อย่าลืมการรักษาอีกประการที่สำคัญมากในโรคถุงลมโป่งพอง คือ การฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดทางเดินหายใจ
เวลาเรารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ประเด็นหลักที่เราพูดกันบ่อยคือ การหลีกหนีปัจจัยกระตุ้น ลดปัจจัยเสี่ยง การใช้ยาสูดพ่นที่ถูกต้องเหมาะสม และการดูแลรักษาเมื่อโรคกำเริบ แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญและมักจะถูกละเลยคือ การฟื้นฟู ซึ่งไม่ใช่แค่โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังเท่านั้น โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
ข้อมูลปัจจุบันจากการรวบรวมงานวิจัยแบบ Systematic Review และในการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยต่าง ๆ บอกไปในทางเดียวกันว่า การทำกายภาพบำบัดระบบทางเดินหายใจ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดอาการเหนื่อย และในการศึกษาปีหลัง ๆ มานี้ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำและลดอัตราการเสียชีวิตหลังจากที่โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังกำเริบอีกด้วย
แนวทางการรักษาปัจจุบันแนะนำให้ใช้การกายภาพบำบัดนี้เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ไม่ใช้ยา เพิ่มไปจากการเลิกบุหรี่ การออกกำลังกาย และการจัดโภชนาการ
ถ้าเราไปดูรายละเอียดของแต่ละการศึกษา เราจะพบว่าขนาดประโยชน์ที่เกิดจากการเพิ่มการทำกายภาพบำบัดเข้าไปจากการรักษามาตรฐานเดิม ขนาดตรงนี้อาจไม่ได้ดูยิ่งใหญ่มาก (แต่มีนัยสำคัญทางสถิตินะ) เพราะส่วนมากการศึกษามักจะทำในผู้ป่วยหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังที่ความรุนแรงโรคในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก และหลายงานวิจัยเลือกทำในผู้ที่โรคเพิ่งกำเริบมา ผู้ป่วยกลุ่มที่อาการหนักเหล่านี้ ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจะยิ่งใหญ่มาก เพราะมันไม่สามารถขยับประโยชน์จากการรักษาอื่นได้อีกแล้ว
*** คิดง่าย ๆ เหมือนตอนแมนยูหนีตกชั้น คะแนนแค่หนึ่งแต้มก็ยิ่งใหญ่ ในขณะที่ลิเวอร์พูลที่คว้าแชมป์ไปแล้ว ถึงได้มาอีกสามแต้มก็ไม่ได้ดีใจอะไร ***
แต่ถึงอย่างไร ผู้ป่วยที่ความรุนแรงไม่มากก็ยังได้ประโยชน์จากการการทำกายภาพอยู่ดี ในแนวทาง GOLD 2021 ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังจัดกลุ่ม B-C-D ควรได้รับการทำกายภาพบำบัดทรวงอกอย่างเป็นระบบ หรือในแนวทางต่าง ๆ ก็ระบุแบบนี้ แล้วไอ้เจ้าการทำกายภาพบำบัดแบบเป็นระบบมีระเบียบวิธีการเป็นอย่างไร
1. ต้องปรึกษาทีมคุณหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีมนักกายภาพบำบัด มาวางแผนร่วมกันกับคุณหมอผู้รักษาและผู้ป่วย วางแผนอะไร คือ กำหนดความต้องการ เป้าหมาย และวิธีการ
2. มีการตรวจสอบความพร้อมก่อนทำกายภาพบำบัด เช่น มีโรคร่วมที่กังวลไหม ภาวะหลอดลมอุดกั้นตอนนี้เสี่ยงมากน้อยเพียงใด ต้องใช้ออกซิเจนไหม (ถึงแม้ต้องใช้ออกซิเจนก็กายภาพได้นะครับ) และคาดการณ์ล่วงหน้าว่าหากเกิดปัญหาจะทำอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความมั่นใจว่า “ทำได้อย่างปลอดภัย”
3. หลังจากตรวจสอบความพร้อม วางเป้าหมาย กำหนดวิธีการ ให้ปรึกษาผู้ป่วยด้วย แนะนำและคิดร่วมกัน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของผู้ป่วยและการติดตามการรักษาต่อเนื่อง ปัญหาที่พบบ่อยคือ วางแผนดี แต่แผนนั้นไม่เข้ากับความต้องการของผู้ป่วยและสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยก็ไม่ทำ
4. ลงมือทำและประเมินผล พร้อมปรับวิธีการเป็นระยะ ไม่ใช่สอนทีเดียวแล้วทำแบบเดียวตลอด เมื่อภาวะโรคเปลี่ยนไป ความเสี่ยงเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับโปรแกรมไม่ว่าจะโรคดีขึ้นหรือลดลง
5. การกระตุ้นให้ทำอย่างต่อเนื่องสำคัญมาก แม้ไม่มีการศึกษาที่วัดผลเรื่องประสิทธิภาพในระยะยาวโดยตรง แต่จากข้อมูลที่เก็บมาก็พบว่า กว่าที่การกายภาพบำบัดทรวงอกจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา 8-12 สัปดาห์ และหากทำไม่สม่ำเสมอหรือหยุดทำ สมรรถภาพหรือประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากข้างต้นมันลดลงไปเรื่อย ๆ ตามที่เราไม่สม่ำเสมอ
การทำกายภาพบำบัดทรวงอกนั้น คุณหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพจะทำการสอนในช่วงแรก ตามข้อมูลที่ดีนั้น การทำกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลจะได้ผลดีที่สุด (มีคนแนะนำ มีโปรแกรมและอุปกรณ์) ส่วนหนึ่งเพราะสามารถทำได้บ่อยครั้ง ตามคำแนะนำคืออย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์
แต่แน่นอน เราไม่ได้นอนโรงพยาบาลไปตลอด การทำกายภาพบำบัดต่อที่บ้าน หรือมีทีมไปเยี่ยมบ้าน ในหลายที่มีทีมกายภาพบำบัดนอกสถานที่ ข้อมูลพบว่า การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องที่บ้าน ด้วยขนาดของการกายภาพที่เท่าเดิม ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าทำที่โรงพยาบาลมากนัก แต่ต้องรักษาความสม่ำเสมอให้ดี (ทั้งขนาดการกายภาพ ระยะเวลาและจำนวนวัน) อนาคตข้างหน้าเมื่อ Telemedicine (โทรเวช: เฮ้อ ไม่ชอบชื่อนี้เลยจริง ๆ) พัฒนามากขึ้นก็น่าจะมาช่วยผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังให้ทำกายภาพบำบัดได้ถูกต้อง เหมาะสมต่อไป
ดังนั้นถ้าคุณ หรือคนที่คุณรัก คนไข้ที่คุณดูแล มีปัญหาหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ควรปรึกษาทีมกายภาพบำบัดเสมอครับ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยผู้ป่วยได้โดยอันตรายและผลข้างเคียงต่ำมากครับ
1.McCarthy B, Casey D, Devane D, Murphy K, Murphy E, Lacasse Y. Pulmonary rehabilitation for chronic obstructive pulmonary disease. Cochrane Database Syst Rev. 2015 ;(2):CD003793.
2.Carolyn L, Martijin A. Spruit, Anne E. Holland. Pulmonary Rehabilitation in 2021. JAMA. 2021; 326(10): 969-970
3.GOLD 2021 Reports
4.Peter K Lindenauer, Mihaela S Stefan, Penelope S Pekow, et al. Association Between initiation of Pulmonary Rehabilitation After Hospitalization for COPD and 1-Year Survival Among Medicare beneficiaries. JAMA. 2020; 323(18): 1813-1823
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น