นสิ่งที่แม่นยำที่สุด
   และก็จะแปลความกลับกันไม่ได้ คือถ้าคุณไม่มียีนไวมะเร็งปอด ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสูบบุหรี่จัดเท่าไรก็ได้   เพราะอิทธิพลของตัวกระตุ้นก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน เราเรียกทฤษฎีนี้ว่า 2 HIT hypothesis คือ การเกิดโรคนั้น ต้องเกิดมาพร้อมจะเป็นก่อนคือพันธุกรรม คือ first hit และมาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ชักพาให้เกิด คือ second hit ก็จะเกิดโรค

  ถามว่า ประเด็นแก้ไขพันธุกรรมทำได้ไหม..ตอนนี้ไม่ แต่อนาคตไม่แน่  ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อม เราปรับเท่าที่เราปรับได้ไงครับ ก็เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดโรคลงได้
  การลดความเสี่ยง อะไรเสี่ยง เสี่ยงแค่ไหน...อันนี้แหละที่มันไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง แต่มาจากข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าทดลอง และใช้วิชาสถิติมาช่วยบอก "relation" นั่นเอง

  ก่อนจะไปว่ากันตอนต่อไป ทิ้งไว้ให้อ่านให้เข้าใจและถามได้ พร้อมกับช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ปิดไฟที่ไม่ใช้คนละดวงนะครับ และวันนี้ลดการขอถุงพลาสติกจากร้านค้าคนละหนึ่งใบนะครับ ช่วยกัน

27 กุมภาพันธ์ 2561

อันตรายจากควันบุหรี่

บุหรี่อันตรายแน่ๆ แล้วซิการ์ล่ะ แล้วไปบ์ล่ะ อันตรายด้วยไหม

  ยาสูบชนิดที่มีการเผาไหม้ใบยาทั้งหลายที่เรียกว่า combustive tobacco มีงานวิจัยที่ชัดเจนล่ะว่า เพิ่มอัตราการเสียชีวิต เพิ่มมะเร็งอันเกี่ยวกับใบยา  แล้วซิการ์ล่ะ แล้วไปบ์ล่ะ ก็มีการเผาไหม้เช่นกันมันอันตรายไหม อะไรอันตรายกว่า

   ก่อนหน้านี้ เราเคยมีการศึกษาเชิงห้องทดลองที่ชัดเจนว่า เจ้าซิการ์ราคาแพงๆนี้มันไม่ได้เผาไหม้สมบูรณ์เหมือนอย่างบุหรี่มวน ทำให้สารที่ได้จากการเผาไหม้และนิโคตินไม่สูงเท่า หรือการสูบไปบ์ก็คิดแบบเดียวกัน และอีกอย่างพฤติกรรมการสูบของคนที่สูบซิการ์และไปบ์ก็ไม่เหมือนบุหรี่มวน ที่จะสูบจนหมดหรือมวนต่อมวน เว้นพวกที่ผลิตควันตลอดเวลากลุ่มนั้นคงเสี่ยงสูงอยู่แล้ว
   แต่พอติดตามข้อมูลจริงๆ ข้อมูลแบบสัมภาษณ์ครั้งต่อครั้ง เรากลับพบว่าคนที่สูบซิการ์หรือไปบ์ก็มีอัตราการเสียชีวิตสูงเหมือนกันนะ หลายๆคนก็แย้งว่า ที่อัตราการเสียชีวิตสูงเพราะส่วนมากซิการ์หรือไปบ์มันแพงและคนมีอายุสูบ คนกลุ่มนี้โรคร่วมมากอยู่แล้วทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง

  เมื่อสัปดาห์ก่อนมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำในสหรัฐอเมริกา เพื่อบอกว่า บุหรี่ ซิการ์ หรือ ไปบ์ มันเสี่ยงเท่ากันไหม จากข้อมูลในห้องทดลองบอกไม่เท่ากัน แล้วความจริงล่ะ การศึกษานี้เขาเก็บข้อมูลการสูบบุหรี่ (เพราะเป็นหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลวิจัยอัตราการเสียชีวิตของโรคต่างๆตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ) แล้วดูอัตราการเสียชีวิตในระยะยาวเป็นสิบปี เก็บข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด เก็บหลายๆครั้ง เมื่อต้องการดูความสัมพันธ์ของข้อมูลชุดใดก็ดึงขึ้นมาดู
   แล้วใช้วิธีการทางสถิติ ตัดทอนตัวแปรที่มารบกวน เช่น ถ้าเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุเราก็มีวิธีการทางสถิติเพื่อเกลี่ยตัวแปรกวนเหล่านี้ หรือสูบมากสูบน้อยก็สามารถใช้วิธีการทางสถิติมาแยกคิดแยกวิเคราะห์ได้
   จะเห็นว่ามันก็ไม่ได้ตรงไปตรงมานัก มีความแปรปรวนอยู่แล้วล่ะ เพราะเก็บไปก่อนแล้วมาดึงข้อมูลทีหลัง ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบคำถามเดียวแต่แรก แต่ว่าวิธีแบบนี้ก็ได้รับการยอมรับนะครับ เพราะได้ติดตามระยะยาวตามสภาพจริงๆ คนที่จะแปลผลและนำไปใช้ก็ต้องทราบข้อจำกัดด้วย

   สรุปว่าเขาคิดแยก บุหรี่ ซิการ์ ไปบ์....คิดแยกเคยสูบ(บุหรี่วัดที่ 100 มวน ส่วนซิการ์ ไปบ์วัดที่เคยใช้) ไม่เคยสูบ...ยังสูบอยู่ เลิกแล้ว...สูบทุกวัน สูบไม่ทุกวัน...เกลี่ยตัวแปรอายุด้วยสิ่งที่พบคือ

  สูบบุหรี่มวน มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด อัตราการเกิดโรคมะเร็งจากบุหรี่มากสุด(กล่องเสียง ช่องปาก หลอดอาหาร ปอด) มากกว่า ซิการ์และมากกว่าไปบ์ (HR มากกว่า)
  กลุ่มที่ยังสูบอยู่ เสี่ยงเสียชีวิตและมะเร็งมากกว่า กลุ่มที่หยุดไปแล้ว ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เสี่ยงมากกว่าไม่เคยสูบเลยอย่างมากๆและชัดเจน  เป็นความจริงทั้งบุหรี่ ซิการ์ ไปบ์
  กลุ่มที่สูบทุกวัน เสี่ยงมากกว่า สูบไม่ประจำทุกวัน อันนี้จะชัดเจนในบุหรี่มวน ส่วนซิการ์และไปบ์ส่วนมากคนใช้ไม่ได้ใข้ทุกวัน

   สรุปส่วนมากเป็นแบบนี้ รายละเอียดปลีกย่อยสามารถไปอ่านจากตารางได้ หรือตัวเลข Hazard ratio จะกี่เท่า ขอให้ไปอ่านเพิ่มครับ หากสนใจ  https://jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/article-abstract/2672576?redirect=true

   การศึกษานี้มุ่งให้เห็นว่า combustive tobacco มีอันตรายจริงในทุกๆรูปแบบ และการเลิกก็ลดความเสี่ยงมากกว่าสูบต่อไปอย่างชัดเจน และการไม่เริ่มใช้ ไม่ยุ่งเกี่ยวคือวิธีการลดความเสี่ยงจากควันยาสูบที่ดีที่สุด

   ผมอยากย้ำครั้งที่ร้อยว่า ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และนิโคตินทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคนยังไม่เคยใช้ เด็กเยาวชน อันนี้ต้องอย่าให้เข้ามาสัมผัส  และสำหรับคนที่ติดแล้วนั้น การเลิกทุกอย่างคือวิธีที่ดีที่สุด รวมทั้งอย่าให้หวนกลับมาใช้ใหม่

   แต่ผลการศึกษาหลายๆอัน บอกว่าหากเราค่อยๆเลิกหมดทุกอย่าง อัตราการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มันจะแซงหน้าอัตราการเลิกสำเร็จ จึงมีแนวคิดการใช้ non combustive tobacco หรือ potential reduced exposured products หรือผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง ...ย้ำอีกแล้ว ลดลงนะ ไม่ใช้หมดไปหรือเอามาแทนที่ และ ลดความเสี่ยงก็ห้ามเริ่มใช้เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า
  American Cancer Society ก็สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการลดอันตรายจากควันบุหรี่ ในกลุ่มที่เลิกไม่ได้จริงๆ...ย้ำอีกรอบ ต้องเลิกทั้งหมดก่อน และยังต้องเลิกต่อไปแม้จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วก็ตาม... เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งจากยาสูบที่คร่าชีวิตคนมหาศาลต่อปี ยังไม่รวมโรคหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และควันบุหรี่มือสองอีก 

   Stop Tobacco...Death Fall, Quit All...Better World  อันนี้คำขวัญของผมเอง ว่าจะส่งไปองค์การอนามัยโลกแล้วล่ะ

ยากับแอลกอฮอล์

ณ โรงเตี๊ยมชานเมือง ที่บรรดาสหายมาร่ำสุรา
"วันนี้ ข้าขอเป็นเจ้ามือเลี้ยงพวกท่าน ด้วยคบค้ากันมานาน ข้านับถือท่านยิ่งนัก" ก๊วยเจ๋ง วีรบุรุษชาติอินทรีกล่าวขึ้นเสียงดัง ท่ามกลางเหล่าจอมยุทธ์ที่ตอนนี้ล้วนแต่เหล่านั้ง เคียวห่วย ทั้งสิ้น
"ข้ายินดียิ่งนัก ลูกเขยข้า เอ้า..มื้อนี้ ใครไม่เมาไม่นับถือ " อึ้งเอี๊ยะซือ จอมมารบูรพายิ้มในใจ เหล้าฟรีเฟ้ย สบาย ลาภปาก
" ว่าแต่ อย่าดึกมากนะ ข้าน่ะต้องรีบกลับ เมียดุชิกหัย นี่กว่าจะอ้างออกมาได้" อั้งชิกกง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคยาจกมานาน หลังจากแต่งงานแล้วประธานตัวจริงได้ยึดอำนาจเสียสิ้น ไม้ตีสุน้งสุนัข ตอนนี้เอาไปขายต่อแปรสภาพเป็น ปราด้า ไปเรียบร้อย
  "ฮ่าๆๆ มันต้องอย่างนี้สิ ยามศึกเรารบ ยามสงบเมายับ" จิวแป๊ะทงหัวเราะชอบใจ หันมาสั่ง ..."เสี่ยวเอ้อ..เสี่ยวเอ้อ  เออ เอ็งนั่นแหละ จะหันไปมองใครอีก เอาเหล้ามาสามไห เบียร์สี่โถ โซดาเย็นๆ และกุ้งแห้ง มันทอดมาแกล้มหน่อยนะ "
   จิวแป๊ะทง ล้วงมือเข้าไปในอกเสื้อ ..หยิบห่อกระดาษมีตัวอักษรเขียนไว้ด้วยลายพู่กันอันวิจิตรว่า warfarin (3mg) 1 tab po hs ...ทันใดนั้นก็มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น  ทุกคนนิ่งเงียบ บรรยากาศเงียบกริบ
ฟิ้วววว ฉึกกก มีดสั้นเล่มหนึ่งบินแหวกอากาศมา ปักที่กลางห่อกระดาษที่จิวแป๊ะทงหยิบออกมา !!!
"ลี้คิมฮวง !!" เสียงตะโกนขึ้นมาพร้อมกัน  แต่หาปรากฏผู้ขว้างมีดไม่
  อึ้งเอี๊ยะซือ ลุกขึ้นเกรี้ยวโกรธมา "ใครกัน อย่าทำเป็นหมาลอบกัด ออกมาเดี๋ยวนี้"
  จิวแป๊ะทงเสริม "ใช่ นี่แค่ข้าจะกินยาเท่านั้น ลักลอบทำกระทั่งผู้เฒ่าบาดเจ็บ เจ้าไม่ใช่ผู้ชาย"
   อั้งชิกกง สะกิดสองเฒ่าให้หยุด บอกว่า "ท่าทางไอ้ก๊วยมันจะโกรธจัดเลยนะ นี่สั่นเทิ้ม ทั้งๆตาหลับ ที่มันหมัดเมานี่นา หมัดเมาในตำนาน"
  ก๊วยเจ๋งนั่งพิงเสา คำรามฮื่อๆ ทั้งๆที่คอตก ท่าทางเมาสุดขีด แล้วพูดว่า "เฒ่าทารก ท่านอย่าเพิ่งสำคัญผิดไป ข้าว่าบุรุษนิรนามน่าจะช่วยท่านมากกว่า เขาเพิ่งหยุดยั้งท่านจากการกินยา พร้อมกับดื่มเหล้า"
   สองเฒ่ายืนอึ้ง " ท่านรู้ได้เช่นไร"
  ก๊วยเจ๋งตอบทั้งๆที่คอตก "ท่านดูที่ด้ามมีด มันสลักไว้ว่า..อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว..ข้าเคยได้ยินชื่อมานาน เขาจะอยู่ในเงามืดคอยช่วยเหลือคนที่กำลังหลงผิด นี่แสดงว่าเขากำลังห้าม ไม่ให้ท่านดื่มสุราพร้อมกินยาแน่แท้"
   อั้งชิกกงเสริม " เมียข้าก็เคยห้าม สมัยก่อนข้ากินยานอนหลับ ยาซึมเศร้า เมียข้าบอกว่า กินพร้อมกินเหล้า เดี๋ยวก็หลับเป็นตาย แหม..ข้านี่แอบวางยาหลายหน ไม่เห็นมันจะตาย"
  ก๋วยเจ๋งกล่าวต่อ " ท่านผู้เฒ่า อันสุรานี้มิควรดื่มพร้อมโอสถทั้งหลาย ด้วยว่าการดื่มสุราในระยะแรกๆ หรือ ดื่มพร้อมกินโอสถนั้น ตัวยาอาจมีข้างเคียงมากขึ้นได้ เพราะยากับเหล้า มักจะถูกทำลายที่ตับตำแหน่งเดียวกัน พอมันทำลายเหล้า มันก็ไม่ทำลายยา ยาเลยออกพิษมาก เช่น วาร์ฟาริน เลือดก็จะออกท่วม ยาแก้แพ้ ยาจิตเวชรักษาอาการซึมเศร้า พวกนี้จะซึมมาก เรียกว่าปางตาย ยาฆ่าเชื้อ metronidazole นี่อ้วกขาดใจเลย"
  จิวแป๊ะทง กับ อึ้งเอี๊ยะซือ ยืนมองตากันปริบๆ หมัดเมาสำนักไหนวะ
  ก๋วยเจ๋งพูดต่อ "หึหึ ท่านอย่าเพิ่งสงสัยในตัวข้า นี่คือหมัดเมาขั้นเทพ รุ้ทะลุปรุโปร่งถึงพยาธิกำเนิดโรค  ต่ออีกนิด ส่วนการดื่มสุรามาเป็นเวลานาน ตับอักเสบตับแข็ง ยาต่างๆจะถูกทำลายในกลไกอื่นๆ กลไกสำรอง หรือสร้างกลไกใหม่เป็นการต่อสู้ของร่างกาย ทำให้ยาออกฤทธิ์น้อยลงได้ เช่นยาโรคหัวใจโพรพาโนลอลที่จะออกฤทธิ์น้อยลง  ลดการออกฤทธิ์ของยาวัณโรคไรแฟมปิซินได้ วัณโรคก็จะไม่หายหรือดื้อยาได้ "
  อั้งชิกกง หรี่ตาดู "ก๊วย ถามจริง มั่วป่าววะ พวกข้าไร้ซึ่งความรู้ ข้าจะทราบอย่างไรว่าเจ้าไม่หลอกข้าเพียงเพื่อจะประหยัดค่าเหล้า"
  "เฮ้ย...ใช่เลย หัวหน้าพรรค" จิวแป๊ะทงสนับสนุน
  ก๊วยเจ๋งงึมงำๆ เสียงไม่ชัด บอกว่า "คัมภีร์ ปฏิกิริยาเหล้ากับยา ข้าส่งไลน์กลุ่มเรียบร้อยแล้ว..ปิ๊ง https://pubs.niaaa.nih.gov/publications/aa27.htm  หรือที่นี่
https://pubs.niaaa.nih.gov/publications/medicine/harmful_interactions.pdf
ข้าว่า มันแค่ต้องการเตือนท่าน เฒ่าทารก ว่าอย่ากินยาพร้อมเหล้า มันไม่ดีอาจเกิดอันตร ตระ ตระ รายยย  อะเฮื้อออ"
  แล้วก๊วยเจ๋งก็ทรุดตัวลง อึ้งเอี๊ยะซือ ปราดเข้าไปประคองลูกเขย เดินลมปราณเจ็ดคาบสมุทร ด้วยกลัวบุตรสาวจะเป็นม่าย สักพักก๊วยเจ๋งก็ตื่น พร้อมกับบอกว่า ตัวเองเมาหลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย แถมยังเจ็บแปลบๆที่ต้นคออีกด้วย
   จิวแป๊ะทงกล่าวว่า "ไม่ว่าเจ้าของมีดนี้จะเป็นใคร แต่วันนี้ท่านได้สอนพวกเราอย่างดี และขอบคุณเจ้ามากก๊วยเจ๋งที่ไปหาอ้างอิงดีๆ ที่พวกเราควรรู้กัน และเตือนว่า ยาไม่ควรกินพร้อมหรือเวลาใกล้เคียงกับแอลกอฮอล์
  ก๊วยเจ๋ง...นี่กรูทำอะไรไปเนี่ย
บทส่งท้าย....
  เสี่ยวเอ้อ พยุงก๊วยเจ๋งไปนอน ก่อนจะออกมาจากห้อง เขาดึงเข็มยาสลบเล็กๆออกมาจากคอก๊วยเจ๋ง นำมาใส่ติดตั้งไว้ในปืนยาสลบที่ทำเป็นรูปนาฬิกาข้อมือ รวมทั้งเก็บเครื่องเปลี่ยนเสียงรูปหูกระต่ายเอาไว้อย่างมิดชิด เก็บมีดสั้นด้ามนั้นเหน็บที่ซองข้างเอว
   ภายใต้เสื้อคลุมเสี่ยวเอ้อ และผ้าเช็ดโต๊ะที่พาดบ่า ปรากฏเป็นเสื้อยืดสีขาว หน้าอกมีลายสกรีนด้วยตัวอักษรสีน้ำเงินว่า "อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว"

26 กุมภาพันธ์ 2561

สรุปแนวทางการคัดกรองมะเร็งสำหรับคนปกติที่แข็งแรงดี

สรุปแนวทางการคัดกรองมะเร็งสำหรับคนปกติที่แข็งแรงดี

  สำหรับคนที่มีโรคที่เสี่ยงเช่น ติดเขื้อไวรัสตับอักเสบบี มีประวัติครอบครัวโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตับแข็ง เคยเป็นมะเร็งมาแล้ว ฯลฯ กลุ่มนี้จะมีคำแนะนำเฉพาะตัวตามที่แพทย์ที่ดูแลแนะนำอยู่
   การตรวจหวังผลให้พบมะเร็งในระยะที่รักษาแล้วหายหรือรักษาและผลข้างเคียงไม่มากนัก การตรวจไม่ได้รับรองผล 100% แต่ก็มีความไวสูงพอ คือ เมื่อเจอแล้วต้องไปยืนยันผลอีกรอบด้วยวิธีที่เฉพาะแบบ แพงกว่า เจ็บตัวกว่า ดังนั้นการคัดกรองด้วยวิธีที่ง่ายและไวจึงเป็นคำแนะนำมาตรฐาน
  และควรปฏิบัติตัวหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมะเร็งด้วย ห้ามคิดว่ามีวิธีที่ไวพอแล้ว ไม่ต้องดูแลตัวเอง ให้หมอจัดการให้ แบบนี้ผิด

1. มะเร็งเต้านม  การตรวจที่แนะนำเป็นหลักคือการทำแมมโมแกรม ส่วนการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้แนะนำแล้ว การตรวจด้วยตัวเองไม่ไวพอ แต่เนื่องจากทำง่ายสะดวก ก็ยังแนะนำและถ้าหากผิดปกติก็ให้ไปหาหมอ

