18 มีนาคม 2559

แบบประเมินอาการโรคถุงลมโป่งพอง



แบบประเมินอาการโรคถุงลมโป่งพอง(COPD Assessment Test) หรือ CAT เป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ใช้ประเมินอาการผู้ป่วยในแต่ละครั้ง

ทำไมต้องใช้แบบทดสอบด้วย เพราะว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองนั้น ไม่เคยมีใครเหนื่อย ไม่เคยมีใครหอบ ทุกคนทำงานหรือใช้กิจวัตรประจำวันของตนได้เป็นอย่างดี ที่ผมบอกแบบนี้เพราะว่าเวลาที่คุณหมอหรือคุณพยาบาลถามคนไข้นั้น คนไข้ใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเองที่ไม่ได้ออกแรงมาตอบครับ
คนไข้กลุ่มนี้จะไม่สามารถออกแรงได้มาก เลยไม่ออกแรง จำกัดกิจวัตรประจำวันของตัวเอง ทำให้เขาไม่เคยเหนื่อยเลยเวลามาตรวจที่รพ. แล้วได้รับคำถามว่าเหนื่อยไหม คำตอบที่ได้คือ ไม่เหนื่อยทุกครั้งไป

และกิจวัตรแต่ละช่วงของปีก็ไม่เหมือนกัน เวลาถามแต่ละช่วงของปีก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เช่นช่วงสงกรานต์ก็เหนื่อยมากเพราะลูกหลานมาพาเดิน พาเที่ยวบ่อย ช่วงเข้าพรรษาก็ไม่เหนื่อยเพราะนั่งสมาธิอยู่แต่ในวัด ทำให้การสอบถามในแต่ละครั้งเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย เราจึงได้ใช้แบบสอบถามที่เป็นสากลทั่วโลกมาถามและเป็นอันเข้าใจถึง คะแนนความเหนื่อย ในโรคถุงลมโป่งพองนี้
แบบทดสอบมีสองแบบเลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง คือ CAT และ mMRC (modified Medical Research Council dyspnea scale) ใช้ได้พอๆกันครับ ถ้าท่านอ่านออกทำเองได้ก็นั่งทำก่อนจะไปคุยกับหมอ ในแต่ละนัด ผู้ป่วยหลายท่านอ่านไม่ออก มองไม่ชัด หรือ ไม่เข้าใจคำถามก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ คำถามนี้ท่านสามารถทำเองที่บ้านเพื่อเป็นการติดตามอาการของตัวเองได้นะครับ ถ้าอาการดีขึ้นคะแนนก็จะลดลงๆ

เราใช้เกณฑ์ CAT มากกว่าหรือเท่ากับ 10 คะแนน หรือ mMRC มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ในการจัดแยกผู้ป่วยอาการมากหรืออาการน้อย เป็นเครื่องมือง่ายๆที่ใช้ประเมินทั้งคุณหมอและตัวคนไข้เอง จริงๆแล้วการประเมินที่ละเอียดขึ้นไปก็จะต้องมีเรื่องของการวัดแรงลมและประวัติการกำเริบร่วมกันครับ
วันนี้ผมเลยเอาแบบทดสอบทั้งสองแบบมาฝากกัน CAT เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทแกล็กโซสมิทไคลน์ ต้องให้เครดิตเขาด้วยครับ ส่วน mMRC ผมเอามาจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยครับ ท่านสามารถไปดาวน์โหลดมาได้ครับใช้กับคนไข้ก็ได้ หรือตัวคนไข้เอาไว้ใช้ประเมินอาการตัวเองก็ได้ ผมว่าง่ายดีและเป็นสากลพูดกันภาษาเดียวกันครับ

http://www.catestonline.org/
ที่มา : COPD GOLD guideline 2016
: บทความเรื่อง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ของ อ.เบญจมาศ ช่วยชู ในอายุรศาสตร์ทันยุค 2558 ศิริราช


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม