06 มีนาคม 2560

ปวดหัวไมเกรนเวลามีประจำเดือน

ปวดหัวไมเกรนเวลามีประจำเดือน ท้องก็ปวด หัวก็ปวด...

ปัญหาที่คุณสุภาพสตรีส่วนหนึ่งต้องรบรากับตัวเองบ่อยๆ ช่วงเวลานั้นของเดือน ปวดท้องด้วย หงุดหงิดอีก ปวดหัวอีก ต้องหยุดงาน เสียงานเสียการ เสียสุขภาพจิต มันแย่มากๆเลย และที่แย่กว่านั้น คือ เดี๋ยวเดือนหน้ามันก็มาอีก เรามารู้จักโรคไมเกรนชนิดพิเศษนี้กัน

1. ต้องเป็นไมเกรนก่อนนะครับ ภาวะนี้เป็นภาวะย่อยของไมเกรน ดังนั้นต้องได้การวินิจฉัยไมเกรนก่อนเสมอ (มีเกณฑ์การวินิจฉัยตาม international headache society เป็น classification ครั้งที่สาม www.ihs-headache.org)

2. สัมพันธ์กับวงรอบประจำเดือน เป็นลักษณะเฉพาะ และเมื่อปวดจะค่อนข้างรุนแรง ยาอะไรก็เอาไม่อยู่ จนกว่าวงรอบประจำเดือนนั้นจะหมดไป ...ตรงนี้ทำให้การรักษาออกแบบมาเป็นเรื่องของการป้องกันมากกว่าการ “ฆ่า” อาการปวด (pain killer ชอบชื่อนี้จัง)

3. ความสัมพันธ์นั้นมีสองแบบ และใช้แบ่งชนิดไมเกรนที่สัมพันธ์กับวงรอบประจำเดือนด้วย อย่างแรก เกิดเฉพาะก่อนมีประจำเดือนสองวัน หลังมีประจำเดือนอีกไม่เกินสามวัน (หน้าสองหลังสาม) โดยที่ช่วงเวลาอื่นๆไม่ปวดเลย ต่อเนื่องกันอย่างน้อยสองในสามรอบประจำเดือนอย่างนี้เรียก pure menstrual migraine ส่วนอย่างที่สองเรียก menstrually related migraine คือปวดแบบแรกนั่นแหละแต่ว่าในช่วงที่ไม่มีรอบเดือนก็จะมีอาการปวดไมเกรนเพิ่มขึ้นมาด้วย

4. การรักษานั้นจะคล้ายๆกัน คือ การให้ยาเพื่อป้องกันสักประมาณสามถึงสี่รอบประจำเดือน เราจะให้ยาป้องกันในช่วงที่มีประจำเดือนเท่านั้น ที่นิยมมากคือหน้าเจ็ดหลังเจ็ด โดยใช้ยากลุ่ม NSAIDs การศึกษาที่ใช้มากคือ naproxen ขนาด 500 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง เพราะเราคาดเดาเวลาที่ปวดได้ค่อนข้างดีหรือจะทำบันทึกประจำเดือนก่อนก็ได้ ใช้ยาต่อเนื่องกัน 3-4 รอบ อาการก็มักจะดีขึ้น

5. ยาอีกกลุ่มที่มีการศึกษาทดลองมากเช่นกันคือยากลุ่ม triptans ที่ใช้ในการแก้ไขอาการปวดเฉียบพลัน (pain killer) เอามาใช้ป้องกัน โดยใช้ หน้าสองหลังห้า สามถึงสี่รอบเช่นกัน แต่ว่ายากลุ่มนี่แพงกว่าข้อสี่มาก และการใช้คงต้องระมัดระวังการติดยา การใช้ยามากเกิน อาการปวดหัวหลังถอนยา และระวังในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ใช้เวลาสั้นกว่าในแต่ละรอบและประสิทธิภาพสูง

6. การเลือกใช้ยาตัวใดก็คงต้องใช้ข้อมูลว่ามีข้อห้ามหรือข้อจำกัดหรือไม่ อย่างเจ้ายา naproxen นั้นเป็นยาที่ประสิทธิภาพดี มีการศึกษาในการรักษาอาการปวดหัวมากที่สุด แต่มันก็กัดกระเพาะแรงพอใช้ อาจต้องกินยาป้องกันในกลุ่มที่เคยมีแผลในกระเพาะหรือเคยมีเลือดออกมาก่อน หรือได้รับแอสไพรินร่วมด้วย

7. ในกรณีเป็นไมเกรนอยู่แล้ว กินยาป้องกันอยู่แล้วและช่วงมีประจำเดือนมีอาการมากขึ้น ก็ใช้กลยุทธ์ในข้อสามหรือข้อสี่เพิ่มเติมได้ครับ แถมอีกนิด เพราะเป็นไมเกรนอยู่แล้ว แนะนำพกยาแก้ปวดเฉียบพลันติดตัว ถ้าปวดเมื่อไรกินทันทีจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

8. การเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจนก็สามารถลดอาการปวดได้ เพราะเชื่อว่ากลไกเกิดจากการขึ้นๆลงๆของฮอร์โมนเพศในช่วงมีประจำเดือน (estrogen withdrawal) ถ้าลดความแปรปรวนตรงนี้ได้ก็จะลดอาการลงได้ซึ่งต้องใช้ฮอร์โมนเพศในขนาดสูง ซึ่งจะมีข้อต้องคิด ข้อห้าม ข้อระวัง รวมถึงต้องดูแลเรื่องการคุมกำเนิดด้วย เอาไว้เฉพาะใช้สูตรมาตรฐานแล้วไม่หายนะครับ

9. การใช้ยา NSAIDs ในข้อสามนั้น ได้ประโยชน์ในแง่การลดอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย (การปวดประจำเดือนผ่านกลไก prostaglandins ที่เป็นกลไกการออกฤทธิ์ของ NSAIDs พอดิบพอดี) ก็ไม่ต้องกินยาเยอะๆครับ

10. สำหรับกลุ่มสิงโตผู้ห้าวหาญ ผมแนะนำให้หลีกเลี่ยงการปะทะกับกวางน้อยในขณะอยู่ในช่วงพลังแฝงในร่างกายสูงมากแบบนี้ เพราะในธรรมชาติกวางอาจกระตื้บสิงโตได้ในช่วงนี้ (เท่านั้น) guidelines โดยผมเอง แนะนำให้จัดยาให้เรียบร้อยแล้วหลบลี้ไปสุดขอบโลก Class Ia อ้างอิงจาก เพจพ่อบ้านใจกล้า

จาก www.ihs-headache.org
American Headache Society
Management of Menstrual Migraine : a review of Current Abortive and Prophylaxis
Therapies ใน Curr Pain Headache Rep. 2010 Oct;14(5)
lecture..headache..ของอ.กัมมันต์ พันธุมจินดา และ อ.ธนินทร์ อัศววิเชียรจินดา
ในงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม