บางครั้งผมก็ไม่ได้เห็นด้วย วารสารทางการแพทย์ เสมอไป
เมื่อ 1 มีนาคม ในหัวข้อ In practice ของ New England Journal of Medicine journal watch blog นำเสนอหัวข้อว่า จากมุมมองของพยาบาลและผู้ช่วยแพทย์ ถามว่าการฟังเสียงลำไส้..มันล้าสมัยไปหรือยัง ?? น่าสนใจทีเดียว และน่าคิดมาก ผมอ่านแล้วและมีความเห็นเพิ่มเติม (บ่น) มาลองช่วยกันออกความเห็นนะครับ
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาเข้าใจพื้นฐานก่อน สำหรับการแพทย์ทุกสาขานั้น การซักประวัติตรวจร่างกายถือเป็นข้อมูล 80% ของการวินิจฉัย การตรวจร่างกายทางหน้าท้องนั้น เราใช้ประสาทสัมผัสดู คลำ เคาะ ฟัง ผสมผสานกัน การฟังนั้นใช้เพื่อฟังเสียงการเคลื่อนที่ของลำไส้ เสียงน้ำกระฉอกในท้องในกระเพาะ เสียงเสียดสีกันของเยื่อหุ่มตับ เยื่อหุ้มปอด เสียงหลอดเลือดผิดปกติ สามารถแยกโรคได้ง่ายๆ เช่น ท้องอืดมากนั้น ถ้าเสียงลำไส้ดังและถี่ คิดถึงการอุดตัน แต่ถ้าเสียงเบา เอื่อยๆ ก็คิดถึงว่าลำไส้ไม่ทำงาน
ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ของหัวข้อนี้เขาแสดงว่า การตรวจโดยการฟังทางหน้าท้อง มันยังไม่มีข้อสรุป อย่างเช่น ตรวจตรงไหน ตรวจนานแค่ไหนถึงพอ คลำก่อนฟัง หรือฟังก่อนคลำ แต่ละตำราก็เขียนไม่เหมือนกัน ไม่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์
นอกเหนือจากนี้ บางครั้งฟังได้เสียงดังมาก ก็พบว่าเกือบครึ่ง โรคไม่ได้เป็นอย่างที่ฟังได้ ความเฉพาะเจาะจงหรือความเกี่ยวพันกับการวินิจฉัยโรคไม่ได้มากนัก ไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพ ความไวในการวินิจฉัย หรือความเฉพาะเจาะจงกับโรค เขาจึงตั้งคำถามว่า มันยังใช้ได้และทันสมัยหรือไม่ ในอดีตอาจจำเป็นเพราะเทคโนโลยีไม่ดีเหมือนสมัยนี้ สามารถสางตรวจได้ง่ายและเร็ว รวมทั้งประสิทธิภาพ ความไวความแม่นยำก็สูง มีการศึกษายืนยันชัดเจน
บทสรุปของผู้วิจัย เขาบอกว่าก็ไม่ได้ถึงกับต้องไปยกเลิกการสอนตรวจร่างกายฟังท้อง แต่ก็อาจจะต้องยอมรับถึงวิธีใหม่ๆ ข้อมูลที่ดีกว่า ซึ่งเป็นการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ควรยอมรับสิ่งใหม่แก้ไขสิ่งเก่าเมื่อได้ข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้องกว่า...หรือการตรวจร่างกายหน้าท้องโดยการฟัง เป็นเพียงแต่สิ่งประดับบารมีว่า หมอตรวจครบ เก็บคะแนนสอบได้ แต่ผลการตรวจกับไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของหมอ หรือต่อโรคของคนไข้เลย
ในหัวข้อความเห็น ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยคือ คิดว่าตรวจแต่ไม่ช่วยอะไร แถมตรวจผิดอาจมีข้อมูลผิดอีก มีการตรวจแบบใหม่ที่ดีกว่าก็น่าจะยกเลิกของเก่า และคนที่ไม่เห็นด้วย คือควรมีการฟังหน้าท้อง เพื่อช่วยการวินิจฉัย ช่วยหยุดเวลาให้คิดได้ ช่วยให้การตรวจครบถ้วนน่าเชื่อถือ ก็ต่างๆกันไปนะครับ
ในส่วนตัวเองนั้น ผมเป็นอายุรแพทย์แบบ old school คือใช้ประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก แม้งานที่ทำจะอุดมด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือไฮเทครอบตัว แต่ก็ยังถือว่าการตรวจร่างกายด้วยการฟังทางหน้าท้องเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับการตรวจในทุกๆระบบ แต่ว่าการตรวจควรทำด้วยสติ คือรู้ตัวตลอดว่าตรวจอะไร เพื่อหาอะไร เมื่อตรวจได้แล้วแปลความหมายทันที เชื่อได้ไหม ใช่อย่างที่คิดไหม สนับสนุนการวินิจฉัยโรคจากประวัติ หรือคัดค้าน หรือได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมา
อย่าตรวจเพียงเพราะ..ตรวจให้ครบ..มันจะไม่ได้ข้อมูลอะไรและเสียเวลา (แต่ต้องรู้ว่าถ้าจะตรวจให้ครบต้องตรวจอะไร) และบางครั้งให้ข้อมูลที่ผิดด้วย
คนไข้หลายคนมาบอกว่า ไปหาหมอที่โน่นที่นี่ หมอไม่ทำอะไรเลย เอาแต่ถาม เอาแต่จับคลำเคาะ แล้วก็ให้ยา ไม่อัลตร้าซาวนด์ ไม่ถ่ายภาพเอกซเรย์ ไม่เอคโค่ ไม่เป่าปอด ไม่เจาะเลือด ... มันเป็นความคาดหวังของคนไข้ที่ไม่ผิดอะไร เขาได้เห็นได้รู้เทคโนโลยีและวิธีการตรวจที่น่าตื่นตาตื่นใจ
แต่อยากบอกว่า ไม่มีอะไรมาทดแทนทักษะการซักประวัติและการตรวจร่างกายได้ ไม่มีอะไรมาทดแทนการคิด และที่สำคัญ เวลาเราตรวจร่างกายและสัมผัสร่างกายคนไข้ มันได้มากกว่าข้อมูลเชิงคลินิก
มันได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ สัมผัสความเจ็บปวด เรียนรู้และรักษาคน ไม่ใช่โรค ในขณะเดียวกันคนไข้เองก็ได้รับ ความเห็นอกเห็นใจ ความอุ่นใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจจากแพทย์ผู้รักษาผ่านทางคำพูด และทักษะ ดู..คลำ..เคาะ..ฟัง
นี่คือสิ่งที่เทคโนโลยี ไม่เคยทำได้
http://blogs.jwatch.org/…/listening-bowel-sounds-outdated-…/
ภาพ : คู่มือการตรวจร่างกายของ Bates' ที่ผมพกติดตัวทุกเมื่อเชื่อวัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น