30 เมษายน 2563

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19 ตอนที่ 4 อนามัยส่วนบุคคล

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19
ตอนที่ 4 อนามัยส่วนบุคคล
นอกเหนือจากสามตอนที่กล่าวมา การรักษาอนามัยบุคคลโดยรวมจะทำให้ปลอดภัยจากโรคติดต่ออื่น ๆ สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรงทรหดอดทน ว่องไวไม่ย่นระย่อใคร ..ฮ้าไฮ้
 กินอาหารปรุงสุก แยกส่วนอาหารไปเลย ถ้วยใครถ้วยมัน (ใครจะสละน้ำพริกถ้วยเก่าก็คือโอกาส) ชามใครชามมัน งดใช้ช้อนร่วมกันชั่วคราว มันไม่ได้ติดตรงช้อนกลาง มันติดตรงจับช้อนกลางร่วมกัน
เข้าบ้านมา หรือเข้าที่ทำงาน สิ่งแรกคือ ล้างมือก่อน เราจับสิ่งของมาสารพัด เข้ามาบ้าน ล้างไม้ล้างมือให้เรียบร้อย หรือจะเรียกพ่อบ้านมาแม่บ้านมาอาบน้ำถูตัวให้ก็ได้ ก่อนจะไปทำกิจกรรมครอบครัว
นอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกายเป็นประจำ เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ อันนี้ทำให้สุขภาพดี เจ้าไวรัสซารส์มันจะได้ไม่มาสนใจเรา จริง ๆ ควรทำมาตลอด ก็ถือโอกาสนี้เป็นฤกษ์งามยามดี ทำเสียเลย
และอย่าลืมทำตามมาตรการของกรมควบคุมโรคที่ประกาศออกมาด้วย พื้นที่ที่ควรงด การเดินทางไปมาก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามแต่ละพื้นที่ ใช้ชีวิตแบบปลอดภัย ไม่ประมาท และไม่หนักหนา ไม่เยอะเกิน เอาทางสายกลาง ก็จะมีความสุขครับ

29 เมษายน 2563

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19 ตอนที่ 3 เว้นระยะห่าง

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19

ตอนที่ 3 เว้นระยะห่าง

มาตรการที่สำคัญมากนะ และต้องตั้งสติตลอดเวลา แม้บางอย่างต้องออกมาเป็นกฎ เช่นจัดที่บนรถเมล์ จัดที่นั่งในธนาคาร แต่ส่วนตัวเรา เราก็ทำได้

▪ต่อคิว ไม่ต้องเบียดมาก หลายที่จัดจุดมาร์กไว้แล้ว อย่างกับรับปริญญา
▪ถ้าไม่รีบเกินไป ทยอย ๆ กันเข้าใช้บริการ จะรับบัตรคิว จะให้โทรตาม หรือบางร้านมีแอป ก็ใช้ซะ จะได้ไม่แน่นไป
▪ถ้าเลี่ยงที่แออัดได้ ก็เลี่ยง ไม่ต้องไปอาบน้ำพร้อมกันครั้งละหลายคน ตู้ร้องเพลงคาราโอเกะนี่เลิกได้เลย
▪ประชุมกัน คุยกัน ก็ห่างกันสักหน่อย แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นตะโกนคุย เดี๋ยวเชื้อกระจายหนัก ระวังจับกลุ่มสังสรรค์ด้วยล่ะ

จะสั่งกาแฟก็ห่างบาริสต้านิดนึง ไม่ต้องไปสั่งใกล้ ๆ แก้มน้องเขา  เรื่องจ่ายเงินแบบส่งถึงมือนี่คงเลี่ยงยาก  ให้ขยันล้างมือก็แล้วกัน อ้อ..บอกอย่าใช้เงินสดนี่คือ  ให้ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์นะจ๊ะ ไม่ใช่ชักดาบ

หัดประชุมออนไลน์  คุยงานทางออนไลน์กันด้วย อันที่ทำได้ก็ออนไลน์ เอาไว้ที่ทำไม่ได้และจำเป็นค่อยมาเจอกัน

ใครเผลอ แล้วเจอกัน



28 เมษายน 2563

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19 ตอนที่ 2 หน้ากากอนามัย

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19
ตอนที่ 2 หน้ากากอนามัย
เอาล่ะต่อไปคงต้องใส่หน้ากากสักระยะ หลายที่เขาไม่ให้คนไม่ใส่หน้ากากเข้านะครับ พ่อค้าแม่ขายเอย คนซื้อของเอย ต้องใส่กันแน่นอน ถ้วนหน้า
ถ้าเราไม่ป่วย ใช้หน้ากากผ้าได้ครับ ซื้อหาตามสะดวก ตอนนี้ไม่แพงแล้ว จะลายหมูน่ารัก ลายเจี๊ยบเลียบด่วน ลายท่านนายกฯ ก็ใส่ได้หมด แต่เลือกนิดนึง
▪แต่ละคนทนผ้าได้ไม่เท่ากัน เลือกที่ตัวเองไม่แพ้ อย่าเลือกแบบยิ่งใส่ยิ่งจาม
▪ขนาดให้เหมาะ ปิดจมูก ปิดปาก ปิดคาง ไม่ใช่หน้าเท่าฝาชี เลือกหน้ากากเท่าผ้าอนามัย
▪ที่รัดหู ให้แน่น ไม่ต้องตึงมาก ตึงมากจะไม่ดีต่อหู เป็นแผลได้นะ ใครจะใช้พลาสติกมาเกี่ยวยางไว้แทนเกี่ยวหู ก็ตามสะดวก
มีไว้สักสามสี่อัน เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพง ใช้แล้วซักตากแดดแห้ง ซักธรรมดาก็พอ ไม่ต้องซักแบบพิเศษ ไม่ต้องตีลังกาซักนะลูกขา
และเวลาใส่ เวลาถอด ให้จับที่สายคล้องหู จะได้ไม่เปื้อนมือ อีกอย่าง แฟชั่นใส่ใต้จมูก ใส่แล้วเลื่อนมาไว้ใต้คาง หรือใส่หูข้างเดียว !!! อย่าทำเลย เราช่วยกันรักษาวินัยเถอะ จะได้ใช้ชีวิตปลอดภัย (การใส่หน้ากากคือการรับผิดชอบต่อคนอื่นด้วยนะ)
ยืดอก พกหน้ากาก

27 เมษายน 2563

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19 ตอนที่ 1 แอลกอฮอล์เจล

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตกับโควิด-19

ตอนที่ 1 แอลกอฮอล์เจล

ขณะนี้แอลกอฮอล์เจลไม่ขาดแคลนแล้วนะครับ มีขายทั่วทุกร้าน แบบพกพา แบบขวดเติม สารพัดกลิ่น สารพัดสี ฝากดูว่าความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% โดยปริมาตร เป็นอันดับแรก

และควรพกพาเป็นของตัวเองครับ แล้วคุณจะไม่เจอประสบการณ์แบบนี้
▪แพ้เจลร้านนี้ มือลอก ... หาเจลที่ตัวเองไม่แพ้ครับ แล้วพกซะ
▪โห นี่เจลหรือน้ำเปล่า ... บางร้านก็เอามาเจือจางครับ เราพกเองดีกว่า
▪กลิ่นนี้ไม่ชอบเลย ... ไปเลือกซื้อแบบที่พอใจ จะกลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นตำบักหุ่ง กลิ่นสะตอ อันนี้แล้วแต่ชอบ จะได้ใช้อย่างมั่นใจ

แล้วเวลาใช้ บีบหรือกดให้พอ อย่าเขียม กดแค่หัวไม้ขีดมันไม่พอ อย่างน้อยก็หนึ่งช้อนชงกาแฟครับ ไม่ต้องกลัวจะแฉะ มันคือแอลกอฮอล์นะคะลูก เดี๋ยวมันก็ระเหย อย่าเขียม และล้างให้เหมือนล้างมือ จัดให้หนัก

ถูฝ่ามือ-ถูหลังมือ-ถูข้างนิ้วมือ-ถูปลายนิ้วมือ-ถูรอบนิ้วหัวแม่มือ-ถูหลังนิ้วมือ-ถูรอบข้อมือ

พกแล้วก็ใช้บ่อย ๆ ตอนนี้ราคาไม่แพง จะแอ๊บใช้ของทางร้านด้วยก็ได้ (แอบประหยัด)

อ้อ..ใช้เฉพาะอยู่นอกบ้านนะครับ อยู่ในบ้านหรือในที่มีจุดล้างมือด้วยสบู่ ถูสบู่ดีกว่าเยอะ แต่อย่าเก็บสบู่ล่ะ



26 เมษายน 2563

แนะนำหนังสือ "cellular and molecular immunology"

แนะนำหนังสือ "cellular and molecular immunology"
cellular and molecular immunology พิมพ์ครั้งที่เก้า โดย Abul Abbas, Andrew H. Lichtman, Shiv Pillai ที่เราเรียกคุ้นหูว่า Abbas Immunology ตำราวิทยาภูมิคุ้มกันยอดนิยมของนักเรียนนักศึกษา
จัดพิมพ์จำหน่ายโดย Elsevier ครับ มีแบบ international edition เล่มที่ผมซื้อมานี้ หนา 570 หน้า ราคา 1790 บาท (ราคาร้าน @Meditext ตำราแพทย์ราคาถูก) ทางร้านไม่มีสต็อกแต่จัดหาให้ได้ ใช้เวลารอสักครู่เพราะเรื่องปัญหาการขนส่งระหว่างประเทศ แต่เพียงสัปดาห์เดียวก็ส่งมาถึงบ้านครับ
ที่สนใจเล่มนี้เพราะตอนที่แนะนำหนังสือ อิมมูโนวิทยาของจุฬา มีน้อง ๆ หลายคนบอกว่าเล่มนี้เจ๋ง และอีกไม่นาน อ.นคร มธุรดาวงษ์ อาจารย์คนเก่งเจ้าของเพจสรีรวิทยาชื่อดัง ได้ลงรายละเอียดเรื่องภูมิคุ้มกัน และบอกว่าเล่มของ Abbas เข้าใจง่าย ภาพสวย ... ยาป้ายทำงานแล้วครับ
จริง ๆ คือผมเป็นนักเรียนที่แทบไม่รู้เรื่องวิชาวิทยาภูมิคุ้มกันเลย ตอนเรียนก็เกือบตก (อีกวิชาคือพันธุศาสตร์) ต้องอ่านหลายรอบ ตอนนี้ก็ยังอ่าน จึงมาไตร่ตรองอีกครั้งว่า ในอีกไม่นานเรื่องวิทยาภูมิคุ้มกันจะสำคัญมากและใช้ในการรักษา จึงตัดสินใจลงทุน
เล่มขนาดตำราเอสี่ทั่วไปครับ กระดาษอาร์ตมัน พิมพ์ติดสีสวยมาก ภายในเป็นเนื้อหาเชิงลึกของภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ หรือระดับโปรตีนในเซลล์ เรียกว่าตั้งแต่พื้นฐานกันเลย และเน้นทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มากกว่าการประยุกต์ใช้ทางคลินิกครับ เรื่องการนำไปใช้ต้องคิดอ่านกันเอง ในบทมีแทรกบ้าง ไม่มากเท่าไร เน้นพื้นฐานจริง ๆ
ภาษาไม่ยาก แบ่งหน้าเป็นบล็อก มีตาราง กราฟ มีภาพประกอบที่ดีมากและถือว่าเป็น **จุดขายสำคัญ** ของเล่มนี้เลยคือภาพประกอบที่ "infomative" มาก ๆ เรียกว่าจบในภาพเดียว เสียดายที่การประยุกต์น้อยไปสักหน่อย และตัวหนังสือเล็กไปสักนิด และผมไม่ชอบฟ้อนต์แบบ serif สักเท่าไรนัก
อ่านไปสี่บท ปูพื้นฐานกันใหม่หมดเลย เข้าใจดีครับ แนะนำให้นักเรียนที่ต้องเรียนวิชานี้ ผู้ที่ต้องทำงานสาขานี้ และใครที่ต้องการทราบเรื่องราวแบบเบสิกพื้นฐาน เริ่มใหม่แบบผมนี่แหละ จัดว่าใช้ได้ (ขั้นสูงกว่านี้คงไม่ได้ใช้ และบรรดานักวิจัยภูมิคุ้มกันคงต้องอ่านที่หนักและแน่นกว่านี้ครับ)
ขอบคุณร้าน @Meditext ตำราแพทย์ราคาถูก ที่จัดหาหนังสือให้ครับ
ปล. ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับร้าน เพียงขอบคุณที่จัดหาให้ได้ในสถานการณ์ลำบากแบบนี้ครับ

25 เมษายน 2563

95 นักเรียนแพทย์แห่ง แบรเกิน-เบลเซ่น

การฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนการสอนยุคปัจจุบัน

ยุคสมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ การได้ออกไปทำวิจัยชุมชน ได้เห็นการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลชุมชน การออกไปฝึกทักษะทางศัลยกรรมที่รพ.ต่างจังหวัด ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เพราะได้เห็นโลกแห่งความจริง ในยุคนี้สมัยนี้ น้อง ๆ โชคดีมากที่คณะแพทย์ได้ให้โอกาสไปดูงานถึงต่างประเทศ เห็นความก้าวหน้าในอีกแง่มุม

แต่ในสมัยก่อน การเรียนวิชาประสบการณ์อาชีพ อาจจะไม่ได้ "มีความสุข" อย่างเช่นปัจจุบัน แต่ก็ยังทรงพลัง ยากจะหาบทเรียนใด ๆ มาเทียบเคียงได้  ครั้งนี้ เราจะย้อนอดีตไปในเดือนพฤษภาคม ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองภาคพื้นยุโรปได้สงบลง

ค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน หนึ่งในค่ายกักกันนรกของนาซี ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน ได้ถูกกองทัพอังกฤษปลดปล่อย ภาพที่เห็นของค่ายนี้ไม่ต่างจากค่ายอื่น ไม่ต่างจากเอ้าชวิทช์ ไม่ต่างจากโซบิบอร์ คือ มีแต่นักโทษที่อ่อนแรง ซูบผอม เจ็บป่วย อุดมไปด้วยศพมากมายนอนปะปนกับผู้รอดชีวิต โรคต่าง ๆ เต็มค่าย  

กำลังทางการแพทย์จำเป็นมาก แต่ในภาวะสงครามแบบนี้จะหาแพทย์ได้อย่างไร ประเทศอังกฤษเองก็บอบช้ำจากสงครามมาก แพทย์หลายพันคนเข้าสู่สนามรบและล้มตาย แต่ยังเหลือคนอีกกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะมาดูแลผู้ป่วยเหล่านี้

ย้อนกลับไปที่เกาะอังกฤษ การตั้งโรงพยาบาล การจัดการการศึกษาระดับอุดมศึกษา การเรียนแพทย์ได้ตั้งรากฐานมั่นคงมาหลายร้อยปี โรงเรียนแพทย์เก่าแก่และโรงพยาบาลเก่าแก่ของอังกฤษ ได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 มีการพัฒนามาเรื่อย โรงเรียนแพทย์ St. Thomas ก่อตั้งในปี 1550 และ โรงเรียนแพทย์ Guy 's Hospital ก่อตั้งในปี 1721  ทั้งสองโรงเรียนนี้ได้ผ่านมรสุมร้อนหนาวมาคู่กับประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษ แม้แต่ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

พฤษภาคม 1945 นักเรียนแพทย์ 95 คนจากโรงเรียนแพทย์ St.Thomas และ Guy's Hospital ได้เข้าร่วมกับทางกองทัพอังกฤษ เพื่อเข้าสู่กิจกรรมภาคสนาม ประสบการณ์วิชาชีพ โดยเข้าไปดูแลบรรดาผู้ที่ถูกกักกันในค่ายแบร์เกิน-เบลเซิน จำนวนกว่า 43,000 คน

สภาพที่เข้าไปทำให้หนุ่มสาววัย 20 ปี ได้เรียนรู้มนุษย์ เรียนรู้ความทุกข์ยาก เรียนรู้ชะตากรรมที่โหดร้าย นักเรียนต้องเข้าไปแยกศพออกจากคนที่ไม่เป็นศพ นักเรียนหลายคนบอกเล่าว่า ความแตกต่างกันของคนที่เป็นศพกับยังมีชีวิตคือ ยังเดินได้ เท่านั้น

นักเรียนได้เรียนรู้ ใช้วิชาในการตรวจรักษาดูแล บาดแผลจากสงคราม บาดแผลจากการถูกยิง ยาดแผลจากการถูกทารุณกรรม ดูแลโรคระบาดต่าง ๆ วัณโรค ไข้รากสาดใหญ่ บิด แผลติดเชื้อแบบต่าง ๆ  ได้ดูแลจิตใจผู้ที่หวาดผวาอย่างหนัก  บางคนไม่ยอมให้ฉีดยา ไม่ยอมกินยา เพราะพวกเขากลัวว่าจะถูกทดลองทางชีววิทยา  เหมือนอย่างที่เขาถูกกระทำในสมัยนาซีครองอำนาจ 

เวลากว่าหนึ่งเดือนที่ทั้ง 95 คนได้มาเรียนรู้ประสบการณ์นี้ มีนักเรียนหลายคนได้รับบาดแผลทางจิตใจไปด้วย มีสองคนติดวัณโรค เจ็ดคนติดไข้รากสาด หลายคนต้องทนต่อผลข้างเคียงของดีดีที ที่ต้องใช้ฆ่าแมลงในค่าย  แต่ทุกคนก็ได้ประสบการณ์ล้ำค่าในการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา โรค เป็นการดูแลของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ อย่างแท้จริง

เรื่องราวต่าง ๆ นี้ถูกเล่าขานมารุ่นต่อรุ่นในโรงเรียนแพทย์ King's Colleges (มีการควบรวม St. Thomas และ Guy's เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ King's Colleges London School of Medicine ในปัจจุบัน) มีการเรียนรู้ อ่านบันทึกประสบการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรดาอาสาสมัครรุ่นพี่ผู้หาญกล้า หลายคนมาเป็นอาจารย์และถ่ายทอดเรื่องราวนี้ต่อไป

ตัดมาที่ปัจจุบัน การเรียนการสอนวิชาแพทย์ล้ำหน้าไปอย่างไม่มีข้อจำกัด ลงลึกไปถึงดีเอ็นเอ กว้างไกลไปถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เรียนผ่านเครือข่ายออนไลน์ วิชาการลึกซึ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังจำเป็นและสำคัญเสมอสำหรับวิชาแพทย์ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดจากอดีตไปจนอนาคต คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นมนุษย์" นั่นเอง


เนื้องอกมดลูกระยะลุกลามและกระจายมาที่ปอด

ภาพที่เห็นนี้เป็นภาพจริงของเอ็กซเรย์ทรวงอกผู้ป่วย เนื้องอกมดลูกระยะลุกลามและกระจายมาที่ปอด
ผู้ป่วยหญิงอายุ 62 ปี มีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเมื่อ 5 ปีก่อน ทั้ง ๆ ที่หมดประจำเดือนไปนานแล้วและไม่ได้รับยาฮอร์โมนใด ๆ ครั้งนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก ระยะลุกลาม ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ รับยาเคมีบำบัดและฉายแสง
ประวัติที่อยากมาเน้นย้ำคือ ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกผิดปรกตินานถึง 18 เดือนก่อนตัดสินใจเข้ารับการตรวจ เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไรและไม่อยากตรวจภายใน
ครั้งนี้ผู้ป่วยมีอาการไอ เหนื่อย ภาพเอ็กซเรย์ปอดเห็นเป็นก้อนกลมสีขาวขนาดต่าง ๆ กระจายไปทั่วปอด ต่อมาได้รับการตรวจยืนยันว่าก้อนที่เห็นคือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ที่กลับมาเป็นซ้ำและครั้งนี้แพร่กระจายไปที่ปอด
สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ อาการเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปรกติ เป็นสิ่งที่ควรรับการปรึกษาจากสูตินรีแพทย์ เพื่อสืบหาสาเหตุเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเลือดออกมาอีกครั้งหลังจากที่หมดประจำเดือนไปแล้ว หรือเลือดออกไม่สม่ำเสมอ ทั้งความถี่ ระยะเวลา หรือปริมาณ ในสุภาพสตรีที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน
อาการที่พบบ่อยที่สุดและนำพามาซึ่งการตรวจพบมากที่สุด คือ เลือดออกผิดปรกติทางช่องคลอดนั่นเอง และหากตรวจพบในระยะต้น ๆ การรักษาจะตอบสนองดีมากครับ
"ในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนหลีกเลี่ยงได้ ยกเว้น ภาษี ความตาย และการตรวจภายใน"
ลุงหมอได้กล่าวไว้

24 เมษายน 2563

องค์การอนามัยโลก

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)

ภายหลังจากการปฏิวัติหลายครั้ง ไล่มาตั้งแต่ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ปฏิวัติเกษตรกรรม ปฏิวัติอุตสาหกรรม เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้เข้าครอบครองและใช้ทรัพยากรอย่างมากมาย การสื่อสารคมนาคมเพื่อไล่ล่าทรัพยากร หาอาณานิคม ติดต่อการค้า ได้รับการพัฒนาอย่างมากในไม่กี่ร้อยปี แต่ในทางตรงข้าม มันได้แพร่กระจายโรคระบาด ก่อให้เกิดโรคใหม่ หรือทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่อย่างมากมาย

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นยุคแห่งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย เราค้นพบเชื้อโรค ค้นพบการรับมือกับเชื้อโรค และได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในแต่ละภูมิภาคของโลก โลกาภิวัฒน์เริ่มต้นขึ้น

ในปีคริสตศักราช 1851 นักสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ นักชีววิทยา ได้นัดกันประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การประชุมครั้งแรกนี้จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส โดยรัฐบาลฝรั่งเศส ในครั้งแรกนี้จัดเพื่อวางแผนการควบคุมโรคไข้เหลือง กาฬโรค และอหิวาตกโรค  ซึ่งนับว่านานพอสมควรหลังจากมีการระบาดทั่วโลกของอหิวาตกโรคในปี 1823 ตรงกับสมัยรัชกาลที่สาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

แต่ว่ายุคสมัยนั้นการสื่อสารคมนาคมไม่ได้ล้ำยุคล้ำสมัยดังเช่นปัจจุบัน กว่าจะจัดประชุมได้ ใช้เวลานานพอควร

การจัดประชุมครั้งแรกมีประเทศเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 ประเทศส่วนมากเป็นสมาชิกชาติในยุโรป หลังจากการจัดประชุมครั้งแรกประสบความสำเร็จดี ได้มีการประชุมอีก 14 ครั้ง ทุกครั้งจัดที่ฝรั่งเศส ผลจากการพบปะนี้ทำให้เกิดองค์กรความร่วมมือด้านสุขภาพต่อมาอีกมากมาย เช่น Pan Pacific Sanitary Bureau, Office of International Public Hygiene

การประชุมเริ่มลดความถี่ลง พร้อมกับสถานการณ์ตึงเครียดของจักรวรรดินิยมของภาคพื้นยุโรป หลังจากการประชุมครั้งสุดท้าย โลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นเวลากว่า 5 ปี หลังจากเสร็จสิ้นสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งองค์กรนานาชาติขนาดใหญ่ขึ้นมาชื่อว่า องค์การสันนิบาตชาติ และในองค์การสันนิบาตชาตินี้เองได้มีหน่วยงานเล็ก ๆ ที่คอยดูแลเรื่องสุขภาพของชาติสมาชิก

การดำเนินการไม่ได้ราบรื่น เพราะองค์การสันนิบาตชาติไม่มีอำนาจและงบประมาณที่ชัดเจน โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองทั้งโลก แม้แต่ในประเทศไทย ลัทธิชาตินิยมเริ่มรุนแรงมากขึ้น สันติภาพอยู่ได้ไม่ถึงสามสิบปี ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ ผู้ชนะสงครามคือสัมพันธมิตรได้จัดตั้งองค์กรนานาชาติที่ต้องการให้สมบูรณ์แบบมากกว่าเดิม เพื่อไม่ให้ "เสียของ" ดังเช่นองค์การสันนิบาตชาติอีก องค์กรนานาชาติที่ก่อตั้งนี้ปัจจุบันยังมีบทบาทมาก ชื่อว่า United Nations องค์การสหประชาชาติ

ในปีที่มีการจัดตั้งสหประชาชาตินั้น ชาติสมาชิกสามชาติคือ จีน นอร์เวย์และบราซิล ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเพื่อรวมกันจัดองค์กรย่อย สำหรับประสานงาน ออกนโยบาย และศึกษาวิจัย เรื่องราวของสุขภาพต่อจากหน่วยงานสุขภาพของสันนิบาตชาติ และต่อเนื่องจากการประชุม International Sanitary Conferences ที่จัดมาแล้วสิบสี่ครั้งที่ฝรั่งเศส ครั้งนั้นรวบรวมได้ 51 ประเทศ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 1948 สองปีกว่าหลังจากมีแนวคิดเรื่ององค์กรสาธารณสุขนานาชาติ จึงได้มีการจัดประชุม World Health Assembly ขึ้นครั้งแรก และกำหนดให้เกิดองค์การอนามัยโลก หนึ่งในองค์กรของสหประชาชาติ เพื่อการสาธารณสุขของชาติสมาชิก

เราจึงถือเอาวันที่ 7 เมษายน เป็นวันสุขภาพโลกและวันก่อตั้งองค์การอนามัยโลก โดยมีผู้อำนวยการคนแรกคือ Broch Chrisholm ชาวแคนาดา

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ และมีหน่วยงานภูมิภาคกระจายอยู่ 6 แห่งในแต่ละภูมิภาคคือ

1.เมือง Brazzaville ประเทศคองโก ที่ตั้งของสาขาย่อยแอฟริกา

2.เมือง Manila ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ตั้งของสาขาย่อยแปซิฟิกตะวันตก (ผมเคยไปเยือนที่สาขานี้มาแล้ว)

3.เมือง Cairo ประเทศอียิปต์ ที่ตั้งของสาขาย่อยเมดิเตอเรเนียนตะวันออก

4.เมือง Delhi ประเทศอินเดีย ที่ตั้งของสาขาย่อย เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5.เมือง Copengagen ประเทศเดนมาร์ก ที่ตั้งของสาขาย่อยยุโรป

6.เมือง Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งสาขาย่อยทวีปอเมริกาทั้งหมด

องค์การอนามัยโลกได้ปฏิบัติภารกิจหลายประการที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้ เช่น

การฉีดวัคซีนบีซีจีเพื่อลดวัณโรครุนแรง

การกำจัดไข้ทรพิษออกจากโลกนี้

การควบคุมมาเลเรีย 

การวางแผนร่วมกันและเป็นพันธมิตรกับธนาคารโลกเพื่อกำหนดทิศทางของเศรษฐศาตร์สาธารณสุข  ดำเนินนโยบายเพื่อสาธารณสุขมาตลอด

และรู้หรือไม่ว่า บุคลากรที่ทำงานในสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาย่อยทั้งหกขององค์การอนามัยโลกจะไม่มีคนที่สูบบุหรี่อยู่เลย

มีหน่วยงานย่อยเพื่อศึกษาและออกแนวทางอีกมากมายเช่น

▪International Agency of Research Cancer เพื่อศึกษาสารก่อมะเร็งต่าง ๆ และเป็นองค์กรที่รับรองเรื่องสารก่อมะเร็ง

▪Framework Convention on Tobacco Control เพื่อการควบคุมนโยบายยาสูบนานาชาติ

** อันนี้แฟนเพจแก้ให้ครับ ขออภัยในความผิดพลาด  ...

อาจารย์ครับ ขอแก้ไขเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

UNAIDS ไม่ได้เป็นหน่วยงานย่อยของ WHO ครับ UNAIDS มีสถานะเท่า WHO
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้มีฉันทานุมัติให้จัดตั้ง UNAIDS ขึ้นเมื่อปี 1994 ครับ

ท่านผู้อำนวยการคนปัจจุบันคือ Tedros Adhanum Ghebryesus ชาวเอธิโอเปีย ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน

รายได้ปัจจุบันมาจากเงินบริจาคจากชาติสมาชิกและจากองค์กรการกุศลต่าง ๆ เช่นกองทุนบิลและมาลินด้า เกตส์ ผู้ที่บริจาคให้องค์การอนามัยโลกรายใหญ่ที่สุดคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมรายได้ขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี

และตอนนี้กำลังต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 อย่างยากลำบาก เราคงต้องติดตามดูการเปลี่ยนแปลงสำคัญขององค์การอนามัยโลกหลังจากวิกฤตครั้งนี้ รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทของจีน การถอยออกมาของสหรัฐอเมริกา ว่าองค์การอนามัยโลกจะมีทิศทางการดำเนินการต่อไปอย่างไร


รายงานโควิดของประเทศไทย ใน CDC

รายงานผู้ป่วย COVID19 ของไทย ใน CDC

รายงานผู้ป่วยไทย 11 รายจากสถาบันบำราศนราดูร ทุกคนได้รับการตรวจยืนยันและการรักษาตามเกณฑ์ที่ดีที่สุดในตอนนี้ เราเห็นข้อมูลจากยุโรป จากจีน จากอเมริกามามาก เรามาดูข้อมูลของไทยที่ส่งไปที่ CDC บ้างครับ

จากข้อมูลที่เก็บมา (ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดนะครับ) อายุเฉลี่ย 61 ปี  อาการที่พบบ่อยคือ ไข้ ไอ เจ็บคอ สามอาการนี้เหมือนกับที่พบทั่วโลกครับ ระยะเฉลี่ยของอาการคือ 6 วัน ระยะเวลานี้เท่า ๆ กับที่พบทั่วโลกเช่นกัน 

ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรงทั้งสิ้น มีหนึ่งรายที่ไม่มีอาการใด ๆ เลยตั้งแต่ตรวจพบเชื้อจนไม่พบเชื้อ (เพราะในช่วงที่เก็บหรือกลุ่มที่เก็บนี้ไม่มีอาการรุนแรง) ทุกรายมีภาพเอ็กซเรย์รังสีทรวงอกผิดปกติทั้งสิ้น และแม้ในกลุ่มเล็ก ๆ นี้ยังพบการติดเชื้อไวรัสอื่นร่วมถึง 2 ราย คือไข้หวัดใหญ่และไวรัสอะดีโน (ไม่เป็นที่แปลกใจว่า คำแนะนำการรักษาทั้งโลกให้คิดถึงการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ)

ผู้ป่วยทั้งหมดรักษาตามอาการและหายดีจนกลับบ้านได้ (อย่าลืมว่าการรายงานนี้มีแต่คนที่ไม่รุนแรงครับ) 

ผมแถมอีกสักหน่อย
ข้อมูลจากกลุ่มศึกษาไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยในช่วงสามเดือนมานี้ พบว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ลดลงกว่าปีที่แล้วเกือบ 50% และต่ำกว่าการคาดการณ์ เพราะอานิสงส์จากความตื่นตัวป้องกันไวรัสโควิด เรื่องการกินร้อน ช้อนใคร ล้างมือ ห่างกัน สวมหน้ากาก

แต่ยังคงต้องรอการระบาดตามฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ว่าจะมีการติดเชื้อร่วมมากน้อยเพียงใด มีอุปสรรคต่อการวินิจฉัยและรักษาเพียงใด

ก็จะพอสรุปได้ว่า ในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรงในประเทศไทยนั้น รูปแบบอาการและอาการแสดงทางคลินิกก็ไม่ต่างกับกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงในภาพรวมทั้งโลก

สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ครับ
Pongpirul WA, Mott JA, Woodring JV, Uyeki TM, MacArthur JR, Vachiraphan A, et al. Clinical characteristics of patients hospitalized with coronavirus disease, Thailand. Emerg Infect Dis. 2020 Jul [date cited]. https://doi.org/10.3201/eid2607.200598

โควิด-19 กับการรับกลิ่น

โควิดกับการสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่น

มีรายงานมากมายเรื่องความบกพร่องของการดมกลิ่นที่สัมพันธ์กับการป่วยโรคโควิด19  มีรายงานการศึกษาจากประเทศอิตาลี ประเทศที่การระบาดสูงมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูกที่อิตาลีได้ทำการศึกษาวิจัยโดยเก็บข้อมูลจากคนที่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจ RT-PCR ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ให้ตอบแบบสอบถามว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับประสาทการดมกลิ่นและรับรสหรือไม่

การตอบแบบสอบถามจะทำทางโทรศัพท์ไปที่บ้าน สอบถามอาการและระดับคะแนนต่าง ๆ เพื่อมาคิดคำนวณ โดยคะแนนหลักที่ใช้เรียกว่า SNOT-22  ในการวัดการรับกลิ่นหรือรับรส  โดยสอบถาม 282 คน มี 71% ที่ตอบคำถามครบถ้วน

จากการสอบถามมี 64.4% ที่พบว่ามีความแปรปรวนการรับกลิ่นหรือรส และอาการก็มีทั้งแปรปรวนเล็กน้อยจนถึงรุนแรง สัดส่วนการเกิดความแปรปรวนมีทั้งพร้อมอาการทางเดินหายใจหรือเกิดหลังจากอาการทางเดินหายใจ

