30 ตุลาคม 2564

ข้อคิดจากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ ลิ่มเลือดดำอุดตันแบบไม่มีอาการ

 ข้อคิดจากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ

ลิ่มเลือดดำอุดตันแบบไม่มีอาการ

1. ถ้าเป็นหลอดเลือดดำอุดตันแบบมีอาการ ไม่ว่าที่ขาหรือที่ปอด อันนี้ต้องรักษา

2. ส่วนแบบไม่มีอาการและตรวจพบโดยบังเอิญ ให้ประเมินความรุนแรงและความเสี่ยง แต่ส่วนมากก็ต้องรักษาหมด

3. สิ่งสำคัญคือการแยก ลิ่มเลือดดำอุดตัน แบบมีอาการกับไม่มีอาการ เพราะบางส่วนที่ว่าไม่มีอาการคือซักประวัติตรวจร่างกายไม่ครบถ้วน

4. การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีการฉีดสี และการตรวจ d-dimer ที่ทำแพร่หลายมากขึ้น ทำให้เราเจอโรคนี้บ่อยขึ้น ให้ย้อนกลับไปซักประวัติ เพื่อแยกแบบมีอาการกับไม่มีอาการ

5. ในกรณีไม่มีอาการและตรวจพบโดยบังเอิญ สิ่งสำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงเลือดออกเมื่อให้ยา เพราะเริ่มจากไม่มีอาการ การรักษาควรจะมีโอกาสเลือดออกต่ำ

6. ยาที่แนะนำปัจจุบันคือ ยาต้านการแข็งตัวเลือดกลุ่ม DOACs ที่ประสิทธิภาพดีแต่โอกาสเลือดออกต่ำ แม้แต่ในโรคมะเร็งก็มีข้อมูลการใช้ที่ดีในปัจจุบัน

7. ข้อควรระวังของ DOACs คือ ปฏิกิริยาระหว่างยา พิจารณาการทำงานของไต น้ำหนักตัวและอายุ ราคาและสิทธิการรักษา รวมทั้งยาต้านฤทธิ์ที่ยังมีไม่แพร่หลาย

8. ถ้าไม่มี DOACs การใช้ low molecular weight heparin ที่นิยมคือ การฉีด enoxaparin ก็ยังใช้ได้ เสียแต่ต้องฉีด ไม่สะดวก

9. ส่วนการใช้ warfarin จะมีโอกาสเลือดออกค่อนข้างมาก ปฏิกิริยาระหว่างยาและอาหารมาก ต้องติดตามและปรับยาตลอด ส่วนนี้ต้องคิดด้วย เพราะผู้ป่วยเริ่มที่ไม่มีอาการ แต่หากไม่มีทางเลือกอื่นก็ใช้ได้

10. ก่อนจะกินยา ก่อนรักษา ให้คุยกับหมอให้ชัดเจน หมดสิ้นข้อสงสัยและตกลงร่วมกันให้ดีก่อน โดยเฉพาะ ประโยชน์ ความเสี่ยงเลือดออก การติดตามการรักษา

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

27 ตุลาคม 2564

Leptospirosis กับ doxycycline prophylaxis

 Leptospirosis กับ doxycycline prophylaxis

โรคฉี่หนู (leptospirosis)​ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสไปโรขีต มีความรุนแรงและแยกยากจากโรคเขตร้อนบ้านเรา

การยืนยันตัวเชื้อก็ไม่ได้ทำง่าย ส่วนใหญ่ต้องใช้วิธีทางชีวโมเลกุล ดังนั้น การวินิจฉัยจึงใช้ อาการและอาการแสดงที่เข้าได้ ประวัติการลุยน้ำขัง ย่ำน้ำท่วม และให้การรักษาขณะรอยืนยันผล เพื่อไม่ได้เกิดอันตรายรุนแรงต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะตับวายและเลือดออก โชคดีที่ตัวเชื้อยังไวต่อยา ยาที่ใช้รักษาก็หาง่าย ราคาไม่แพง คือ Penicillin G, Ceftriaxone, Doxycycline

แล้วถ้าในสภาวะน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ต้องลุยน้ำทุกวันเป็นเวลานานแบบนี้ เรากินยาป้องกันหลังไปลุยน้ำมาเลย จะดีไหม (post exposure prophylaxis)​

มีการศึกษาเยอะนะครับ เพราะในพื้นที่เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีน้ำท่วมบ่อยและเป็นแหล่งระบาด โดยยาที่เราศึกษาคือยากินแคปซูล doxycycline ที่หาง่ายและราคาถูกมาก สูตรยาที่นิยมคือ 200 มิลลิกรัมกินครั้งเดียว หลังย่ำน้ำ หรือมีสูตรกินสัปดาห์ละครั้งขนาด 200 มิลลิกรัมในขณะที่ยังมีความเสี่ยงคือน้ำท่วมอยู่

แต่ว่าการศึกษามีหลากหลายแบบ หลายพื้นที่ (มีการศึกษาในประเทศไทยหลายชิ้นงานนะครับ) หลายสูตรยา และที่สำคัญคือ วิธีในการวัดผลว่าติดเชื้อหรือไม่ ระดับใด ในแต่ละการศึกษามีหลายวิธีที่แตกต่างกันและมีค่ามาตรฐานในการตัดสินว่า “ติดเชื้อ” หรือ “เป็นโรคที่แตกต่างกันด้วย”

ผลสรุปจากการทำ meta-analysis ของ Cochrane และคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา และจากหลายการศึกษา สรุปว่า

1. ผลการป้องกันการติดเชื้อยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดชัดเจนคือผลข้างเคียงของยา doxycycline คือ อาการคลื่นไส้อาเจียนและหลอดอาหารอักเสบ เกิดมากกว่ากลุ่มยาอื่นและยาหลอกอย่างมีนัย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หยุดการใช้ยาด้วย

2. การศึกษาที่มีผลว่าช่วยลดการติดเชื้อ ระดับความแตกต่างกับยาหลอก ยังไม่ได้แสดงผลที่แตกต่างมากมายจนมีความสำคัญทางคลินิก

3. ปัจจัยร่วมที่อาจจะเป็นตัวกวน (confounding factor) ที่อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อลดลงมากกว่าที่จะเกิดจากยาคือ ระยะเวลาการสัมผัสน้ำท่วมขัง (โดยเฉพาะมากกว่า 3 ชั่วโมง) และการมีบาดแผลที่ขาและเท้า สองปัจจัยนี้มีผลทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

4. ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้กินยา doxycycline เพื่อป้องกันการติดเชื้อฉี่หนูก่อนที่จะเกิดโรค ภายหลังการย่ำน้ำ ลุยน้ำท่วม

สรุปว่า ยังไม่ต้องกินยานะครับ แต่ให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ หรือลุยน้ำด้วยเวลาที่น้อยที่สุด และเมื่อย่ำน้ำแล้วควรล้างทำความสะอาดและเช็ดแห้ง หากมีแผลเปิด ไม่ว่าจะเป็นแผลฉีกขาดหรือแผลถลอก ควรงดหรือระมัดระวังเวลาลุยน้ำ หากจำเป็นต้องลุย ก็ต้องล้างแผลให้สะอาดทุกครั้ง

ที่สำคัญคือ หากมีไข้สูง หรือมีการปวดบวมแดงร้อนบริเวณขาและน่อง ต้องแจ้งให้คุณหมอทราบว่ามีประวัติลุยน้ำขัง ย่ำน้ำท่วมด้วย จะช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคได้ดีและรักษาได้ทันเวลาครับ

- J Infect Chemother. 2014 Nov;20(11):709-15.

- PLoS One. 2012;7(7):e39672.

- Cochrane Database Syst Rev. 2009 Jul 8;(3):CD007342.

- Southeast Asian J Trop Med Public Health. 1985 Jun;16(2):268-73.

https://wwwnc.cdc.gov/…/travel-related-infect…/leptospirosis

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

26 ตุลาคม 2564

การตรวจร่างกายทางรูมาติก (Clinical Examination in rheumatology)

 การตรวจร่างกายทางรูมาติก (Clinical Examination in rheumatology)

ขอขอบคุณร้าน จับฉ่าย ขายตำราแพทย์ ที่เอื้อเฟื้อหนังสือรีวิวครับ

หนังสือคู่มือในโครงการตำรา วพม. ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จัดทำโดยคณาจารย์แผนกรูมาติก กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยบรรณาธิการ อ.อนวรรถ ซื่อสุวรรณ ,อ.พงศ์ธร ณรงค์ฤกษ์นาวิน และ อ.ไพจิตต์ อัศวธนบดี เรามารีวิวกันครับ

รูปเล่มเป็นแบบพ็อกเก็ตบุ๊ก พกพาง่าย เล่มไม่หนา ตัวอักษรด้านในจึงอัดแน่นไปสักหน่อยและตัวค่อนข้างเล็ก ขอบหนังสือเป็นสีต่าง ๆ แยกตามบทต่าง ๆ ในหนังสือ 17 บท ทำให้เปิดอ่านง่ายดี ลูกเล่นทำให้สีสวยขึ้นด้วย

สำหรับเนื้อหา ต้องบอกก่อนว่าเน้นในเรื่องการตรวจร่างกาย โดยแยกบทย่อยออกเป็นการตรวจข้อต่าง ๆ รายข้อ ไล่ไปเรื่อง ๆ ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อสะโพก ฯลฯ จนครบทุกข้อ เน้นย้ำว่าครบทุกข้อ

และในบทของข้อต่อแต่ละบทนั้น เน้นการดู คลำ เคาะ ที่เป็นบรรยาย How to เลย ว่าเวลาดู จะดูตรงตำแหน่งไหนจึงสำคัญ จะเห็นอะไร รูปแบบอย่างไร สีอะไร

และจะมีภาพประกอบในหน้านั้นเลยถ้าจำเป็นต้องมี เช่น สีผิวหนัง หรือ สีของอาการแสดงหลายอย่าง

การตรวจด้วยการคลำการเคาะ เป็นการตรวจสำคัญ หนังสือเล่มนี้จะสอนตั้งแต่ ท่าทางของผู้ตรวจ จัดท่าอย่างไร จับข้อของผู้ป่วยแบบไหน โยกทางใด แล้วจะเกิดอะไร แปลผลว่าอย่างไร มีชื่ออาการแสดง Sign ต่าง ๆ ที่สำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค และใช้สอบที่สำคัญ

องศาการวัดมุมต่าง ๆ การทดสอบพิเศษด้วยการตรวจท่าพิเศษต่าง ๆ
มีรูปแสดงท่าทางที่ชัดเจน ที่สำคัญคือจะมีภาพกายวิภาคมาให้เข้าใจด้วย ว่าการตรวจแบบนี้ ตรวจเพื่อทดสอบหรือตรวจความเสียหายต่อเส้นเอ็นใด ข้อต่อใด ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ไม่ต้องไปเปิดหนังสือกายวิภาคเพิ่มเติม

และยังมี Clinical correlations เป็นตารางและแผนภูมิว่า ตรวจพบแบบนี้ สัมพันธ์กับโรคใด พบในโรคใดบ้าง และควรตรวจอะไรต่อ

หนังสือเหมาะสมกับนักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล นักเรียนกายภาพบำบัด แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ อายุรศาสตร์โรคข้อ แพทย์ประจำบ้ายออร์โธปิดิกส์ และคุณหมอที่ต้องการศึกษาทบทวนทักษาการตรวจร่างกายที่ถูกต้องแม่นยำ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

หนังสือขนาดเอห้า กระดาษอาร์ตมัน 170 หน้า ด้วยความที่เป็นกระดาษอาร์ตมัน จึงทำให้สีสันพิมพ์ออกมาได้สวย ซึ่งเข้ากับวัตถุประสงค์ของเนื้อหา แสดงภาพการตรวจร่างกายที่ชัดเจน แสดงภาพกายวิภาคต่าง ๆ ได้ละเอียด

รวมถึงรูปอาการแสดงต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใส่สีให้ชัดเจน ไม่ว่าสีผื่นต่าง ๆ สีผิวหนัง ที่มีความสำคัญกับการวินิจฉัย ราคาเพียง 300 บาทเท่านั้น

สนใจติดต่อ เฟซบุ๊ก : จับฉ่าย ขายตำราแพทย์ ได้ครับ




25 ตุลาคม 2564

กุญแจสำคัญของวัคซีน mRNA จากคาริโกและคัลเลน

 กุญแจสำคัญของวัคซีน mRNA จากคาริโกและคัลเลน

ในขณะที่คู่สามีภรรยา Ingmar Sahin และ Ozlem Turecci เริ่มยื่นทำวิจัย mRNA ในปี 2007 และได้รับทุนจากเยอรมันเพื่อพัฒนาวัคซีน mRNA (คือ BioNTech ในอนาคต) ในปีเดียวกันนั้นเอง Kariko เริ่มทำสตาร์ตอัพด้วยทุนวิจัยจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

คาทาลิน คาริโก ยึดแนวคิดของ Robert Malone ที่เจตนาจะนำ mRNA มาใช้เป็นยาและพยายามสานต่อแนวคิดของ Malone เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ความสำเร็จของคาริโกเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1997 ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สิ่งสำคัญที่คาริโกค้นพบและเป็นต้นแบบสำคัญของวัคซีน mRNA ปัจจุบัน คือการเปลี่ยนสารประกอบเบสจาก uridine เป็น pseudo-uridine

ก่อนหน้าที่คาริโกจะเปลี่ยนเบสตัวนี้ คาริโกกำลังสร้างวัคซีน mRNA เพื่อรักษาโรคเอดส์ ขณะนั้นวัคซีนต้นแบบสร้างการอักเสบรุนแรงและก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันมากเกินไป แต่เมื่อคาริโกเปลี่ยนสารประกอบเบสนี้แล้ว นอกจากเซลล์และเนื้อเยื่อจะไม่มองเห็นเป็นศัตรูที่จะเกิดปฏิกิริยารุนแรงแล้ว การอักเสบและพิษต่อเนื้อเยื่อก็ลดลงอีกด้วย

ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย คาริโกไม่ได้ค้นพบและวิจัยเพียงคนเดียว เพื่อนร่วมงานคนสำคัญคือ Drew Weissmann นักวิจัยชาวอเมริกัน ศิษย์โปรดของแอนโธนี่ ฟาวซี่ ผู้ที่มีบทบาทมากในการจัดการโรคโควิดในสหรัฐอเมริกา

ไวส์แมนคนนี้มีความสำคัญเพราะเป็นคนกว้างขวาง เครือข่ายมากมาย ไปร่วมงานกับหลายคณะวิจัย ทำให้องค์ความรู้เรื่องการผลิตวัคซีน mRNA เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

Uridine ไปเป็น Pseudo-uridine ประเด็นที่คาริโกค้นพบคือกุญแจสำคัญ

หลายทีมงานใช้เทคนิคนี้เพื่อทำให้ mRNA คงตัว เหนี่ยวนำการสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นพิษภัยน้อยมากต่อเซลล์มนุษย์ แม้แต่ CureVac ที่ก่อตั้งก่อน เมื่อทราบกุญแจสำคัญดอกนี้ก็พยายามพัฒยาวัคซีนของตัวเองโดยลดสารประกอบเบส Uridine ลงเช่นกัน

แต่นั่นเป็นเพียงกุญแจดอกแรก กุญแจดอกที่สองที่ทำให้วัคซีน mRNA ประสบความสำเร็จขึ้นมาคือ การพัฒนา Lipid NanoParticle (LNP) สิ่งสำคัญที่จะนำเข้าเซลล์ จาก Pieter Cullis นักวิจัยจากแคนาดา

ถ้ายังจำได้ การพัฒนาไลโปโซมและไขมันที่จะนำอาร์เอ็นเอเข้าเซลล์ ได้มีแนวคิดมาตั้งแต่โรเบิร์ต มาโลนในปี 1988 แต่ยังไม่สำเร็จเพราะสารไลโปโซมที่ทำขึ้นนั้นยังอันตรายต่อเซลล์สัตว์ทดลอง และการพัฒนาไลโปโซมนั้นยังไม่ก้าวหน้า จนมาถึงงานวิจัยสำคัญของคัลเลน

ลักษณะของประจุในอนุภาคไขมันที่คัลเลนออกแบบมาใหม่ จะทำให้อาร์เอ็นเออยู่ในอนุภาคไขมันได้ดีและเข้าสู่เซลล์ได้ดี แต่ที่เพิ่มขึ้นมาเรียกว่า Ionizable lipid particle อนุภาคที่มีประจุเป็นกลางเมื่ออยู่ในกระแสเลือด แต่จะเปลี่ยนสภาพประจุไฟฟ้าได้เมื่อจะทำงานและเข้าเซลล์ สมบัติตรงนี้ช่วยลดอันตรายต่อเซลล์ลงได้มาก

คัลเลนเองใช้เทคนิคนี้เพื่อส่งอาร์เอ็นเอเข้าเซลล์เพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมที่หายากและแก้ไขยาก เมื่อเขาได้ข่าวความสำเร็จของความคงตัวและ mRNA ที่ดีของคาริโก เขาจึงพัฒนาและทำการศึกษาต่อยอด วัคซีน mRNA กับอนุภาคไขมันพิเศษของเขา และไปนำเสนอหลายบริษัท หลายบริษัทที่เป็นเครือข่ายของ Drew Weissmann หลายบริษัทที่กำลังศึกษาวัคซีนอาร์เอ็นเอ ทั้ง BioNTech, Moderna และ CureVac

คัลเลนเอง ไม่ได้ต่อยอดเรื่องวัคซีน mRNA แต่หันไปพัฒนา Lipid NanoParticle ก่อตั้งบริษัท Canadian Liposome Company ทุ่มเทเรื่องการนำส่งสารเข้าเซลล์ และกำลังวิจัยเพื่อตอบคำถามชาวโลกที่สงสัยว่า ผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA ที่ใช้ในปัจจุบัน ที่เชื่อกันว่ามันมาจากอนุภาคไขมันพิเศษนี้ มันเป็นจริงหรือไม่ เราคงต้องรอคำตอบกัน

ประวัติครบ เทคโนโลยีครบ กุญแจครบ แล้วเกิดอะไรในตอนสุดท้าย?

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

เส้นทางร่วมสู่ mRNA vaccine

 เส้นทางร่วมสู่ mRNA vaccine

ในยุคก่อนปี 2000 ต้องบอกว่าการพัฒนา mRNA ยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก นักวิจัยแต่ละคนศึกษาในทางของตัวเอง เมื่อได้องค์ความรู้ก็มักจะแยกตัวไปก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ เพื่อศึกษาแนวทางตัวเอง ไม่ได้มาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลหรือใช้ความร่วมมือระหว่างองค์กรมากนัก แต่หลังจากปี 2000 เมื่อเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารพุ่งถึงขีดสุด การเปลี่ยนแปลงก็ก้าวกระโดด

ความสำเร็จและผลงานของ Eli Gilboa เรื่องการใส่ mRNA ที่มีรหัสที่ต้องการเข้าร่างกายและสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การต่อยอดอีกหลายคนพร้อม ๆ กัน รวมทั้งอดีตนักวิจัยที่แยกย้ายในงานวิจัยช่วงแรก ก็เริ่มขยายสาขา มีเครือข่ายเพิ่มไปเรื่อย ๆ

สายที่หนึ่ง Ingmar Hoerr ชาวเยอรมัน

สายที่สอง Ugur Sahin และภรรยา Ozlem Turecci สามีภรรยาลูกครึ่งเยอรมันและเติร์ก

สายที่สาม Katalin Kariko ชาวฮังกาเรียน และ Drew Weissman ชาวสหรัฐอเมริกา

สายที่สี่ Derrick Rossi ชาวแคนาดา

Ingmar Hoerr นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทูบิงเก้น สามารถสร้าง mRNA แล้วฉีดเข้าในหนูทดลองแล้วหนูทดลองนั้นสามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้ตรงกับที่คาดหวังจาก mRNA หลังจากนั้น Hoerr ก็ได้ตั้งบริษัท CureVac เพื่อทุ่มเทกับ RNA vaccine ได้รับทุนวิจัยมากมาย ทำวัคซีนโควิดได้ เพียงแต่ว่าประสิทธิภาพยังไม่มากพอ ถึงกระนั้นก็ยังตั้งหน้าตั้งตาวิจัยต่อ จนได้วัคซีน CVnCoV ที่ร่วมทุนกับบริษัท GSK กำลังยื่นจดทะเบียนยา และ Hoerr ก็ได้รับเสนอรับรางวัลโนเบลด้วย

Ugur Sahin นักวิจัยที่ได้แรงบันดาลใจจากงานของ Eli Gilboa มีความเชี่ยวชาญเรื่องการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg ประเทศเยอรมนี เขาสนใจเรื่องวัคซีน RNA ที่น่าจะได้ผลเหมือนการรักษามะเร็ง แต่เขาจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิคุ้มกัน Ozlem Turecci

Ozlem Turecci นักวิจัยสาวลูกครึ่ง เยอรมัน-เติร์ก เชื้อสายอุยกูร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภูมิคุ้มกัน ต่อยอดจากงานของ Eli Gilboa เช่นกัน และมาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย Johannes Gutenberg เช่นกัน และพบรักกับ Ugur Sahin ทั้งคู่ได้ร่วมมือกันวิจัย mRNA vaccine จนประสบความสำเร็จ โดยคู่สามีภรรยานี้คือผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ BioNTech บริษัทผู้คิดค้นวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ไบโอเอ็นเท็คนั่นเอง

Derrick Rossi นักวิจัยชาวแคนาดาผู้เชี่ยวชาญเรื่องสเต็มเซลล์และการตัดต่อพันธุกรรม ทำวิจัยเรื่อง mRNA ที่โรงพยาบาลเด็กที่บอสตันอันโด่งดัง รอสซี่ต่อยอดจากงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียจนประสบความสำเร็จทั้งทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจ ตอนนั้นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ไม่ประสบความสำเร็จในการจดสิทธิบัตร แต่รอสซี่มาต่อยอดและก่อตั้งบริษัท Moderna

การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรเพื่อประโยชน์ทางการค้า ไม่ได้ทำง่ายเพราะต้องแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ลอกเลียนผลงานผู้อื่น ไม่มีผู้อื่นมาแย้งสิทธิ์ แต่อย่าลืมว่า แม้การพัฒนาแบบโครงข่ายจะทำให้การพัฒนาวัคซีน mRNA ทำได้อย่างรวดเร็วแต่ก็จะอ้างสิทธิ์ยากขึ้นเช่นกัน

นอกเหลือจากการต่อยอดจากแรงบันดาลใจของ Eli Gilboa แล้ว สายที่หนึ่ง สองและสี่ มีรากฐานสำคัญจากงานวิจัยของสายที่สาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียคนนั้น Katalin Kariko สุดยอดนักวิจัยจากฮังการี

ในตอนต่อไปเราจะมารู้จักกุญแจความสำเร็จที่สำคัญของ mRNA ทั้งสองดอกครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

24 ตุลาคม 2564

ที่มาที่ไปของการนำ RNA มาใช้ ตอนที่สอง ปูทางสู่ความสำเร็จยุคปัจจุบัน

 ที่มาที่ไปของการนำ RNA มาใช้ ตอนที่สอง ปูทางสู่ความสำเร็จยุคปัจจุบัน

ในช่วงทศวรรษที่ 90 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมกำลังเดินหน้า เหล่าบรรดานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันคิดค้นวิจัยในตอนแรก ต่างแตกแยกย้ายออกไปต่อยอดงานวิจัยและก่อตั้งบริษัทเพื่อแย่งชิงโอกาสและความก้าวหน้า จากการพัฒนาในทางตรง เริ่มกระจายออก มีโครงข่าย มีความรู้ที่แตกยอดออกไปมากมาย

ปี 1993 นักวิจัยด้านชีวพันธุศาสตร์ Pierre Meulien จากแคนาดา (เช่นกัน ปัจจุบันก็ได้ก่อตั้งและเป็นซีอีโอ Innovative Medicine initiatives) ศึกษาและพัฒนาอาร์เอ็นเอเหมือนกับที่โรเบิร์ต มาโลนศึกษาค้นคว้า ต่างกันที่มาโลนคิดค้นในแง่ควบคุมการทำงานของเซลล์เปรียบเสมือนยา แต่ Meulien ศึกษาใช้อนุภาคไลโปโซมมาผนวกเข้ากับ mRNA แล้วสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงในสัตว์ทดลอง (หนูทดลอง) นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเกิดวัคซีนจาก mRNA

แต่เขาก็ไม่สามารถนำเสนอให้บริษัทตัวเองให้ทุนและสนับสนุนการสร้างวัคซีนจากอาร์เอ็นเอได้ ด้วยความที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ยังก้าวไม่ถึง จึงต้องใช้ทุนมหาศาลระดับร้อยล้านยูโร แน่นอนตอนนั้นไม่มีบริษัทใดสนใจและให้ค่าทางธุรกิจ เทคโนโลยีวัคซีนอาร์เอ็นเอจึงไปต่อไม่ได้

ทั้ง Malone และ Meulien ได้หันเหไปทำ viral vector และ DNA vaccine ซึ่ง Meulien ได้ศึกษาวัคซีนดีเอ็นเอจนสามารถทำวัคซีนโรคโควิด19 ได้สำเร็จและกำลังศึกษาและรอจดทะเบียนวัคซีนดีเอ็นเอในประเทศอินเดีย

ดูเหมือนอาร์เอ็นเอและ mRNA จะไม่สามารถไปต่อได้ แต่เทคโนโลยีต่าง ๆ ในยุคก่อนมิลเลนเนียมนั้น พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาก จุดเปลี่ยนเรื่องการประยุกต์ใช้และความคงตัวของอาร์เอ็นเอ มาเกิดขึ้นที่ Duke University ในปี 1997

Eli Gilboa นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ค ได้ทำการศึกษาสร้าง mRNA ที่มีรหัสพันธุกรรมโปรตีนเซลล์มะเร็งของคน ส่งเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดขาวของคน หลังจากนั้นเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตั้งโปรแกรมให้รู้จักเซลล์มะเร็ง นำเข้าสู่ตัวคน ก็ปรากฏว่าร่างกายสามารถตรวจจับและเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์ได้ เป็นการวิจัยเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถทำอาร์เอ็นเอให้คงตัวและใช้ได้จริง

แต่ก็ยังไปไม่สุด เพราะในการศึกษาของ Gilboa ที่จำลองสถานการณ์จริงในหนูทดลอง แม้จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ดัดแปลงสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งในหนู และสร้างภูมิคุ้มกันมาตรวจจับเซลล์มะเร็งได้จริง แต่ยังทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ และอาจให้เกิดผลเสียในร่างกายโดยรวมได้ แน่นอนก็ยังไม่สามารถพัฒนาไปถึงวัคซีน เพราะวัคซีนจะต้องฉีดเข้าไปในคนปกติ ให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยที่แทบไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายคนที่ไม่เป็นโรค

Eli Gilboa ไม่สามารถไปต่อกับมหาวิทยาลัยดุ๊ค ตามสูตรสำเร็จของนักวิจัยคือ ลาออกไปก่อตั้งบริษัทเสียเองเลย ปัจจุบันคือบริษัท CoImmune แต่กิลบัวและบริษัทได้หันเหและทุ่มเทไปในทิศทาง ภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งและเป็นหัวขบวนของ Tumor Immunology ในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จของกิลบัวนี่เองที่แตกยอดและเป็นจุดกำเนิดของวัคซีนจาก mRNA แต่หลังจากเข้าสู่สหัสวรรษใหม่นั้น ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นกับนักวิจัยทีมเดียว ไม่ได้ขึ้นกับการทุ่มเทของคนเพียงกลุ่มคนเดียวต่อไปอีก พัฒนาการด้านเทคโนโลยีและการใช้ข้อมูลข่าวสารร่วมกันที่รวดเร็วสูง ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาวัคซีนจากอาร์เอ็นเอไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการพัฒนาคู่ขนานกันถึง 4 สายนักวิจัย 4 สายที่เรายอมรับว่าคือ ผู้ให้กำเนิดวัคซีนอาร์เอ็นเอ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ที่มาที่ไปของการนำ RNA มาใช้ ตอนที่หนึ่ง ก้าวแรกที่ล้มเหลว

 ที่มาที่ไปของการนำ RNA มาใช้ ตอนที่หนึ่ง ก้าวแรกที่ล้มเหลว

ในปี 1978 หลังจากการค้นพบดีเอ็นเอไม่นาน ความคิดเรื่องการควบคุมรหัสพันธุกรรมก็เกิดขึ้น มันเริ่มต้นด้วยความคิดที่จะควบคุมการทำงานระดับเซลล์ด้วยการใส่คำสั่งของเรา ใช้ mRNA ที่เราออกแบบเองเข้าไปควบคุมเซลล์ โดยใช้อนุภาคไขมันที่ชื่อ liposome เป็นตัวนำเข้าเซลล์

ต้องบอกก่อนว่าเซลล์มนุษย์นั้นมีเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ที่เป็นไขมันสองชั้น มีตัวควบคุมการเข้าออก การจะส่งสารเข้าไปในเซลล์นั้น ถ้าจะไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรซับซ้อน ก็ต้องเลือกตัวรับส่งที่เป็นไขมันแบบเดียวกันกับเยื่อหุ้มเซลล์ แบบไลโปโซมที่ใช้ขนถ่ายสินค้าเข้าออกเซลล์อยู่แล้วนั่นเอง

แต่แนวคิดตอนนั้นถือว่ามาก่อนกาลอย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีการผลิตไขมันหุ้มเซลล์และอาร์เอ็นเอ ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าจะทำ ก็ยังคงต้องใช้ชิ้นส่วนของมนุษย์ ของสิ่งมีชีวิต หรือเลืยนแบบของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ทำง่ายนัก

จนมาถึงปี 1984 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา ทีมนักวิจัยชีวเคมีและพันธุศาสตร์สามารถสร้าง mRNA ได้สำเร็จ โดยใช้เอนไซม์การสร้างอาร์เอ็นเอจากเชื้อไวรัส ทรัพยากรในเซลล์เพาะเลี้ยง ทั้งหมดทำนอกร่างกายสิ่งมีชีวิต ทำในหลอดทดลอง หลังจากนั้นได้นำอาร์เอ็นเอที่จำลองขึ้น (ขอใช้คำว่าจำลอง เพราะยังไม่ได้สร้างขึ้นจริง ๆ) ไปฉีดเข้าเซลล์ไข่ของกบ และพบว่าสามารถสั่งทำงานได้จริง

… แถม เกร็ดความรู้.. ไข่กบเป็นเซลล์เดี่ยวขนาดใหญ่ สามารถสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในเซลล์ได้ง่าย จึงนิยมใช้ในการทดลอง แต่อย่าลืมว่ากบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กระบวนการการสร้างและถอดรหัสจึงไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถ้าอยากทราบไอเดียนี้ให้ไปดูภาพยนตร์เรื่องจูราสสิกปาร์ค ภาคแรก…

แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่แนวคิดต่าง ๆ ก็ถูกนำไปต่อยอดทั้งในการศึกษาค้นคว้าและการขยายโอกาสทางธุรกิจ

ก่อนจะเล่าเรื่องอาร์เอ็นเอต่อไป ผมขอขยายความเรื่องเส้นทางการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ในยุคนั้นเสียก่อนนะครับ เพราะเส้นทางแบบนี้คุณจะพบได้ตลอดในเรื่องนี้ หรือในทุก ๆ เรื่องของประวัติศาสตร์การแพทย์

การพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่รุนแรงนั้น ความคิดริเริ่มอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ความสำเร็จกลับอยู่ที่บริษัทเอกชน องค์ความรู้ที่เริ่มพัฒนาจะมาจากนักวิจัยหรือทีมวิจัยในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นตัวอาจารย์เองหรือนักศึกษา หรือร่วมกันเป็นทีม ด้วยสาเหตุเรื่องของเงินลงทุนและทรัพยากรในมหาวิทยาลัยที่มีมากพอ และทำออกมาในรูปแบบงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ อันเป็นประโยชน์ทั้งตัวผู้วิจัยและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

ผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการเปรียบเสมือนใบเบิกทางแห่งความก้าวหน้าและเปรียบเสมือนหนังสือชี้ชวนการลงทุนของบรรดานักลงทุน ในยุคนั้นการลงทุนเป็นแบบกินรวบ เหมาทำทุกอย่าง ไม่ได้มีโครงข่ายและเป็นการร่วมลงทุน ร่วมทีมแบบทุกวันนี้ นักลงทุนจึงจ้องจะหาทางผลิตสินค้าและกำไรใหม่ ๆ จากผลงานทางวิชาการที่มีแนวโน้มจะเกิดมูลค่าทางธุรกิจได้นั่นเอง

นักวิจัยที่มีองค์ความรู้ มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์มักจะลาออกหรือไปเป็นที่ปรึกษา หรือผู้ก่อตั้งบริษัทเอกชนที่จะเอาผลงานของตัวเองไปต่อยอดทางการค้าและพัฒนาต่อไป หรือบริษัทที่เห็นหนทางทางธุรกิจก็จะดึงตัวนักวิจัยนั้นไปอยู่ด้วยเสียเลย

หรือทางมหาวิทยาลัยเองก็อาจรับทุน หรือร่วมก่อตั้งบริษัท "ในความดูแล" ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เอาผลงานทางวิชาการไปต่อยอดทำวิจัยต่อและหวังผลทางการค้า ไม่ว่าจะทำออกมาเองหรือขายสิทธิทางปัญญาต่อไป

การพัฒนา mRNA Vaccine ก็มีรูปแบบเช่นนี้ มีการช่วงชิงโอกาส การเล่นเกมทางธุรกิจ แต่มันก็ทำให้การเติบโตทางวิทยาการของ mRNA เกิดอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

เอาล่ะ เรากลับมาที่เรื่องของเราต่อไป

ในปี 1987 Douglas Melton ทีมนักวิจัยจากฮาร์เวิร์ดที่กล่าวมานั้น แยกตัวออกไปตั้งบริษัท Oligogen ที่ปัจจุบันกลายเป็น Gileads ผู้คิดค้นยาต้านไวรัสรายสำคัญ โดยเริ่มศึกษาการนำ mRNA มาใช้ควบคุมการทำงานของร่างกายในรูปแบบต่างๆ อย่างจริงจัง

นับว่าเป็นแนวคิดสำคัญในการ "เล่น" กับ mRNA ถึงแม้เมลตันจะยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่สามารถควบคุมอาร์เอ็นเอให้คงที่ได้ จำเป็นต้องขายโอนสิทธิทางปัญญาไปให้บริษัทอื่น (และไม่ได้ทุนทำต่อด้วย)​

ในปีถัดมานักวิจัยทางมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย Robert Malone ร่วมมือกับเพื่อน สามารถสร้างไลโปโซม อนุภาคไขมันที่จะนำอาร์เอ็นเอของเราเข้าเซลล์ เป็นการสร้างไลโปโซมชนิดใหม่ทำให้อาร์เอ็นเอคงตัวและนำเข้าเซลล์ได้ดีขึ้น

ความสำเร็จและแนวคิดนี้ทำให้เหล่าบรรดาผู้คิดค้นมีชื่อเสียง มีการดึงตัวไปอยู่บริษัทเอกชน มีการแยกตัวไปตั้งบริษัท และแย่งชิงกันเพื่อจดสิทธิบัตรในการค้นพบเทคโนโลยีของไลโปโซมและ mRNA แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีใครนำไปจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการด้วยเหตุที่การพัฒนายังไม่สามารถจบลงที่ตัวผลิตภัณฑ์สมบูณ์ได้

หลายคนแยกไปทำเรื่องรหัสพันธุกรรมต่อ ส่วน Robert Malone กลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกสาขาด้านพันธุวิศวกรรม (ซีอีโอบริษัทชั้นนำของโลกส่วนมากก็คิดค้นงานตัวเองได้ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบ) หลังจากที่มาโลนเรียนจบ มาโลนก็ยังสนใจการทำงานกับอาร์เอ็นเอ

แต่ไม่ว่าเขาจะขอทุนและนำเสนอการลงทุนเท่าไร ในเวลานั้นก็ยังไม่มีบริษัทใดเห็นความเป็นไปได้ในทางการค้า เขาจึงหันไปศึกษาและร่วมทุนกับดีเอ็นเอ โดยเฉพาะวัคซีนจากดีเอ็นเอ หลังจากนั้นมาโลนได้ออกมากล่าวถึงผลเสียของวัคซีน mRNA และเทคโนโลยี mRNA ว่าจะทำให้เกิดพิษและอันตรายต่อเซลล์เป้าหมาย

ไม่รู้ว่ามาโลนออกมากล่าวเพราะหวังดี หรือต้องการโจมตี mRNA รู้เพียงแต่ว่าคำกล่าวโจมตีวัคซีน mRNA ของมาโลน ส่งผลเสียต่อเขาอย่างยิ่ง เขาถูกแบนจากบัญชีสื่อออนไลน์ ถูกระงับการแสดงความเห็นในโลกวิชาการ วารสาร New Engalnd Journal of Medicine ระงับการเข้าถึงวารสารของมาโลน ทำให้ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าคำเตือนของมาโลนเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือถูกปฏิบัติการ information operation ของทางการสหรัฐ ที่ต้องการโปรโมทวัคซีน mRNA

เรื่องราวในช่วงตั้งไข่ของ mRNA vaccine ยังไม่จบแค่นี้ ในตอนต่อไป เราจะได้ติดตามว่าหลังจากนี้ เทคโนโลยีของ mRNA จะเป็นอย่างไร

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

23 ตุลาคม 2564

History of mRNA

 History of mRNA

ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์นับล้าน มาประกอบกันและมีระบบการจัดการที่ยอดเยี่ยม รวมตัวกันเป็นเนื้อเยื่อ เป็นอวัยวะและระบบอวัยวะ

แต่ละเซลล์ที่หน้าที่การทำงานที่ต่างกันและถ่ายทอดความทรงจำ ความสามารถ อำนาจ สิทธิ หน้าที่ ส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น โดยส่งผ่านรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า DNA

รหัสการทำงานของร่างกายจะฝังอยู่ใน DNA ที่จับกลุ่มเป็นโครโมโซมอยู่ในนิวเคลียส ศูนย์สั่งการของแต่ละเซลล์

เมื่อร่างกายต้องการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สร้างสิ่งใด หรือสื่อสารกับสิ่งใด ร่างกายไม่ได้ใช้ภาษาดีเอ็นเอสื่อสารกัน ร่างกายสิ่งต่าง ๆ สื่อสารกันเป็นตัวรับสารและตัวส่งสารที่ต้องเข้าคู่กันพอดี จึงจะเข้าใจกันได้และทำงานร่วมกันได้ เช่น ฮอร์โมน สารเคมี สารสื่อประสาท ตัวรับโปรตีน ดังนั้นร่างกายจึงต้อง "ถอดรหัสคำสั่ง" จากภาษาดีเอ็นเอ ออกมาเป็นภาษาโปรตีน เราเรียกสารที่พารหัสจากดีเอ็นเอในนิวเคลียสมาเป็นพิมพ์เขียวการสร้างโปรตีนเพื่อไปทำงานต่าง ๆ ว่า messenger RNA

DNA จะทำการถอดรหัสจากสายเบสคู่ของตัวเอง ออกมาเป็นพิมพ์เขียว RNA สายเดี่ยว ผ่านออกมานอกนิวเคลียส เพื่อให้โรงงานในเซลล์ใช้ทรัพยากรในเซลล์ในการสร้างโปรตีน ผ่านกระบวนการที่เฉพาะเจาะจง จาก mRNA ก็จะกลายสภาพเป็นโปรตีนที่พร้อมทำงาน พร้อมสื่อสาร และส่งออกนอกเซลล์ไปทำงาน

mRNA ได้รับการค้นพบและศึกษาบทบาทในยุคเดียวกันกับการค้นพบดีเอ็นเอ โดยทีมนักวิจัยเดียวกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในฐานะพิมพ์เขียวในการสร้างโปรตีนของร่างกาย หากดีเอ็นเอเกิดกลายพันธุ์ mRNA ก็บิดเบี้ยว คำสั่งต่าง ๆ ก็บกพร่องทำให้เกิดโรคหลายโรคเช่น โรคมะเร็ง หรือหากกระบวนการสร้างและถอดรหัสบกพร่อง ก็ทำให้เกิดโรคเช่นกัน

ไวรัสเป็นชีวโมเลกุลที่ไม่นับเป็นเซลล์เพราะองค์ประกอบมันไม่ครบ แม้แต่รหัสพันธุกรรม บางไวรัสเป็นดีเอ็นเอสายสั้น ไม่มีแม้แต่คำสั่งให้สืบเผ่าพันธุ์ บางไวรัสมีเพียง mRNA ไม่สามารถควบคุมการทำงานด้วยตัวเอง แต่ไวรัสนั้นคือสุดยอดวิวัฒนาการแห่งชีวิต เพราะมันใช้ "outsource" ทำงานให้

เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ (ก็ผ่านตัวรับที่เป็นโปรตีนบนผิวเซลล์เช่นกัน) จะเข้าไปสู่นิวเคลียสของเรา เอารหัสพันธุกรรมของมันไปแทรกในรหัสพันธุกรรมของเรา หรือแม้แต่มีเพียง RNA ก็สามารถออกคำสั่งให้เซลล์เราจำลองสายดีเอ็นเอจากสาย RNA ของมัน เป็นกระบวนการย้อนกลับของการถอดรหัสสร้างโปรตีน เพื่อทำให้เกิดดีเอ็นเอแล้วแทรกเข้าไปในดีเอ็นเอของเรา

และเมื่อเข้าไปแล้ว มันจะไปกระตุ้นคำสั่งต่าง ๆ บนรหัสพันธุกรรมของเรา ให้มีการสร้างสาร ให้มีการทำงานต่าง ๆ ให้มีการจำลองและทำซ้ำรหัสพันธุกรรมของตัวมันเอง ทั้งหมดนี้ทำเพื่อประโยชน์ของไวรัสเอง จะได้มีรหัสพันธุกรรมสืบเผ่าพันธุ์และทรัพยากรในการสร้างตัว จำลองตัวเองเป็นหลายล้านตัว แล้วทำลายเซลล์นั้น ไปเกาะเซลล์อื่นต่อไป (คือ Alien นั่นเอง)

หนึ่งในโปรตีนสำคัญของไวรัสที่ชื่อ SARs-CoV2 เรียกว่า spike protein สร้างมาเพื่อเป็นตัวจับเซลล์มนุษย์ ถ้า spike protein ไปจับกับเซลล์ได้และไม่ถูกกำจัดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มันจะเข้าไปขยายพันธุ์ ทำลายล้าง ออกลูกหลาน ดำรงเผ่าพันธุ์ตัวเองต่อไป นั่นคือการจะสร้าง spike protein ก็ต้องอาศัยกลไกของ RNA และการสร้างโปรตีนของเซลล์เราเช่นกัน

เราลองมาคิดดูว่า จะเป็นอย่างไร หากร่างกายเราเคยรู้จัก เคยทราบแผนอาชญากรรม เคยมีลายนิ้วมือ ภาพถ่ายของไวรัสนี้ไว้ก่อน สอนให้เหล่าผู้พิทักษ์ร่างกายได้เรียนรู้วิธีรับมือ เตรียมแผนปฏิบัติการล่วงหน้า หากเราถูกรุกราน เราก็จะได้จัดการได้ทันที นี่คือหลักการของการสร้างภูมิคุ้มกันแบบ active คือ ให้ร่างกายเรียนรู้และสร้างภูมิด้วยการใช้วัคซีน

(passive คือ ใส่ภูมิสำเร็จเข้าไป เพราะมันฉุกเฉิน สร้างไม่ทัน เช่นการใช้แอนติบอดีรักษาโควิด)

เรามีวิธีสอนร่างกายให้เรียนรู้ รู้จักเชื้อโรคล่วงหน้าหลายวิธี เช่น เอาเชื้อโรคมาทำให้ตายแล้วใช้ชิ้นส่วนมากระตุ้นการเรียนรู้ของภูมิคุ้มกัน เอาเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแอไม่ก่อโรค แต่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ คือ live-attenuated vaccine หรือใช้ชิ้นส่วนของไวรัสบางส่วนมากระตุ้น ในอดีตเรามีวิธีที่ทำวัคซีนมากมาย แล้วทำไมต้องคิดวิธีใหม่ mRNA วัคซีน

ถ้าเรายังจำได้ การสร้างโปรตีนต้องอาศัยรหัสพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจง การทำพิมพ์เขียวที่แม่นยำ การแปลผลที่ถูกต้อง และระบบการสร้างที่มีประสิทธิภาพ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเราก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงความต้องการ ถ้าเราเลือกเอาตัวพิมพ์เขียว RNA มาเป็นต้นทางการผลิต โอกาสผิดจะน้อยมากเนื่องจากยังไม่ผ่านขั้นตอนมากนัก

หากเราเลือกเอาเชื้อตาย (คือผลิตภัณฑ์สุดท้ายของการสร้างโปรตีน) ก็อาจเกิดการกระตุ้นภูมิได้หลากหลาย อาจจะได้ตรงหรือไม่ตรงกับความต้องการก็ได้ เพราะกว่าจะมาเป็นเชื้อตาย ต้องมีโปรตีนหลายโมเลกุล โอกาสแปรปรวนหรือผิดจุดมีมาก

อีกอย่าง ในยุคสมัยหลังจากที่วัตสันและคริกส์ได้พบรหัสพันธุกรรม มาจนถึงยุคที่เราทราบรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ในเวลาไม่กี่วัน แถมสามารถออกแบบและผลิตตัวควบคุมด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมได้ดี การควบคุม mRNA จึงไม่ใช่เรื่องยาก (เพราะ mRNA มันสายสั้นด้วย) ในโลกยุคปัจจุบันและยุคหน้า การจัดการยา การจัดการการรักษาด้วยเทคโนโลยีรหัสพันธุกรรมจึงเป็นธงนำอนาคต

ใครสนใจสามารถไปอ่านได้เลยจาก 21 lessons for 21st century ของ ยูริ โนวาล แฮร์รารี่ ผู้เขียนหนังสือ Sapiens อันโด่งดัง

แต่กว่าจะได้ mRNA vaccine ที่เรารู้จักกันมันไม่ง่ายครับ ในตอนต่อไป เราจะมาว่ากันด้วย ต้นกำเนิดเทคโนโลยีการรักษาด้วย RNA

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ศุกร์ศัลย์

 หลังจากน้ำลด ขนส่งก็เริ่มทำงาน หนังสือ "ศุกร์ศัลย์" ก็มาส่งถึงบ้าน

ศุกร์ศัลย์ สาวน้อยศัลยแพทย์น่ารักทำเพจชื่อศุกร์ศัลย์ บอกเล่าเรื่องราวสนุก ๆ ทั้งศัลยแพทย์ การเรียนศัลยกรรม ชีวิตนักเรียนแพทย์ หยิบเอาเรื่องที่พบในแต่ละวันมาเล่าสนุก แทรกสาระทางการแพทย์ คุณธรรมจริยธรรมทางการแพทย์

ติดตามเพจ 'ศุกร์ศัลย์' ​มาตลอด สุดท้ายศุกร์ศัลย์ก็บรรลุวิชาแต่งหนังสือ ออกมาเป็นรูปเล่ม

เรื่องราวสนุก ๆ ของนักเรียนแพทย์ คิดอย่างไรถึงเข้ามาเรียน เรียนอะไร แต่ละวิชามีมุมสนุกสนานอย่างไร

เรื่องราวเหล่านี้มีคนเขียนเยอะ แต่ 'ศุกร์ศัลย์'​ หยิบมุมมองเดียวกัน มาเขียนในเชิงเล่าเรื่อง บอกเลยว่า สนุก มีรอยยิ้ม มีเรื่องเศร้า มีซึ้งใจ

** ที่สำคัญ ศุกร์ศัลย์ โยงเรื่องราวต่าง ๆ และประสบการณ์ตอนเรียนแพทย์ ว่ามันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นหมอในอนาคตอย่างไร

เพื่อให้เราย้อนกลับไปคิด หรือ พยายามเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตอนเรียนให้มากสุด เพื่อหล่อหลอมตัวเราในอนาคต

ตรงนี้แหละ ที่ศุกร์ศัลย์สอดแทรกคุณธรรมให้เห็นอกเห็นใจมนุษย์ด้วยกัน สอดแทรกอย่างกลมกล่อมเลยทีเดียว นี่แหละไฮไลท์

หมอ.. อ่านแล้วยิ้ม คิดถึงอดีต

นักเรียนแพทย์.. อ่านแล้วได้ข้อคิดที่สนุก

ถ้าไม่ใช่หมอและนักเรียนหมอ.. จะสนุกมากครับ ได้รู้ล่ะว่า ที่หล่อหลอมกันออกมา เป็นอย่างไร

หนังสือขนาดเอห้า หนา 182 หน้า ราคา 220 บาท จาก สนพ.ต้นมะนาว มีแถมสเปรย์แอลกอฮอล์พกพามาด้วยครับ หน้าปกสีฟ้าสดรูปไส้ติ่ง และการ์ตูนเอสดีที่หน้าเหมืิอนน้อง 'ศุกร์ศัลย์'​มากครับ

สั่งซื้อได้ที่ เพจของสนพ. ต้นมะนาวครับ

ปล. ถึงผมจะเป็นคนเขียนคำนิยม… อะแฮ่ม.. แต่ก็ซื้ออุดหนุนน้องเขาเช่นกันจ้ะ

อาจเป็นรูปภาพของ หนังสือ และ ข้อความพูดว่า "ศุกร์ ศัลย์ ศุกร์ศัลย์ by Lamanw ก็เพราะเธอ... ปากไม่ตรงกับใจ AF HONG14 HONCiSCAFE"

22 ตุลาคม 2564

อายุรศาสตร์อุทกภัย แต่ไม่ง่ายนิดเดียว

 อายุรศาสตร์อุทกภัย แต่ไม่ง่ายนิดเดียว

1. ควรกินอาหารที่คุ้นชิน อย่าผิดแปลก เพราะหากท้องเสีย จุกแน่น อาเจียน จะมีปัญหามาก

2. แนะนำอาหารที่ปรุงใหม่ที่สุดเท่าที่หาได้ ทำได้ เพื่อลดการติดเชื้อ ปนเปื้อน และล้างมือบ่อยมากกว่ากันโควิด

3. น้ำดื่มขวดพลาสติก ปลอดภัยและสะดวกมาก ต้องล้างมือและเช็ดแห้งก่อนปิดเปิดฝาเสมอ

4. ยาที่ใช้ อย่าให้เปียกน้ำ อย่าให้ชื้น ใส่ถุงพลาสติก อย่าเอาออกจากฟอล์ยหุ้มถ้ายังไม่ใช้ ล้างมือก่อนกินยา และน้ำต้องสะอาด