1.1 อายุ 40-44 เริ่มพิจารณาทำได้หากต้องการ ทำปีละครั้ง

1.2 อายุ 45-54 ควรทำทุกปี

1.3 อายุ มากกว่า 55 สองปีครั้ง หรือถ้าปกติดีมาตลอดก็ปีละครั้ง

1.4 คัดกรองไปได้เรื่อยๆ หากคิดว่ายังมีโอกาสชีวิตยาวนานอย่างมีคุณภาพมากกว่า 10 ปี

2. มะเร็งปากมดลูก มีการตรวจสองอย่างคือตรวจเซลที่ทำกันมาตลอด และการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี  ถ้าตรวจแล้วผิดปกติต้องเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจซ้ำหรือตัดชิ้นเนื้อครับ

2.1 อายุ 21-29 ตรวจสามปีครั้ง ไม่ต้องตรวจ HPV ยกเว้นผลเซลผิดปกติ

2.2 อายุ 30-65 ตรวจทั้งเซลและเอชพีวีทุกห้าปี ถ้าตรวจทั้งคู่ไม่ได้ให้ตรวจเซลอย่างเดียวทุกสามปี

2.3 อายุ มากกว่า 65 ในกรณีที่ตรวจมาแล้วปกติมาตลอด ก็ไม่ต้องตรวจอีก เว้นมีอาการผิดปกติ  หรือเคยตรวจผิดปกติ ก็แนะนำตรวจต่อไปอีก 20 ปี แม้ว่าอายุจะเกิน 65 ก็ตาม

3. มะเร็งโพรงมดลูก  ไม่ต้องตรวจแต่ควรให้คำแนะนำในกรณีเลือดออกมาอีกหลังหมดประจำเดือน ควรเข้าพบแพทย์

4. มะเร็งลำไส้ใหญ่  เริ่มตั้งแต่อายุ 50 ปี การตรวจโดยการถ่ายภาพหรือส่องกล้องจะตรวจทั้งเนื้องอกและติ่งเนื้อ ส่วนการตรวจอุจจาระจะตรวจได้เฉพาะมะเร็ง และการตรวจด้วยวิธีอื่นๆที่ไม่ใช่ส่องกล้องหากพบความผิดปกติ ต้องมาส่องกล้อง

  4.1 ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทุก 10 ปี

  4.2 เอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ ทุก 5 ปี

  4.3 ส่องกล้องลำไส้ตรง (flexible sigmoidoscopy) หรือ สวนแป้ง ทุก 5 ปี  ข้อนี้หลายๆสมาคมไม่แนะนำแล้ว แต่ American Cancer Society ยังแนะนำอยู่ ส่วนตัวผมว่าก็ว่าน่าจะใช้สองวิธีแรกมากกว่า

  4.4 ตรวจอุจจาระทุกปี หามะเร็งโดยเฉพาะ ตรวจปีละสามสิ่งส่งตรวจ หรือจะใช้ร่วมกับวิธีด้านบนก็ได้ วิธีนี้สะดวกและง่ายดี (ต้องทราบข้อจำกัดการแปลผล) 

5. มะเร็งปอด การคัดกรองมะเร็งปอด ผลประโยชน์ไม่มากนัก แต่ข้อมูลที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (low dose CT chest) ทุกปี เฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงคือมีข้อบ่งชี้ครบสามข้อ
  ..อายุ 55-74 ปี...ร่างกายแข็งแรงดี...สูบบุหรี่มาอย่างน้อย 30 packyears ทั้งผู้ที่สูบต่อเนื่องและผู้ที่เลิกมาไม่เกิน 15 ปี...

6. มะเร็งลูกหมาก ไม่แนะนำตรวจเลือด PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งลูกหมากอีกแล้ว การตรวจให้คุยถึงผลดีผลเสียเป็นรายๆไป เช่นถามอาการ ความเสี่ยง ตรวจก้น หรือจะเจาะเลือด PSA ก็ต้องคุยเป็นรายๆไปครับ

ที่มา American Cancer Society : early cancer screening

บทความที่ได้รับความนิยม