จะเห็นว่ามีคนที่เกิดความแปรปรวนถึง 64.4% จะถือว่า ความผิดปกติเรื่องการรับกลิ่นหรือรับรสเป็นอาการอันหนึ่งของโรคโควิดได้หรือไม่ จากการศึกษานี้คงตอบว่ายัง เพราะว่า

  1. เลือกมาแต่เฉพาะผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนการเจ็บป่วยทั้งหมด
  2. ไม่รู้สภาพโพรงจมูกของแต่ละคนว่าอาจจะแปรปรวนอย่างไร ส่งผลต่อผลการศึกษาอย่างไร
  3. ไม่ได้แจกแจงการบวมของจมูกและทางเดินหายใจ ว่าส่งผลต่อการรับกลิ่นด้วยหรือไม่
  4. ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ที่มีโอกาสผิดพลาดสูงมาก ทั้งการสื่อสารและความโน้มเอียง
  5. เป็นการศึกษาในช่วงสี่วันเท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลระยะยาว
  6. ไม่ทราบว่าความบกพร่องอันนี้มีมาก่อนการติดเชื้อหรือไม่ หรือหลังติดเชื้อหายไปหรือไม่ ที่จะบอกความเป็นเหตุเป็นผลกัน หรือแค่สัมพันธ์กันเท่านั้น
  7. จำนวนคนไข้น้อยมาก และเจาะจงเฉพาะคนที่สามารถเข้าร่วมทางโทรศัพท์เท่านั้น

จะเห็นว่าไม่สามารถบอกได้เลยว่า การรับรู้กลิ่นและรสที่แปรปรวนนี้ จะเป็นอาการอันหนึ่งของโควิด หรือเป็นผลที่เกิดจากไวรัสโควิด ด้วยขั้นตอนการศึกษาและระเบียบวิธีวิจัยที่ยังไม่สมบูรณ์พอ คงบอกได้แค่ว่า พบการรับรู้รสและกลิ่นที่แปรปรวนในผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรงประมาณ 60% เท่านั้น

การแปลผลการศึกษา ไม่ควรแปลผลเกินไปกว่าขอบเขตการศึกษานั้นครับ 

อ่านฉบับเต็มได้ฟรี
Spinato G, Fabbris C, Polesel J, et al. Alterations in Smell or Taste in Mildly Symptomatic Outpatients With SARS-CoV-2 Infection. JAMA. Published online April 22, 2020. doi:10.1001/jama.2020.677

23 เมษายน 2563

Ali Maow Maalin ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้ทรพิษจากธรรมชาติรายสุดท้ายในโลก

โซมาเลีย ประเทศที่ตั้งบนแหลมแห่งแอฟริกา (horn of africa) ประเทศที่มีเรื่องราวความขัดแย้ง สงครามในประเทศ หลายท่านคงได้เห็นกรุงโมกาดิซูจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดัง "black hawk down" วันนี้เราจะย้อนกลับไปประเทศโซมาเลียเมื่อ 40 ปีก่อน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง หลายประเทศในแอฟริกาได้อิสรภาพ แต่ทว่ากลับถูกปกครองใต้ระบอบเผด็จการจนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า สาธารณสุขมูลฐานไร้คนสนใจ ประชากรในประเทศยากจน อดอยากและล้มตาย 

เดือนสิงหาคม 1977 เกิดไข้ทรพิษระบาดในประเทศโซมาเลีย เป็นการระบาดต่อเนื่องกันมาในประเทศแถบเอเชียใต้และแอฟริกา ในยุคสมัยนั้นโรคไข้ทรพิษ ยังมีการแพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนไปมาก และเป็นหัวข้อสำคัญขององค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ เพราะนี่คือความมั่นคงที่สำคัญของโลก

โลกที่กำลังฟื้นขึ้นมาหลังสงคราม อุดมไปด้วยโรคติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกได้มีความพยายามจะควบคุมโรคระบาดหลายโรคอันเนื่องมาจากสุขอนามัยที่ไม่ดี โรคอหิวาตกโรค โรคมาเลเรีย โรคโปลิโอ  ทีมกำจัดโรคและสืบสวนโรคเร็วขององค์การอนามัยโลกที่ทำงานเกี่ยวกับไข้ทรพิษ วนเวียนทำงานในประเทศแถบนี้ตามรายงานการระบาดใน บอตสวานา ปากีสถาน บังคลาเทศ และเอธิโอเปีย (ประเทศของท่านผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกคนปัจจุบัน)

เมื่อมีการระบาดในโซมาเลีย ทีมเคลื่อนที่เร็วขององค์การอนามัยโลกเข้ามาควบคุมทันที สามารถจัดการควบคุมโรค จัดตั้งศูนย์กักกันโรค และฉีดวัคซีนไข้ทรพิษให้ทุกคนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1977 ทางศูนย์ได้ดำเนินการสืบสวนโรคกว้างออกไปในรัศมีอีกกว่าร้อยกิโลเมตร มีการรายงานผู้ป่วยต้องสงสัย และได้รับการตรวจยืนยันอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่มีรายงานอีกแล้ว ทางศูนย์กำลังจะปิดการดำเนินการ แต่ทว่า..

ในคืนวันที่  12 ตุลาคม 1977 มีข้อมูลแจ้งว่าพบเด็ก 2 คนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากเมืองมาร์ก้า ถึง 90 กิโลเมตร เมืองมาร์ก้าคือเมืองที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลและศูนย์ควบคุมโรคไข้ทรพิษ ในโซมาเลียตอนใต้

เจ้าหน้าที่สองคนของศูนย์ควบคุมโรคตัดสินใจที่จะไปพาเด็กสองคนมาที่ศูนย์ในคืนนั้น แต่อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์ไม่ใช่คนในพื้นที่ และต้องเคลื่อนย้ายที่ทำงานไปตลอด จึงจำเป็นต้องอาศัยคนนำทาง ค่ำคืนนั้นพวกเขาได้คนนำทางเป็นพ่อครัวและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเมืองมาร์ก้า คือว่า ตอนนั้นทรัพยากรบุคคลมีน้อยมาก หนึ่งคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ต้องทำหลายหน้าที่ เจ้าหน้าที่คนนั้นชื่อ Ali Maow Maalin 

มาลินพาเด็กสองคนและเจ้าหน้าที่มาถึงศูนย์อย่างปลอดภัย เด็กสองคนนั้น คนหนึ่งรอดชีวิต อีกคนหนึ่งเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตคือ Habiba Nur Ali ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ป่วยรายสุดท้ายในโลกที่เสียชีวิตจากไข้ทรพิษ  เด็กทั้งสองคนนี้ไม่ได้รับวัคซีน ในบางส่วนของแอฟริกายังเชื่อว่าการรับวัคซีนเป็นสิ่งไม่ดี แต่เมื่อโครงการปูพรมวัคซีนขององค์การอนามัยโลกเข้ามาร่วมกับความร่วมมือของรัฐบาลเผด็จการทหารของแอฟริกา (วัคซีนฟรี) การฉีดวัคซีนก็ครอบคลุมทั้งหมด ถ้าทุกคนยอมฉีดจริง...

สิบวันหลังจากที่มาลินไปรับเด็กไข้ทรพิษ มาลินเริ่มล้มป่วย มีไข้สูง มาลินไปพบแพทย์ ในตอนแรกแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นไข้มาเลเรีย โรคร้ายอันดับหนึ่งของแอฟริกาและของโลกมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากติดตามอาการไป สองถึงสามวัน มาลินเริ่มมีตุ่มน้ำใสขึ้นตามตัว ปวดเมื่อย แพทย์ที่ดูแลขณะนั้นให้การวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นสุกใส (chicken pox) ทำไมไม่มีใครคิดถึงไข้ทรพิษเลย ?

เพราะมาลินอยุ่ในสถานที่ที่มีการสืบสวนโรคและฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า วัคซีนไข้ทรพิษนั้นทรงอานุภาพมาก สามารถป้องกันการติดโรคได้อย่างชะงักงัน แต่ตุ่มน้ำใสก็ลุกลามและลักษณะไม่เหมือนสุกใส กลับเหมือนไข้ทรพิษมากขึ้น มาลินเองก็เก็บตัวเงียบ ไม่ได้แจ้งข้อมูลใด ๆ จนเพื่อนร่วมงานของเขาสังเกตเห็นลักษณะผื่นและคิดว่า อย่างไรเสียน่าจะเป็นผื่นไข้ทรพิษแน่นอน เพื่อนร่วมงานคนนั้นจึงนำความไปแจ้งศูนย์ป้องกันโรค เพื่อสินรางวัลนำจับ 35 ดอลล่าร์สหรัฐ 

ผลปรากฎว่ามาลินเป็นไข้ทรพิษ variola minor  คาดว่าติดมาจากเด็กหญิงคนสุดท้ายในโลกที่เสียชีวิตจากไข้ทรพิษนั่นเอง ผู้คนรอบตัวเขา 91 คน ต้องมาสืบสวนโรคและกักกันโรค ในฐานะที่อาจจะเป็นผู้เสี่ยงการติดเชื้อกลุ่มสุดท้ายในโลก  แม้ 12 คนใน 91 คนจะไม่ได้รับวัคซีน แต่ทั้ง 91 คนก็ไม่มีใครติดเชื้อเลย และได้รับการปล่อยตัวหลังจากกักกันนานถึง 6 สัปดาห์ มีการปิดเมืองนานสองสัปดาห์ และปูพรมฉีดวัคซีนเพิ่มอีก 54,777 ราย

แล้วทำไมมาลินจึงป่วยเป็นไข้ทรพิษได้ คำตอบนี้กลับตอบได้อย่างง่ายดาย เพราะมาลินหลบเลี่ยงการฉีดวัคซีนนั่นเอง เขาสารภาพว่ายังกลัวการฉีดวัคซีน แม้ว่าตัวเขาจะต้องรับหน้าที่เชื้อเชิญชาวบ้านมารับวัคซีนก็ตาม โชคดีที่มาลินมารับการรักษาตัวทันและหายดีในที่สุด หลังจากนั้น ไม่มีรายงานการเจ็บป่วยไข้ทรพิษอย่างเป็นทางการอีกเลยในโซมาเลียและในโลก

ผ่านมาอีก 2 ปี หลังจากการปูพรมวัคซีนสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และติดตามการเกิดโรคมาสองปี องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยืนยันว่า Ali Maow Maalin คือผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้ทรพิษจากธรรมชาติรายสุดท้ายในโลก และสามารถกำจัดโรคไข้ทรพิษหมดไปจากโลกได้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ธันวาคม 1979 (ส่วน เจเน็ต ปาร์กเกอร์ ที่ติดเชื้อไข้ทรพิษหลังจากมาลิน เป็นการติดเชื้อเนื่องจากอุบัติเหตุในห้องทดลองเชื้อโรค) 

หลังจากนั้นมาลิน ได้อุทิศตัวเพื่อรณรงค์วัคซีนทั่วแอฟริกา เป็นผู้ประสานงานภูมิภาคแอฟริกาขององค์การอนามัยโลก ในช่วงที่รณรงค์เพื่อกำจัดโรคโปลิโอนั้น มาลินได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทดสอบวัคซีนอีกด้วย และมาลินได้เสียชีวิตลงในช่วงนั้น แต่ไม่ได้เสียชีวิตจากวัคซีน แต่เสียชีวิตเนื่องจากโรคมาเลเรีย โรคแรกที่ทางคณะแพทย์คิดว่าเขาป่วยเมื่อ  36 ปีก่อน ... นั่นเอง

กลับมาที่ยุคปัจจุบัน แม้การแพทย์จะเจริญรุดหนาไปเพียงใดก็ตาม มหันตภัยจากโรคร้าย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ ยังไม่หมดสิ้นไป เรายังคงต้องต่อสู้และอยู่ร่วมกับโรคต่าง ๆ ไปอีกนานเท่านาน

ท่านผู้โดยสารอย่าลืมตรวจสอบสัมภาระของท่าน ลุงหมอแอร์ ยินดีที่ได้รับใช้พวกท่านอีกครั้ง ไว้โอกาสหน้าฟ้าใหม่ เราจะพากันไปท่องเที่ยวย้อนอดีตกันอีกครา  สวัสดีครับ

ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องราวของไข้ทรพิษและทีมกำจัดโรคได้ตามลิ้งก์ด้านล่างนี้
เรื่องราวของฝีดาษ
โดนัลด์ เฮนเดอร์สัน ผู้กำจัดฝีดาษ

21 เมษายน 2563

ยาที่ใช้รักษาอาการชักต่อเนื่อง status epilepticus

status epilepticus ชักต่อเนื่อง

คำจำกัดความของชักต่อเนื่องตามเกณฑ์ของ International League Against Epilepy ตีพิมพ์ใน Epilepsia 2015 กล่าวง่าย ๆ สั้น ๆ คือชักให้เห็นต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 นาที  แต่ถ้าเป็นชักแค่บางจุดและมีการรับรู้ที่บกพร่อง อันนี้นับมากกว่า 10 นาที  ส่วนการชักแบบไม่กระตุก อันนี้นับ 10-15 นาที (มันมองยาก ต้องใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองติดตาม) 

หรือหากชักแล้วหยุด ไม่ได้ยาวนานอย่างย่อหน้าสักครู่ ก็จะต้องมีความเสียหายทางระบบประสาทที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่กลับสภาพเดิมมากกว่า 30 นาทีในการชักทั้งตัว และ 60 นาทีในการชักเฉพาะจุด

เมื่อมีอาการชักต่อเนื่อง ต้องรีบทำการรักษาด่วนมาก ทั้งดูแลทางเดินหายใจ ป้องกันอุบัติเหตุจากการกระแทก และให้ยากันชัก ยาตัวแรกที่แนะนำคือยากลุ่ม benzodiazepines เช่น diazepam, lorazepam และให้ยากันชักต่อเนื่อง ประเด็นคือยากันชักตัวใดก็ได้ผลดีพอกัน เอาที่มีอยู่ในโรงพยาบาล และที่สำคัญคือต้องระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยาโดยเฉพาะความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ล่าสุดมีการศึกษาลงใน the Lancet เมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา (ESETT study) ศึกษาในผู้ป่วยลมชักต่อเนื่องที่ได้รับยา benzodiazepines แล้วไม่หยุดชัก จัดกลุ่มให้ยาสามชนิดคือ levetirazetam, fosphenytoin และ valproate ยาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันและมีรูปแบบฉีด ศึกษาว่าจะหยุดชักในหนึ่งชั่วโมงได้ดีไหม และผลแทรกซ้อนต่างกันไหม

การแบ่งกลุ่มทำได้เท่าๆ กัน และแยกคิดกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงวัย  ผลออกมาโดยรวมว่ายาแต่ละตัวหยุดชักได้ประมาณ 50% พอ ๆ กันในทุกกลุ่มอายุ (ผู้สูงวัยจะได้ผลดีต่อ valproate เล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญ) ผลข้างเคียงน้อยมาก ความปลอดภัยสูง ข้อจำกัดคือ ไม่ได้มีการยืนยันด้วยคลื่นไฟฟ้าสมองนะครับ ดูแค่หยุดชักด้วยสายตาเท่านั้น

การศึกษานี้ก็มาช่วยยืนยันว่า ยาอะไรที่มีในห้องฉุกเฉินก็ใช้ได้หมด ขอให้วินิจฉัยเร็ว แก้ไขเร็ว ขนาดยาถูก เฝ้าระวังให้เหมาะสมครับ

20 เมษายน 2563

ASV mode

เทคโนโลยียุคใหม่ช่วยเราได้มาก

ปรกติแล้วการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จะมีโหมดการทำงานมาตรฐานไม่กี่อัน และเจ้าไม่กี่อันนี้ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียวคือ
▪ controlled mode  เครื่องควบคุมจังหวะเองทั้งหมด
▪ assisted mode  เครื่องช่วยตามกำหนดเท่านั้น และช่วยในับสนุนเวลาคนไข้เริ่มหายใจเอง
▪ support mode เครื่องคอยสนับสนุนคนไข้โดยที่คนไข้เริ่มหายใจเอง
ถ้าไอซียูเรามีเครื่องที่ปรับได้เท่านี้ ผมถือว่าพอแล้ว ด้วยโหมดแค่นี้เรารับมือคนไข้ได้หมด แต่เราต้องขยันดู ขยันปรับ หากมีโหมดที่พัฒนามากขึ้น จะช่วยให้เราสบายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อยังคับจะต้องมี

ตัวอย่างในภาพ ASV mode มาจาก Adaptive Support Ventilation 

ปกติการปรับเครื่องใน support mode เราจะปรับให้เครื่องช่วยหายใจจ่ายลมให้ผู้ป่วยตามเกณฑ์ที่เรากำหนด เมื่อผู้ป่วยเริ่มหายใจเอง (เครื่องจะไม่ช่วย) เครื่องจะซื่อสัตย์มาก ไม่ว่าผู้ป่วยจะหายใจได้พอหรือไม่ อัตราเร็วเท่าไร มันก็จะช่วยด้วยคำสั่งเดิมที่เราปรับ เราจึงต้องมาปรับเครื่องบ่อย ๆ ตามสรีรวิทยาผู้ป่วยที่เปลี่ยนไป

แต่ใน ASV mode นั้น เมื่อเราใส่ข้อมูลน้ำหนักตัวคนไข้ เครื่องจะคำนวณปริมาณลมที่ต้องให้ในหนึ่งนาที (minute ventialtion : ปริมาณลมต่อการหายใจแต่ละครั้ง × จำนวนครั้งการหายใจในหนึ่งนาที) โดยเทียบกับค่ามาตรฐานที่บรรจุมาในเครื่อง แล้วทดสอบจากแรงลมหายใจที่ผู้ป่วยหายใจเข้าออกทั้งสิ้นสามครั้ง เครื่องจะได้ค่าที่เครื่องพอใจ (จะเห็นว่า เป็นความคิดของเครื่องทั้งนั้น) กำหนดมาเป็นกรอบที่เครื่องรับได้

เช่น เคริ่องจะพยายามให้ผู้ป่วยหายใจให้ได้ ปริมาณลมแต่ละครั้ง 400-450 ซีซี และอัตราการหายใจที่ 12-16 ครั้งต่อนาที เพื่อจะให้ได้ minute ventialtion ปริมาณลมในหนึ่งนาที ตามน้ำหนักและค่ามาตรฐานของเครื่อง ถ้าผู้ป่วยหายใจน้อยไปหรือหายใจเร็ว การขยายตัวของปริมาตรต่อความดันที่ใส่เข้าไปไม่ดี เครื่องจะปรับความดันช่วยเหลือขึ้นเอง และใช้ค่าที่หายใจในครั้งก่อนหน้านี้ มาปรับในการช่วยครั้งต่อไป เรียกว่าปรับครั้งต่อครั้ง เราเองคงไม่สามารถไปปรับได้บ่อยขนาดนั้น  

แต่ถ้าหายใจได้ดี อัตราการหายใจไม่สูง complianceของปอดดีขึ้น เครื่องจะลดการจ่ายลม ช่วยเราน้อยลง ให้เราหายใจเองได้มากขึ้น เป็นโหมดที่ดีในการหย่าเครื่อง 

และจะมีขีดอันตรายเตือนด้วย ว่าหากหายใจต่ำมากจนอาจเกิดอันตราย เครื่องจะปรับการช่วยเหลือจาก support mode เป็น controlled mode ทันที พร้อมกับร้องเตือนเราทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับคนไข้ 

แต่อย่างที่เน้น เป็นการคิดการช่วยเหลือจากเครื่องและฐานข้อมูลในคนปรกติ เราจึงต้องมาปรับเครื่องตามสรีรวิทยาการหายใจของผู้ป่วยแต่ละคนตามโรคตามเวลาเสมอ เพียงแต่ไม่ต้องบ่อยมากเท่านั้น

เหมาะกับผู้ป่วยที่มีแรงกระตุ้นการหายใจ มีพลังกล้ามเนื้อมากพอที่จะหายใจ และพยาธิสภาพในปอดไม่รุนแรง ไม่ได้ต้องการความดันหลอดลมสูงมากนัก ต้องเลือกใช้ให้ถูกแล้วผู้ป่วยจะสบายครับ


19 เมษายน 2563

ปืน เชื้อโรค และ เหล็กกล้า

ได้เล่มนี้มา ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า : Guns, Germs and Steel โดย Jared Diamond
อยากอ่านมาตั้งแต่ ดร.นำชัย ผู้แปลเรื่อง sapiens ได้กล่าวถึงไว้ในรายการ 101 world ว่าพูดถึงการก่อกำเนิดภาษา และวิวัฒนาการของภาษาในการเปลี่ยนแปลงโลก
เห็นว่าเขาเป็นคนเขียนคำนิยมหน้าปกของ sapiens ของยูวาล โนอาห์ แฮรร์ารี่
เป็นนักเขียนเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ระดับรางวัลพูลิตเซอร์ หมายความว่า เรื่องราวอาจจะไม่ใช่เรื่องราวใหม่ แต่สามารถบอกเล่าในแง่มุมใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
รีวิวใน goodreads ได้ 4.5 ดาว เท่า sapiens เลยทีเดียว แต่ว่ามีความแปรปรวนมาก มีคนด่าเยอะเหมือนกันว่าใส่ความเห็นเนอะไป เพื่อให้บันเทิง
หนังสือหนา 750 หน้า จากสนพ.ยิปซี ราคา 585 บาท แปลไทยโดย อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ ซื้อได้ตามเว็ปร้านดังทั่วไปครับ สัปดาห์นี้คงจะได้อ่านเล่มนี้จนจบ ตอนนี้กองดองหายไปกว่า 90% แล้วครับ ทำไมตอนเรียนไม่อ่านเยอะแบบนี้นะ ...
ใครเคยอ่านแล้ว มาเล่า มาสปอยล์กันหน่อย
** ช่วงนี้บรรยากาศตึง ๆ ครับ เลยอ่านหนังสือเยอะหน่อย และเริ่มล้ากับการอ่านวารสารกับตำรา (COVID overload) อากาศก็ร้อน ขออ่านหนังสือและป้ายยาพวกท่านไปก่อน อย่าเพิ่งรำคาญนะครับ
"รำคาญก็ไม่เป็นไร ขอแค่อยู่ในหัวใจของคุณก็พอ"

เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ

สมกับที่รอคอย "เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ"

เรียกว่าเป็นนักเขียน POP-SCI มือวางอันดับหนึ่งไปแล้วสำหรับคุณหมอชัชพล เกียรติขจรธาดา  สำหรับเรื่องราววิทยาศาสตร์เล่าสนุก มีสาระทางประวัติศาสตร์คลุกเคล้าอยู่ด้วย หลังจากเล่มที่แล้ว สงครามที่ไม่มีวันชนะ ได้ทั้งเงินทั้งกล่องแบบถล่มทลาย

มาถึงเล่มใหม่นี้ ปกสีแดงสวย ภาพคอลลาจหน้าปกโปรยเรื่องราวในเล่ม กระดาษอย่างดีทั้งปกและเล่ม จำนวน 290 หน้า ราคา 319 บาท ขอบอกว่าโคตรคุ้ม ราคาเท่านี้แต่สิ่งที่ได้มามากมายนัก จัดพิมพ์โดยชัชพลบุ๊กส์ (ที่ปรึกษา สนพ. ชื่อคุ้นมาก) สั่งได้จากทุกเว็บ หรือผ่านสนพ.ทาง shoppee และ lazada

เรื่องราวภายในบอกเล่าที่มาที่ไปแบบสนุกสนานของ microbiota จุลินทรีย์เล็ก ๆ ที่อยู่ร่วมกับเรามาเป็นล้าน ๆ ปี อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยที่เราไม่รู้และไม่เคยเห็นความสำคัญ ระบบนิเวศวิทยเล็ก ๆ ในร่างกายนี้ช่างสมดุลนัก และสิ่งมีชีวิตได้มีการส่งทอดระบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมาตลอด แม้แต่มนุษย์เราก็ตาม

และหากสมดุลของจุลินทรีย์และมนุษย์เปลี่ยนไป รับรองว่ามีผลมหาศาล

ยกตัวอย่างสนุก ๆ เช่น

▪แม่วัวจะเลียลำตัวของลูก เป็นการปลูกถ่ายจุลินทรีย์จากปากแม่วัว
▪เมื่อใกล้คลอดที่ท่อน้ำนมคนจะมี แบคทีเรีย ไบฟิโดแบคทีเรีย มาอยู่ที่หัวนมและช่องคลอดเพื่อกำจัดแบคทีเรียตัวร้าย
▪การปลูกถ่ายแบคทีเรียที่มีประโยชน์จากการใช้อุจจาระ

เล่มนี้จะสอนให้เรารู้ถึงประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ นี้ และหากเราปลอดเชื้อพวกนี้ เราจะอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน

ด้วยวิธีเล่าเรื่องที่เริ่มด้วยความเรียบง่าย เริ่มเร้าใจขึ้นในแต่ละย่อหน้า แฝงเรื่องราววิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายแบบภาษาชาวบ้าน ที่สำคัญ ก่อนจะจบตอนจะต้องทิ้งคำถามที่ยั่วยวนให้เปิดอ่านตอนต่อไปเสมอ ทำให้จบในหนึ่งคืน เมื่อคืนก็ตีสามตามเคย หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนหนังสือคุณหมอชัชพลทุกเล่ม คือ ทากาวไว้ที่หน้าปก ทำให้ติดมือ วางไม่ลง

สนุกมากจริง ๆ ครับ ได้ความรู้และบันเทิงไปพร้อมกัน สมกับเป็น pop-sci writer อันดับหนึ่งของไทย

เสียดายปีนี้ไม่ได้ไปขอลายเซ็นพี่เอ้วครับ

อ้อ..ที่คั่นไว้มาก ๆ คือ แอบเก็บมุกมาใช้ในเพจครับ แหะ ๆ



18 เมษายน 2563

วันที่สถานการณ์ดีขึ้น แต่หลายอย่างเปลี่ยนไป โรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดในประเทศ

หนึ่งวันที่ผ่านไป กับมอเตอร์ไซค์หนึ่งคัน
โรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดในประเทศเรามากว่าสองเดือน มาตรการควบคุมการระบาดเข้มข้นมานานหนึ่งเดือน พระราชกำหนดฉุกเฉินใช้มากว่าสามสัปดาห์ ดูแนวโน้มดีขึ้น ผู้คนรู้จักการป้องกันตัวเอง ร้านค้าเรียนรู้การรับมือ รัฐบาลเริ่มรับสถานการณ์ได้ จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง
ผมเองยังไม่เคย work from home ยังทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านต่อไป มีโอกาสได้ไปตรวจในด่านหน้า พบว่าความหวาดกลัว ความตกใจของประชาชน มากมายเหลือเกิน มาวันที่สถานการณ์ดีขึ้น แต่หลายอย่างเปลี่ยนไป
ตอนเช้า หลังจากที่ออกกำลังกายตอนเช้าและดื่มกาแฟ เสียงรถจักรยานยนต์ของคุณน้าส่งหนังสือพิมพ์ก็มาตามเวลา ผมถามไถ่ว่า ปิดเมืองมาสามสัปดาห์ วันนี้คนเริ่มมากขึ้นไหมครับ คุณน้าแกขับจักรยานยนต์ส่งหนังสือพิมพ์ไปทั่วเขตเทศบาล จึงเห็นภาพเมืองในมุมละเอียด
"น้าว่า คนเริ่มออกมามากขึ้นนะ ไม่เหมือนตอนที่บังคับใหม่ ๆ ตอนนั้นร้างเลย แต่ก็นะ ต้องออกมาซื้อของ ต้องออกมาหาเงิน ชีวิตก็ต้องสู้"
หรือตอนนี้เสบียงและสิ่งจำเป็นเริ่มร่อยหรอ ผู้คนจึงออกมาซื้อของ แต่เท่าที่ผมสังเกต ทุกคนก็รู้จักป้องกันตัวเองและยอมรับกฎเกณฑ์การป้องกันโรคที่ทางรัฐบาลแนะนำ
ผมขับรถจักรยานยนต์ไปชำระเงินค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าไฟ และธุรกรรมทางการเงินอีกเล็กน้อยที่ธนาคารในห้างสรรพสินค้า ผู้คนบางตาเหมือนห้างยามปิดทำการ การจัดระเบียบทางเข้าออก การจัดคิว การรักษาความสะอาดทำได้ดีมาก ไม่มีใครฝืนข้อบังคับ
หลังจากทำธุระเรียบร้อย ระหว่างทางกลับบ้าน ผมแวะซื้อก๋วยเตี๋ยวเป็ดหนึ่งถุง ขณะที่ยืนรอ ก็ได้พบกับรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาทำอาชีพขับรถจักรยานยนต์ส่งเอกสาร ตอนนี้มารับงานพิเศษส่งอาหาร ผมจึงทักทายเขาในฐานะรุ่นพี่ในวงการส่งเอกสาร ถามว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร
"งานลดลงมากเลยพี่ นี่ต้องมารับส่งอาหารเพิ่ม ไม่งั้นอยู่ไม่ไหว เงินช่วยเหลือก็ยังไม่ได้สักที นี่เพื่อนกันสมัยก่อนอยู่ร้านอาหาร ตอนนี้ก็ต้องมารับส่งอาหารแทน สามอาทิตย์แล้ว เงินหมดแล้วพี่"
แม้ว่าเขาต้องออกมาทำงาน เขาก็ป้องกัน สวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ สายตาบ่งบอกสีหน้าแสดงชัดว่าเหนื่อยมาก ไม่รู้ว่าสถานการณ์โรคและการควบคุมจะอยู่อีกนานแค่ไหน แต่เขาคงจะสุดกำลังในเร็ววันนี้
ตกเย็น อากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ช่วงนี้อากาศแปรปรวนมาก ผมจึงถือโอกาสเดินออกกำลังกายและฟังพ็อดคาสต์เป็นการอัพเดตวิชาการและฝึกภาษาอังกฤษอีกหนึ่งชั่วโมง หลังจากที่เสร็จสิ้น ผมตัดสินใจเดินไปซื้อกล้วยหอมหนึ่งหวี และส้มเขียวหวานอีกหนึ่งกิโลกรัม เพื่อเติมอาหารให้ครบห้าหมู่ ช่วงเวลานี้จะป่วยไม่ได้
ผมพบคุณโชเฟอร์รถจักรยานยนต์รับจ้าง เราเห็นหน้าตาเป็นประจำ หลายครั้งผมใช้บริการเขาเวลาไปไหนในเมืองที่หาที่จอดรถยาก เขามาต่อคิวซื้อผลไม้ จึงไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ และทราบว่าเขาไม่ได้มาซื้อเอง
"ช่วงนี้ลูกค้าลดลงเยอะเลยพี่หมอ ขนาดลูกค้าประจำยังลด ผมต้องเพิ่มงานรับซื้อของ รับของไปส่งตามบ้าน เพิ่มรายได้ครับพี่หมอ ไม่ไหวจริง ๆ ถ้าไม่ทำอาจจะตายก่อนติดโควิดครับ ติดโควิดรักษาฟรี แต่ไม่ติดโควิด เสียเงินทุกวัน"
ผมรู้ว่าที่หลายคนกลัวโควิดเพราะหากติดเชื้อจะต้องกักกันตัว เสียรายได้ ครอบครัวขาดคนดูแล เขากลัวสิ่งนี้มากกว่าเป็นโรคเสียอีก จนมาถึงวันนี้เวลานี้ หากเขาออกจากบ้านมาทำมาหากิน โดยรู้จักป้องกัน เขาอาจไม่ติดโควิดและมีรายได้ แต่ถ้าให้เขาอยู่บ้าน เขาไม่ติดโควิดแน่ แต่คงแย่เพราะไม่มีกิน สำหรับคนส่วนใหญ่ อาจจำเป็นต้องเลือก
ในฐานะแพทย์ เป็นด่านหน้าด้วย ผมก็อยากให้โรคระบาดจบโดยเร็ว ซึ่งมันคงเป็นไปได้ยาก มันคงไม่จบเร็ว การเลือกหนทางที่เหมาะสมกับเรา ไม่ให้ผู้ป่วยผู้ติดเชื้อมากจนรับไม่ไหว ในขณะเดียวกันก็ต้องให้เขาอยู่ได้ตามฐานานุรูปเป็นการตัดสินใจเลือกหนทางที่ไม่ง่าย เพราะเราไม่ได้อยากได้หนทางที่ดีที่สุด
แต่เราต้องการมาตรการที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนน้อยที่สุด และไปด้วยกันได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อีกไม่นานคงต้องผ่อนมาตรการแน่นอน และจะเป็นการวัดใจ วัดความสามัคคี วัดความพร้อมใจมีวินัยของคนในชาติ ว่าเราจะร่วมมือกันพยุงประเทศและเพื่อนร่วมชาติไปด้วยกันได้หรือไม่
ผมปิดประตูรั้ว มองรถจักรยานยนต์คันเล็กที่จอดนิ่งอยู่ใต้ต้นไม้ นึกขอบคุณเจ้ารถคันนี้ ที่พาให้ผมได้เห็นความเดือดร้อน ความเป็นจริง ของเพื่อน ๆ พี่น้องของเรา
วันหนึ่ง ได้จบลง วันนี้คงหลับอย่างมีความสุข เติมพลังไว้สู้โลกอันโหดร้ายในวันพรุ่งนี้
ปล. ที่บอกว่าผมคือกงยูเมืองไทย บอกบ่อย ๆ เข้า พวกคุณเริ่มเคลิ้มแล้วใช่ไหม

ส่องกล้องเร็วหรือช้า ฉบับเข้าใจง่าย

เวลาที่คุณหรือคนที่คุณรัก มีอาการเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน แล้วจะอย่างไรต่อ ...

ตามมาตรฐานการรักษา จะต้องดูแลเรื่องทางเดินหายใจว่าไม่มีการสำลักเลือด ต้องดูแลเรื่องระบบไหลเวียนว่าจะไม่ช็อก ต้องมีการประเมินระบบไหลเวียนเลือด มีการให้เลือด ให้สารน้ำ แยกแยะว่าเป็นเลือดออกด้วยเหตุใด และให้ยารักษาเหตุนั้น เช่น
▪เลือดออกจากแผล ให้ยาลดกรด
▪เลือดออกจากหลอดเลือดดำหลอดอาหารโป่งพอง ให้ยาตีบหลอดเลือด

แน่นอนว่าหากฉุกเฉินมาก คงต้องเข้ารับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยหยุดเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ มากมายหรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด หรือฉีดสีไปอุดเลือดทางหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงกระเพาะอาหาร

แต่ถ้าไม่ถึงกับอันตรายถึงชีวิตทันที แต่ก็เสี่ยงสูงที่จะเกิดเลือดออกซ้ำหรืออันตรายต่อเนื่อง บางทีก็ไม่ต้องส่องกล้องทันทีทันใด แนวทางต่าง ๆ ในปัจจุบันแนะนำให้เข้ารับการตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบนภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อพร้อม หมายถึงเมื่อให้ยา ให้เลือด ตระเตรียมให้ปลอดภัย เพราะวัตถุประสงค์หลักของการส่องกล้องคือ การตรวจหาสาเหตุเลือดออก และช่วยหยุดเลือดที่ยังไหลต่อเนื่องหลังจากรักษาเบื้องต้นแล้ว

แล้วถ้าส่องกล้องเร็วกว่านั้น คือ ภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากได้รับปรึกษา จะให้ผลดีไหม มีการศึกษาจากฮ่องกงลงตีพิมพ์ใน NEJM เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ว่าหากนำผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงแต่พอรอได้ มาจัดกลุ่มว่าส่องกล้องเลยภายใน 6 ชั่วโมง เทียบกับการส่องกล้องใน 24 ชั่วโมงตามปรกติ

พบว่าอัตราการเสียชีวิต โอกาสเกิดเลือดออกซ้ำ การเข้ารับการผ่าตัดในกลุ่มส่องกล้องทันทีใน 6 ชั่วโมง สูงกว่ากลุ่มรักษาตามปรกติ แต่ไม่มีนัยสำคัญ

คงจะพอบอกได้ว่า หากไม่ได้อันตรายเร่งด่วนถึงแก่ชีวิต การส่องกล้องเร็วทันทีก็ไม่ได้ช่วยให้ผลลัพธ์ได้ดีมากขึ้น น่าจะเหมาะกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่ไม่สามารถส่องกล้องได้แบบ 24 ชั่วโมงและทุกโรงพยาบาล การดูแลเบื้องต้นและจัดเตรียมคนไข้ให้ดี ก่อนไปส่องกล้องทางเดินอาหาร จะยังให้ผลที่ดีเช่นกัน

ผมเขียนอธิบายและวิจารณ์วารสารเอาไว้ที่
https://medicine4layman.blogspot.com/2020/04/blog-post_18.html
ใครอ่านแล้วมาให้ความเห็นกันได้นะครับ

ส่องกล้องเร็วหรือช้า ต่างกันไหม

วารสาร New England Journal of Medicine ได้ลงตีพิมพ์งานวิจัยจากฮ่องกง เมื่อ 2 เมษายน 2563  เกี่ยวกับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน ว่าถ้าหากทำเร็วภายใน 6 ชั่วโมง เทียบกับแนวทางมาตรฐานคือภายใน 24 ชั่วโมง ผลอัตราการเสียชีวิตจะต่างกันเพียงใด
"Timing of Endoscopy for Upper Gastrointestinal Bleeding"

หลักการเดิมคือ การส่องกล้องเร็วจากแนวทางทั่วไปคือ พยายามทำให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง วัตถุประสงค์หลักคือ ไม่ให้เลือดออกมาก ลดโอกาสเลือดออกซ้ำและลดการเข้ารับการผ่าตัด แต่ว่าไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมนัก การศึกษาจากฮ่องกงนี้ตั้งสมมติฐานว่าในผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงนั้น หากส่องกล้องเร็วรักษาเร็ว น่าจะลดอัตราการเสียชีวิตได้

ศึกษาโดยใช้ผู้ป่วยเลือดออกทางเดินอาหารที่ชัดเจนและเสี่ยงสูงจากการใช้ระบบคะแนน Glasglow Blatchford Score ตั้งแต่ 12 ขึ้นไป มาเข้าร่วมการศึกษาทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยที่อยู่รักษาเดิมด้วยโรคใดก็ตาม (เป็น confounder ที่สำคัญในการคิดอัตราการเสียชีวิต) โดยไม่นับผู้ป่วยที่ระบบไหลเวียนไม่คงที่หรือเลือดออกมากจนต้องส่องกล้องหรือผ่าตัดทันที (เป็น bias ที่สำคัญอีก เพราะกลุ่มที่เอาออกไปนี่แหละ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง)

นำผู้ป่วยมาแบ่งกลุ่มโดยใช้การแบ่งกลุ่มจากส่วนกลางผ่านออนไลน์ (น่าจะมาลด bias และเพิ่ม allocation concealment เพราะเป็นการศึกษาที่ต้องมีการทำหัตถการเทียบกับการไม่ทำ) แบ่งเป็น
  • คนที่เข้าส่องกล้องเลยภายใน 6 ชั่วโมง (โรงพยาบาลที่เข้าร่วมการศึกษาจะมีศักยภาพทำได้ตลอด) หลังจากที่ทีมแพทย์ส่องกล้องได้รับได้รับปรึกษา
  • คนที่เข้าส่องกล้องใน 6-24 ชั่วโมงหลังทีมแพทย์ส่องกล้องได้รับคำปรึกษา ถ้าปรึกษาทันในช่วงกลางคืน ส่องกล้องเช้า ถ้าปรึกษาตอนสายตอนบ่าย ก็ยกยอดไปพรุ่งนี้
ทั้งสองกลุ่มได้การรักษาแบบอื่น ๆ ด้วยมาตรการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้เลือดเมื่อถึงเกณฑ์  การให้ยาลดกรด  การทำหัตถการผ่านกล้อง (ถึงแม้แนวทางเดียวกัน แต่วิธีจริงจะต่างกันตามคุณหมอแต่ละคน แต่ละที่)

ติดตามดูอัตราการเสียชีวิตที่ 30 วัน ส่วนผลการศึกษารอง (น่าสนใจกว่า เพราะเป็นวัตถุประสงค์ของการส่องกล้อง) คือ เลือดออกต่างกันไหม ต้องเข้าผ่าตัดต่างกันไหม  ให้เลือดต่างกันไหม  มามองผลการศึกษาหลักคืออัตราการเสียชีวิต ที่มีตัวแปรปรวนสำคัญคือ โรคร่วมเดิมเพราะมีคนไข้หลายคนที่นอนโรงพยาบาลอยู่เดิม เขาอาจจะแย่ลงจากโรคของเขา ไม่ใช่จากการแยกกลุ่มก่อนหลังหกชั่วโมง  อีกประการคือลักษณะแผลและการรักษาผ่านกล้องที่ให้  มีผลต่ออัตราการเสียชีวิต  ในเมื่อมีข้อสำคัญนี้ คงจำเป็นต้องคิดแยก ไม่ว่าจะเป็น prespecified analysis หรือ subgroup analysis.. ซึ่งผมไม่พบในการศึกษานี้

ผู้วิจัยตั้งตัวเลขว่าอัตราการเสียชีวิตที่ 30 วัน คือ 16% จากการศึกษาที่ผ่านมา ก็นับว่าสูงมากทีเดียว ถ้าเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากเลือดออกทางเดินอาหารยุคปัจจุบัน ถ้าแอบดูตัวเลขจริงในฝั่งที่ส่องกล้องตามปรกติในการศึกษานี้คือ 6.6% เท่านั้น 

เรามาดูผลกัน

ส่วนมากเป็นแผลในกระเพราะอาหาร ค่า Glasglow-Blatchford Score ที่ 13 ..สองข้อนี้บอกว่ากลุ่มที่นำมาศึกษาไม่ได้รุนแรงมากนัก  ระยะเวลาที่เลือดออกกว่าจะมาถึงทีมคือ 7.5 ชั่วโมง (แสดงว่าร่างกายต้องทนได้ระดับหนึ่งเลย เป็น bias ที่สำคัญ) 

อัตราการเสียชีวิตที่เป็นผลการวิจัยหลักพบว่า กลุ่มส่องกล้องทันทีเสียชีวิตมากกว่าเล็กน้อย แต่ว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 8.9% กับ 6.6%

ผลการวิจัยรอง
  • การทำหัตถการผ่านกล้อง กลุ่มที่ส่องกล้องทันที ได้รับการทำหัตถการต่าง ๆ มากกว่ากลุ่มส่องกล้องทีหลัง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (อย่าลืมว่า ทำมากกว่าแต่ผลพอ ๆ กัน) อันนี้มีเหตุผลพอจะสนับสนุนได้ว่า การให้ยาลดกรดก่อนส่องกล้อง จะช่วยลดโอกาสทำหัตถการต่าง ๆ ในการหยุดเลือดให้น้อยลงได้
  • การให้เลือด ไม่ต่างกัน
  • สามารถหยุดเลือดได้ทันทีไหม ต้องใช้วิธีช่วยหรือผ่าตัดไหม พบว่าการเกิดเลือดออกซ้ำทั้งในเจ็ดวันแรกและสามสิบวันแรก พบมากกว่าในกลุ่มส่องกล้องทันที เพียงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

มาดูผลที่ผมว่าสำคัญอีกประการ คือ เวลาที่ใช้เมื่อต้องปรึกษาทีมส่องกล้อง เพราะหลักของงานวิจัยที่กำหนดว่า การส่องกล้องทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่หลังจากทีมส่องกล้องได้รับคำปรึกษาแล้ว ไม่ได้นับตั้งแต่เกิดอาการ จุดนี้ผมว่าอาจจะเอามาช่วยอธิบายสถานการณ์ที่การส่องกล้องไม่ได้มีตลอดเวลาหรือไม่ได้มีทุกที่ จำเป็นต้องส่งต่อไปส่องกล้องในสถานที่อื่น 
ระยะเวลาจากการรับปรึกษาถึงส่องกล้อง ถ้าในกลุ่มทำเลย ระยะเวลาที่ 2.5 ชั่วโมง ทำเร็วจริงนะครับ ส่วนระยะเวลาในกลุ่มทำปรกติอยู่ที่ 16 ชั่วโมง ก็ไม่ถือว่าช้านะ

น่าจะแปลผลว่า สุดท้ายแล้วก็ได้ทำเร็ว ในกลุ่มที่ทำทันที จะมีการทำหัตถการสูงกว่า แต่สุดท้ายไม่ได้เปลี่ยนผลลัพธ์สักเท่าไรนัก

สรุปว่าหาก มีอาการเลือดออกทางเดินอาหารชัดเจน เสี่ยงสูง แต่ไม่ถึงกับช็อกหรืออันตรายทันที การส่องกล้องเลยหรือส่องภายใน 24 ชั่วโมงดูผลไม่ต่างกันมากนัก  แต่อย่าลืมว่า หกหรือยี่สิบสี่ชั่วโมง คือนับจากเริ่มปรึกษาทีมหมอส่องกล้อง ไม่ได้เริ่มจากจุดเริ่มอาการหรือจุดเริ่มช่วยเหลือ มันเป็นมุมมองจากผู้ส่องกล้อง  ไม่ใช่จากมุมมองผู้ป่วยโดยตรง

พอจะบอกได้ว่า  ก็พอรอได้นะ ให้เตรียมตัวให้พร้อมก่อน ได้ยาได้เลือดให้ดี ไม่ต้องรีบมากก็ได้ (ไม่รู้บอกคนไข้หรือบอกหมอ)

ใครเห็นต่างอย่างไรมาบอกได้นะครับ

venus ที่มาของ venereal disease

Aphrodite : เทพสาวของชาวกรีก 

หลายพันปีก่อน โลกเราตกอยู่ในการปกครองของเทพในวงศ์ไตตัน พวกไตตันนั้นตัวใหญ่ ปกครองโลกมานาน ทั้งที่ตอนแรกบอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน จนมาถึงผู้ปกครองยุคล่มสลาย ..ยูเรนัส 

ยูเรนัส แกครองความยิ่งใหญ่มานาน ก็เลยลงจากหลังเสือไม่ได้ (ไม่ได้แซวใครเด้อ) แถมยังกลัวลูกตัวเองจะมาแย่งตำแหน่งราชาแห่งท้องฟ้าด้วย 

คุณยูเรนัสก็อยู่ไม่สุขสิครับ  จับลูกตัวเองขังไว้หมด เดือดร้อนไปถึงแม่ของลูกคือ ไกอา ไกอาเลยสร้างอาวุธที่จะประหารยูเรนัสเรียกว่า "เคียวแห่งไกอา" และให้ลูกชายคนหนึ่งของยูเรนัสชื่อคุณโครนอส  เป็นคนสังหารยูเรนัสโดยใช้เคียวแห่งไกอานี้เอง... สังหารเอามรดกชัด ๆ 

เมื่อได้เวลาเหมาะ คุณโครนอส (เป็นพ่อของซูส) ก็ฟันฉับเข้าให้ ฟันที่ไหน หึหึ เมื่อใช้เคียวก็ต้องฟันที่ .. อวัยวะเพศของยูเรนัส ไม่น่าเชื่อ ตายเลยครับ สมมุติฐานผมคือน่าจะเสียเลือดมากเพราะเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น

ชิ้นส่วนสำคัญของยูเรนัส ตกไปในเล้าเป็ด.. ไม่ใช่ละ ตกไปในทะเล ก็บังเกิดเป็นฟองเหนือผิวน้ำจำนวนมหาศาล ก่อร่างรวมตัวกันเป็นสตรีมีชื่อว่า Aphrodite หรือเทพีแห่งความงาม แต่ก็ไม่ใช่งามอย่างเดียว

ต้นกำเนิดของ aphrodite มาจากส่วนที่มีพลังทางเพศ ดังนั้น Aphrodite จึงไม่ได้หมายถึงสวยเท่านั้น แต่หมายถึงพลังดึงดูดทางเพศที่แรงกล้า เสน่ห์ยวนเย้า ทั้งรูปร่าง สายตา ท่วงท่าลีลา เรียกว่า ได้พลังจากแหล่งกำเนิดมาครบถ้วน 

แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับ อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว

ก็เพราะว่า ในตำนานโรมันเขาก็มีเทพีวีนัส ที่เชื่อว่าก็คนเดียวกับ Aphrodite นี่แหละ เหมือนกับ ซูสเป็นคนกรีก พอลักลอบเข้าเมืองโรมันก็เปลี่ยนชื่อเป็นจูปิเตอร์  หรือ เทพเจ้าสงครามชาวโรมัน มารส์ เมื่อย้ายไปทำมาหากินที่กรีกก็เปลี่ยนชื่อเป็น แอรีส

ลุงหมอตอนอยู่ที่เกาหลี ก็ชื่อ กงยู 

เอาล่ะ แสดงว่าคุณวีนัสก็เป็นสาวเซ็กซ์แอพพีลสูงมาก เสน่หาเย้ายวน ดังเช่นรูปประกอบเลย  venus จึงเป็นที่มาของคำว่า venereal disease ที่แปลว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั่นเอง เล่ามายืดยาวก็เพื่อจะสรุปแค่นี้แหละครับ venus ที่มาของ venereal  ถ้าใครจำอะไรไม่ได้ก็ขอให้จำประโยคนี้ก็พอ (ประโยคด้านล่างนะ)​

"ลุงหมอตอนอยู่ที่เกาหลี ก็ชื่อ กงยู"

17 เมษายน 2563

cellulitis จากการฉีดน้ำอสุจิ

ของเรา แต่อยู่ผิดที่ผิดทาง จะถือว่าเป็นของเราอยู่ไหม
ร่างกายมีระบบจดจำสิ่งแปลกปลอมและระบบป้องกันที่ต่างกัน แบคทีเรียเจ้าถิ่นในลำไส้ หากเคลื่อนที่ไปอยู่ผิดที่ในช่องท้องทำให้เกิดโรคได้ แบคทีเรียในปากหากสำลักไปอยู่ในปอดก็ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมและเกิดปอดอักเสบได้ เรียกว่าเป็นโรคติดเชื้อ แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ
อ่านข่าวนี้มาจากเว็บไซต์ sciencealert คิดว่าจริงหรือไม่ เลยไปค้นจากแหล่งที่มา โพรงหนองใต้ผิวหนังที่เกิดมาจากการฉีดน้ำอสุจิ
เป็นการรายงานผู้ป่วยจากวารสาร Irish Medical Journal โดยด็อกเตอร์ L. Dunne ตีพิมพ์เดือนมกราคม 2019 ผู้ป่วยชายอายุ 33 ปี มีประวัติยกของหนักและผิดท่า ทำให้ปวดหลังมานาน ครั้งนี้ก็ปวดรุนแรงหลังจากยกของหนักอีก การตรวจร่างกายทางระบบประสาทปรกติ ไม่พบการกดเบียดไขสันหลังหรือเส้นประสาท การตรวจร่างกายระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ พบการอักเสบที่แผ่นหลัง แต่ที่พบมากขึ้นคือ
รอยแดงที่ท่อนแขนของชายผู้นี้ ตรวจว่าเป็นผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ cellulitis บวมแดงมาก และมีร่องรอยแบบเดียวกันที่ต้นขาสองข้าง ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเขาฉีด "น้ำอสุจิ" ของตัวเองโดยใช้เข็มฉีดยา เข้ากล้ามบ้าง พยายามฉีดเข้าหลอดเลือดบ้าง โชคดีที่เป็นเข็มแบบสั้นฉีดใต้ผิวหนังจึงไม่ได้ลึกมากนัก เขาฉีดมาตลอดหลายเดือน เพราะเชื่อว่าจะรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังของเขาได้ !!
ตรวจพบการอักเสบจริง เอ็กซเรย์พบลมแทรกในชั้นใต้ผิวหนังจริง จึงได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ แต่ผู้ป่วยก็ขาดการติดตามไป ไม่รู้ว่าจบแบบใด
การฉีดยาโดยไม่มีความเชี่ยวชาญ อันตรายมากนะครับ อาจเกิดสารเคมีหรือลมหลุดเข้าหลอดเลือด อันตรายมาก หรือทำความสะอาดไม่ดี ติดเชื้อถึงตายได้ อีกอย่างการฉีดสารจากร่างกายเราเองแต่ว่าผิดที่ ผิดแบบ ก็เกิดอันตรายรุนแรงได้เช่นกัน ที่อยู่ตามธรรมชาติของน้ำอสุจิไม่ใช่ใต้ผิวหนังนะครับ และวิธีนำเข้าร่างกายก็ไม่ใช่ฉีดผ่านหลอดฉีดยาแบบนี้ด้วย
กรุณาใช้ให้ถูกวิธีด้วยจ้ะ

GINA SARs-CoV 2

ประกาศจาก GINA
ผู้ป่วยโรคหืด ที่ได้รับยาสูดพ่นเพื่อควบคุมอาการในระยะยาว
**ไม่ควรหยุดยา แม้ในช่วงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARs-CoV 2 ระบาด**
ไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาสูดขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์ยาว หรือยาสูดสเตียรอยด์ก็ตาม การหยุดอาจทำให้โรคกำเริบได้ แนะนำใช้ยาต่อ หากมีข้อสงสัยกรุณาปรึกษาแพทย์ อย่าหยุดยาเอง
GINA : Global INitiative for Asthma คณะทำงานจากทั่วโลกที่ออกแนวทางการรักษาโรคหืด เราใช้แนวทางนี้ในการรักษาโรคหืดพร้อมกันทั่วโลก และตอนนี้มี GINA 2020 ออกมาให้ดาวน์โหลดแล้วครับ

16 เมษายน 2563

ขอเชิญบริจาคเลือดครับ

ขอเชิญบริจาคเลือดครับ
ในช่วงที่ทุกคนงดออกจากบ้าน ปริมาณเลือดบริจาคลดลงอย่างรวดเร็ว คนบริจาคน้อยลง
ท่านสามารถไปบริจาคเลือดได้ที่จุดบริการใกล้บ้านท่าน โรงพยาบาลจังหวัด หรือแม้แต่จุดบริจาคในห้างสรรพสินค้าก็เปิดทำการ
การบริจาคเลือดไม่ได้ทำให้ท่านเสี่ยงติดเชื้อโควิดมากขึ้น
เวลาออกจากบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย และต้องมั่นใจว่าตัวเองแข็งแรงดี ไม่ป่วยและไม่เสี่ยง
ที่ศูนย์บริการ มีการป้องกันอย่างดี มีฉากกั้นเวลาวัดความดัน ซักประวัติ วัดไข้ เจาะเลือด พื้นที่รอเว้นระยะห่าง มีอุปกรณ์ล้างมือ
เตียงมีการทำความสะอาด มีหน้ากากผ้าให้ มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันแบบใช้แล้วทิ้ง เช่นถุงพลาสติก เวลารองแขนก่อนใส่สายรัด ลูกยางมีการห่อพลาสติก หรือสวมถุงมือ
เจ้าหน้าที่สวมหน้ากาก ล้างมือ
้เรียกว่าปลอดภัยในทุกจุดบริการครับ
ท​่านสามารถไปบริจาคโลหิตตามรอบการบริจาค หรือจะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ด้วยวิธีนี้ก็ได้นะครับ
วันนี้ก็ไปบริจาคมาครับ

บทความที่ได้รับความนิยม