5. ยาหลายชนิดกินตามมื้ออาหาร แต่ไม่จำเป็นต้องกินหลังอาหารเสมอไป มื้อไหนไม่มีอาหาร ก็อาจกินยาได้ ให้โทรปรึกษาเภสัช ตามที่ระบุไว้ในหน้าซองยา รพ.นั้น ๆ

6. ยาที่ควรติดไว้ ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาเม็ดแก้ท้องอืด ยาใส่แผลสด และชุดทำแผล

7. ระวัง สัตว์มีพิษ มันหนีตายหนีน้ำเหมือนเรา เคาะเสื้อผ้ารองเท้า มันก็ไปแล้ว เวลาจัดบ้าน อย่าลืมตรวจสอบ หากถูกกัด ให้แจ้งขอความช่วยเหลือ

8. บาดแผลที่โดนน้ำท่วมจัดเป็นบาดแผลเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยัก ให้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักด้วย

9. เจ็บป่วยเมื่อใด อย่าชะล่าใจ ให้รีบขอความช่วยเหลือ และออกมาอยู่พื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน

10. ลุยน้ำแล้ว ให้ทำความสะอาด เช็ดแห้ง สวมเสื้อผ้าแห้งเสมอ โรคที่พบบ่อยมากคือ น้ำกัดเท้า เชื้อราที่เท้าและเล็บ แผลพุพองติดเชื้อ

11. ระวังเรื่องไฟฟ้าในบ้านด้วย ต้องมั่นใจว่าปลอดภัย และแห้งพอ จึงเปิดไฟฟ้าใช้

12. ติดตามข่าวจากแหล่งเชื่อได้เสมอ ภายใต้ความตระหนกตกใจ เราอาจแปลข่าวผิด หรือส่งข่าวผิด อย่างไม่เจตนาได้

13. ติดต่อรพ. ที่รักษาประจำ เรื่องการเลื่อนนัด การใช้ยา การส่งยา ในสถานการณ์น้ำท่วมนี้

14. ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องออกมาเสมอ แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อนบ้าน ให้มาช่วย

15. รักกันไว้ สามัคคีกันไว้ น้ำใจคนเรายิ่งใหญ่และชนะน้ำท่วมใด ๆ ได้เสมอ

ขอให้ทุกคนปลอดภัย และขอให้ตัวเองปลอดภัย

อาจเป็นรูปภาพของ เมฆ และ ธรรมชาติ

19 ตุลาคม 2564

Self-assessment and Board Review

 แนะนำ “Self-assessment and Board Review”

ในแต่ละครั้งของการพิมพ์จำหน่ายหนังสือตำราอายุรศาสตร์ชุด Harrison Internal Medicine จะมีหนังสือออกมาสามชุด ชุดแรกคือตำรา Principle of Internal Medicine ที่มีสองเล่มหนา ทิ้งไว้สักระยะจะมีคู่มือแบบพกพาเล่มเล็ก Harrison Manual และท้ายสุดจะเป็นแบบฝึกหัดทดสอบ self-assessment นี่แหละครับ
สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 20 นี้ Harrison ก็ออกมาครบทั้งสามเล่ม ล่าสุด Self-Assessment ก็มาถึงมือผมสักระยะแล้วครับ จึงขอมาเล่าให้ฟังให้ครบชุด และต้องขอขอบคุณร้าน Meditext ซื้อตำราแพทย์เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สนับสนุนหนังสือให้มารีวิวในทั้งสามชุดจนครบด้วยนะครับ
นี่คือหนังสือโจทย์ปัญหาให้ฝึกความรู้และการคิดทางอายุรศาสตร์ ในลักษณะ Multiple Choice Question ที่แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ทุกคนต้องผ่านการสอบนี้ ความพิเศษของเล่มนี้ที่ต่างจากหนังสือรวมโจทย์ของสำนักพิมพ์อื่นคือ การอ้างอิงคำตอบและที่มา เนื้อหาประกอบคำตอบ มาจากตำรา Harrison’s Principle of Internal Medicine ที่ประเทศเราเลือกใช้เป็นตำราอ้างอิงมาตรฐานนั่นเอง
ในแต่ละหัวข้อนั้น โจทย์ปัญหามีทั้งแบบ ความจำ มีทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่โจทย์ส่วนใหญ่คือ กรณีผู้ป่วยที่ยกมาแล้วให้ตอบคำถาม ดูเหมือนง่ายครับ แต่สิ่งที่ยากของเล่มนี้คือ ตัวเลือก A B C D E มันมีความเป็นไปได้เกือบทุกอัน แต่น้ำหนักเหตุผลที่ต่างกัน เราจึงต้องให้เหตุผล ชั่งน้ำหนักว่าจะตอบคำตอบไหนดีจึงจะเป็น “the best” ในข้อนั้น ในหนังสือโจทย์บางเล่มโดยเฉพาะจากฝั่งอินเดียที่ผมเคยอ่านและรีวิวมา บางทีเราสามารถตัดตัวเลือกได้โดยวิธีทางตรรกะ บางทีไม่รู้คำตอบที่แท้จริงแต่ตอบได้คะแนน ซึ่งจะทำแบบนั้นไม่ได้ในแฮร์ริสันเล่มนี้ครับ
เมื่อเราไปดูบทเฉลย ในตัวเลือกที่ใช่จะมีคำอธิบายละเอียดในเฉลยนั้นเลย ในเล่มอื่นจะบอกคร่าว ๆ แต่เล่มนี้อธิบายละเอียดยาวพอ ๆ กับเนื้อหาโจทย์ จบครบและยกกราฟหรือภาพประกอบมาเสร็จสรรพ ไม่ต้องเปิดซ้ำอีก (แต่แนะนำให้ไปเปิดซ้ำ) ระบุบทที่อ้างอิงเรียบร้อย ในตัวเลือกที่ไม่ถูกที่สุดก็มีคำอธิบายสั้น ๆ ว่าทำไมจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด
หนังสือมีทั้งหมด 10 บทตามเรื่องย่อยของสาขาในวิชาอายุรศาสตร์ แต่ละเรื่องจะมีประมาณ 150-180 ข้อ ขนาดเล่มเท่าแฮร์ริสันเล่มใหญ่ แต่ปกบางและเล่มบางกว่า สันเย็บกาว กระดาษพิมพ์สี่สีสวยงาม บรรณาธิการโดย Charles M Wiener และทีมจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปสกิ้นส์ สำนักพิมพ์ McGraw-Hill สำหรับแบบ international edition ราคาปก 1790 บาทครับ
เหมาะที่สุดกับแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์เพื่อเตรียมสอบ เอาไปแบ่งกันติวกับเพื่อน หรือคุณหมอที่จบแล้วไว้อ่านทบทวนตัวเอง 5 ปีครั้ง สนุกดีนะครับ หรืออาจารย์เอาไปเป็นแนวทางออกสอบก็ได้ครับ ปีที่ผมสอบ ผมจำได้ว่ามีหลายข้อที่คล้าย ๆ อยู่ในเล่มนี้ ในเล่มพิมพ์ครั้งที่ 20 นี้มีการเปลี่ยนแนวทางโจทย์และโจทย์ใหม่ ๆ มามากกว่า 60% เลยทีเดียว
สามารถสั่งซื้อได้ที่เพจร้าน @Meditext ซื้อตำราแพทย์เป็นเรื่องง่าย ๆ ในเงื่อนไขเดิม สั่งก่อน ส่งก่อน ได้ก่อน จ่ายทีหลังครับ
33
แชร์ 60 ครั้ง
ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น
แชร์

บทความที่ได้รับความนิยม