31 สิงหาคม 2566

ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ที่ออกแบบออกมาเหมือนสิ่งของในชีวิตประจำวัน

 องค์การอาหารและยาสหรัฐ ออกมาเตือนถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ที่ออกแบบออกมาเหมือนสิ่งของในชีวิตประจำวัน เพื่อล่อหลอก และปกปิดการใช้

ที่อเมริกามีทั้งบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ที่ควบคุมได้ และบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนที่ออกแบบมาแบบนี้ ทำให้เกิดการสูบและติดมากขึ้นในเยาวชน
บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน ก็จะไม่มีมาตรฐานน้ำยาและความปลอดภัย ที่อันตรายกว่าตัวบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกกฎหมายเสียอีก
อาจจะเข้ามาในบ้านเราได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าที่ตอนนี้ผิดกฎหมาย ก็ไม่เคยถูกตรวจพบเจอทางตลาดนัด ทางออนไลน์ ไม่เคยถูกเห็นตามที่ต่าง ๆ เลย แม้แต่นิดเดียว









28 สิงหาคม 2566

คำถามสำคัญในช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด

 ช่วงนี้ไข้หวัดใหญ่ระบาดเยอะ มีคำถามมาเยอะเลย (อ้างอิงจาก IDSA guidelines)

1. สัมผัสโรคแต่ยังไม่มีอาการ ต้องตรวจไหม
สัมผัสโรค อาจยังไม่ติด หรือ ติดเชื้อแต่ร่างกายอาจกำจัดได้และไม่มีอาการ ดังนั้นจะตรวจเมื่อตั้งใจจะให้ยาในกรณี สัมผัสโรคแต่ไม่เกิดอาการ ซึ่งมีที่ใช้น้อยมาก
2.ตรวจเจอโรค มีอาการ ต้องกินยาต้านไวรัสไหม
ข้อกำหนดการกินยา (ควรจะกินคือ) มีอาการ สำคัญคือยืนยันการพบเชื้อหรือแค่สงสัยก็พอ
- อาการรุนแรงต้องแอดมิต
- มีอาการของโรคที่ทรุดลง (คือถ้ามีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง ดีขึ้นเอง ก็ไม่ต้องกินยา)
- เสี่ยงอันตรายแทรกซ้อนสูงมาก เช่น ถุงลมโป่งพอง หัวใจวายเรื้อรัง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- หญิงตั้งครรภ์ หรือคลอดมาไม่เกินสองสัปดาห์
อาจจะกินยา (มีประโยชน์น้อย หลักฐานสนับสนุนก็ไม่แข็งแรง) ในกรณีมีอาการและต้องยืนยันการพบเชื้อ
- มีอาการไม่เกิน 2 วัน
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ต้องดูแลคนที่เสี่ยงอันตรายหากเป็นไข้หวัดใหญ่
3. ตรวจวิธีไหน คือ ปัจจุบันแนะนำตรวจหาสารพันธุกรรมหมดแล้ว เพราะวิธีตรวจหาแอนติเจนไม่ไวและไม่แนะนำ แต่ในบ้านเรา ผมว่าจะใช้ก็ได้นะ แต่ต้องซักประวัติอาการ ระยะเวลาการเป็นและการสัมผัสโรคให้ดี เพื่อแปลผลได้ถูกต้อง ควรระวังเอามาก ๆ ไม่ใช่จิ้มจมูกแล้วผลบวก จะต้องเป็นโรคทุกราย
4. กินยาป้องกันเลยได้ไหม สัมผัสโรคมา
ไม่แนะนำเป็นกรณีทั่วไป ที่แนะนำก็มีบางกรณี ซึ่งประโยชน์น้อยและหลักฐานสนับสนุนไม่แข็งแรงด้วย
สำคัญคือ ต้องไม่ได้รับวัคซีนหรือมีข้อห้ามการฉีด แล้วสัมผัสโรคมาไม่เกินสองวัน เสี่ยงสูงมาก ๆ หรือต้องดูแลคนที่เสี่ยงสูงมาก ๆ ... ต้องครบทุกข้อ และพิจารณาข้อดีเสียร่วมกัน
5. แล้วจะกันโรคไงดี
ฉีดวัคซีนปีละครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากหากเสี่ยงกระจายเชื้อ แยกตัวไม่กินข้าวร่วมกับคนอื่นหากเสี่ยงติดเชื้อ

27 สิงหาคม 2566

ท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์อียิปต์ Schistosoma and ็Hepatitis C ตอนที่ 3

 ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่อียิปต์รณรงค์และจัดการพยาธิใบไม้ในเลือด ในอเมริกาได้ค้นพบไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่ง ในปี 1974 ตั้งชื่อว่า non-A non-B hepatitis ตับอักเสบที่ไม่เหมือนและไม่ใช่ไวรัสตับอีกเสบเอและไวรัสตับอักเสบบี ที่พบก่อนหน้านี้ มักจะพบในผู้ป่วยที่ได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือด กว่าจะพบต้นเหตุของโรคว่าเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่ง ชื่อว่าไวรัสตับอักเสบซี ก็ใช้เวลาถึงปี 1989 นักวิจัยทั้งสามท่านที่ร่วมกันค้นพบและได้รับรางวัลโนเบลในปี 2020 ทั้งสามท่านนั้นคือ Harvey J. Alter Charles M. Rice Michael Houghton

ปีกผีเสื้อขยับที่อเมริกา แต่กระเพื่อมรุนแรงมากที่อียิปต์
เมื่อค้นพบไวรัสตับอักเสบซี ได้พัฒนาการตรวจหาไวรัส การตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคโดยใช้แอนติบอดีต่อไวรัสตับอักเสบซี รวมไปถึงยารักษา ระยะเวลาตั้งแต่ปี 1991- 2004 ทั้งโลกได้ค้นพบว่าไวรัสตับอักเสบซี เป็นปัญหาสำคัญของโลก เป็นภัยเงียบ ไม่มีอาการใด รู้อีกทีก็ตับแข็งและมะเร็ง องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองและสำรวจทั้งโลก (ประเทศไทยเราก็ทำในปี1992) และแน่นอนตัวเลขแดงจัดสุดขั้ว ความชุกที่สูงที่สุด มากที่สุด ประชากรป่วยมากที่สุดทั้งตัวเลขป่วยจริงและตัวเลขเทียบกับประชากรทั้งชาติ คือ ประเทศอิยิปต์
ปี 2008 อียิปต์มีความชุกของโรคเฉลี่ยอยู่ที่ 14.7% ของประชากร และถ้าไปนับบริเวณที่พีคที่สุดคือบริเวณปากแม่น้ำไนล์จะพบสูงถึง 27% เลยทีเดียว ตัวเลขนี้นับว่าสูงที่สุดในโลก ทำไมจึงสูงแบบนั้น มันเกี่ยวข้องอะไรกับพยาธิใบไม้ในเลือดก่อนหน้านี้หรือเปล่า มันก็เกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ทางตรง
การแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทางหลักคือจากการรับเลือดถ่ายเลือด ในยุคสมัยที่ก่อนปี 1990 เรายังไม่รู้จักไวรัสตับอักเสบซีก็จะยังไม่มีการคัดกรอง ดังนั้นจะมีผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ติดเชื้อจากการให้เลือดก่อนปี 1991 ปัจจุบันมีการคัดกรองที่ดีเรียกว่ายากมากที่จะเกิดการติดเชื้อจากการรับเลือดในยุคหลังปี 2000 มานี้ ทางติดต่อรองลงมาคือการถูกเข็มทิ่มตำ การถูกสารคัดหลั่งเปื้อนเลือด มักจะพบกับผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดสารเสพติด (ในยุคนั้นการฉีดเฮโรอีนเข้าหลอดเลือดเฟื่องฟูมาก) ส่วนการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์พบน้อยมาก
เรามาโฟกัสที่การติดเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และย้อนอดีตไปที่โครงการกำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดในอียิปต์ช่วงทศวรรษที่ 50-70 ที่มีการฉีดยาไป 36 ล้านโดส ใช่ครับ…บรรดาผู้ที่ได้รับยา antimony potassium tartrate ถูกฉีดยาด้วยเข็มที่ใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส nonA nonB hepatitis (ในยุคนั้น) หรือไวรัสตับอักเสบซีในยุคนี้ ติดอย่างมากมาย ติดแบบไม่มีอาการ และบริจาคเลือดกันไปมาโดยไม่มีการคัดกรอง (ก่อนปี1992 ยังไม่มีชุดตรวจ) จึงทำให้โครงการฉีดยากำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดของอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบซีครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์
กระบวนการทำปราศจากเชื้อในยุคก่อนไม่ได้ดีเหมือนยุคนี้นะครับ เวลาฉีดยาก็ต้มหลอดฉีดยาหลอดแก้ว ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุดในยุคนั้น ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว เข็มก็แช่นำยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้งก็ยังไม่มี ตอนที่ฉีดยากำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดครานั้น ฉีดครั้งละมากมาย แน่นอนว่าคงไม่สามารถจัดการ 'ปลอดเชื้อ' ได้ดีนัก บางครั้งฉีดต่อเนื่อง ใช้ไฟลนปลายเข็มเท่านั้น
เป็นที่มาว่าสามสิบปีหลังการฉีดยาครั้งใหญ่ของอิยิปต์ ทำให้มีความชุกโรคไวรัสตับอักเสบซีสูงที่สุดในโลก เมื่อป่วยมากขนาดนั้นทำให้ในปี 2015 ประชากรอิยิปต์เสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบซีปีละ 40,000 ราย คิดเป็น 7.6% ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด ทำให้ GDP ประเทศลดลง 1.5% ประเทศอียิปต์เล็งเห็นปัญหานี้และคงไม่อยู่เฉย ๆ แน่ แต่การแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ง่ายเหมือนการกำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดครั้งนั้น
หลังจากที่โลกรู้จักไวรัสตับอักเสบซี การพัฒนายารักษาเริ่มทันทีจนได้การรักษามาตรฐานในปี 2006 (สิบหกปีเชียวนะ) นั่นคือยาฉีด interferon ร่วมกับยากิน ribavirin ที่ทั้งลำบากยุ่งยากในการฉีด ผลข้างเคียงมากมายมหาศาล ราคาก็สูงลิบ ตอนเริ่มใช้ยาในไทยก็มีคนใช้ได้ไม่กี่คน แล้วถ้าเรามองอียิปต์ที่ประชากรติดเชื้อกว่า 20% ของประเทศจะจัดการได้ไหม ย่อมจัดการได้ยากยิ่ง
จนในปี 2013 มีการคิดค้นยาต้านไวรัส NS5A, NS5B และ DAAs เป็นยาที่ไปหยุดการทำงานของไวรัสตรงเป้า เป็นยากินและประสิทธิภาพสูงมากรักษาได้ในระดับ 90% หายขาด !! แถมผลข้างเคียงต่ำมาก แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือราคายาที่แพงมากเช่นกัน หากเราคิดราคายาที่ทางบริษัทจำหน่ายในตอนแรกนั้น ในการรักษาหนึ่งคอร์สต่อผู้ป่วยหนึ่งราย จะใช้ค่าใช้จ่าย 84,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (เมื่อสิบปีก่อน) ะเมื่อมาคูณกับจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วในอียิปต์จะต้องใช้เงินกว่า หนึ่งล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เลขศูนย์สิบสองตัวครับ) มากกว่ามวลรวมประเทศสองเท่า
สิ่งที่รัฐบาลอียิปต์ทำตอนนั้นคือเจรจากับบริษัท G เจ้าของสิทธิบัตรยาให้ลดราคาลง และสนับสนุนตลาดยาสามัญให้เกิดการแข่งขันทางราคา จนปลายทางได้ค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 900 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อสามเดือน และหากใข้ยาสามัญจะลดลงถึง 84 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อเดือนเลยทีเดียว นอกจากนั้นรัฐบาลยังจัดการโปรแกรมคัดกรองที่ดี การจัดส่งยาที่ทรงประสิทธิภาพ จัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติและกำหนดปี 2014-2017 ทำการ…ปูพรม
ประเทศอิยิปต์คงจะมีพื้นบ้านที่แข็งมากครับ เอะอะเอะอะก็ปูพรม ปูพรมพยาธิใบไม้เลือดแล้ว คราวนี้ปูพรมไวรัสตับอักเสบซีอีก
ในช่วงเวลาดังกล่าวรักษาคนไข้ไป 2 ล้านคน มากกว่าการรักษาทั้งสหรัฐและยุโรปรวมกันเสียอีก ทำให้ความชุกของโรคมีไม่ถึง 10% เป็นแหล่งรวมรวมงานวิจัยการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แนวทางการรักษาหลายอย่างมาจากที่นี่
จนเมื่อหลังจากปี 2017 มีการคิดค้นยา DAAs ที่ประสิทธิภาพสูงเช่น ledipasvir, daclatasvir เมื่อใช้ร่วมกับยา sofosbuvir มีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีถึง 95-99% ในการรักษาเพียงสามเดือน ใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ และราคาตกหมื่นต้น ๆ ต่อเดือน (ในประเทศไทย) ทำให้การกำจัดไวรัสไม่ใช่ความฝันและองค์การอนามัยโลกก็กำหนดเช่นนั้น บวกกับความก้าวหน้าในการตรวจคัดกรองเชื้อ ไม่ว่าแอนติบอดีต่อเชื้อ และแอนติเจนของเชื้อ การตรวจนับไวรัสและประเมินสายพันธุ์ การตรวจอักเสบของตับที่ไม่ต้องเจาะเนื้อตับอีก ยิ่งทำให้โอกาสการรักษาง่ายขึ้นมาก
ส่วนพยาธิใบไม้ในเลือด เราก็ไม่ต้องฉีดยา antimony potassium tartrate อีกต่อไป เพราะยากิน praziquantel สามารถทดแทนได้แถมมีประสิทธิภาพสูงกว่ามากอีกด้วย
เฮ้อ..เล่ามาตั้งนาน ก็อยากบอกแค่ว่า ถ้าเจอว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซี ก็ควรรักษานะครับ มันง่ายกว่าเดิมมาก แถมคุ้มสุด ๆ ในการรักษาอีกด้วย อ่านประโยคสุดท้ายนี้ก็พอแล้วล่ะ

26 สิงหาคม 2566

ท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์อียิปต์ Schistosoma and ็Hepatitis C ตอนที่ 2

 

ใครยังไม่อ่านตอนแรก ต้องอ่านก่อนนะครับ อยู่โพสต์ก่อนหน้านี้
ในปี 1918 จอห์น ไบรอัน คริสโตเฟอสัน คุณหมอชาวอังกฤษได้ค้นพบสารชนิดหนึ่งที่สามารถกำจัดพยาธิใบไม้ได้ชะงัดนัก ชื่อสารนั้นคือ antimony potassium tartrate ที่ก่อนหน้านี้ใช้ในการรักษา trypanosoma และ leishmania สองพยาธิสำคัญของดินแดนแอฟริกา ที่ต้นกำเนิดมาจาก Great Lakes of Africa เช่นกัน และต่อมา schistosoma ก็ถูกกำจัด
แน่นอนว่าพื้นที่ที่ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัยทดลอง คือดินแดนอิยิปต์ แหล่งสะสมหอยน้ำจืดและพยาธิใบไม้เลือด ที่ไหลมารวมกันที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์
ปี1950 รัฐบาลอียิปต์ ตัดสินใจเอายา antimony tartrate มาใช้รักษาประชาชน เนื่องจากพยาธิใบไม้ในเลือดก่อปัญหาทางสาธารณสุขอย่างมหาศาลกับประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกยุคแรก ๆ ที่กำลังวางเป้าหมายกำจัดโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดในโลก นโยบายของ มาคอลิโน โกเมซ คันเดา ผอ.องค์การอนามัยโลกชาวบราซิล
โดยการรักษาครั้งนั้นกินเวลาเกือบยี่สิบปี เรียกว่าเป็นการกวาดล้างการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในเลือด เดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างทางสุขอนามัย สร้างส้วม ดูแลแหล่งน้ำสาธารณะ เดินสำรวจคัดกรองและรักษากันทุกหมู่บ้าน เอ็กซเรย์ละเอียดทุกตารางนิ้ว
และดำเนินการฉีดยา antimony potassium tartrate แบบปูพรม ฉีดปีละ 2 ล้านโดส รวมสิบแปดปี 36 ล้านโดส มองภาพปัจจุบันเหมือนเราปูพรมฉีดวัคซีนโควิด แต่ยากลำบากกว่ามากเพราะการสื่อสารและคมนาคมในยุคสงครามเย็นไม่ได้ดีเลิศเหมือนทุกวันนี้ ต้องใช้เงินทุน กำลังคน ทรัพยากรมหาศาล
แต่รัฐบาลอิยิปต์ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่า ต้องทำ !!! เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและวางรากฐานสาธารณสุขที่ดีของชาติ และผลก็ออกมาดีมากด้วย อุบัติการณ์และความชุกของโรคพยาธิใบไม้ในเลือดลดลงอย่างฮวบฮาบ จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติอีกต่อไป เป็นตัวอย่างในการกำจัดการแพร่ระบาดทั่วไปในแอฟริกาและเอเชียกลาง
ประเทศอื่นก็มีการแพร่ระบาดของพยาธิใบไม้ในเลือดนี้เช่นกัน ตามแหล่งที่อยู่ของหอยน้ำจืดชนิดนั้น ที่น่าสนใจเลื่องชื่อคือ การระบาดใน katayama river valley ในญี่ปุ่นประมาณกลางทศวรรษที่ 50 เป็นแหล่งของพยาธิใบไม้เลือดอีกหนึ่งสปีชี่ส์ คือ schistosoma japonicum
ด้วยการระบาดครั้งนี้ มีการศึกษาของทางการญี่ปุ่นถึงลักษณะทางคลินิกของโรคนี้ และตั้งชื่อโรคพยาธิใบไม้ในเลือด ในระยะเฉียบพลัน ที่จะพบไข้สูง ผื่นลมพิษ ตับม้ามโต ตุ่มตามร่างกาย เม็ดเลือดอีโนสิโนฟิลสูงมาก และที่สำคัญคือ ไปอยู่ในแดนระบาดของโรคภายในเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกไข้เฉียบพลันจากพยาธิใบไม้ในเลือดนี้ว่า Katayama fever
ต้นทศวรรษที่ 1980 ปัญหาพยาธิใบไม้ในเลือดในอียิปต์แทบจะหมดไป ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลอียิปต์ขณะนั้น แต่มัจจุราชยังซ่อนเร้นและชะตากรรมของอียิปต์ยังไม่จบสิ้น
ต้องติดตามตอนต่อไปแล้วล่ะครับ

See insights and ads
Boost post
All reactions:
93

ท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์อียิปต์ Schistosoma and ็Hepatitis C ตอนที่ 1

 บ่ายวันเสาร์ เรามาท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์กันครับ

แม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก ไหลผ่านหลายประเทศ มีเรื่องราววัฒนธรรมต่าง ๆ ตามลุ่มน้ำไนล์จำนวนมาก เพราะเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ทะเลทราย บริเวณรอบ ๆ แม่น้ำจึงเป็นที่ตั้งของเมืองมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล
แม่น้ำนี้ไหลจากตอนกลางของแอฟริกาจากทะเลสาบวิคทอเรีย หนึ่งในหมู่ทะเลสาบที่สุดยิ่งใหญ่ของแอฟริกา ทะเลสาบวิคทอเรียนี้ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากทะเลสาบแคสเปี้ยนและทะเลสาบสุพีเรียร์
หมู่ทะเลสาบของแอฟริกา (Great Lakes of Africa) มีความยิ่งใหญ่มาก ไม่แพ้ทะเลสาบทั้งห้าของอเมริกา (น้ำตกไนแองการาก็อยู่ที่นี่) ถือเป็นแหล่งกำเนิดทางชีวภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หลายสปีชี่ส์ถือกำเนิดที่นี่ ความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์มาก น้ำจืดผิวดินกว่า 25% อยู่ที่นี่
ปลายทางของแม่น้ำไนล์ไปสิ้นสุดที่อิยิปต์ แม่น้ำพัดพาเอาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และความอุดมสมบูรณ์มาที่ปากแม่น้ำและไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน บริเวณที่แม่น้ำไนล์ไหลลงทะเลจึงเกิดเป็นพื้นที่ตะกอนพัดขยาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด และเป็นที่ตั้งของอาณาจักรที่รุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกโบราณ อาณาจักรอียิปต์
แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำไนล์จากทะเลสาบวิคทอเรีย ดินแดนแห่งชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้พัดพาเอาสิ่งหนึ่งมาถึงอียิปต์ด้วย
ความตายพิสดารอันหนึ่งของชาวอิยิปต์ยุคนั้น เริ่มต้นด้วยผื่นตุ่มพุพอง หลังจากลงอาบน้ำหาปลาในแม่น้ำไนล์ หลังจากนั้นลุกลามไปทั่วตัว เริ่มมีชิ้นส่วนอวัยวะในท้องโตขึ้น มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด บางคนมีอาการชัก ชาวอิยิปต์บันทึกไว้ในจารึกด้วยอักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิค โรค a^-a-a^
และด้วยความที่อิยิปต์เป็นศูนย์กลางความเจริญของโลกและแผ่อิทธิพลไปกว้างขวาง จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ เหล่านี้ในดินแดนที่พ่ายแพ้แก่อิยิปต์ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาด้านตะวันตก ลามไปถึงเอเชียไมเนอร์และซีเรีย มัมมี่ในซีเรียพบว่ามีความตายพิสดารแบบเดียวกันกับชาวอียิปต์
ผ่านไปหลายพันปี ปริศนาแห่งโรคนี้ยังพบมากที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์อันสมบูรณ์ มีประชาชนชาวอียิปต์จำนวนมากเป็นโรคนี้ จนในปี 1851 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Theodor Bliharz ได้ค้นพบปริศนาว่าโรคนี้เกิดจากพยาธิตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง ไชเข้าผิวหนังแล้วไปก่อนโรคตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายผ่านทางกระแสเลือด เรียกว่า พยาธิใบไม้ในเลือด (schistosomiasis) เกิดจากพยาธิ Schistosoma hematobeum และ Schistosoma mansoni โดยมีถิ่นที่อยู่พยาธิในหอยน้ำจืดที่พบมากในลุ่มน้ำไนล์นั่นเอง
เมื่อคนไปสัมผัสแหล่งน้ำเมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน ก็ติดเชื้อจากพยาธิไชเข้ามา มาก่อโรคในคนและแพร่กระจายออกทางอุจจาระ ที่ยุคนั้นส้วมอนามัยยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา ดินแดนนี้สมบูรณ์มาก หอยน้ำจืดชนิดนี้และพยาธิใบไม้ในเลือดนี้ก็อิ่มเอม คนเยอะ น้ำเยอะ แพร่พันธุ์ได้มากมาย
โรคพยาธิใบไม้ในเลือดนี้หากเป็นนาน ๆ ก็อาจเกิดอันตรายต่อปอด หัวใจ สมอง กล้ามเนื้อ ตับม้าม ได้ และเสียชีวิตได้ เมื่อชาวอิยิปต์เป็นกันมาก ตายกันมาก ก็ส่งผลกระทบสูง
ในยุคที่อิยิปต์มีการสร้างคลองสุเอซ และดีลกับมหาอำนาจต่าง ๆ ในโลกจนไปถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โรคนี้ยังคุกคามอียิปต์และดินแดนสองฝั่งแม่น้ำไนล์มาตลอด รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่หารักษาได้ไม่
และในปี 1918 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป และอียิปต์ก็เปลี่ยนไป
โปรดติดตามตอนต่อไป

24 สิงหาคม 2566

มีหนองจากท่อปัสสาวะ

 มีหนองจากท่อปัสสาวะ !?!??

1. ส่วนมากก็หนองในแท้ แต่ก็มีบ้างที่เป็นหนองในเทียม ติดเชื้ออื่น ๆ เนื้องอก ดังนั้น ควรไปตรวจเสมอ
2. ถ้าเป็นไปได้ คุณหมอเขาจะเก็บตัวอย่างหนองไปย้อมสี เพาะเชื้อ ตรวจสารพันธุกรรม เพื่อยืนยันเชื้อ ซึ่งถ้าทำได้ก็ดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็รักษาแล้วติดตามผลได้ แม้จะทำได้ส่วนมาก ผลก็ยังไม่ออก
3. รักษาให้ฉีด ceftriaxone 500 mg เข้ากล้ามครั้งเดียว บอกเลยเจ็บมาก อาจแบ่งฉีดสองข้างเพื่อลดปวด ถ้าแพ้ยาให้ใช้ gentamicin 240 mg เข้ากล้ามครั้งเดียวก็ได้
4. เนื่องจากเจอโรคอื่นได้อีก แนะนำรักษาหนองในเทียมด้วย azithromycin กินครั้งเดียว 1 กรัม หรือ doxycycline 1 เม็ดเช้าเย็น 7 วัน
5. ฝากยาไปให้คู่นอนปัจจุบันด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวก็ติดกันไปติดกันมา azithromycin ครั้งเดียว 1 กรัม และ cefixime 400 มิลลิกรัม กินครั้งเดียว
6. อย่าลืมคิดถึงโรคอื่นที่จะมาพร้อมกัน คือ เอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี หูด เริม
7. สำคัญคือต้องติดตาม ยิ่งถ้าไม่สามารถแยกเชื้อได้ ยิ่งต้องติดตาม ในกรณีเพาะเชื้อได้ ยิ่งต้องติดตามไปดูว่าเชื้ออะไร ที่ทำในข้อสอง เสี่ยงแบบใด ดื้อยาไหม
8. หนองใน เกิดในลำคอ เยื่อบุตา ได้เช่นกัน และเกิดกระจายตามข้อต่อ เส้นเอ็นได้ แบบนี้ต้องนอนรพ. ให้ยาทางหลอดเลือด
9. ถุงยางอนามัย ช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้เยอะเลยครับ

23 สิงหาคม 2566

กินเหล้าไม่ได้เสี่ยงแค่โรคตับ การดื่มเพิ่มแล้ว AF เพิ่ม

 กินเหล้าไม่ได้เสี่ยงแค่โรคตับ และรถชน

การศึกษาจากเดนมาร์ก ..คือเดนมาร์กเขามีกลุ่มศึกษาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจที่สมบูรณ์มาก สามารถเอามาสังเคราะห์ข้อมูลได้เยอะมาก
จาก Danish Cohort Diet คือ ติดตามเรื่องอาหารกับความเสี่ยงโรคนี่แหละ แต่อันนี้เขาจับปัญหาเรื่อง การดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น จะมีผลอะไรบ้าง
ได้คนไข้ 46000 กว่าราย เป็นชายหญิงอย่างละครึ่ง สุขภาพร่างกายค่อนข้างแข็งแรง มีโรคเดิมไม่เกิน 20% อายุประมาณ 60 ปี และคนกลุ่มนี้ไม่เคยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ AF มาก่อน เขาดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 9 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ ..ก็อยู่ตรงกลาง ๆ นับง่าย ๆ ชายไม่เกิน 14 หญิงไม่เกิน 7
ติดตามประมาณ 15 ปี มีโรคหัวใจ AF ประมาณ 9 คนต่อพันคนต่อปี ก็ถือว่าใกล้เคียงประชากรปกติ แต่ประเด็นคือ
กลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มจากเดิม ไปถึง 21 ดื่มต่อสัปดาห์ จะพบ AF เพิ่มมากกว่ากลุ่มที่ดื่มเท่าเดิม 38% และมีนัยสำคัญ
กลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง อัตราการเกิด AF ก็ลดลงด้วย แต่ไม่ชัดเจนเหมือนการดื่มเพิ่มแล้ว AF เพิ่ม
คือเหล้าเนี่ย กินไปนาน ๆ กล้ามเนื้อหัวใจก็พิการและเพิ่ม AF จากหัวใจที่ผิดปกติอีกที แต่นี่เป็นหลักฐานทางตรงในกลุ่มการศึกษาขนาดใหญ่ ที่มีการเก็บข้อมูลและคำนวณอย่างดี ตัดตัวแปรปรวนได้ดี และพบตรง ๆ ตัวจากเหล้าว่า การดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นเพิ่มการเกิด AF และถ้าลดลง AF ก็ลดลง
ก็เป็นอีกหนึ่งข้อดี ที่ชวนให้เลิกเหล้านะครับ
อ้อ..เปเปอร์ฟรีนะครับ ไปโหลดอ่านกันได้

21 สิงหาคม 2566

weekend warrior

 ใครเวลาไม่ลงตัวที่จะออกกำลังกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์แบบกระจายทั้งสัปดาห์

จะมาออกกำลังกายแบบหนักขึ้นนานขึ้น 2 วันต่อสัปดาห์ ให้ปริมาณและความหนักเท่า ๆ กัน แบบนี้ก็ได้ ประโยชน์ต่อหัวใจไม่ต่างกันนัก (JAMA เดือนที่แล้ว)
มีข้อเสียนิดนึง คือ อาจบาดเจ็บได้ง่ายกว่า
แต่ก็พอใช้ได้ ปรับให้เหมาะกับชีวิตของเรา ขอให้ออกกำลังกายเถอะ

20 สิงหาคม 2566

ยีน กับการใช้ยา PPI

 ยีน กับการใช้ยา PPI (จากโพสต์เมื่อเช้า)

ยีน cyp2c19 มีหลายแบบ
ถ้าเป็นแบบ rapid หรือ ultra-rapid metabolizer คนนั้นจะจัดการยาบางชนิดได้มาก เช่น omeprazole คือ PPI ยาลดกรดที่ใช้เป็นหลักของเรา จะทำให้จัดการยานี้ได้เร็วมาก เร็วจนยังไม่ทันออกฤทธิ์ ก็เลยรักษาไม่สำเร็จ
ในขณะเดียวกัน rapid metabolizer ก็จะจัดการยาบางชนิดได้ดีเกิน เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด clopidogrel ตอนกินเข้าไปยังอยู่ในรูป prodrug คือยังไม่ทำงาน ต้องใช้เอนไซ์นี้เปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ทำงานได้เสียก่อน หากเป็น rapid หรือ ultra-rapid ก็จะเพิ่มอันตรายจากยา คือ เลือดออกได้
ปัจจุบันเราสามารถส่งตรวจ cyp2c19 polimorphisms ว่าอยู่ในกลุ่มใด ทำงานมาก ทำงานน้อย เพื่อคาดเดาผลจากการใช้ยาว่าจะออกมาอย่างไร
แต่ต้องระวังการแปลผล และต้องใช้ศิลปะการแปลผลร่วมกับวิธีการใช้ยา ทรัพยากรที่มี ว่าจะนำผลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร
การแพทย์มุ่งเป้าและ pharmacogenomics มาถึงเรียบร้อยแล้ว
กรุณารับแรงกระเพื่อม

ความรู้จากราชวิทยาลัย ฯ สู่ประชาชน : dyspepsis ปวดจุกแน่นท้อง : อ.รภัส พิทยานนท์ คณะแพทย์จุฬา

 ความรู้จากราชวิทยาลัย ฯ สู่ประชาชน : dyspepsis ปวดจุกแน่นท้อง : อ.รภัส พิทยานนท์ คณะแพทย์จุฬา

คัดมาและปรับเป็นภาษาให้เราทุกคน เข้าใจแนวทางการรักษาของคุณหมอ
1.เมื่อมีอาการจุกแน่นแสบท้อง จะใช้การซักประวัติเพื่อแยกข้อสำคัญที่ต้องสืบค้นก่อน เช่น มีอาการครั้งแรกตอนอายุมาก มีเลือดออกทางเดินอาหาร หรือ อาการปวดของทางเดินน้ำดี อันนี้จะส่งตรวจส่องกล้องหรืออัลตร้าซาวนด์
2.ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องสืบค้น ซึ่งกว่า 80-90% จะเป็นแบบนี้ จะให้การรักษา และติดตามอาการเสมอ เพราะอาการเริ่มต้นอาจเป็นโรคอื่นในตอนจบได้ การติดตามอาการจึงสำคัญมาก หากรูปแบบการปวดเปลี่ยนไป คงต้องเริ่มกระบวนการวินิจฉัยและรักษาใหม่
3.การรักษามีสองประการ ประการแรกที่สำคัญคือการปรับชีวิต ลดอาหารที่ทำให้จุกท้อง กินอาหารครั้งละไม่มาก บางคนกินนมแล้วอืดจุก ก็ต้องงดไป บางคนท้องผูกบ่อยแล้วจุกท้อง ก็ต้องปรับปรุงรักษาท้องผูกด้วย เพิ่มการออกกำลังกาย
4.ปัจจัยปวดจุกท้อง เหล้า บุหรี่ ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร ก็ต้องหยุดไป ยารักษาโรคบางชนิดทำให้จุกแน่น ก็ต้องปรึกษาหมอว่าปรับลดได้ไหม เช่น ยาฆ่าเชื้อ doxycycline
5.ยาที่แนะนำคือ ยาลดกรด PPI ขนาดมาตรฐาน กินก่อนอาหารวันละครั้ง ระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ ต้องอดทนและปรับชีวิต ในกรณีมีอาการอื่นเช่นท้องผูก อืด อาจใช้ยาปรับการเคลื่อนที่ทางเดินอาหารร่วมด้วยได้
6.ถ้าใช้ยาแล้ว ปรับชีวิตแล้ว ยังตอบสนองได้ไม่ดีพอ อาจปรับยา PPI เป็น double dose เพราะว่าคนไทยมียีนที่ทำให้การสลายยา PPI เร็วกว่าปกติ ความถี่ของยีนเกือบครึ่งของประชากร ลองเพิ่มขนาดหรือเปลี่ยนยี่ห้อได้
7.ถ้ารักษาเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเปลี่ยนแปลง ควรตรวจเพิ่มเติม ไม่ว่าการตรวจหาเชื้อ HP ที่ทำให้เกิดแผล หรือ ส่องกล้องหรือถ่ายภาพ และปัจจุบัน เราสามารถตรวจเชื้อ HP ที่ก่อโรคแผลกระเพาะ โดยไม่ต้องส่องกล้อง จะเลือกใช้วิธีนั้น ๆ ก่อนได้เช่น ตรวจลมหายใจ ตรวจอุจจาระ
8.ไม่แนะนำให้กินยาฆ่าเชื้อก่อนตรวจหา HP และใช้ยาสูตรมาตรฐานในการรักษา HP เมื่อพบหลักฐาน ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้ยา amoxicillin+clarithromycin ได้ เพราะการดื้อยา clarithromycin ยังไม่เกิน 15% แต่ถ้าพื้นที่ใดดื้อยา ให้ใช้สูตรอื่น
9.การติดตามการรักษา การปรับชีวิต การกินยาที่ถูกต้อง ถือเป็นประเด็นสำคัญมากที่สุดในการรักษา

17 สิงหาคม 2566

เรื่องเล่าจากคลินิก : เอชไอวีที่น่าสงสาร

 เรื่องเล่าจากคลินิก : เอชไอวีที่น่าสงสาร

เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ป่วยรายหนึ่งเดินเข้ามาหาที่ร้าน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่เคยรักษากับผมเมื่อประมาณแปดปีก่อน ตอนนั้นรักษาจนกดไวรัสได้ กว่าจะสำเร็จต้องรักษาการติดเชื้อฉวยโอกาสและการแพ้ยาพอสมควร หลังจากที่อาการดีขึ้น ผู้ป่วยเริ่มขาดนัด กินยาไม่สม่ำเสมอ ผมทราบจากทีมติดตามรักษาว่าเขาไปซื้อยากินเองบ้าง กินบ้างไม่กินบ้าง และสุดท้ายก็สูญหายไป จนมาถึงวันนี้
ผู้ป่วย : สวัสดีครับคุณหมอ จำผมได้ไหมครับ
ปุริม : จำได้สิครับ เห็นชื่อก็จำได้แล้ว สบายดีไหมครับ ไม่เจอกันนานมากแล้ว
ผู้ป่วย : เอ่อ..คือว่า
สรุปว่าผู้ป่วยบอกว่า เขากินยาไม่สม่ำเสมอ และในช่วงหกเดือนมานี้ เขาไปซื้อยาสมุนไพรสารสกัดจากผลไม้ชนิดหนึ่ง ที่มีข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ มีชมรม มีแฟนเพจ-องค์กร มีงานวิจัย มีตัวอย่างคนไข้ที่ใช้แล้วได้ผลดี
ปุริม : แล้วกินแล้วเป็นอย่างไรบ้าง กินยาที่ว่าแล้ว ยังใช้ยาต้านไวรัสอยู่ไหม
ผู้ป่วย : ไม่ได้ใช้เลยครับ เขามีตัวอย่างคนที่ใช้ยาของชมรม แล้วไม่ต้องกินยาต้านอีกเลย หยุดยาและหายได้เลย ค่า CD4 ก็สูงจริง คุณหมอลองดูข้อมูลให้หน่อยได้ไหมครับ
ผู้ป่วยเอาชื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจ ชื่อผู้วิจัย งานวิจัย เอามาให้ดู ผมก็บันทึกเอาไว้ และบอกว่า ผมคงต้องตรวจนับไวรัสซ้ำใหม่ และถ้าปริมาณไวรัสสูงมากพอ ต้องตรวจการดื้อยาด้วยนะ ตอนนี้ให้ใช้ยาต้านเดิมที่เคยใช้ไปก่อน ตรวจการติดเชื้ออื่น ๆ แล้วกลับมาฟังผล เนื่องจากรักษาคนไข้คนนี้มายาวนานพักนึง เลยถามไปตรง ๆ
ปุริม : ผมขอถามตรง ๆ นะ อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจกลับมาพบผมอีกครั้ง
ผู้ป่วย : ผมว่าการรักษาสมุนไพรสกัดนี้ มันเริ่มไม่ใช่แล้ว เพราะเขาบอกว่าหยุดยาได้ หมอเคยบอกผมว่า กดไวรัสได้แต่ห้ามขาดยา วันไหนที่การรักษาดีถึงขั้นหยุดยาได้ หมอจะบอกผมเอง
ปุริม : ยังไงผมก็ดีใจ ที่คุณกลับมารักษาอีกครั้ง
ข้อมูลที่ว่าเป็นผู้วิจัยมีตำแหน่งวิชาการ วิจัยสารสกัดที่มีผลต่อการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดภูมิคุ้มกัน แต่ผมพยายามสืบค้นเต็มที่ ไม่พบงานวิจัยแบบเปรียบเทียบแต่อย่างใด ตัวอย่างคนไข้ก็เห็นแต่ภาพถ่ายผลเลือดก่อนและหลังกินสารสกัด ว่าค่าเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น บางภาพตรวจห่างกันเพียงเดือนเดียว บางภาพสัดส่วนเท่าเดิม เพียงแต่จำนวนมันเพิ่มเท่านั้น ไม่มีข้อมูลว่ากินเสริมกับยาต้าน หรือใช้แบบใด มีตัวเปรียบเทียบ มียาหลอกไหม
องค์กรหน่วยงานมีคนติดตาม แต่เท่าที่ผมอยู่ในสายงานอายุรศาสตร์นี้ ผมยังไม่เคยเห็นว่ามีองค์กรนี้เพื่อการรักษาหลักหรือวิจัยหลัก …ที่สำคัญ มีการกล่าวว่า ใช้สารสกัดนี้แล้วไม่ต้องกินยาต้านอีก !!
ผมเคยเห็นคนที่หายขาด ไม่ต้องกินยาต้านไวรัสอีกในโลกนี้แค่ 5 คน ที่มันเป็นเรื่องบังเอิญแสนร้ายกาจ
ต้องยอมรับว่า องคาพยพที่รายล้อม การนำเสนอมันดูน่าเชื่อถือ และเป็นความหวังของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จนหลายคนเชื่อถือและทำตาม
….
….
….
ส่วนผู้ป่วยรายนั้น ปรากฏว่าปริมาณไวรัสเพิ่มสูงถึงล้านตัวต่อเลือดหนึ่งซีซี มียีนที่บอกถึงการดื้อยาหลักถึงสองกลุ่ม จำเป็นต้องเปลี่ยนยาใหม่ ที่ต้อง…จ่ายแพงขึ้น กินยาไม่ง่าย และอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรง
คุณหมอปุริมรู้สึกอึดอัดในอกอย่างมาก กับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ถอนหายใจเอาสิ่งที่อึดอัดในทิ้งไปกับลมหายใจ ปล่อยเหตุการณ์อดีตที่ผ่านไปออกไปทางปลายจมูก แล้วค้นคว้าและคิดทบทวนวิธีช่วยเขาต่อไป อาจจะเป็นเพราะคำพูดท้ายสุดของคนไข้
"คุณหมอครับ ช่วยผมอีกครั้งนะครับ"

16 สิงหาคม 2566

ลูกอมเลิกบุหรี่ที่โฆษณากัน เลิกได้จริงไหม

 ลูกอมเลิกบุหรี่ที่โฆษณากัน เลิกได้จริงไหม และเกิดอะไรขึ้นเมื่อลุงหมอลองสอบถามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ??

เรื่องมีอยู่ว่า ผมได้ผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคตินตัวใหม่มาใช้ที่ร้าน ผมก็เลยอยากรู้ว่าในสื่อสังคมมีการพูดถึงผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่ พูดถึงอย่างไร แต่สิ่งที่ผมพบกลับไม่ใช่ nicotine replacement therapy รูปแบบใดที่เคยรู้จักเลย (เอาเป็นว่าผมติดตามมาระดับหนึ่งเลยล่ะ) แต่กลับพบผลิตภัณฑ์ลูกอมสมุนไพรเลิกบุหรี่แทน เยอะมากด้วย เอาล่ะผมขออธิบายให้ฟังก่อนว่าใช้ได้ไหม
ในวิชาเลิกบุหรี่ เราพบว่ายาหลอกที่ไม่มีสมบัติใด ๆ ที่จะช่วยเลิกบุหรี่เลย เช่นหมากฝรั่งธรรมดา ลูกอมทั่วไป แผ่นแปะที่ไม่มีนิโคติน หรือยาหลอกอดบุหรี่ (ทั้งการศึกษาของ varenicline และ bupropion) พบว่ายาหลอก สามารถเลิกบุหรี่ได้ประมาณ 8-10% และใช้ลดปริมาณบุหรี่ต่อมวนลงได้ !!
เราเชื่อว่าแรงจูงใจการเลิกที่ดีพอและการเข้ารับการปรึกษาช่วยเลิกที่ดี มีผลสูงมาก ในคนที่แรงจูงใจมาก ๆ (เจอบ่อยก็ลูกขอร้อง หรือแฟนขู่จะเลิก) ไม่ต้องใช้ยาอะไรเลยก็เลิกได้เอง ไม่ว่าจะสูบเบาหรือสูบหนักก็ตามที แต่ทุกการศึกษาบอกเหมือนกันว่า ถ้าแรงจูงใจดี ทำดี แล้วหากมีตัวช่วยเพิ่มเข้าไปจะเลิกได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มันจึงเป็นที่มาว่าคำแนะนำจึงแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วยหากผู้ป่วยพร้อมเลิกและไม่มีข้อห้ามของการใช้ยา
แสดงว่ายาหลอกมันใช้ได้นะ ผมเองใช้ยาหลอกที่เป็นพฤติกรรมบำบัดบ่อย ๆ เช่น ให้ดูดตะเกียบแทนบุหรี่ ให้คาบหลอดกาแฟ หรือแม้แต่หมากฝรั่งธรรมดาก็เคยใช้ ถามว่าเลิกได้ไหม มีเลิกได้นะ แต่น้อยมาก ไม่เกิน 5% และคนกลุ่มนี้คือเขาเลิกได้แน่ ๆ ต่อให้ผมไม่ช่วยเขาก็เลิกเองได้ ก็ไม่แปลกอะไรที่จะใช้สมุนไพรต่าง ๆ ในการเลิกบุหรี่
เพราะมันก็ไม่ผิด มีผลเช่นกัน … แต่สำหรับคนที่ตั้งใจเลิกมาก ๆ และปริมาณการสูบไม่เยอะมากนัก
แล้วผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายล่ะ ..เท่าที่ผมไปถาม ไปดูรีวิว ไปตามอ่านวารสารที่เขายกมา ติดต่อขอคำแนะนำ เกิดอะไรบ้าง จะว่ากันเป็นข้อ ๆ เลยนะ (ใช้ทั้งชื่อจริงและชื่อเพจไปติดต่อเขา)
1.ไม่เคยมีใครบอกส่วนผสมสมุนไพรทางจดหมาย ข้อความ ในทุกคนที่วางขาย ผมเขียนไปขอร้องมาพิจารณาซื้อ ก็ไม่เคยส่งมาให้ บอกแต่ว่าเป็นสมุนไพร ไม่มีอันตราย เลิกได้จริง เรียกว่าการขอข้อมูลทางออนไลน์ยากมาก
2.สั่งซื้อมาด้วย สองยี่ห้อ เป็นกระปุกยาภายในบรรจุยาอมสมุนไพรหอม ๆ และแน่นอน ฉลากบอกแค่ว่ามีสมุนไพรอะไรบ้าง แต่ไม่ได้บอกตำรับ สัดส่วน ข้อระวัง ข้อบ่งใช้ มีหนึ่งยี่ห้อที่ไม่บอกวิธีกิน
3.สมุนไพรต่าง ๆ ที่ระบุข้างขวด ผมพยายามไปค้นหาวารสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเลิกบุหรี่ มีน้อยมาก ไม่มีการศึกษาแบบทดลอง ส่วนมากเป็น case series เปรียบเทียบประสบการณ์แล้วเอามารวบรวม แปลไม่ได้ด้วยว่าถ้าสมุนไพรนี้ได้ผลแล้ว "สารสกัดจากสมุนไพร" จะได้ผลแบบเดียวกันด้วยนะ
4.ค้นและสอบถามเพื่อทราบส่วนประกอบ ผลการศึกษา ไปยังต้นทางยี่ห้อต่าง ๆ โดยใช้ชื่อ "อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว" ปรากฏว่าเงียบกริบ ไม่มีข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ กลับมา ที่เจ็บปวดมากคือ หลายเพจหลายไลน์ ถึงกับ "BLOCK"
5.วิดีโอโฆษณา หรือข้อความโฆษณา มีแต่อธิบายประสบการณ์ตรงในการใช้ยาและเลิกได้ แต่ไม่ได้อธิบายมิติอื่นหรืออ้างอิงผลการศึกษาแต่อย่างใด ไม่เคยเจอที่ใช้แล้วผลที่ได้แค่ระดับปานกลาง หรือได้จริงแต่เจอผลข้างเคียงจากยา คลื่นไส้ ผู้ที่โต้ตอบกับเราไม่เคยอธิบายเรื่องผลิตภัณฑ์ บอกแต่ว่าปลอดภัย กินได้สบายเพราะมันคือสมุนไพร (เอ่อ สมุนไพรหรือยาทุกอย่างถ้ากินไม่ถูกต้อง มันก็เกิดพิษได้ทั้งนั้น)
6.ส่วนมากคนที่มารีวิวหรือให้ความเห็น หรือมาขอซื้อ หรือมาพิมพ์ว่า "สนใจ" ส่วนมากเหมือนเจ้าหน้าที่ IO คือ หน้าฟีดมีแต่แชร์จากเพจต่าง ๆ และมักจะมีอายุการใช้งานสื่อนั้น ๆ มาไม่นาน
7.สมุนไพรสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงแหละ ถ้าใจเราสู้และอดทนมากพอ จะสมุนไพรอะไรก็ตาม มันไม่ผิดหลักการ แต่ว่ากระบวนการการโฆษณา การชักจูง มันดูไม่ตรงไปตรงมา ราคาที่ขายนั้นก็ถูกกว่ายาเลิกบุหรี่ใด ๆ ทั้งสิ้นทั้งมวล มันก็เลยน่าซื้อไหมล่ะ
8.จากการทำคลินิกเลิกบุหรี่มานาน ไม่ใช่ว่าผมจะสำเร็จทุกรายนะ แต่อยากบอกว่า คนที่มารับการรักษา มีคนที่เคยใช้ยาอมสมุนไพรกลุ่มนี้ อยู่เป็นจำนวนมาก ทุกคนซื้อมาไม่น้อย และไม่สามารถเลิกได้
จริงอยู่ว่าอาจจะเกิดจากใจคนเลิกไม่เข้มแข็งพอ แต่ผมคิดว่าการจำหน่ายอย่างเดียว โดยไม่มีคำแนะนำใด ๆ ไม่มีการติดตาม ไม่มีการวัดผลที่ชัดเจน มันออกจะสุ่มเสี่ยงในการลงทุนใช้ยา ทั้งประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และเวลาที่เสียไป
9.ทุกวันนี้ก็ยังไม่มียี่ห้อไหน ให้ข้อมูลกลับมา ไม่มียี่ห้อไหนบอกอ้างอิง และหลายยี่ห้อก็บล็อก "ลุงหมอ" ถาวร

04 สิงหาคม 2566

ความรู้จากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ สู่ประชาชน : โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : อ.ดาวลดา คงกับพันธ์, คณะแพทย์ มอ.

 ความรู้จากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ สู่ประชาชน : โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก : อ.ดาวลดา คงกับพันธ์, คณะแพทย์ มอ.

ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของโลหิตจาง พบได้ทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มอายุ เรื่องนี้จึงต้องรู้ ผมสรุปมาแต่ไฮไลท์ที่ประชาชนทั่วไปต้องรู้ครับ
1.เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อย่าลืมว่ายังไม่จบต้องหาสาเหตุเสมอว่าเกิดจากอะไร ที่พบบ่อยคือ เสียเลือดจากประจำเดือน เสียเลือดจากทางเดินอาหาร (แผลในกระเพาะและมะเร็งลำไส้) การดูดซึมและสังเคราะห์ธาตุเหล็กที่ผิดปกติ เพราะต้องแก้ไขปัญหาต้นเหตุด้วยเสมอ
2.เราไม่ค่อยได้เจาะตรวจไขกระดูกเพื่อวินิจฉัย gold standard จะทำในบางกรณีเท่านั้น ที่ใช้คือการตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจดูฟิล์มสเมียร์เลือด อันนี้ทำได้ทุกที่และวินิจฉัยแม่นยำพอใช้ ส่วนการตรวจธาตุเหล็ก ไม่ว่าจะเป็น serum iron, TIBC, ferritin, hepcidin เป็นการวินิจฉัยที่ควรทำ แต่ทำได้เป็นบางที่เท่านั้น
3.ในกรณีทั่วไป พบเม็ดเลือดเล็ก สีจาง, ยืดยาวออกเป็น,pencil cell หรือเจอ MCV ต่ำ RDW สูง ก็สนับสนุนวินิจฉัย อันนี้ทำได้หมดทุก รพ. วินิจฉัยและรักษาได้ ส่วนค่าเหล็กในเลือดตามเกณฑ์ของ WHO จะนับที่ค่า ferritin น้อยกว่า 30 ไมโครกรัมต่อลิตร (หากมีการอักเสบเรื้อรังจะนับต่ำกว่า 100) หรือ transferrin saturation น้อยกว่า 20% สามารถให้การวินิจฉัยและรักษา อย่าลืม..คิดต่อไปถึงต้นเหตุ
ส่วนเกณฑ์ของสมาคมโลหิตวิทยาของไทยคือ ferritin น้อยกว่า 10 ส่วน transferrin saturation น้อยกว่า 15%
4.การรักษาพื้นฐาน ง่ายสุด ราคาถูกคือ การเสริมยาเม็ดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กจะดูดซึมเพียง 40-50% เท่านั้น ส่วนใหญ่จึงต้องกินยาเม็ดธาตุเหล็กวันละสามครั้ง เพื่อให้ได้ขนาดเพียงพอ หลังจากเพียงพอคือชดเชยที่ขาดและแก้ไขโลหิตจางได้แล้วค่อยลดลง ข้อเสียสำคัญของยาเม็ดธาตุเหล็กคือ ไม่สบายท้องและถ่ายอุจจาระสีดำ
5.ด้วยปัญหาความไม่สบายท้อง มีการศึกษาทำในประเทศไทย ศึกษาการให้ยาเม็ดธาตุเหล็กระหว่างให้ยาทุกวัน กับ ให้สัปดาห์ละสามวัน พบว่าแก้ไขซีดได้ดีพอกัน เพิ่มระดับธาตุเหล็กในเลือดได้ดีพอกัน แต่การให้เพียงสัปดาห์ละสามวันสามารถลดผลข้างเคียงระบบทางเดินอาหารได้อย่างดี แต่อาจต้องใช้เวลารักษานานกว่าแบบกินทุกวัน คือ สามเดือนเทียบกับสองเดือน ในทางปฏิบัติจะกินแบบวันเว้นวันก็ได้ (แต่วันละสามครั้งนะ)
6..ระยะเวลาในการรักษาเบื้องต้นคือ 4-8 สัปดาห์ แล้วติดตามเม็ดเลือด ระดับธาตุเหล็ก เพื่อปรับแต่งการรักษา (ย้ำ อย่าลืมรักษาต้นเหตุด้วย) อีกข้อที่ต้องระวังคือ ปฏิกิริยาระหว่างยา เพราะยาเป็นโลหะที่ประจุบวก สามารถมีปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด บางกรณีอาจใช้ยาเม็ดวิตามินซี เพื่อเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่มได้
7..การให้ยาธาตุเหล็กทางหลอดเลือด เป็นทางเลือกในกรณีต้องการแก้ไขเร็ว หรือไม่สามารถใช้ยากินได้ ยาที่ใช้มีหลายสูตรหลายแบบ ใช้ได้พอกัน ผลข้างเคียงสำคัญที่ต้องระวังสำหรับยาฉีดธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำทุกชนิดคือ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ ที่ต้องสังเกตอาการหลังให้ยาและไม่ให้ยาเร็วจนเกินไป และยังมีข้อบ่งชี้พิเศษที่จะใช้การให้เหล็กทางเลือด เพราะมีการศึกษารองรับมาก คือ หัวใจวาย, ซีดหลังให้ยาเคมีบำบัด, โรคลำไส้อักเสบ, การดูแลก่อนผ่าตัด
8.การให้เลือดก็เป็นอีกวิธีที่นอกจากการแก้ไขเรื่องซีดแล้ว ยังสามารถเติมเหล็กได้ถึง 200-300 มิลลิกรัมต่อเลือดหนึ่งถุงเลยทีเดียว ความปลอดภัยจากการให้เลือดในแง่การติดเชื้อนั้น ปัจจุบันถือว่าปลอดภัยสูงมาก จะยังเหลืออันตรายในเรื่องปฏิกิริยาจากการให้เลือดเท่านั้นที่ยังพบมากอยู่ จึงควรให้เลือดเมื่อจำเป็น
9.สำหรับน้อง ๆ หมอ ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาธาตุเหล็กทั้งเหล็กขาดและเหล็กเกินจะมุ่งเน้นไปที่การทำงานของ hepcidin การควบคุมตัวรับ ferroportin ทั้งในระดับโปรตีนควบคุม iron metabolism ไปจนถึงยีนที่ควบคุมการจัดการโปรตีนนั้น ๆ ต้องไปเข้าใจ pathway นี้ให้ดีครับ
จบตอนที่หนึ่ง
May be an image of text
See insights and ads
Boost post
All reactions:
112

บทความที่ได้รับความนิยม