คัดกรองมะเร็งปอด
เรามาดูแนวทางการคัดกรองมะเร็งปอดกัน จาก American Thoracic Society, European Respiratory Society, American Cancer Society, USPSTF, European Society for Medical Oncology
ทุกแนวทางสรุปวิธีตรงกันคือใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด low dose CT คือลดปริมาณรังสีลงนั่นแหละ ใช้เอ็กซเรย์ปอดธรรมดาไม่ไวพอนะครับ ทำไมต้องลดปริมาณรังสี เพราะตามแนวทางแนะนำทำ annual screening นะครับ คือ ทำทุกปี ตัวเลขคร่าว ๆ คือ สามสิบปี ถ้าไม่ใช้แบบลดรังสี จะได้ปริมาณรังสีเยอะอยู่นะ เรื่องความถี่เดี๋ยวเราจะมาอธิบายทีหลัง
ทุกแนวทางบอกตรงกันว่าทำในผู้ที่มีความเสี่ยงการเกิดโรค คราวนี้ความเสี่ยงการเกิดโรคที่มีการศึกษาชัดเจนและนำมาเป็นแนวทางคือ สูบบุหรี่ เราจะคัดกรองในคนที่สูบบุหรี่มาอย่างน้อย 30 ซองปี ที่ปัจจุบันยังสูบอยู่หรือเลิกมายังไม่เกิน 15 ปี
ส่วนอายุที่จะคัดกรองจะแตกต่างกันเล็กน้อย
ตัวเลข 50-80 ปีจะพบมากสุด ทั้งใน American Cancer Society , USPSTF,
American Thoracic Society นับที่ 55-80 ปี
ส่วน European Respiratory Society นับที่ 55-77 ปี
ESMO นับที่ 55-74 ปี
ระยะเวลาที่คัดกรอง อันนี้ยังเถียงกันอยู่ ข้อมูลจากการศึกษาหลักคือ NELSON, MILD, NLST มีการแบ่งกลุ่มว่าจะทุกปีหรือทุกสองปี ผลออกมาว่าการตรวจจับมะเร็งไม่แตกต่างกันนัก ปัจจุบันแนะนำตามแต่ละคนคือ
ถ้า low dose CT ครั้งแรกไม่มีอะไรสะกิดใจและความเสี่ยงไม่มาก จะทำทุกสองปีก็ได้
ถ้า low dose CT มีอะไรไม่ชอบมาพากล และเสี่ยงสูง อันนี้ก็ทำทุกปี
สะกิดใจหรือไม่ชอบมาพากล อันนี้แล้วแต่คุณหมอแต่ละท่านครับ
คัดกรองแล้วจะได้อะไร ตอบคือ เจอมะเร็งระยะแรกได้เร็ว (early detection) ทำให้ผลการรักษาออกมาดี
คัดกรองแล้วเสียอะไร บางส่วนก็ต้องทำ หัตถการรุกล้ำมากขึ้นเช่น ส่องกล้อง เจาะ และสัมผัสรังสีมากขึ้น
ตกลงจะทำดีไหม .. บวกลบแล้วประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ทุกคำแนะนำทุกสมาคม ไม่ได้ยกเป็นควรจะทำอย่างยิ่ง ยังอยู่แค่ระดับน่าทำ เพราะมันยังไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมได้มากเท่าไร (อาจจะเสียชีวิตจากเหตุอื่นที่เป็น confounder อันตัดทอนออกไม่ได้)
แต่ตัวเลขการคัดกรองก็ยังน้อย … ประเด็นคือ ถ้าไม่คิดจะเลิกบุหรี่ ก็ไม่แนะนำคัดกรองครับ หากไม่ลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญ การคัดกรองก็ไม่ช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้นนั่นเอง ในเมื่อยังไม่เลิกก็ยังไม่คัดกรองครับ
อีกอย่าง ระยะเวลาการคัดกรองอันยาวนาน อาจทำให้ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าไม่มีตัง ไม่มีเวลา ทำหลายครั้งแล้วปกติก็เลิก
ตรวจพันธุกรรมคัดกรองได้ไหม ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำครับ มีแต่ตรวจยีนในผู้ที่เป็นมะเร็งเพื่อระบุการพยากรณ์โรคและการรักษา ส่วน liquid biopsy ทำในกรณีตัดเนื้อไม่ได้ (เจอก้อนแล้วนะ)
ผู้ป่วยรายนี้ ตรวจพบก้อน ชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งปอด อาการคืออาการไอเรื้อรัง สามเดือน เจ็บอกขวาเป็นบางครั้ง ไอไม่มีเลือดปน น้ำหนักไม่ลด ตรวจพบเสียงปอดขวาเบาลงเล็กน้อย สูบบุหรี่มา 60 ซองปี **และยังไม่เลิกสูบบุหรี่**
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น