30 ธันวาคม 2564

first aid in convenient store

 first aid in convenient store

หยุดยาวปีใหม่ ก็อาจเข้าไปปฐมพยาบาลในร้านสะดวกซื้อได้นะครับ

โพสต์นี้ไม่ได้มุ่งหวังให้มาซื้อยาในร้านสะดวกซื้อ หรือไม่ไปหาหมอนะครับ แต่เนื่องจากร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และร้านยาก็อาจจะปิดในช่วงปีใหม่ ค่ำมืดดึกดื่น เวลาเดินทางไปไหน ก็ได้อาศัยร้านสะดวกซื้อพอบรรเทาอาการพอได้ครับ ย้ำ..แค่ปฐมพยาบาลเท่านั้นนะ

1.เป็นแผลเล็กน้อย สามารถมาซื้อน้ำเกลือล้างแผล ชุดทำแผลอย่างง่ายที่มีสำลี ผ้าก๊อซ ปากคีบ ทั้งแบบเป็นชุดและแยกขาย เมื่อมาใช้กับน้ำเกลือ สามารถปฐมพยาบาลแผลถลอก แผลฉีกขาดเล็กน้อย ใช้ทำความสะอาดบาดแผล กดห้ามเลือดและทายา

2.น้ำเกลือล้างแผล จะบรรจุในขวดปลอดเชื้อ มีหลายขนาดทั้งแบบเทและแบบบีบเป็นสายน้ำเล็ก ๆ สามารถใช้ล้างแผล ล้างตาเวลาผงเข้าตา สบู่ยาสระผมเข้าตา ล้างคอนแท็กเลนส์ ล้างแผล อ้อ...เราไม่ใช้ยาใส่แผลสด ใส่แผลตรง ๆ นะครับ เราใช้น้ำเกลือนี่แหละ ราด ฉีดล้าง ทำความสะอาดจนเกลี้ยง

3.ยาฆ่าเชื้อใส่แผล ที่วางขายจะมียาโพวิโดนไอโอดีน ใช้ทารอบแผลก่อนปิดแผล และสามารถใช้ทาเท้าลดอาการเท้าเหม็น (เวลาเดินทาง) ได้ด้วย อีกอย่างคือ 70% แอลกอฮอล์ ขวดน้ำสีฟ้า ๆ ใช้ล้างแผลทารอบแผล ชุบสำลีทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้แอลกอฮอล์ได้

4.อาการปวดจุกแน่นท้อง ท้องอืด แสบท้อง สามารถเข้าไปซื้อ alum milk มีวางขายอยู่สองสามยี่ห้อ ตัวไหนก็ได้ครับ แบบน้ำกลิ่นหอมกินง่าย ยาอื่นที่มีคือ simethicone ยาลดอาการท้องอืด ขับลม ในชื่อการค้าเช่นแอร์เอ็กซ์ สารพัดรสชาติ ใช้ได้เหมือนกันหมด หรือแอนตาซิลแบบเม็ด สามารถใช้บรรเทาได้ประมาณหนึ่ง อย่าลืมเคี้ยวก่อนกลืน หรือใครชอบสมุนไพร ก็มีขมิ้นชันเม็ดมาช่วยลดอาการได้ครับ

5.อาการปวด ไม่ว่าจะปวดฟัน ปวดหัว ปวดข้อ ปวดเมื่อย ปวดใจ..ความรักไม่คืนกลับมา อยู่ไปก็เสียเวลา สามารถบรรเทาได้ด้วย พาราเซตามอล อย่าได้ดูเบายาพารานะครับ ในร้านสะดวกซื้อมีหลายยี่ห้อ ใช้ได้หมดเลยครับ ขนาดยาจะเท่ากันคือเม็ดละ 500 มิลลิกรัม และมีแบบน้ำเชื่อมสำหรับเด็กด้วยนะครับ อย่าลืมอ่านฉลากและคำนวณขนาดยาให้เด็กน้อยด้วย

6.อาการปวดเหมือนกัน แต่เป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น เพิ่งไปเตะบอลมา ปวดเมื่อยมาก สามารถใช้ยาทาภายนอกเพื่อช่วยลดปวด แบบบีบนวด ทาถูทาถู ก็มีหลายแบบให้เลือก แบบขี้ผึ้งเช่นยาหม่อง หรือแบบครีมแบบร้อนแบบเย็น ใช้ได้เหมือนกัน ระวังอย่าให้เข้าปากเข้าตา หรือใครอยากใช้ครีมสมุนไพร เราก็มีไพล รูปแบบสำเร็จ วางขายในร้านสะดวกซื้อเช่นกัน

7.แมลงกัด แมลงต่อย สามารถใช้ยาหม่องมาทาแก้ปวดแก้คันได้ หรือใครชอบแบบแป้งทา ก็สามารถซื้อยาน้ำคาลาไมน์มาทาได้เช่นกัน ใช้ยาแก้ปวดลดปวดด้วย ไปเที่ยวไหนก็พอบรรเทา หรือจะซื้อยาจุดกันยุงไล่แมลง หรือยาทาป้องกันยุงและแมลงก็เป็นทางเลือกที่ดี

9.เมารถ เมาเรือ เวลาเดินทางจะลำบาก เที่ยวไม่สนุก สามารถหาซื้อยา dimenhydrinate แบบเม็ดมาบรรเทาอาการ ได้ทั้งก่อนมีอาการ และหลังมีอาการ นอกเหนือจากนี้ ยาตัวนี้ยังสามารถใช้รักษาอาการผื่นแพ้ คัน น้ำมูกไหลจากอาการแพ้ เรียกว่าพอใช้ได้ ในสถานการณ์ที่เฉพาะหน้าได้เช่นกัน

10.อันนี้สำคัญ เรื่องท้องเสีย ถ่ายเหลว หลายคนจะซื้อน้ำเกลือแร่มาดื่มเพื่อชดเชยการเสียน้ำ แต่ !!! น้ำเกลือแบบผงที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ เกือบทั้งหมดเป็นผงเกลือแร่สำหรับเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายนะครับ หาใช่เพื่อถ่ายเหลวไม่ ต้องดูฉลากให้ดี ในกรณีไม่มีผลเกลือแร่สำหรับท้องเสีย ให้เดินไปที่ตู้น้ำดื่มและดื่มน้ำเปล่าครับ ซื้อเวลาก่อนจะหาผงเกลือแร่สำหรับท้องเสีย หรือถ้าอาการไม่มาก ถ่ายเหลวไม่มาก ก็ดื่มน้ำเปล่าได้ครับ

อย่าลืมว่านี่คือการปฐมพยาบาลเท่านั้น หากอาการรุนแรงหรือสังเกตอาการแล้วไม่ดีขึ้น ให้ไปที่โรงพยาบาลนะครับ ถ้าคิดไม่ออกก็โทร 1669 ได้ตลอดเวลาทั่วราชอาณาจักร

“เจ็บเมื่อไรก็โทรมา อย่าคิดว่าเป็นคนอื่นไกล สังเกตอาการไม่ดีเท่าไร จะทนทำไม รีบโทรมารับ”

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ผู้คนกำลังยืน

2564 ปีที่เรายากลำบากกันอีกปี

 อีกไม่กี่วัน เราก็จะผ่านพ้นปี 2564 ปีที่เรายากลำบากกันอีกปี

เราใช้ชีวิตลำบาก เราต้องเผชิญกับโรคระบาดและผลของโรคมากมาย เราทุกข์ เราอึดอัด เราเหนื่อย แต่เราอย่าท้อเลยครับ ยังมีคนที่ยากลำบากและต้องอดทนกว่าชาวเราอีกมาก

กว่าหกปีที่เพื่อนรักของผมและครอบครัวของคุณหมอ ต้องอดทนและต่อสู้ ต้องอยู่กับปัจจุบันและความจริง คุณหมอธัชพงษ์ ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองแตกและสู้กับผลของโรคมากว่าหกปี คุณหมอและครอบครัวยังสู้อย่างอดทน ครอบครัวไม่เคยทอดทิ้ง ยังเปี่ยมไปด้วยแรงหวังและแรงใจที่จะสู้ต่อไป

สิ่งใดกันเล่า จะเลอค่าไปกว่า แรงใจ กำลังใจที่ยังคิดถึง รำลึกถึงและห่วงใย แม้เงื่อนไขและระยะทาง จะทำให้เราต้องเว้นว่างห่างไกล แต่ความพันผูกในใจยังไม่เคยเสื่อมคลาย

ในวันคล้ายวันเกิดของผมในปีนี้ ขอให้บุญกุศลที่ได้ทำทั้งหมดทั้งสิ้น ทั้งจากการรักษาพยาบาลผู้คนก็ดี การให้ความรู้ความกระจ่างกับเพื่อนพี่น้องทั้งหลายก็ดี โปรดจงส่งถึงและบันดาลให้คุณหมอธัชพงษ์ มีแรงใจแรงกายเพื่อต่อสู้โรคต่อไป และขอให้ครอบครัวคุณหมอ สุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ ดูแลกัน ดูแลครอบครัว อย่างที่ไม่เคยทิ้งกัน ตลอดมาและตลอดไป

หลายครั้งที่ผมท้อแท้ หมดแรงใจทำงาน ก็ยังคิดถึงว่าครอบครัวของคุณหมอ ยังไม่เคยท้อแท้และสู้ต่อเนื่องด้วยรักและศรัทธา สิ่งนี้เป็นแรงใจของผมอย่างล้นเหลือเลยครับ

ขอให้เพื่อนรักดีวันดีคืน และขอให้พวกคุณทุกคน มีแรงใจสู้ชีวิตต่อไปในปีหน้า ปีเสือดุนี้ครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน, ผู้คนกำลังยืน, ท้องฟ้า, มหาสมุทร และ ชายหาด

28 ธันวาคม 2564

US FDA อนุมัติการใช้ยา molnupiravi

 US FDA อนุมัติการใช้ยา molnupiravir (กรณีฉุกเฉิน)​ เป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ อายุ 18 ปีขึ้นไป และห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์

ในการรักษาโควิด-19 อาการไม่รุนแรง เพื่อลดการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล โดยใช้ยาเร็ว ใช้ยา 5 วัน

หลังจากสัปดาห์ก่อน อนุมัิติ Nirmatrelvir/ritonavir ไปเรียบร้อย

เราน่าจะรบกับโควิดได้สูสี แะแนวโน้มน่าจะชนะ (คืออยู่ร่วมกันได้)​ ในอีกไม่นาน

26 ธันวาคม 2564

พุทรา

 พุทรา

ผลไม้ที่วิตามินซีสูงมาก มีไฟเบอร์สูง เปรี้ยวอมหวาน

โปตัสเซียมก็สูงเช่นกัน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องจำกัด K ต้องระวัง

วันนี้ ไปเยือนแหล่งพุทรานมสด ที่วังน้ำเขียว ราคาไม่แพง สีขาวนวลเหมือนนมสด

คุณชอบแบบไหนตามรูป แบบนมใหญ่ หรือนมเล็ก

อาจเป็นรูปภาพของ ผลไม้

25 ธันวาคม 2564

คู่มือเขียนพินัยกรรม กฎหมายมรดก

 ป้ายยา "คู่มือเขียนพินัยกรรม กฎหมายมรดก" อธิบายเรื่องสุดยากให้ง่ายขึ้น

เรื่องราวของกฎหมาย นับว่าเป็นยาขมสำหรับหลาย ๆ คน ศัพท์แสงที่เข้าใจยาก การตีความตามกฎหมาย คำจำกัดความที่ต้องเคร่งครัด ทำให้หลายคนเลือกจะไม่สนใจ แม้จะเป็นเรื่องที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน

เรื่องราวของกฎหมายครอบครัวและมรดก เป็นหนึ่งในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ซับซ้อนและมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย แถมบางอย่างก็ดู 'ขัด' ความรู้สึกที่เราคุ้นชิน (เพราะเราไม่เคยทราบมาก่อน) ทำให้ยาก ยิ่งเรื่องราวของมรดก ทายาทพินัยกรรม ทายาทโดยธรรม ทำให้นักเรียนกฎหมายเกาหัวตอนสอบมานักต่อนัก

คุณขจรพัฒน์ ได้เรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับมรดก ในรูปแบบต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างที่มีพื้นฐานจากคดีจริง เรื่องจริง เอามาแปลงให้เข้าใจง่าย เล่าเรื่องราวข้อเท็จจริง ต่อด้วยอธิบายข้อกฎหมายไปคู่กัน ทำให้เราถึงบางอ้อได้ง่ายมาก ต่อให้คนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมายมาก่อนก็ตาม

ต่อด้วยเรื่องราวของพินัยกรรม ทั้งตัวอย่างเรื่องราวที่อ่านง่าย อธิบายง่าย มีประมวลกฎหมายมาประกอบ บอกก่อนว่า 'ง่ายนิดเดียว' ตามสไตล์ที่ท่านนิยมอ่านในเพจนี้เลยครับ

หนังสือแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ เรื่องราวที่เกิดเป็นคดีความ และเกิดบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันเสียด้วย ผัวน้อย เมียหลวง ลูกนอกสมรส ลูกในสมรส ลูกบุญธรรม มรดกหนี้สิน มรดกทรัพย์สิน พินัยกรรมไม่เป็นอย่างที่คิด อ่านแล้วจะค่อย ๆ แกะความเข้าใจทีละส่วน ให้เข้าใจหลักคิดของกฎหมายครับ

ส่วนที่สองจะเป็นวิธีการเขียนพินัยกรรม แบบ how to จับมือสอน อ่านเสร็จทำได้เลยให้ถูกต้องสมบูรณ์ บริบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ โมฆียะ โมซาล่าห์ ว่าจะทำอย่างไร ไม่จำเป็นต้องใกล้ถึงวันนั้นแล้วค่อยทำ หรือต้องเป็นเถ้าแก่ห้าหมื่นล้านจึงทำ พวกท่านพวกเราทำได้ทุกคน (และควรทำด้วย)

สำหรับประชาชน อ่านง่ายได้ความรู้นำไปใช้ได้จริง อ่านได้ทุกคนจริง ๆ ผมอ่านหนังสือกฎหมายมาหลายเล่ม เพื่อทบทวนความรู้ มีไม่กี่เล่มที่ออกแบบมาให้เข้าใจง่าย นี่เป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับนักเรียนกฎหมาย จะช่วยอธิบายและจำตัวบทมาใช้ตอนตอบสอบได้ง่ายขึ้น ประกอบการเรียนได้ ใช้เวลาไม่นาน มีแผนภูมิ ไดอะแกรมวิธีคิด มีตัวบทประมวลกฎหมายมาให้ และสุดยอดเนื้อหาที่ต้องออกสอบแน่นอนคือ ลำดับทายาทโดยธรรม ครับ

หนังสือโดย ขจรพัฒน์ สุขภัทราพิรมย์ พิมพ์ครั้งสอง สำนักพิมพ์ Book Maker ขนาดเอห้า หนา 192 หน้า พิมพ์ตัวใหญ่ แยกสีเนื้อหา คำอธิบาย ทำให้ไม่ง่วงและชัดเจน ราคาปก 195 บาทครับ ซื้อได้ตามร้านชั้นนำ ผมถอยมาจากซีเอ็ดครับ เป็นหนึ่งในสิบเล่มที่ใช้อ่านข้ามปี ในช่วงปีใหม่สุดเหงานี้

อาจเป็นรูปภาพของ หนังสือ และ ข้อความ

24 ธันวาคม 2564

Remdesivir เล่าสั้น ๆ อัพเดต

 Remdesivir เล่าสั้น ๆ อัพเดต

ยา Remdesivir เป็นยาต้านไวรัสที่ได้รับคำแนะนำให้ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสซารส์โควีทู หรือโรคโควิด-19 ด้วยระดับหลักฐานที่ไม่หนักแน่นมากนัก คือ เป็นคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและระดับคำแนะนำคือ 'น่าจะให้'​ ไม่ถึงขั้น 'ควรให้'​ เพราะประโยชน์ชัดเจน และเราก็ใช้ remdesivir คู่กับการใช้สเตียรอยด์ในการักษาโรคโควิดที่อาการรุนแรงหรือวิกฤตมาตลอด มีการใช้แอนติบอดีมาช่วยรักษาบ้าง แต่การรักษาหลักยังเป็น remdesivir

เมื่อวานนี้ National Institute of Health ของสหรัฐ ได้ออกแนวทางการรักษาโควิด-19 ฉบับล่าสุด ได้ยกระดับคำแนะนำการใช้ยา remdesivir จากเดิม มาเป็น น่าจะให้ แต่ระดับหลักฐานที่มาสนับสนุน ดีกว่าแค่คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ระดับหลักฐานมาจากการศึกษาวิจัยมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่เป็นระดับขนาดใหญ่หรือหลายการศึกษามาวิเคราะห์รวม เรียกว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการใช้มากขึ้น มาสนับสนุน remdesivir มากขึ้นนั่นเอง

และเมื่อวานนี้วารสาร New England Journal of Medicine ได้ลงตีพิมพ์การศึกษาชื่อ PINETREE เป็นการศึกษาการใช้ยา remdesivir ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล เพื่อพิสูจน์ว่าหากให้ยาตั้งแต่วันแรก ๆ ภายใน 7 วันจะลดอัตราการเสียชีวิตที่ 14 และ 28 วัน และลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้หรือไม่ โดยทำการศึกษาเทียบกับยาหลอก (ทำการศึกษาก่อนสายพันธุ์เดลต้าระบาด)

ผลออกมาบอกว่า การใช้ยา remdesivir 200 มิลลิกรัมวันแรก และต่อด้วย 100 มิลลิกรัมต่อวันในวันที่สองและสาม (ให้ยาแบบหยดที่แผนกผู้ป่วยนอก) สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก ผลอื่น ๆ คือ อาการดีขึ้นเร็วกว่า กำจัดไวรัสเร็วกว่า

แต่ว่าขนาดการศึกษาไม่ใหญ่ เพราะการศึกษายุติก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลเชิงเทคนิคของการวิจัย ทำให้ power การศึกษาลดลง งานวิจัยมีการเปลี่ยนเป้าประสงค์ระหว่างศึกษาด้วย และแม้ผลการทดลองจะมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต มีไม่มากและต่างกันไม่มากเท่าไร (absolute risk reduction) สุดท้ายคือ การศึกษานี้ออกแบบและทำโดยบริษัท Gilead เจ้าของยา remdesivir

ก็พอบอกได้ว่าขณะนี้ remdesivir น่าจะเป็นยาหลักในการรักษาทั้งผู้ที่อาการมากหรืออาการน้อย แต่ช้าก่อน !!

ในวันเดียวกันนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐได้รับรองการใช้ยา Nirmatralvir/ritonavir (จากรหัส PF-07321330) หรือชื่อการค้าของบริษัทไฟเซอร์ว่า Paxlovid ที่เป็นยากินห้าวัน และใช้ในผู้ป่วยนอกได้

ขนาดวันเดียวนะนี่ ยังมีการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ โควิดยังไม่จบง่าย ๆ เราก็สู้ไม่ถอยจริง ๆ

โลกมันหมุนเร็วขึ้นทุกวัน ต้องตามให้ทันนะ พี่โอชา

อาจเป็นรูปภาพของ ต้นไม้

23 ธันวาคม 2564

ไม่มีใครสายเกินเรียน Michael Butler

 ไม่มีใครสายเกินเรียน

ปลายศตวรรษที่ 15 เกิดปรากฏการณ์อันเป็นหมุดหมายสำคัญในแวดวงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ การค้นพบหมู่เกาะทะเลแปซิฟิกและทวีปอเมริกา โดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งในตอนนั้นเขาเรียกว่าหมูเกาะเวสต์อินดีส เพราะเข้าใจว่าไปถึงอินเดียแล้ว การค้นพบของโคลัมบัสได้เปิดโลกปรัชญาและความรู้ของยุโรป ว่าสัจธรรมมนุษยนิยมมีจริง การพิสูจน์และหาความรู้ในเชิงวิชาการสามารถเปลี่ยนทิศทางโลกได้ และนับว่าการค้นพบของโคลัมบัสในปี 1495 คือการสิ้นสุดของยุคกลาง ยุคมืดแห่งทวีปยุโรป

ครั้งนั้นโคลัมบัสได้เดินทางเข้าสู่ทะเลคาริบเบียน อ่าห์... คาริบเบียน เสียงเพลงจังหวะละติน อูคูเลเล่ ส่ายสะโพกอาโลฮ่า โจรสลัดแห่งคาริบเบียน แต่ที่เราจะพูดถึงคือ หมู่เกาะเซนต์วินเซนต์ ทางตะวันออกของคาริบเบียน อยู่ระหว่างประเทศตรินิแดดแอนด์โตบาโก และโดมินิกัน ปัจจุบันหมู่เกาะเหล่านี้ได้รับอิสระจากบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสเปน โปรตุเกสหรืออังกฤษ

ประเทศส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากเจ้าอาณานิคม เกือบทั้งหมดคือสเปนและโปรตุเกส สังเกตจากภาษาและวัฒนธรรมแถบนั้น แต่ที่หมู่เกาะเซนต์วินเซนต์ ถูกเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษครอบครอง จึงมีอิทธิพลของอังกฤษมากมาย แม้แต่เมื่อได้รับอิสระเป็นประเทศ เซนต์วินเซนต์แอนด์กรานาดีนส์ ก็เป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ เรียกว่าเป็นประเทศที่สงบ คลาสสิก สายลมและแสงแดดแห่งคาริบเบียน ที่นี่มีโรงเรียนแพทย์ด้วยนะ คือ Trinity School of Medicine และเมื่อไม่นานมานี้เขามีบัณฑิตที่น่าทึ่งคนหนึ่งจบการศึกษาออกมา

Michael Butler ผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจที่เมืองริดจ์วูดส์ มลรัฐนิวเจอซี่ สหรัฐอเมริกา ที่นี่บัตเลอร์มีชีวิตที่ดี การงานมั่นคง มีบ้านมีครอบครัวที่ความสุข แต่อยู่มาวันหนึ่งบัตเลอร์ก็มาปรึกษาครอบครัวว่า เขาจะเข้าเรียนแพทย์ในวัย 58 ปี!!

บัตเลอร์คือใคร บัตเลอร์เกิดในครอบครัวนักธุรกิจที่ทำธุรกิจเรื่องกิจการทหารกับกองทัพอากาศสหรัฐ พ่อของบัตเลอร์เป็นหนึ่งในทีมนักออกแบบยานลูนาร์โมดูล ยานที่ลงจอดบนดวงจันทร์โครงการอพอลโล 11 อีกด้วย เด็กน้อยบัตเลอร์จึงเห็นกิจการและภาพของกองทัพอากาศสหรัฐมาตลอด เด็กชายบัตเลอร์จะอยากเป็นอะไรเมื่อโตล่ะครับ ไม่พ้นนักบินของกองทัพ แต่โชคชะตาไม่ได้สวยงามดังกลีบกุหลาบโรยไว้

บัตเลอร์มีปัญหาทางสายตาตั้งแต่อายุ 11 ปี ทำให้โอกาสการเข้าเป็นนักบินแทบจะหมดไป แต่สุดท้ายเขายังอยากเป็นทหารของกองทัพสหรัฐ ก็สมัครมันทุกเหล่าหลังจากเรียนจบ และสุดท้ายทางกองทัพเรือก็รับบัตเลอร์เข้าทำงาน โดยไปประจำที่ฐานทัพเรือชาร์ลสตัน ประจำในเรือดำน้ำด้วยนะ หลังจากที่ออกจากกองทัพ เขาไปเรียนต่อด้านธุรกิจ จนเรียนจบและได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ

ในช่วงที่บัตเลอร์เข้าทำงานในกองทัพ เขาได้ลองสอบเพื่อเข้าแพทย์อยู่บ้าง แต่เนื่องจากเวลาน้อยเพราะอยู่ในกองทัพ และต้องย้ายที่ไปเรื่อย ๆ ตามเรือดำน้ำที่ประจำอยู่ เขาจึงล้มเลิกความคิดที่จะสอบแพทย์ไป และอีกประการที่เขาให้ข่าวกับนักข่าวคือ เรียนแพทย์มันนานไม่ตรงใจวัยรุ่นตอนนั้นของเขา และอีกข้อคือ เรียนสายบริหารธุรกิจ สาวสวยเพียบ !! (มาถึงประโยคนี้ แพทย์หญิงทั้งหลายน่าจะควันออกหูทีเดียว)

และชีวิตบัตเลอร์ก็เปลี่ยนไป อยู่ในสายธุรกิจและทำได้ดีด้วย สุดท้ายเขามาลงหลักปักฐานที่ริดจ์แลนด์ ที่นี่เขาเริ่มเบื่อชีวิตนักการเงิน เขาเริ่มหาความสุขและความท้าทายในชีวิตจากการชักชวนของเพื่อนฝูงที่นี่

“เฮ้ย นาย ลองมาทำงานเป็นอาสาสมัครการแพทย์ฉุกเฉินไหมล่ะ” บัตเลอร์ไม่รอช้า ด้วยความชอบช่วยเหลือคนและอยากทำประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าสมัครเป็นเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนต้องไปเรียนและอบรม หลังจากที่เรียนและอบรมแล้ว บัตเลอร์ก็ทำงานเป็นอาสาสมัครเรื่อยมา ได้เห็นการปฏิบัติงานของหมอและพยาบาล เห็นข้อดีและข้อผิดพลาดของแพทย์จากมุมมองของเพื่อนร่วมวิชาชีพ โดยเฉพาะเรื่องของทักษะการซักประวัติ การตรวจ การสื่อสาร แต่ก็ได้แต่เก็บไว้ในใจ จนมาวันหนึ่ง Alex ลูกชายของบัตเลอร์ซึ่งสนใจวิทยาสาสตร์มาโดยตลอด ได้มาบอกกับบัตเลอร์ว่า

“ผมสนใจเรื่องระบบประสาทของมนุษย์และอยากเข้าเรียนคณะแพทย์”

บัตเลอร์เห็นดีด้วย และพูดกับลูกว่าหากลูกสอบได้และสามารถเข้าเรียนแพทย์ได้ พ่อจะเข้าไปเรียนด้วย ทุกคนในครอบครัวหัวเราะและน่าจะมีความสุขกับแรงใจจากพ่อ แต่สำหรับบัตเลอร์มันไม่ใช่เพียง คำพูดให้กำลังใจ เพียงเท่านั้น

อเล็กซ์เป็นเด็กเรียนดีและได้สอบเข้าเรียนแพทย์ได้สำเร็จ บัตเลอร์จึงบอกภรรยาที่รักว่าเขาตัดสินใจที่จะหาความท้าทายใหม่ในชีวิต ทำอย่างที่เขาเคยกล่าวไว้ คือจะเข้าเรียนแพทย์ ความโชคดีที่สุดของของบัตเลอร์คือ ภรรยาและลูกของเขาเข้าใจและให้กำลังใจพ่อของเขาเต็มที่ หลังจากนั้นบัตเลอร์ตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์ใหม่ และสอบเข้าเรียนได้ และโรงเรียนแพทย์ที่บัตเลอร์เข้าได้คือ Trinity School of Medicine ที่เซนต์วินเซนต์แอนด์กรานาดีนนี่เอง

(โรงเรียนนี้ได้รับการรับรองจากสมาคมแพทย์สหรัฐอเมริกา และใช้หลักเกณฑ์หลักการสอบเหมือนนักเรียนแพทย์อเมริกา)

ถ้าใครดูแผนที่จะพบว่าเมืองริดจ์แลนด์ รัฐนิวเจอร์ซี่ อีกฝั่งของแม่น้ำฮัดสัน ถ้าจำกันกันได้ ผมทิ้งท้ายเรื่องโรงพยาบาลนิวยอร์กของวิลเลี่ยม โคลีย์และ Coley’s Toxin เอาไว้ ก็แม่น้ำฮัดสันนี่แหละครับ และโรงเรียนแพทย์ของบัตเลอร์ก็เรียกว่าข้ามแผนที่เลยทีเดียว ห่างจากบ้านหลายพันกิโลเมตรเลย

และถ้าคุณต้องเรียนแพทย์ตอนอายุ 57 ปีล่ะ คุณจะเจออะไร บัตเลอร์ได้อธิบายเอาไว้ถึงความรู้สึกและความยากลำบากของการเรียนแพทย์ในวัยนี้ไว้ครับ

อย่างแรกคือความเหงา เพราะต้องจากบ้านมาไกลมาก จากครอบครัว เขาเคยคิดจะเลิกเรียนหลายครั้ง แต่ครอบครัวโดยเฉพาะภรรยา คุยวิดีโอคอลล์ให้กำลังใจกับเขาตลอด โดยเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์นี่ แทบจะเหมือนอยู่ด้วยกันเลย (ขอบคุณเทคโนโลยีครับ) ใครเคยไปเรียนเมืองนอกสมัยก่อนจะรู้ว่า โคตรเหงา

อย่างที่สองคือเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย อย่าลืมว่าเขาแวดล้อมด้วยเพื่อนร่วมกลุ่ม เพื่อนร่วมหอ ในวัย 20 กว่าปี มันทำให้เขาต้องปรับตัวอยู่พักใหญ่ โชคดีที่นี่ทุกคนเข้าใจเขา และให้เกียรติเขาเหมือนเขาเป็นเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน (ตรงนี้โชคดีที่เป็นสังคมอเมริกา ถ้าเป็นสังคมอาวุโสอย่างเมืองไทยอาจปรับตัวยากกว่านี้)

อย่างที่สามคือเรื่องการเรียน เขาบอกว่ามันก็ไม่ยากเท่าไร การเรียนแพทย์และวิชาแพทย์ไม่ได้ยากเหมือนคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ (อันนี้ผมเห็นด้วยนะ) แต่มันสำคัญคือต้องจัดการข้อมูลความรู้ปริมาณมหาศาลให้เป็นระบบและหยิบมาใช้ให้ได้ โชคดีที่ในยุคนี้มีเทคโลโลยีช่วยจัดการข้อมูลที่ดี มีข้อเสียอย่างเดียวคือ เราต้องอัพเดตตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

สุดท้ายครอบครัวก็มาสนับสนุน ให้กำลังใจ คุณลูกชายก็มาติวคุณพ่อ …. ฟังไม่ผิด อ่านหนังสือด้วยกัน ติวด้วยกัน แต่ผ่านทางไกลเพราะเรียนคนละที่ ครอบครัวเพิ่งกลับมาพร้อมหน้าอีกครั้งในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 ในช่วงท้ายของการเรียนแพทย์ บัตเลอร์รู้สึกดีมากที่ครอบครัวมาช่วยเขาเรียนในช่วงเวลาโค้งสุดท้ายอันยากลำบากนี้

สุดท้ายในปี 2021 เขาก็จบการศึกษา และเข้าสู่พิธีรับเกียรติบัตรที่อบอุ่นมาก คือลูกทั้งสองคนช่วยกันจัดครุยให้คุณพ่อ โดยมีคุณแม่ยิ้มอยู่ข้าง ๆ บัณฑิตใหม่วัย 62 ปีคนนี้

ยังไม่พอนะครับ คุณบัตเลอร์ตั้งใจจะต่อแพทย์เฉพาะทางเพื่อเรียนรู้ทักษะทางคลินิกให้มากขึ้น เพื่ออยากจะเป็นคุณครูคอยสอนทักษะทางคลินิกให้กับนักเรียนแพทย์และเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน เพราะอะไรน่ะหรือ ถ้ายังจำได้ เพราะเขาเห็นตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นอาสาสมัครการแพทย์ฉุกเฉิน ว่าตอนนี้แพทย์ขาดทักษะทางคลินิก และเขาต้องการมาปรับปรุงแก้ไขตรงนี้นั่นเอง

เรียกว่า ขยัน อดทน สู้ ยังไม่พอยังมี passion ที่แรงกล้าอีกด้วย น่านับถือจริง ๆ ครับ ก็เป็นอันจบเรื่องราวของบัตเลอร์ และดินแดนสองฝั่งแม่น้ำฮัดสันไว้แต่เพียงเท่านี้ และขอถามคำถามทิ้งท้ายสักหน่อย

คุณคิดว่า Michael Butler จะเรียนต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดครับ ?

อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน, ผู้คนกำลังยืน และ สถานที่ในร่ม

22 ธันวาคม 2564

ซิการ์ กับ บุหรี่ มันต่างกันตรงไหน

 คำถามบางคำถาม ดูธรรมดา แต่หากคนตอบไม่ธรรมดา มันก็จะ 18+ นิดนึง

คำถาม : อยากทราบว่า ซิการ์ กับ บุหรี่ มันต่างกันตรงไหน
คำตอบ : กำปั้นทุบดิน เอาที่ขนาดก่อน ซิการ์ก็จะ ใหญ่ ๆ ดำ ๆ และยาวกว่า ส่วนบุหรี่จะขาวซีด ขนาดเล็ก สั้นกว่า

คิดลึกลงไปอีก เนื้อในคือใบยาสูบเหมือนกัน ส่วนซิการ์นั้นจะสวมถุง ถุงที่ว่าคือวัสดุเคลือบยาสูบหรือในอดีตจะเป็นใบยาสูบเลย แต่บุหรี่นั้นจะใช้กระดาษห่อใบยา ที่ไม่มีส่วนผสมของใบยาสูบเลย

คำถาม : เวลาใช้ก็ดูดเหมือนกันไหม
คำตอบ : ดูดไม่เหมือนกัน ซิการ์จะดุ้นใหญ่ เวลาจะดูด ต้องขลิบปลายออกก่อน เคยเห็นมีดตัดซิการ์ไหม คล้ายกิโยติน เป็นรูกลม ๆ สอดใส่แท่งซิการ์ส่วนหัวเข้าไป สักสองเซนติเมตร แล้วกดฉับ !! (ด้านหัวจะมีกระดาษยี่ห้อพันแท่งซิการ์อยู่)

เวลาดูด ให้อมด้านที่ไม่ได้ขลิบ จุดไฟแช็ก แนะนำใช้ไฟแช็กจะได้ไฟสม่ำเสมอ ลนส่วนหัวที่ขลิบแล้วกับไฟ ดูดเบา ๆ พอให้ส่วนหัวมีสีแดงวาบ ๆ หลังจากนั้น หมุนดุ้นซิการ์ขยับทีละน้อย และดูดเบา ๆ ให้ปลายหัวสว่างวาบรอบวง จึงจะเป็นการดูดที่ถูก

ส่วนบุหรี่ พอเอาเข้าปาก ก็ลนไฟตรงปลาย แล้วคราวนี้ก็ดูดเอา ๆ ได้

คำถาม : เค้าว่าดูดซิการ์จะไม่ได้ดูดลึก แต่บุหรี่จะดูดลึกมาก จริงไหม
คำตอบ : จริง เวลาดูดซิการ์ เนื่องจากแท่งมันใหญ่และยาว ปากเราจะเม้มไม่รอบวง เวลาดูด จะดูดเอาควันไปกลั้วปาก ให้รสชาติสัมผัสปากและคอ ไม่ค่อยลึกลงปอด (แต่จริง ๆ แล้วควันและนิโคตินก็ลงปอดด้วย) แล้วคายควันออกมา ส่วนบุหรี่ ส่วนมากจะดูดลึกสุดคอหอย ลงไปยังปอดแล้วจึงพ่นควันออกมา

คำถาม : อย่างนี้ดูดซิการ์ก็ปลอดภัยกว่าสิ
คำตอบ : ไม่เลย แม้เอาจะอม ๆ ดูด ๆ ให้อยู่แค่ในปาก แต่จริง ๆ ควันมันลงปอดด้วย อีกอย่างซิการ์มีปริมาณนิโคตินมากกว่าบุหรี่ 10-20 เท่าเลยต่อมวน ควันก็เยอะกว่าเพราะแท่งใหญ่และยาวกว่า ดูดนานอีกด้วยกว่าจะหมด อันตรายพอกัน

แถมซิการ์เรามักจะ 'ดูดสด' คือไม่มีใส้กรอง ส่วนบุหรี่ส่วนมากมีใส้กรองทุกอัน

คำถาม : อย่างงั้นดูดอันไหนดีกว่า
คำตอบ : ไม่ดีทั้งคู่ อันตรายเทียบเท่ากัน เลิกได้ก็เลิก เลิกไม่ได้ก็ไปดูดอย่างอื่นแทน เช่น น้ำผลไม้ (ผมเคยแนะนำคนไข้ดูดตะเกียบ ได้ผลด้วยนะ)

คำถาม : คำตอบหมอมันสามง่ามสองแง่เหลือเกิน หมอชื่ออะไร
คำตอบ : Saliga ง่ายนิดเดียว ครับ หรือจะเรียก อายุรศาสตร์ happymen ก็ไม่ว่านะ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังสูบบุหรี่ และ กลางแจ้ง

Cancer Immunotherapy กับการกำเนิดของ Coley's Toxin

 Cancer Immunotherapy

วันนี้ทุกคนรู้จักสารชีวภาพที่นำมาใช้รักษามะเร็ง เช่น trastuzumab คือ แอนติบอดีที่สร้างขึ้นสำหรับจับทำลายเซลล์มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับ HER-2 หรือยา Pembrolizumab ยาที่ไปจับกับตัวรับ PD-1 ของมะเร็ง (เอาไว้หลอกร่างกายว่ามะเร็งไม่มีภัย) สารต่าง ๆ เหล่านี้ลงท้ายด้วย -mab มาจากคำว่า monoclonal antibody

คือเอาภูมิคุ้มกันของเราเป็นต้นแบบ แล้วใช้เทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรมสร้างแอนติบอดีขึ้นมาให้เป็นแบบเดียวกันเป๊ะ ปริมาณมหาศาลโดยไม่ผิดจากพิมพ์เขียว คือ การ clone นั่นเอง และในเมื่อมันเป็นโคลนเดียวกันทั้งหมด จึงชื่อว่า mono-clone : monoclonal antibody ดูเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและมีราคาในการผลิตสูง

แต่ต้นกำเนิดของมัน กลับมาจากสิ่งที่แทบไม่มีราคาใด ๆ วันนี้เรามาย้อนอดีตไปรู้จัก ต้นสายอันแรกที่เป็นต้นกำเนิดของการรักษาแบบนี้

เราย้อนกลับไปปี 1890 ปลายยุควิคทอเรีย ผ่านพ้นสมัยการล่าทาสและอาณานิคม เป็นยุคที่แต่ละอาณาจักรสั่งสมความมั่งคั่ง สะสมศิลปวิทยาการ และแสนยานุภาพทางทหาร เป็นยุคสมัยที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า มีการคิดค้นทฤษฎีและสิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งเรื่องราวทางการแพทย์

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่นการแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก โรงเรียนแพทย์แข่งขันกันเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ทำให้งานวิจัยความรู้ต่าง ๆ มีมากมาย รวมถึงการรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัดด้วย สมัยนั้นศัลยแพทย์รู้จักดมยาสลบ การระงับปวด แต่เรื่องการควบคุมการติดเชื้อหลังผ่าตัดยังทำได้ไม่ดีนัก

William Coley ศัลยแพทย์หนุ่มที่นิวยอร์ค หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เขาก็มุ่งมั่นในการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง ก็แน่นอนส่วนมากเสียชีวิต ก็ไม่รู้ว่าเป็นจากโรคมะเร็งเอง หรือเป็นการผลแทรกซ้อนของการผ่าตัด จนกระทั่งในปี 1890 มีคนไข้สุภาพสตรีชื่อ Elisabeth Dashiell มารักษากับคุณหมอ

คุณ Dasheill ป่วยเป็นมะเร็งที่มือของเธอ มาเข้ารับการรักษา แน่นอนในยุคนั้นคือการตัดมือ เธอได้รับการผ่าตัดมือและส่วนปลายของแขนท่อนล่าง ซึ่งคุณหมอโคลีย์ของเราค่อนข้างมั่นใจว่าตัดมะเร็งออกจนเกลี้ยง และน่าจะช่วยชีวิตเธอได้ แต่ปรากฎว่าในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เธอเสียชีวิตจากมะเร็งที่มือ มันแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ตอนนั้นคุณหมอค่อนข้างเครียดทีเดียว และพอย้อนกลับไปทบทวนประวัติการผ่าตัดในโรงพยาบาลต่าง ๆ (คุณหมอทำวิจัยแบบ retrospective) ก็พบว่า มีผู้ป่วยหลายรายที่การผ่าตัดทำได้ดี ตัดเนื้อร้ายจนเกลี้ยง แต่สุดท้ายก็มาจบชีวิตจากการแพร่กระจาย ตอนนั้นคุณหมอโคลีย์ เริ่มฉุกใจคิดแล้วว่า การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

และนอกจากสิ่งที่คุณหมอคิดว่าการผ่าตัดไม่ใช่คำตอบทั้งหมด คุณหมอพบความจริงอีกอย่างจากการศึกษาเวชระเบียนย้อนหลังนี้ !!!

มีผู้ป่วยโรคมะเร็งลำคอหลายราย ที่เข้ารับการผ่าตัดแล้วเกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัด อย่างที่บอกไปนะครับ ความรู้เรื่องการติดเชื้อหลังผ่าตัดยังไม่ก้าวหน้า และเรายังไม่พบยาฆ่าเชื้ออีกด้วย การที่มีคนไข้ติดเชื้อหลังผ่าตัดจึงเป็นเรื่อง 'ปรกติ' ในยุคนั้น แต่โคลีย์พบอีกว่า ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อหลังผ่าตัดแล้วรอดมาได้ จะมีการเกิดซ้ำของมะเร็งและพบเสียชีวิตเพราะมะเร็งแพร่กระจาย 'ต่ำกว่า' กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อหลังผ่าตัด

ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร อาจจะตัดเยอะ ทำนาน เลยตัดหมดแต่ติดเชื้อเพราะผ่านานก็ได้ แต่ตอนนั้นโคลีย์คิดว่า การติดเชื้อหลังผ่าตัดน่าจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มะเร็งไม่ลุกลาม และสรุปว่าตัวการนั้นคือ 'bacterial toxin'

เพื่อพิสูจน์ความคิดนี้ คุณหมอโคลีย์ได้เริ่มทำการทดลอง โดยคัดเลือกคนที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามและใกล้ฝั่ง นำมาฉีดเชื้อ streptococcus เข้าไปในร่างกาย !! อย่าเพิ่งตกใจ อย่างที่เคยบอก จริยธรรมงานวิจัยในคนเพิ่งเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ผลปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น บางรายอยู่ได้เกินสองปี และก็ยังพบคนที่เสียชีวิตจากมะเร็งอยู่และจากการติดเชื้อ streptococcus มากขึ้น … โคลีย์จึงเปลี่ยนยา เลือกเป็นเชื้อ streptococcus ที่ตายแล้วแทน คราวนี้อัตราการตายจากการติดเชื้อแบคทีเรียลดลง มันก็เลยทำให้ตัวเลขรวมของผู้ที่ได้รับยาวิเศษของคุณหมอโคลีย์สูงขึ้น

หมายความว่า ยาวิเศษของหมอโคลีย์สามารถรักษามะเร็งได้ !! ยาสูตรนี้ได้รับการขนานนามว่า 'Coley's Toxin' จากบันทึก (ที่ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไร) บอกว่ามีคนได้รับยาสูตรโคลีย์ไปถึง 1000 คนในสามสิบปี ยาสูตรโคลีย์ที่ปรับปรุงเรียบร้อยและมีคนมารับยานี้มากมาย คือ แบคทีเรีย Streptococcus pyrogenes และแบคทีเรีย Serratia marcessens

🤗🤗เรามาหยุดตรงนี้สักครู่ จริง ๆ แล้วสิ่งที่พออธิบายได้ ไม่ใช่พิษจากแบคทีเรีย แต่พิษและตัวแบคทีเรียไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา และน่าจะมีมะเร็งบางชนิดที่ภูมิคุ้มกันดังกล่าว สามารถไปจับและกระตุ้นให้เกิดการทำลายเซลล์มะเร็งขึ้นมา หลักการของ cancer immunotherapy ในปัจจุบันนั่นเอง🤗🤗

แล้วมีคนค้านคุณหมอโคลีย์ และ Coley's Toxin ไหม...มีครับ เยอะด้วย คุณหมอโคลีย์จึงการศึกษาและตีพิมพ์งานวิจัยแบบ case-series คือ นำเคสที่ได้รับยาสูตรโคลีย์มารวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ แน่นอนการวิจัยแบบนี้ อาจมีอคติจากผู้วิจัย ไม่มีการเปรียบเทียบกับยาหลอก หรือการรักษาอื่นใด และสุ่มเสี่ยงมากต่อการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ไม่เป็นกลาง ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองและหยุดการถูกโจมตีได้

ปี 1894 American Cancer Society ได้ออกมาประกาศว่าสูตรยาของคุณหมอโคลีย์ยังไม่ได้รับรอง ยังคงต้องทำงานวิจัยและพิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ (แต่ก็ไม่ได้ค้านนะครับ) ประกอบกับการมาถึงของเทคโลโลยีการฉายรังสีรักษาในปี 1896 ทำให้ทิศทางงานวิจัยพุ่งไปที่การใช้รังสีรักษากับมะเร็ง

กว่าจะกลับมาที่เคมีบำบัดของ Goodman and Gilman ก็ปาเข้าไป 1942 หรือทำการศึกษา immunotherapy ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นี่เอง

ถึงกระนั้น Coley's Toxin ก็ยังใช้ต่อไป มีการปรับปรุงสูตรต่อไป จนกระทั่งเสื่อมความนิยมและมีเทคโนโลยีการรักษาที่ปลอดภัยกว่ามาแทนที่ ในยุคหลังนี้ เราได้เข้าใจหลักการของคุณหมอวิลเลี่ยม โคลีย์ หลักการของ Coley's Toxin มากขึ้นว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ไปต่อสู้มะเร็ง เราจึงยกย่อง William Coley ว่าเป็นผู้บุกเบิกการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นนักวิจัยด้านภูมิคุ้มกัน หรือศึกษาในเรื่องภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด

จบแล้วเรื่องของ โคลีย์ แพทย์หนุ่มจากนิวยอร์กและ Coley's Toxin ของเขา ครั้งหน้า เราจะยังวนเวียนบอกเล่าเรื่องราวอยุ่แถว ๆ นิวยอร์ก และแม่น้ำฮัดสันกันต่อไปครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ กำลังยืน

21 ธันวาคม 2564

ไม่จำเป็นต้อง metformin ตัวแรก อีกต่อไป

 เลือกใช้ยาตามสภาวะผู้ป่วย ความเสี่ยง และโรคร่วม

ไม่จำเป็นต้อง metformin ตัวแรก อีกต่อไป

อาจเป็นรูปภาพของ 4 คน และ ข้อความพูดว่า "ADA ใช้ METFORMIN ออกไกด์ไลน์เบาหวานแล้ว เป็น เป็นยาตัว เรก ใช่ไหม mgtlip. com ใจ มั้ย.."

ลิ่มเลือดหลังฉีดวัคซีน ข้อเตือนใจ

 เมื่อวานลงโพสต์เรื่องการเกิดลิ่มเลือดหลังฉีดวัคซีน มีอาจารย์หลายท่านติงมาว่าอาจทำให้เกิดความสับสนในข้อมูลได้ ผมขออภัยและขอชี้แจงดังนี้ครับ

1. จากหลักฐานการรวบรวมข้อมูลทางการวิจัย ตอนนี้มีไวรัสเวคเตอร์ที่สัมพันธ์กับการเกิดลิ่มเลือดที่ชัดเจน

2. ส่วนการการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน หลังฉีดวัคซีนโควิดตัวอื่นใด ยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์ ว่าสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

3. แต่อย่าประมาทว่า จะการเกิดลิ่มเลือดดำจะเกิดแต่เฉพาะหลังฉีดวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ เพราะหลังฉีดวัคซีนอื่น ๆ ก็อาจเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันจากเหตุอื่นใด ๆ ได้เช่นกัน

4. หากคิดว่า ไม่ได้รับวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ จะตัดการวินิจฉัยลิ่มเลือดดำอุดตันออกไป อาจทำให้ผิดพลาดและอันตรายได้

5. เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน ในจังหวะเวลาที่รับวัคซีนตัวอื่น พอดีกัน ยังคงต้องคิดเหมือนการวินิจฉัยหลอดเลือดดำอุดตัน ตามปรกติ

6. และถ้าสงสัยว่าลิ่มเลือดดำเกิดจากวัคซีน ควรตรวจให้แน่ชัดก่อน เพราะมีผลต่อการพิจารณาฉีดวัคซีนและการรักษา โดยเฉพาะการพิจารณาการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด heparin

7. หรืออาจใช้ยา NOACs ถ้าไม่มีข้อห้าม ในกรณียังแยกไม่ออกว่ามาจากวัคซีนหรือไม่

สิ่งที่ผมเขียนเมื่อวาน เป็นเพียงกรณีสงสัยไม่กี่กรณีที่ได้รับข้อมูลมาบ้าง ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจนระหว่างวัคซีนตัวอื่นที่ไม่ใช่ไวรัสเวคเตอร์กับการเกิดลิ่มเลือดดำ เพียงมาเตือนสติไม่ให้วินิจฉัยพลาด

กราบขออภัยอาจารย์ที่ท้วงติง และกราบขออภัยที่สื่อสารผิดพลาดครับ

20 ธันวาคม 2564

รู้จัก Goodman & Gilman ไหมครับ

 รู้จัก Goodman & Gilman ไหมครับ

รับรองว่าเภสัชกร นักเรียนเภสัชกร ทุกคนรู้จัก ส่วนนักเรียนแพทย์หลายคนก็จะรู้จัก นี่คือชื่อตำรามาตรฐานเภสัชวิทยาเล่มหนึ่ง ได้รับคำยกย่องว่าเป็น Blue Bible ของวงการเภสัช (นอนอยู่ที่ชั้นหนังสือของผมหนึ่งเล่มด้วย) หนาได้ใจ แถมตัวอักษรเล็กยิบ แต่อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะมารีวิวตำรากู๊ดแมนแอนด์กิลแมน วันนี้เราจะมารู้จัก Goodman และ Gilman อันอีกรูปแบบหนึ่งครับ

Loise Sanford Goodman นายแพทย์หนุ่มจากพอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา เขามีความสนใจในเรื่องเภสัชวิทยามาก จึงเข้ามาทำงานที่คณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเยล หนึ่งในไอวี่ลีกของอเมริกา ที่นี่ เขาได้ร่วมงานกับ Alfred Zack Gilman

(สังเกต ในชื่อของ Goodman มีคำว่า 'Sanford' หนึ่งในคู่มือการใช้ยาปฏิชีวนะหลักที่ใช้ในโลกอีกด้วย)

Alfred Zack Gilman เภสัชกรหนุ่มจากคอนเน็คติกัต สหรัฐอเมริกา เกิดในครอบครัวนักดนตรี เข้าเรียนและศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยลจนจบวิชาเภสัช และเข้าเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยล ที่นี่เขาก็พบกับคนดี (Goodman นั่นแหละครับ)

(ลูกชายของ Gilman ชื่อว่า Alfred Goodman Gilman .. ชื่อกลาง Goodman ไม่รู้ว่าเพราะเขาร่วมงานกับ Goodman หรือเปล่า … เป็นนักวิจัยสาขาเภสัชที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1994 คู่กับ Martin Rodbel ด้วยผลงานการค้นพบและอธิบาย G-protein ที่สำคัญในการทำงานของยา)

Goodman และ Gilman ได้ร่วมกันทำงานและทำวิจัยอันเลี่องชื่อและเป็นตำนานที่มหาวิทยาลัยเยล เป็นที่มาของเรื่องเล่าวันนี้ครับ

ในปี 1940 โลกยังบอบช้ำจากเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่โชคดีที่อเมริกาไม่ได้เสียหายและได้ผลกระทบมากนัก ขั้วอำนาจเปลี่ยนจากยุโรปอันยิ่งใหญ่มาเป็นสหรัฐอเมริกา ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยังเป็นประเด็น ยังเป็นหัวข้อที่หยิบจับมาศึกษาอย่างต่อเนื่อง เรื่องหนึ่งที่นักวิจัยนำมาศึกษาต่อคือ 'แก๊สพิษ'

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากจะพลิกโฉมสงครามจากอาวุธธรรมดา มาเป็นอาวุธทำลายล้างสูง เปลี่ยนรูปแบบสงครามและการรักษาแผล สงครามโลกครั้งนี้ได้ชื่อว่าเป็นสงครามเคมี เพราะมีการนำสารเคมี อาวุธเคมี แก๊สพิษมาใช้ในสมรภูมิรบอย่างจริงจัง แก๊สที่ใช้มากคือ 'ไนโตรเจน มัสตาร์ด'

กู๊ดแมนและกิลแมน ได้ทำการศึกษาผลของไนโตรเจนมัสตาร์ดนี่แหละครับ ว่าที่แท้จริงแล้วมันส่งผลอย่างไรต่อเซลล์ ส่งผลอย่างไรต่อเนื้อเยื่อ เพราะบรรดาผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกแก๊สพิษในช่วงสงครามยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน และพวกเขาก็พบว่ามันมีผลทำลายเซลล์มนุษย์หลายชนิด ผลอย่างหนึ่งที่พบและสะกิดใจทั้งคู่มากคือ ไนโตรเจนมัสตาร์ด มีผลทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกันในเลือดชนิดหนึ่ง ชิ่อว่า ลิมโฟไซต์ (lymphocyte)

ลิมโฟไซต์ เป็นเซลล์สำคัญในระบบภูมิคุ้มกันหน้าที่หลักคือ สร้างอิมมูโนโกลบูลินมาช่วยทำลายเชื้อโรค และหลั่งสารเคมีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมแบบเฉพาะเจาะจงกับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคนั้น โรคที่ลิมโฟไซต์ทำงานน้อย ๆ เช่นโรคเอดส์ และโรคที่มีลิมโฟไซต์มากเกินปกติที่เราพบบ่อยคือ ลิมโฟมา (lymphoma) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองครับ

ในช่วงตั้งแต่ปี 1895 จนถึงปีที่กู๊ดแมนกิลแมนทำวิจัยนั้น การรักษาด้วยการฉายรังสีได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นวิธีสำคัญในการรักษามะเร็งหลังจากผ่าตัด หรือในกรณีผ่าตัดไม่ได้ กู๊ดแมนกิลแมนจึงเลือกผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่รักษาแล้วไม่ตอบสนองต่อการรักษา (คือการฉายแสงในยุคนั้น) มาศึกษาทดลองด้วยการใช้ ไนโตรเจนมัสตาร์ด (ที่วิจัยจนได้ขนาดยาที่เหมาะสม พิษน้อยลงแล้ว)

ผลปรากฏว่าได้ผล เซลล์ลิมโฟมาฝ่อลง ยุบลง และคนไข้มีชีวิตรอด ผลข้างเคียงที่เกิดก็ไม่ได้แย่และรุนแรงเหมือนสมัยเป็นแก๊สพิฆาตในสงคราม

ท่านอาจจะคิดว่า ทำการศึกษาแบบนี้ได้อย่างไรกัน เพราะแก๊สไนโตรเจนมัสตาร์ด มันเป็นแก๊สพิษชัด ๆ ...ใช่ครับ เราไม่น่าทำ แต่นี่คือเราคิดบนพื้นฐานความจริงยุคปัจจุบันที่มีกติกาเรื่องการวิจัยในคน แต่ในยุคนั้น ในปี 1942 ที่กู๊ดแมนและกิลแมนทำวิจัย ตีพิมพ์ออกมา เรายังไม่มีกติกาดังกล่าว ถ้าใครจำได้ ผมเคยเขียนเรื่องจริยธรรมงานวิจัยในคนและ declaration of Helzinki มาแล้ว สรุปว่ามันเกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากการทดลองอันน่าสะพรึงกลัวของกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพนาซี

แถมตอนนั้นกู๊ดแมนกิลแมนยังมีชื่อเสียงมาก เพราะในปี 1941 เพิ่งมีการตีพิมพ์ตำราเภสัชวิทยาของกู๊ดแมนกิลแมน ฉบับพิมพ์ครั้งแรกไปสด ๆ ร้อน ๆ และงานวิจัยเรื่องการใช้ยาเคมีบำบัดกำลังได้รับความนิยม ไว้คราวหน้าจะเล่าให้ฟังอีก

เป็นต้นธารของการนำสารเคมี มาใช้เป็นยาเพื่อรักษามะเร็ง โดยหวังผลทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง (cancer chemotherapy) อันเป็นชื่อเสียงที่โด่งดังมากของ Goodman and Gilman ที่ไม่แพ้ตำราอมตะ "the Blue Bible" เลยครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ดอกไม้

19 ธันวาคม 2564

new year resolutions

 New Year Resolutions

ใกล้สิ้นปีแล้ว ว่าด้วยเรื่อง new year resolutions กันเถอะ

การวางแผนสิ่งที่ตั้งใจจะทำในรอบปี เป็นสิ่งที่ช่วยทบทวนตัวเราเอง ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง สำเร็จหรือไม่สำเร็จด้วยสาเหตุใด จะทำให้ดีขึ้นเพื่อต่อยอดความสำเร็จ หรือจะแก้ไขเพื่อปรับปรุงความตั้งใจเดิมให้ดีขึ้น หรือจะทำสิ่งใหม่ ท้าทายความสามารถใด

ผมทำความตั้งใจมาทุกปีกว่า 10 ปีแล้ว สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ปรับแต่งไปเรื่อย ๆ ที่ล้มเหลวเช่น ความตั้งใจอยากทำสื่อเสียงและวิดีโอ ด้วยความไม่ถนัดเอาเสียเลย และไม่มีเวลา พยายามทำแล้วก็ไม่ได้หลายครั้ง จึงเลือกที่จะกลับไปทำสื่ออักษรที่เราชอบมากกว่า

ที่สำเร็จตามเป้าก็มีเช่นเรื่องการฝึกภาษาสเปน การฝึกภาษาอังกฤษ อันนี้ทำได้ตามที่ต้องการ ส่วนที่ทำได้และต่อยอดมากขึ้นก็มีเช่น การอ่านหนังสือนิยายคลาสสิกมากขึ้น ปีนี้อ่านได้ 7 เล่มจากที่ตั้งใจไว้ห้าเล่ม การสะสมเงินจาก 10% เพิ่มเป็น 15% ในปีนี้เพิ่มเป็น 18%

ปีนี้จะวางแผนอีก คราวนี้มีทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง ไม้อ่อนคือยืดหยุ่นตามจังหวะเวลา อาจทำอันใดก่อนหลัง ไม้แข็งคือ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพิ่อปรับตัวเองให้กระตือรือร้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น ขอแชร์ new year resolutions ในปี 2565 ของผมนะครับ

😉😉สิ่งใหม่

1. ศึกษาเรื่อง crypto-currency : ให้เข้าใจระดับหนึ่ง ใช้เวลาไม่เกินสองเดือน คิดว่าน่าจะเป็นความรู้สำคัญในอนาคตแน่ แต่คงยังไม่ได้ลงไปคลุกคลีเต็มตัวนะครับ จะศึกษาดูก่อน ทั้งสื่อต่าง ๆ และอาจลองจำลองการลงทุนดูบ้าง

2. เริ่มเรียนรู้การแพทย์แขนงใหม่ (ของผม) : เช่น การใช้กัญชา การใช้สมุนไพร ความรู้พื้นฐานแพทย์แผนจีน รวมไปถึงธุรกิจการแพทย์ การลงทุนทางการแพทย์และสาธารณสุข อันนี้อาจจะยาก ยืดหยุ่นว่าใช้เวลาสี่เดือน ไม่ต้องต่อเนื่อง สะสมความรู้เอา

3. เลิกใช้เครื่องปรุง ซอส น้ำจิ้ม เพื่อเป็นการลดเกลืออย่างจริงจัง : แม้ผมไม่ได้เป็นโรคความดัน ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ แต่ก็ตั้งใจแน่วแน่ หลังจากเลิกแอลกอฮอล์ทุกชนิดมาสามปี ลดอาหารมัน ไขมันอิ่มตัวมาสองปี และลดน้ำหนัก 12 กิโลกรัมในเวลาตลอดสามปีมานี้ และไม่โยโย่ด้วย กำหนดทำตั้งแต่ 1 มกราคมเลย

😤😤ต่อยอดสิ่งเดิม ความสำเร็จเดิม

1. อ่านหนังสือนิยายภาษาอังกฤษ ที่เป็นนิยายร่วมสมัย : (รวมกับหนังสืออื่น ๆ ปีนี้กำหนด 40 เล่ม) ในปีหน้านี้กำหนด 5 เล่ม โดยคิดไว้หนึ่งเรื่องคือ the witcher ที่ทำแบบนี้เพราะอยากพัฒนาภาษาต่อเนื่อง และได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ สำนวนใหม่ ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับนิยายคลาสสิกที่อ่านปีที่ผ่านมานี้ (เรื่องที่ชอบที่สุดคือ uncle's Tom cabin) ให้เวลาสองเดือนต่อหนึ่งเล่ม

2. ศึกษาประวัติศาสตร์สงครามเชิงลึกเรื่องใหม่เพิ่ม : จากที่ทำมารายปี WW I, WW II, ครูเสด, สงครามกลางเมืองอเมริกา ปีนี้ตั้งใจจะศึกษาเรื่อง สงครามนโปเลียน ลองค้นในคินเดิลแล้ว มีหลายเล่มน่าสนใจ และจะไปห้องสมุดมากขึ้นจากที่ปีนี้อดไป เพราะล็อกดาวน์ กำหนดทำในช่วงเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม เด็ก ๆ ปิดเรียนกัน เดินทางง่าย ห้องสมุดเปิดตลอด

3. เพิ่มการออกกำลังกายให้ครบส่วนมากขึ้น : เดิมทีผมออกกำลังแบบแอโรบิกเป็นหลักทุกวัน วันละ 30-40 นาที แต่ตอนนี้รู้สึกกล้ามเนื้อลดลง จึงตั้งใจต่อยอดจากเดิม เพิ่มการออกกำลังกายมิติอื่น ที่ตั้งใจเอาไว้คือใช้ ring fit, fitness boxing ของนินเทนโด สวิตช์ มาเพิ่มจากเดิมนี่แหละครับ กำหนดทำสัปดาห์ละสามครั้ง เริ่มมาแล้วด้วย

😥😥แก้ไขสิ่งเดิม ทำสิ่งที่ต้องทำแต่ยังไม่สำเร็จ สู้ต่อ

1. ซื้อหนังสือให้น้อยลง : ปีที่ผ่านมา ซื้อมาก อ่านมากก็จริง แต่ยังเหลืออีก 10 เล่ม ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจว่าจะไม่ให้เหลือ จึงปรับใหม่ในปีนี้ว่า จะซื้อเล่มใหม่ได้ เมื่ออ่านเล่มเดิมจบในสัดส่วน 1:1 หรือขายออกสองเล่ม ต่อการซื้อใหม่หนึ่งเล่ม ...ยกเว้นตำราแพทย์ อันนี้ไม่อั้น

2. สอบ ielts : ปีก่อนติดขัดเรื่องการเดินทาง การสอบ สถานการณ์โควิด ได้แต่เตรียมตัว จนล้าถอย จนลืมไปบ้าง ปีนี้ต้องเอาใหม่ แต่ยังไม่มีกำหนด วางแผนในช่วงครึ่งปีหลัง

3. นอนมากขึ้น : ปีที่แล้วตั้งใจจะนอนวันละไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง แต่ทำไม่ได้ ส่วนมากจะนอน 4 ชั่วโมงบ้าง หรือบางคืนก็หลับ ๆ ตื่น ๆ มีน้อยที่จะหลับอิ่ม (สลบจากอดนอนหลายวัน จะไม่นับ) ปีหน้าจะตั้งใจนอน พักผ่อนร่างกายให้ดีขึ้น ใช้ร่างกายถนอมกว่านี้ บอลคู่ดึกก็ไม่ดูล่ะ เรียนออนไลน์ดึก ๆ ก็ดูย้อนหลังเอา เริ่มทำ 1 มกราคมนี้เลย

คุณจะรออะไร หยิบปากกา เปิดสมุดบันทึกหรือไดอารี่ คิดแล้ววางแผนเลย เริ่มต้นดีมีชัยไปเกินครึ่ง

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

18 ธันวาคม 2564

ปวดหัวเวลามีเพศสัมพันธ์ primary headache associated with sexual activity

 และแล้วรายการตอบปัญหาหน้าไมค์ก็กลับมาอีกครา (20+)

ลุงหมอ : สวัสดีครับ แฟนรายการที่รักทุกคน เข้าสู่ช่วงตอบปัญหาหน้าไมค์ประจำสัปดาห์นี้นะครับ น้อง ๆ สามารถโทรเข้ามาได้ที่เบอร์ 02-696-6969 และถ้าโทรมาภายในห้านาทีนี้ ทางรายการจะสมนาคุณไก่โต้งสองตัว เอาไปเลี้ยงที่บ้าน ฟังเสียงขันกันตอนเช้าเพลิน ๆ เลยทีเดียว เอาล่ะสายแรกเข้ามาแล้ว

กริ๊งงงง…..คลิก

ลุงหมอ : สวัสดีครับ คุณอะไรครับ
ปลายสาย : ชื่อ ซูซี่ค่ะ ไม่ได้ชื่อ 'อะไร' สวัสดีนะคะ

ลุงหมอ : (กวนดีแท้วะ) วันนี้มีปัญหาเรื่องอะไรมาปรึกษาครับ
ซูซี่ : เอ่อ มันเป็นปัญหาครอบครัวน่ะค่ะ มันแน่นอกค่ะ ลุงหมอ
ลุงหมอ : มันแน่นอก ก็ยกออกบางนะครับ แต่รายการลุงหมอตอบปัญหาสุขภาพนะหนู ปัญหาชีวิตต้องโทรไปรายการน้าเน็คนะ
ซูซี่ : ก็ปัญหาสุขภาพครอบครัวนี่แหละค่ะ เอาน่า โทรก็ติดยาก ติดแล้ว อย่าเล่นตัวเลยนะคะ สงสัยชิน จีบติดแล้วเล่นตัว

ลุงหมอ : เอ้า..ว่ามา
ซูซี่ : คืองี้ค่ะ แฟนหนู แฟนหนู เค้าไม่ทำการบ้านน่ะค่ะ หนูเลยแห้ง ๆ สักหน่อย
ลุงหมอ : หมายความว่าไง แฟนหนูยังเป็นนักเรียนหรือครับ การบ้านมันยากหรือ

ซูซี่ : โอ๊ย..อย่าเอาฮาสิคะ คือ มันไม่ยอมปั่มปั๊มหนูเลยค่ะ มันอ้างว่ามันเป็นโรค โรคปวดหัวตอนมีอะไรกันค่ะ หนูงงค่ะลุงหมอ มันมีด้วยหรือ หนูนะ ...มีแล้วโล้งโล่ง หัวแจ่มตาใสเลย แล้วมันมีแบบนี้ด้วยหรือ หรือมันจะหาข้ออ้างเทหนูคะ

ลุงหมอ : (เอาแล้วกรู เจอโจทย์หิน) ใจเย็น ๆ หนู ไอ้โรคนี้มันก็มีนะ เขาเรียกว่าโรค 'primary headache associated with sexual activity' แต่มันพบน้อยนะหนู เดี๋ยวเรามาไล่เรียงรายละเอียดกันสักหน่อย ว่าใช่ไหม แต่คำถามมันจะล้วงลึกในกิจกรรมอย่างว่าพอสมควร ขอให้หนูตอบตามตรงนะ

ซูซี่ : ได้ค่ะ ว่าแต่มันมีแน่หรือคะ หนูล่ะสงสัยมาก
ลุงหมอ : โรคพวกนี้มันมีนะ วันก่อนก็เพิ่งปรึกษารุ่นน้องไป ชื่อ สาลิกา..อะไรสักอย่างนี่แหละ แต่เขาไม่ได้ปัญหาปวดหัวนะ เขามีปัญหาเรื่องรีบไปหน่อย ไม่รู้รีบอะไร หนึ่งนาทีสองนาทีก็เลิก รีบไปทำงานมั้ง เอาล่ะเรามาว่าปัญหาของเราดีกว่า

ลุงหมอ : (เริ่มเข้าโหมดจริงจัง) อย่างแรกเลยนะหนู มันต้องมีอาการปวดหัวระหว่างหรือหลังเสร็จกิจ เป็นแบบนี้อย่างน้อยสองครั้งนะ ครั้งเดียวอาจจะไม่ใช่
ซูซี่ : อุ๊ย...สมัยก่อนก็ วันละห้าหกรอบ ไม่เคยบ่นปวดนะคะ แต่มาสองเดือนนี้แหละ ไม่ยอมเลยบอกว่าปวด ปวด
ลุงหมอ : อืม อันนี้บอกยากนะหนู งั้นมาดูข้อต่อไป

ลุงหมอ : ลักษณะอาการปวดต้องเข้าได้อย่างน้อยสองข้อ ในสามข้อ เรามาว่ากันเรียงข้อเลยนะ
ซูซี่ : ค่ะ เริ่มได้เลยค่ะ

(1)ลุงหมอ : อาการปวดจะค่อย ๆ เริ่มปวดตื้อ ๆ เบา ๆ ตอนเริ่มเข้าพระเข้านาง หลังจากนั้นพอพายุเริ่มโหมกระหน่ำ อาการปวดจะเริ่มรุนแรงขึ้น รุนแรงขึ้น
ซูซี่ : ที่ผ่านมาก็ไม่นะคะ เอ่อ...เขาก็ไม่ได้บ่นอะไรค่ะ คือ เสียงมันดัง แยกไม่ออกว่าปวดหรือปลื้มน่ะคะ

ลุงหมอ : เฮ้อ ...ลองกลับไปถามดูนะ งั้นมีแบบนี้ไหมล่ะ พอพายุกระหน่ำเต็มที่ จนฟ้าจะผ่า แล้วถึงจุดพอผ่าเปรี้ยง จะปวดรุนแรงมาก

ซู่ซี่ (หัวเราะคิกคัก) : หูย ใครจะไปสังเกตคะลุงหมอออ ฟ้าผ่าพร้อม ๆ กันแหละค่ะ งู้ยยย น้ำลายไหล
ลุงหมอ : เดี๋ยว ๆ หนู ใจเย็น นี่รายการตอบปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่คลื่นเหงาสาวเปลี่ยวนะ เอาเป็นว่าลักษณะอาการปวด บอกไม่ได้ ไม่ชัด ไปดูลักษณะอาการปวดข้อต่อไป

(2)ลุงหมอ : อาจจะมีอาการรุนแรงได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังเริ่มกิจกรรม หรืออาการไม่รุนแรง หมอให้ได้ถึงภายใน 72 ชั่วโมง อันนี้พอมีบ้างไหมหนู
ซูซี่ : แหม ส่วนมากก็ไม่ได้รอถึงวันหรอกค่ะ ธุระปะปังหนูก็มี เขาก็มี มันก็แยกย้ายสิคะ บอกยากค่ะลุงหมอ หนูน่ะสดชื่น แต่เขาก็ไม่รู้

ลุงหมอ (เกาหัวแกรก ตรูจะวินิจฉัยได้ไหมเนี่ย) งั้นมาดูลักษณะอาการปวดข้อสุดท้าย ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะสองข้อที่ผ่านมาก็ไม่เหมือนแล้ว ข้อสุดท้ายคือ (3) ไอ้อาการปวดแบบนี้ ก็จะปวดตอนเวลามีอะไรกันเท่านั้น จะไม่ไปปวดตอนทำงาน ซักผ้า กินหมูกะทะ ทุ่มโพเดี้ยม อะไรอย่างอื่นเลย

ซูซี่ : อันนี้น่าจะได้นะคะ อยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมอะไร ไม่เห็นบ่น พอจะฮึ่ย..เท่านั้นแหละ นางบ่นไม่เอา ไม่เอา กลัวปวดทุกที

ลุงหมอ : เท่าที่ถามมาก็ยังไม่เข้าข่ายเท่าไรนะหนูนะ เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์เท่าไร แต่จริง ๆ ก็ต้องถามเจ้าตัวแหละ และที่สำคัญก็ต้องแยกโรคปวดหัวอื่น ๆ ด้วย จนไม่มีคำอธิบายใด ๆ อีกแล้ว ถึงบอกได้ว่าปวดหัวจากการปั่มปั๊ม

ซูซี่ : หนูล่ะคิดว่า มันอ้างโรคนี้หรือเปล่า คงต้องพาไปตรวจแล้วล่ะค่ะ ว่าแต่ถ้าเป็นจริงมันรักษาได้ไหมคะ หนูเป็นห่วง
ลุงหมอ : เป็นห่วงแฟนหรือ ?
ซูซี่ : โฮ้ยยย ห่วงตัวเองนี่แหละค่า หนาวมาหลายวันแล้ว
ลุงหมอ (หัวเราะ ปัดโธ่..นึกว่าห่วงแฟน) : ให้ยาแก้ปวด NSAIDs ได้หนู หรือจะป้องกันก็มียากันชัก lamogtrigine หรือยาต้านบีต้า ช่วยได้

ซูซี่ : อีกคำถามนะคะ แล้วถ้ามันไม่ยอมไปตรวจล่ะคะ
ลุงหมอ : งั้นหนูลองถามสิว่า ตอนที่ไปมีอะไรกับคนอื่นน่ะ ปวดหัวไหม กลัวปวดไหม
ซูซี่ : ถ้ามีแสดงว่า เป็นโรคนี้แน่ ๆ ใช่ไหมคะ

ลุงหมอ (ส่ายหัว) : ไม่ใช่ค่ะลูก ถ้าตอบว่ามีอะไรกับคนอื่น ไม่ว่าจะปวดหรือไม่ปวด หนูไม่ต้องพามันไปตรวจหรอก ป๋าผัวเลยลูก มันคิดไม่ซื่อแน่นอน ฮ่วย !! สวัสดีครับ

ลุงหมอตัดจบรายการไปเลย รู้สึกปวดหัวขึ้นมาบ้างแล้วล่ะ

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน, สถานที่ในร่ม และ ข้อความ

บทความที่ได้รับความนิยม