15 มีนาคม 2560

ทำไมหมอถึงสงสัยว่าฉันเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

สำหรับประชาชนทั่วไปนะครับ ... ทำไมหมอถึงสงสัยว่าฉันเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์..

สองสามวันก่อน ได้สรุปบทความการใช้ยารักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์พร้อมแนบแนวทางให้ด้วย ก็มีคำถามจากทางบ้านว่าจะคัดกรองอย่างไร ผลเลือดรูมาตอยด์ใช้ได้ไหม..เรามาฟังคำตอบกัน เล่าให้ฟังสไตล์บ้านๆนะครับ

ผมอยากให้ลืมเรื่องผลเลือดไปก่อนเลย...ถ้ามาตรวจกับอายุรแพทย์ ผลเลือดจะเป็นอย่างสุดท้ายเสมอ เราไม่ใช้ผลเลือดในการคัดกรองหรือตรวจกวาดไปเสียทุกคน
เริ่มต้นจากประวัติก่อน ... เราคิดถึงรูมาตอยด์ ถ้าปวดเรื้อรัง มากกว่าหกสัปดาห์ จริงอยู่ว่าก่อนจะปวดเรื้อรังช่วงแรกก็เฉียบพลันมาก่อน ระยะเฉียบพลันอาจมีโรคอื่นด้วยเช่น ข้ออักเสบติดเชื้อ แต่พอเรื้อรังเกินหกสัปดาห์ โอกาสจะเป็นรูมาตอยด์ก็มากขึ้น

ปวดกี่ข้อ...ถ้าปวดข้อเล็กๆ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ เป็นจำนวนมาก เช่นถ้ามากกว่า 8-10 ข้อ โอกาสเป็นรูมาตอยด์ก็สูงขึ้น ข้อใหญ่ๆเช่นข้อเท้า เข่า (มากสุดก็แค่สองข้อ) โอกาสเป็นรูมาตอยด์ก็ลดลง จะไปคิดถึงโรคผลึกในข้อเช่น เก๊าต์จริง เก๊าต์เทียม หนองในข้อ
การกระจายตัวของข้อ...โรคข้ออักเสบแต่ละอย่างจะมีการกระจายไม่เหมือนกัน อย่างรูมาตอยด์จะชอบข้อเล็กๆ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า และมักจะโดนข้อนิ้วข้อต้น มักจะไม่ไปโดนข้อนิ้วข้อปลาย ...ถ้าไปโดนข้อนิ้วข้อปลายอาจต้องคิดถึง ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ spondyloarthropathy เช่น จากสะเก็ดเงิน หลังแข็ง

รูมาตอยด์มักจะเป็นสองข้างค่อนข้างสมมาตรกันครับ ไม่สมมาตรก็คิดถึงโรคอื่นด้วยเช่น ติดเชื้อ
ลักษณะการปวด...หมอจะถามว่ามันปวดเพิ่มขึ้นโดยที่ข้อเดิมยังไม่หาย (addictive) หรือ ย้ายจุดปวด (migratory)

มีอาการอย่างอื่นๆไหม... เช่นถ้าไข้สูงหนาวสั่น อาจต้องคิดถึงการติดเชื้อ .. มีอาการผื่นตามตัว ผมร่วง อาจต้องคิดถึงโรคแพ้ภูมิเอสแอลอี... มีอาการหลังติดเชื้อทางเดินอาหาร อาจต้องติดถึงข้ออักเสบรีแอ๊กตีฟ หรือ ข้ออักเสบหลังติดเชื้อไวรัส เป็นต้น
อาการข้อติดตอนเช้า เหยียดนิ้วไม่ได้เป็นชั่วโมง ที่เข้าได้กับโรคข้ออักเสบ โดยเฉพาะโรครูมาตอยด์

เห็นไหม...จากประวัติที่ดี เราก็พอแยกโรคได้แล้ว ต่อไปก็ตรวจร่างกายสนับสนุน ตรวจร่างกายจะเน้นคลำทุกข้อนะครับ คลำว่าบวมไหม ร้อนไหม เจ็บไหม แล้วบันทึกทุกข้อ แบ่งระดับคะแนนการปวดบวมร้อนด้วย การคลำจะพอแยก...เจ็บข้อแต่ไม่อักเสบ กับข้ออักเสบได้

การคลำจะแยกปวดข้อกับปวดนอกข้อได้ ก็จะช่วยยืนยันโรครูมาตอยด์ได้ว่าต้องปวดในข้อและมีการอักเสบด้วยนะ ถ้าปวดนอกข้ออาจเป็นเส้นเอ็นอักเสบ...จำอาร์คีลิสได้ไหมครับ หรือแค่อุบัติเหตุ ถ้าแค่เจ็บข้อ อาจเป็นอาการอันหนึ่งของโรคเอสแอลอี หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเองอื่นๆ หรือ ข้อเสื่อม
ตรวจหาอาการอื่นๆที่สนับสนุนข้ออักเสบรูมาตอยด์เช่น มีก้อนที่เรียกว่า rheumatoid nonule หรืออาจไปเจอก้อนเก๊าต์ หรืออาจไปเจออาการแสดงของข้ออักเสบจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ

ถ้าคิดตามมาก็จะพบว่าเราก็จะแยกโรคได้ว่าเป็นรูมาตอยด์อยู่แล้ว เช่น เป็นสุภาพสตรี ปวดข้อมาเรื้อรังสองเดือน ปวดข้อนิ้วข้อมือสิบข้อ ข้อติดตอนเช้า ไม่มีอาการอย่างอื่น ก็จะคิดถึงรูมาตอยด์มากกว่าข้ออักเสบจากสาเหตุอื่นๆ ต่อไปก็คือส่งผลเลือดยืนยัน เราจะใช้ผลเลือดสองตัวคือ rheumatoid factor และ anti CCP (cyclic citrullinated peptides) นำมาช่วยแปลผลครับ ถ้าใช้ทั้งสองตัวก็จะช่วยวินิจฉัยได้มากขึ้น และต้องคิดซ้ำใหม่ถ้าผลเป็นลบทั้งคู่ และตรวจค่าการอักเสบไว้ติดตามการรักษาด้วยคือ ESR หรือ CRP

จึงไม่สามารถใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือผลแล็บอันใดอันหนึ่งเพื่อฟันธง หรือคัดกรองโรครูมาตอยด์ได้เลยครับ ต้องใช้องค์ประกอบโดยรวมครับ ถึงแม้ว่าผล rheumatoid factor จะเป็นบวก แต่อาการอย่างอื่นๆไม่เหมือนเลย ก็จะไม่ใช่โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ครับ

2010 ACR and EULAR criteria
http://www.rheumatology.org/…/2010_revised_criteria_classif…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม