27 สิงหาคม 2566

ท่องเที่ยวในประวัติศาสตร์อียิปต์ Schistosoma and ็Hepatitis C ตอนที่ 3

 ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่อียิปต์รณรงค์และจัดการพยาธิใบไม้ในเลือด ในอเมริกาได้ค้นพบไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่ง ในปี 1974 ตั้งชื่อว่า non-A non-B hepatitis ตับอักเสบที่ไม่เหมือนและไม่ใช่ไวรัสตับอีกเสบเอและไวรัสตับอักเสบบี ที่พบก่อนหน้านี้ มักจะพบในผู้ป่วยที่ได้รับเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือด กว่าจะพบต้นเหตุของโรคว่าเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่ง ชื่อว่าไวรัสตับอักเสบซี ก็ใช้เวลาถึงปี 1989 นักวิจัยทั้งสามท่านที่ร่วมกันค้นพบและได้รับรางวัลโนเบลในปี 2020 ทั้งสามท่านนั้นคือ Harvey J. Alter Charles M. Rice Michael Houghton

ปีกผีเสื้อขยับที่อเมริกา แต่กระเพื่อมรุนแรงมากที่อียิปต์
เมื่อค้นพบไวรัสตับอักเสบซี ได้พัฒนาการตรวจหาไวรัส การตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคโดยใช้แอนติบอดีต่อไวรัสตับอักเสบซี รวมไปถึงยารักษา ระยะเวลาตั้งแต่ปี 1991- 2004 ทั้งโลกได้ค้นพบว่าไวรัสตับอักเสบซี เป็นปัญหาสำคัญของโลก เป็นภัยเงียบ ไม่มีอาการใด รู้อีกทีก็ตับแข็งและมะเร็ง องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองและสำรวจทั้งโลก (ประเทศไทยเราก็ทำในปี1992) และแน่นอนตัวเลขแดงจัดสุดขั้ว ความชุกที่สูงที่สุด มากที่สุด ประชากรป่วยมากที่สุดทั้งตัวเลขป่วยจริงและตัวเลขเทียบกับประชากรทั้งชาติ คือ ประเทศอิยิปต์
ปี 2008 อียิปต์มีความชุกของโรคเฉลี่ยอยู่ที่ 14.7% ของประชากร และถ้าไปนับบริเวณที่พีคที่สุดคือบริเวณปากแม่น้ำไนล์จะพบสูงถึง 27% เลยทีเดียว ตัวเลขนี้นับว่าสูงที่สุดในโลก ทำไมจึงสูงแบบนั้น มันเกี่ยวข้องอะไรกับพยาธิใบไม้ในเลือดก่อนหน้านี้หรือเปล่า มันก็เกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ทางตรง
การแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทางหลักคือจากการรับเลือดถ่ายเลือด ในยุคสมัยที่ก่อนปี 1990 เรายังไม่รู้จักไวรัสตับอักเสบซีก็จะยังไม่มีการคัดกรอง ดังนั้นจะมีผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ติดเชื้อจากการให้เลือดก่อนปี 1991 ปัจจุบันมีการคัดกรองที่ดีเรียกว่ายากมากที่จะเกิดการติดเชื้อจากการรับเลือดในยุคหลังปี 2000 มานี้ ทางติดต่อรองลงมาคือการถูกเข็มทิ่มตำ การถูกสารคัดหลั่งเปื้อนเลือด มักจะพบกับผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดสารเสพติด (ในยุคนั้นการฉีดเฮโรอีนเข้าหลอดเลือดเฟื่องฟูมาก) ส่วนการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์พบน้อยมาก
เรามาโฟกัสที่การติดเชื้อผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และย้อนอดีตไปที่โครงการกำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดในอียิปต์ช่วงทศวรรษที่ 50-70 ที่มีการฉีดยาไป 36 ล้านโดส ใช่ครับ…บรรดาผู้ที่ได้รับยา antimony potassium tartrate ถูกฉีดยาด้วยเข็มที่ใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัส nonA nonB hepatitis (ในยุคนั้น) หรือไวรัสตับอักเสบซีในยุคนี้ ติดอย่างมากมาย ติดแบบไม่มีอาการ และบริจาคเลือดกันไปมาโดยไม่มีการคัดกรอง (ก่อนปี1992 ยังไม่มีชุดตรวจ) จึงทำให้โครงการฉีดยากำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดของอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบซีครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์
กระบวนการทำปราศจากเชื้อในยุคก่อนไม่ได้ดีเหมือนยุคนี้นะครับ เวลาฉีดยาก็ต้มหลอดฉีดยาหลอดแก้ว ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุดในยุคนั้น ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว เข็มก็แช่นำยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้งก็ยังไม่มี ตอนที่ฉีดยากำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดครานั้น ฉีดครั้งละมากมาย แน่นอนว่าคงไม่สามารถจัดการ 'ปลอดเชื้อ' ได้ดีนัก บางครั้งฉีดต่อเนื่อง ใช้ไฟลนปลายเข็มเท่านั้น
เป็นที่มาว่าสามสิบปีหลังการฉีดยาครั้งใหญ่ของอิยิปต์ ทำให้มีความชุกโรคไวรัสตับอักเสบซีสูงที่สุดในโลก เมื่อป่วยมากขนาดนั้นทำให้ในปี 2015 ประชากรอิยิปต์เสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบซีปีละ 40,000 ราย คิดเป็น 7.6% ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด ทำให้ GDP ประเทศลดลง 1.5% ประเทศอียิปต์เล็งเห็นปัญหานี้และคงไม่อยู่เฉย ๆ แน่ แต่การแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ง่ายเหมือนการกำจัดพยาธิใบไม้ในเลือดครั้งนั้น
หลังจากที่โลกรู้จักไวรัสตับอักเสบซี การพัฒนายารักษาเริ่มทันทีจนได้การรักษามาตรฐานในปี 2006 (สิบหกปีเชียวนะ) นั่นคือยาฉีด interferon ร่วมกับยากิน ribavirin ที่ทั้งลำบากยุ่งยากในการฉีด ผลข้างเคียงมากมายมหาศาล ราคาก็สูงลิบ ตอนเริ่มใช้ยาในไทยก็มีคนใช้ได้ไม่กี่คน แล้วถ้าเรามองอียิปต์ที่ประชากรติดเชื้อกว่า 20% ของประเทศจะจัดการได้ไหม ย่อมจัดการได้ยากยิ่ง
จนในปี 2013 มีการคิดค้นยาต้านไวรัส NS5A, NS5B และ DAAs เป็นยาที่ไปหยุดการทำงานของไวรัสตรงเป้า เป็นยากินและประสิทธิภาพสูงมากรักษาได้ในระดับ 90% หายขาด !! แถมผลข้างเคียงต่ำมาก แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือราคายาที่แพงมากเช่นกัน หากเราคิดราคายาที่ทางบริษัทจำหน่ายในตอนแรกนั้น ในการรักษาหนึ่งคอร์สต่อผู้ป่วยหนึ่งราย จะใช้ค่าใช้จ่าย 84,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (เมื่อสิบปีก่อน) ะเมื่อมาคูณกับจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วในอียิปต์จะต้องใช้เงินกว่า หนึ่งล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เลขศูนย์สิบสองตัวครับ) มากกว่ามวลรวมประเทศสองเท่า
สิ่งที่รัฐบาลอียิปต์ทำตอนนั้นคือเจรจากับบริษัท G เจ้าของสิทธิบัตรยาให้ลดราคาลง และสนับสนุนตลาดยาสามัญให้เกิดการแข่งขันทางราคา จนปลายทางได้ค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 900 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อสามเดือน และหากใข้ยาสามัญจะลดลงถึง 84 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อเดือนเลยทีเดียว นอกจากนั้นรัฐบาลยังจัดการโปรแกรมคัดกรองที่ดี การจัดส่งยาที่ทรงประสิทธิภาพ จัดทำเป็นนโยบายแห่งชาติและกำหนดปี 2014-2017 ทำการ…ปูพรม
ประเทศอิยิปต์คงจะมีพื้นบ้านที่แข็งมากครับ เอะอะเอะอะก็ปูพรม ปูพรมพยาธิใบไม้เลือดแล้ว คราวนี้ปูพรมไวรัสตับอักเสบซีอีก
ในช่วงเวลาดังกล่าวรักษาคนไข้ไป 2 ล้านคน มากกว่าการรักษาทั้งสหรัฐและยุโรปรวมกันเสียอีก ทำให้ความชุกของโรคมีไม่ถึง 10% เป็นแหล่งรวมรวมงานวิจัยการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แนวทางการรักษาหลายอย่างมาจากที่นี่
จนเมื่อหลังจากปี 2017 มีการคิดค้นยา DAAs ที่ประสิทธิภาพสูงเช่น ledipasvir, daclatasvir เมื่อใช้ร่วมกับยา sofosbuvir มีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสตับอักเสบซีถึง 95-99% ในการรักษาเพียงสามเดือน ใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ และราคาตกหมื่นต้น ๆ ต่อเดือน (ในประเทศไทย) ทำให้การกำจัดไวรัสไม่ใช่ความฝันและองค์การอนามัยโลกก็กำหนดเช่นนั้น บวกกับความก้าวหน้าในการตรวจคัดกรองเชื้อ ไม่ว่าแอนติบอดีต่อเชื้อ และแอนติเจนของเชื้อ การตรวจนับไวรัสและประเมินสายพันธุ์ การตรวจอักเสบของตับที่ไม่ต้องเจาะเนื้อตับอีก ยิ่งทำให้โอกาสการรักษาง่ายขึ้นมาก
ส่วนพยาธิใบไม้ในเลือด เราก็ไม่ต้องฉีดยา antimony potassium tartrate อีกต่อไป เพราะยากิน praziquantel สามารถทดแทนได้แถมมีประสิทธิภาพสูงกว่ามากอีกด้วย
เฮ้อ..เล่ามาตั้งนาน ก็อยากบอกแค่ว่า ถ้าเจอว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซี ก็ควรรักษานะครับ มันง่ายกว่าเดิมมาก แถมคุ้มสุด ๆ ในการรักษาอีกด้วย อ่านประโยคสุดท้ายนี้ก็พอแล้วล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม