23 กันยายน 2567

การตรวจระดับแอลกอฮอล์เพื่อวัดความเมา

 การตรวจระดับแอลกอฮอล์เพื่อวัดความเมา ตามกฎกระทรวงใหม่

เมื่อวานนี้ 20 กย. กฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับการตรวจแอลกอฮอล์ตาม พรบ.การจราจรทางบก ผมมาเล่าให้ฟังแบบง่าย ๆ นะครับ
1.การตรวจแอลกอฮอล์ทำได้โดยวัดจากลมหายใจก่อนเป็นลำดับแรก
2.ในกรณีไม่ยินยอมให้ตรวจ เจ้าพนักงานสามารถสันนิษฐานไว้ก่อนได้ว่าเมา และเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดีได้ เมื่อแจ้งข้อหาว่าเมาแล้ว หากจะหักล้าง ต้องไปหักล้างกันในชั้นศาล
3.ในกรณีตรวจลมหายใจไม่ได้ (ด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม) กฎกระทรวงใหม่นี้ให้อำนาจพนักงานจราจร หรือพนักงานสอบสวน เก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อส่งตรวจได้ด้วย คือมีที่ให้เก็บตรงด่านตรวจได้เลยนะ
4.นอกจากจะให้เก็บปัสสาวะได้แล้ว กฎกระทรวงใหม่ ให้อำนาจพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน ส่งตัวผู้ขับขี่ไปที่ รพ.ใกล้ที่สุด เพื่อตรวจหาแอลกอฮอล์จากเลือดได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด (คือภายในสามชั่วโมง) โดยแจ้งด้วยวาจาหรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนได้ หนังสือค่อยตามมาทีหลัง
5.การตรวจในข้อสามหรือสี่ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ ถ้าไม่ยินยอม กลับไปอ่านข้อสอง
6.ในข้อสามและสี่ ให้ปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือพูดง่าย ๆ คุณหมอต้องเซ็นรับทราบ และมีโอกาสไปเป็นพยานได้ครับ
7.ตัวเลขที่ถือว่าเมา คือ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มันมีค่าการคำนวณจากลมหายใจหรือปัสสาวะไปเป็นในเลือด แต่เครื่องยุคนี้เขาปรับและคำนวณออกมาให้แล้ว
8.ส่วนตัวเลขที่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะใช้เมื่อ ไม่มีใบขับขี่, มีใบขับขี่แต่ผิดประเภท, ถูกเพิกถอนชั่วคราว, มีใบขับขี่ประเภทชั่วคราว, อายุน้อยกว่า 20 ปี
ผมอยากบอกว่า คนเรา นน.มาตรฐาน 50 กิโลกรัม ดื่มเบียร์หนึ่งกระป๋อง มีโอกาสถึง 85% ที่จะเป่าแล้วเกิน 50mg% นะครับ ดังนั้น ดื่มไม่ขับนะครับ
เพราะก่อนจะถึงขีดเมา มันจะเลยขีดเริ่มมีความผิดปกติทางการตัดสินใจไปแล้วครับ และหากตรวจว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดร่วมกับเมา จะมาอ้างว่าเพราะเมาจึงเกิดอุบัติเหตุ ไม่เจตนาไม่ได้นะ แถมยังเป็นข้อที่จะไม่มีการลดโทษ ผิดเงื่อนไขประกันวินาศภัยอีกด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม