ขาอยู่ไม่สุข ขาผีสิง ... restless leg syndrome
กลุ่มอาการอย่างหนึ่งที่พบบ้าง คุณๆอาจจะเคยเป็น รู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่ขา (หันไปดูนิดนึงว่าไม่ใช่คนข้างๆเล่นปูไต่อยู่) บางคนก็คัน เจ็บ ชาๆ เวลาอยู่นิ่งๆนานๆจะเกิดอาการนี้ ยิ่งเป็นเวลานอนกลางคืนก็ยิ่งเป็นมาก (เพราะนอนนิ่งๆนานๆ) อยากจะลุกขยับแข้งขา
ไม่ใช่แค่อยากลุกเท่านั้น ถ้าไม่ลุกหรือไม่ขยับก็จะหงุดหงิดนอนไม่ได้ แต่พอเช้า หรือ พอขยับหรือลุกขึ้นก็จะดีขึ้น อาการยุกๆยิกๆก็จะลดลง บางคนก็เป็นตอนหลับ จนคนข้างๆรู้สึก สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นประวัติที่ชวนให้คิดถึง restless leg syndrome ซึ่งต้องแยกจากในกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกาย (periodic limb movement disorders) ที่มักจะเคลื่อนไหวผิดปกติในขณะหลับ
สังเกตนะครับ มันเป็นกลุ่มอาการ ยังไม่ได้เป็นโรคที่ชัดเจน สามารถพบโรคหลายๆโรคที่มีอาการแบบนี้เป็นอาการร่วมด้วย เป็นประเด็นช่วยให้เราสืบค้นหาโรคอื่นๆที่พบร่วมกัน และถ้ารักษาโรคร่วมเหล่านั้น อาการขาอยู่ไม่สุขก็จะดีขึ้น .... สำคัญนะครับ เพราะถ้าเรามัวแต่รักษาอาการปลายเหตุ อย่างไรก็ไม่ดีขึ้น
โรคที่พบร่วมด้วย ที่ต้องสืบหาและแก้ไข ที่พบมากที่สุดคือคือ #ภาวะขาดธาตุเหล็ก (ส่วนมากจะมีโลหิตจางด้วย) ลำดับต่อๆมาอาทิเช่นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือเกี่ยวพันกับยา ยาลดอาการอาเจียน ยาจิตเวช ยาแก้ไขอาการซึมเศร้า และภาวะตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย เมื่อสืบหาไม่พบจึงค่อยโทษว่าไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นๆ
มูลเหตุการเกิดโรคยังไม่ชัดเจนมากครับ จากผลการศึกษาปัจจุบัน พอจะบอกได้ว่ามีความผิดปกติของสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว ให้เรียบลื่น ไม่ตะกุกตะกัก เราเรียกชื่อสมองส่วนนี้ว่า basal ganglia และ สารสื่อประสาทที่บกพร่องนั้นคือ dopamine
ยาต่างๆที่ว่าพบร่วมกับอาการนี้ เป็นยาที่ไปเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของ dopamine ทั้งสิ้น และ การใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการขาอยู่ไม่สุขนี้ ก็จะเป็นการไปเพิ่มระดับ dopamine ในสมอง ทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อดีขึ้น เริ่มอยู่นิ่งและไม่รู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่ขาอีกต่อไป
เวลาไปหาหมอ คุณหมอจะซักประวัติตามที่กล่าวมาครับ จะมีการตรวจร่างกายเพื่อหาโรคร่วมอื่นๆ การส่งตรวจเลือดหรือตรวจพิเศษเพื่อหาโรคร่วมอื่นๆเช่นกันครับ เช่นตรวจเลือดหาภาวะซีด หรือตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในเลือด .. โรคนี้จะวินิจฉัยได้จากประวัติที่ดีครับ
โดยมากอาการจะไม่รุนแรงและไม่บ่อย ที่เรียกว่าบ่อยๆคือ มีอาการมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์และเป็นมากจนรบกวนการหลับการตื่น รบกวนการทำงาน อันนี้อาจต้องใช้ยาช่วยบรรเทาอาการ
การรักษาเบื้องต้นโดยไม่ใช้ยา ได้รับการศึกษาว่าใช้ได้จริง ได้ผล คือ การออกกำลังกาย การนวดขา การแช่น้ำอุ่น ก็จะได้ไม่ต้องใช้ยาครับ
แต่ว่าถ้าเป็นมากเป็นบ่อย ก็อาจจะต้องใช้ยา คือ pramipexole, gabapentin enacabil, ropinirole ยาจะไปเพิ่มการทำงานของสาร dopamine ในสมองครับ เคยมีการศึกษาการใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน levodopa ก็ได้ผลในช่วงสั้นๆครับ(levodopa test) อย่าลืมว่าการใช้ยาเป็นแค่การรักษาอาการเท่านั้น
การรักษาแบบไม่ใช้ยาและการควบคุมโรคร่วมยังเป็นประเด็นสำคัญ อนาคตเราน่าจะเข้าใจโรคนี้และแก้ไขให้ตรงจุดมากขึ้นครับ
...แถม ..โรคนี้มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พศ.2212 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย sir Thomas Willis บันทึกได้ตรงตามอาการเป็นภาษาละติน แต่ว่ามารู้จักแพร่หลายจากการวิจัยของ Karl Axel Ekbom ในอีก 300 ปีให้หลัง ศึกษาถึงโรคร่วม อาการ และการรักษา จึงมีชื่อเรียกโรคนี้อีกอย่างว่า Willis-Ekbom disease ...ใครสนใจอ่านเพิ่ม ตามนี้ครับ
จาก JAMA 21 Feb 2017
national institute of neurological disorders and stroke
Neuropsychiatr Dis Treat. 2006. Jun ;2(2)
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2671772/#
Neurotherapeutics 2014. Jan ;11(1)
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3899490/#
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น