01 ตุลาคม 2564

เรื่องเล่าจากห้องตรวจ : หูไม่ค่อยได้ยิน

 เรื่องเล่าจากห้องตรวจ : หูไม่ค่อยได้ยิน

คนไข้ในแผนกอายุรศาสตร์ ส่วนมากก็เป็นคนไข้สูงวัยครับ และต้องรักษากันยาวนาน เรื้อรัง สารพัดโรค

หนึ่งในปัญหาสำคัญ คือ ผู้ป่วยหูตึง คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง หมอก็ซักประวัติไม่แม่นยำ อธิบายยา อธิบายโรคไม่ได้ยิน เข้าใจผิดเข้าใจถูก

หมอ เภสัชกร ก็อาจผิดพลาดในการสื่อสาร ผู้ป่วยเองก็อาจได้รับผลเสีย หรือขาดโอกาสที่ดีในการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยยังเสียสุขภาพจิต หงุดหงิด ตึงเครียด
เพราะหนึ่งในประสาทสัมผัสมันลดลง

ส่วนมากผมก็จะแนะนำให้ไปตรวจหาสาเหตุ ตรวจการได้ยิน ใส่เครื่องช่วยฟัง เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีและการสื่อสารที่ดี

แต่หลังจากนั้น ผู้ป่วยรายเดิมที่มารับการรักษาและใส่เครื่องช่วยฟัง ก็มาติดตามการรักษา และไม่ใส่เครื่อง

จากที่ถามผู้ป่วยที่ดูแลมาก็ได้ความที่พบบ่อย ๆ ดังนี้

1. คนซื้อไม่ได้ใช้ ประมาณว่าลูกหลานใจดี ไปจัดหามาให้แบบไฮเอนด์ ดอลบี้สเตอริโอเซอร์ราวด์ บลูทูธ 5.0 ตัดเสียงรบกวน บลา ๆ ๆ ปรากฏว่าคุณตาคุณยาย ใช้ไม่เป็น ปรับไม่ถูก แบตหมด ก็เลยพาลไม่ใช้เสียเลย

2. คนใช้ไม่มั่นใจ คุณตาคุณยายที่ไม่เคยใช้มาก่อน เวลาที่ต้องติดเครื่องช่วยฟัง ท่านจะมีความรู้สึกว่าตัวเราพิการ ไม่สมประกอบ ก็จะไม่อยากใส่ อายคน

อีกอย่างคือ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงญาติโยม ก็จะมามะรุมมะตุ้ม ถามว่า ทำไมต้องใส่ ต้องใส่แล้วหรือ โอ้ยแค่นี้ไม่ต้องใส่หรอก คำพูดต่าง ๆ เหล่านี้จะไปบั่นทอนกำลังใจ สูญเสียความมั่นใจ พาลไม่ใส่ไปเลย

สองเรื่องเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ เอามาฝากกัน

ความบกพร่องทางกายจากอายุ เป็นสิ่งละเอียดอ่อน ต้องดูแล ต้องเข้าใจ อย่าเห็นเป็นเพียง 'ความแก่'​ เพราะมันส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

จากชายชราหน้าหนุ่ม แต่สายตายาว

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม